4 Min

93 ปี 2475 การปฏิวัติสยาม ย้อนคำถาม ‘ชิงสุกก่อนห่าม’ หรือ ‘เวลาสุกงอม’? ว่าด้วยการปรับตัวของสยามในกระแสอุดมการณ์โลก

4 Min
4 Views
24 Jun 2025

นับเป็นเวลา 93 ปีของการปฏิวัติสยาม 24 มิถุนายน 2475 ที่เป็นจุดเริ่มต้นการเปลี่ยนแปลงการปกครองของประเทศจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นระบอบประชาธิปไตย ทว่า มีบางกลุ่มที่มองเหตุการณ์นี้ว่าเป็นการ ‘ชิงสุกก่อนห่าม’ ที่ชี้ว่าการเปลี่ยนแปลงการปกครองที่เกิดขึ้นเป็นสิ่งที่มาจากกลุ่มนักเรียนนอกเพียงไม่กี่คนเป็นผู้ริเริ่ม อีกทั้งประชาชนสยาม ณ เวลานั้นยังขาดการศึกษา

รวมถึงยังมีคำอธิบายที่ระบุว่าการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวจะเกิดขึ้นอยู่แล้ว แม้จะไม่มีคณะราษฎร เพราะมีการพระราชทานรัฐธรรมนูญจากพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 7) ที่เตรียมลู่ทางไว้อยู่ก่อนแล้ว

ทว่าในรัฐธรรมนูญพระราชทานจากรัชกาลที่ 7 แม้จะมีการร่างที่เกิดขึ้น ‘จริง’ แต่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าว ‘ไม่ได้’ มีจุดประสงค์ที่จะปรับเปลี่ยนการปกครองไปสู่ระบอบประชาธิปไตย

เนื่องจาก แม้ว่าจะมีการแต่งตั้งตำแหน่งนายกรัฐมนตรี แต่ตำแหน่งนี้รัชกาลที่ 7 สามารถแต่งตั้งและถอดถอนได้ และต้องมีสภาที่มาจากการแต่งตั้งเพื่อช่วยแบ่งเบาภาระการบริหารราชการ ด้วยเหตุนี้ทำให้ร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับพระราชทานของรัชกาลที่ 7 ยังเป็นการ ‘รักษาอำนาจ’ ของชนชั้นสูงและกลุ่มอำนาจเดิมในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์อยู่

ซึ่งต่อมาร่างรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวถูกลงความเห็นจากคณะที่ปรึกษา อย่างเรมอนด์ บี. สตีเวนส์ และเจ้านายชั้นผู้ใหญ่ในรัชกาลที่ 7 ที่คัดค้านว่าการปฏิรูปเช่นนี้ ‘ก้าวหน้าเกินไป’ เพราะประชาชนยังไม่พร้อมด้านการศึกษา และไม่มีประสบการณ์ในการปกครองแบบประชาธิปไตยในขณะนั้น

ซึ่งต่อมาได้เกิดการปฏิวัติขึ้นในวันที่ 24 มิถุนายน 2475 โดยคณะราษฎร ทว่ากระแสการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวไม่ได้เกิดจากปัจจัยที่สถาบันการเมืองมีการผูกขาดและรวมศูนย์อำนาจในกลุ่มชนชั้นสูงเพียงอย่างเดียว แต่ยังมีปัจจัยด้าน ‘อุดมการณ์’ ไม่ว่าจะเป็นอุดมการณ์ประชาธิปไตยและชาตินิยมของประชาชนที่ใฝ่หาเสรีภาพ ความเสมอภาค และความทันสมัย ซึ่งส่งผลกับแนวคิดของสามัญชนโดยตรง

รวมไปถึงกระแส‘การก่อตัวของชนชั้นใหม่’ ที่เกิดจากการเติบโตของกลุ่มข้าราชการรุ่นใหม่ ชนชั้นกลาง ปัญญาชน นักเรียนนอก นักเรียนในประเทศ และกลุ่มอาชีพอื่น ๆ เช่น พ่อค้า นักหนังสือพิมพ์ ซึ่งเป็นกลุ่มวิชาชีพใหม่ในยุคนั้นที่มีแนวคิดต้องการท้าทายจารีตที่ยึดถือชาติกำเนิดจนทำให้เกิดช่องว่างและความเสมอภาคระหว่างชนชั้น

และในเวลานั้นก็เกิดปัญหาเศรษฐกิจเรียกว่า ‘วิกฤตการคลัง’ ที่สืบเนื่องมาจากสมัยรัชกาลที่ 6 รวมไปถึงปัญหาจากสังคมเศรษฐกิจโลก ในช่วงปี 2472-2475 และแม้ว่ารัฐบาลสยามจะตัดสินใจจัดทำงบประมาณขาดดุล ปลดข้าราชการระดับกลางและล่างหลายครั้ง รวมถึงการขึ้นภาษีรายได้ที่กระทบกับราษฎรโดยตรง แต่ปัญหาเศรษฐกิจก็ยังไม่ถูกสะสางแก้ไขได้ และสร้างความเดือดร้อนให้กับกลุ่มราษฎรระดับกลาง-ล่าง จนเกิดกระแสไม่พอใจรัฐบาล

รวมไปถึงการเปลี่ยนแปลงการปกครองก็มีปัจจัยจากภายนอกประเทศ เพราะมี ‘การล่มสลาย’ ของสมบูรณาญาสิทธิราชย์ทั่วโลก และหลายประเทศก็ต่างเปลี่ยนการปกครองให้สถาบันพระมหากษัตริย์มาอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ โดยมีรัฐธรรมนูญและรัฐสภาที่มาจากการเลือกตั้ง ซึ่งสิ่งนี้กลายเป็นกระแสการเปลี่ยนแปลงในยุคนั้น

ดังในจีน 2454 (ค.ศ. 1911)ก็มีการเปลี่ยนแปลงจากระบอบจักรพรรดิในราชวงศ์ชิง ไปสู่ประชาธิปไตยภายใต้ประธานาธิบดี เจียง ไคเซค และเยอรมนีปี 2461(ค.ศ. 1918) ได้มีการสิ้นสุดการปกครองระบอบกษัติย์ของไกเซอร์วิลเฮล์มที่ 2 มาเป็นระบอบประชาธิปไตย โดยมีจอมพล เพาล์ฟ็อน ฮินเดินบวร์ก เป็นประธานาธิบดี เป็นต้น

ด้วยเหตุนี้ ทั้งสถานการณ์การเมืองไทยที่ไม่สามารถปรับตัวต่อวิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น รวมไปถึงสถานการณ์การเมืองโลกที่มาถึงจุดที่ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ถูกสั่นคลอน ทำให้การเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 กลายเป็นการเปลี่ยนแปลงที่เป็นเหมือนการ ‘สุกงอม’ ของการเมืองทั้งในและนอกประเทศ

ซึ่งในรัฐธรรมนูญฉบับแรกหลังการปฏิวัติสยาม 2475 คือ ฉบับ 27 มิถุนายน 2475 กำหนด มาตรา 7 ไว้ ที่ระบุว่า “การกระทำใดๆ ของกษัตริย์ ต้องมีคณะกรรมการราษฎรผู้หนึ่งผู้ใดลงนามด้วย โดยได้รับความยินยอมของคณะกรรมการราษฎรจึงจะใช้ได้ มิฉะนั้นเป็นโมฆะ” ซึ่งมาตรานี้ยังมีการตีความรวมถึงการใช้พระราชอำนาจในการสถาปนาเลื่อนชั้นเจ้านายด้วย

ต่อมาในรัฐธรรมนูญฉบับที่ 2 เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2475 ตัดมาตรานี้ทิ้งไป จนกระทั่งหลังการรัฐประหาร 2490 ทำให้เกิด ‘รัฐธรรมนูญฉบับ 2492’ และเพิ่มมาตรา 12 ที่ทำให้พระราชอำนาจในการสถาปนาฐานันดรศักดิ์และพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ได้ตามพระราชอัธยาศัย จึงทำให้เครือข่ายสถาบันพระมหากษัตริย์ได้เติบโตและขยายตัวในช่วงทศวรรษ 2490 เป็นต้นมา

และแม้การปฏิวัติสยาม 2475 จะมักถูกมองว่าเป็นเพียงการ ‘รัฐประหาร’ ที่ช่วงชิงอำนาจจากกลุ่มอำนาจเก่ามาไว้ในมือของ ‘คนกลุ่มเดียวที่ชิงสุกก่อนห่าม’ แต่การเปลี่ยนแปลงเมื่อ 93 ปีที่แล้วก็ทำให้เกิดการปรับโครงสร้างอำนาจและสถาปนาการปกครองภายใต้รัฐธรรมนูญ จนมีช่วงที่สามัญชนมีโอกาสในการเลื่อนชั้นทางสังคมมากขึ้น

ซึ่งแม้ว่าในเวลาต่อมาการปฏิวัติดังกล่าวจะถูกพลิกผันกลับไปมาระหว่างอำนาจรัฐ พระมหากษัตริย์ ประชาชน แต่การปฏิวัติในครั้งนั้นก็ถือเป็นประวัติศาสตร์ของการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่ควรค่าแก่การศึกษาต่อไป

อ้างอิง:

  • คณะราษฎร https://shorturl.asia/Kj927
  • 5 คำถามเกี่ยวกับคณะราษฎรและปฏิวัติ 2475 https://shorturl.asia/0WysF
  • การปฏิวัติ 2475 ที่โรงเรียนไม่ได้สอน https://shorturl.asia/meMAV
  • กำเนิดธรรมนูญปกครองสยามฉบับที่หนึ่ง: การต่อรองระหว่าง ‘เจ้า’ กับ ‘ราษฎร’ ในการอภิวัฒน์ 5.2475 https://shorturl.asia/XKPf4
  • 85 ปี ปฏิวัติสยาม: ประวัติศาสตร์ที่ “ต้องจัดการ” https://shorturl.asia/2JtmP
  • คณะราษฎรเผยสาเหตุ ‘ปฏิวัติ 2475’ ปฐมบทจากความเสื่อมโทรมของระบอบสมบูรณาฯ ? https://shorturl.asia/faONy
  • ประกาศคณะราษฎร ฉบับที่ ๑ https://shorturl.asia/fKOkj
  • เปิดม่านประชาธิปไตย “ชิงสุกก่อนห่าม” หรือ “สถานการณ์โลกเปลี่ยนแปลง” https://tinyurl.com/5n7jz88a
  • มายาคติ ‘ชิงสุกก่อนห่าม’ สำนวนด้อยค่าการเปลี่ยนแปลงการปกครอง https://tinyurl.com/y64rzmxj
  • รัชกาลที่ 7 ทรงเตรียมการพระราชทานรัฐธรรมนูญ https://tinyurl.com/5n7w65a3