เมื่อพูดถึง ‘เฟรนช์ฟรายส์’ (French Fries) นอกจากจะนึกถึงความอร่อยที่ถูกปากคนทั่วโลกแล้ว ประวัติที่มาของมันก็นับว่าสร้างความวุ่นวายให้แก่นักประวัติศาสตร์และนักวิชาการด้านอาหารอยู่ไม่น้อย เพราะมีข้อถกเถียงว่าเจ้ามันฝรั่งหั่นเป็นแท่งๆ เอาไปทอดนี้มันเกิดในเบลเยียมหรือฝรั่งเศสกันแน่ เพราะต่างฝ่ายต่างอ้างความเป็นต้นกำเนิดของมันทั้งคู่ ยังไม่นับชาติที่ทำให้อาหารชนิดนี้แพร่หลายอย่างอเมริกาที่ ‘เฟรนช์ฟรายส์’ เป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมอาหารแบบฟาสต์ฟู้ดและสร้างความนิยมไปทั่วโลก
ในสหรัฐอเมริกา เรื่องราวของมันฝรั่งทอดนี้เริ่มต้นจาก ‘โทมัส เจฟเฟอร์สัน’ (Thomas Jefferson) ที่ขณะนั้นดำรงตำแหน่งทูตประจำฝรั่งเศสได้กินเฟรนช์ฟรายส์เป็นครั้งแรก (แต่ตอนนั้นมันมีชื่อเรียกว่า ‘pommes de terre frites à cru en petites tranches’ โดยหน้าตาของมันเป็นมันฝรั่งดิบหั่นเป็นชิ้นเล็กๆ ก่อนนำไปทอด) หลังจากนั้นเขาและ ‘เจมส์ เฮมมิงส์’ (James Hemings) ทาสรับใช้ก็ร่วมกันบันทึกเอาไว้ว่าเป็นสูตรอาหารจากประเทศฝรั่งเศส กระทั่งเจฟเฟอร์สันก้าวขึ้นเป็นประธานาธิบดีคนที่ 3 ของสหรัฐอเมริกา เขาจึงนำเฟรนช์ฟรายส์เข้ามาในทำเนียบขาวราวๆ ปี 1802 นั่นเป็นครั้งแรกที่คนอเมริกันได้รู้จักกับมันฝรั่งทอดรูปแบบนี้
หลังปี 1900 คนอเมริกันเริ่มตัดทอนคำเรียกให้สั้นลงเหลือแค่ ‘French Fries’ ที่ว่ากันว่ามาจากช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 ทหารอเมริกันได้ไปประจำการที่เบลเยียม และเขามีโอกาสได้ลองกินมันฝรั่งทอด แต่เข้าใจไปว่าเมนูนี้น่าจะเป็นอาหารของฝรั่งเศส (เพราะขณะนั้นเบลเยียมใช้ภาษาฝรั่งเศสเป็นภาษาราชการ) เมื่อกลับมาถึงบ้านเกิดเขาจึงเรียกว่าเฟรนช์ฟรายส์และใช้จนติดปากตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
แต่อีกทฤษฎีหนึ่งก็บอกว่า ชื่อ ‘French Fries’ มาจากคำว่า ‘French’ ที่ไม่ได้หมายถึงฝรั่งเศส แต่มาจากกระบวนการทำอาหารแบบ ‘frenching’ หรือวิธีการหั่นให้เป็นแท่งยาวๆ นั่นเอง พอกระกบคู่กับ fries ที่แปลว่าทอด ก็เลยออกมาเป็นคำดังกล่าว
ขณะที่เบลเยียมและฝรั่งเศส (ทั้งสองประเทศเรียกว่า ‘Frites’ ที่ย่อมาจาก ‘Pommes Frites’) ซึ่งถูกอ้างถึงในฐานะต้นกำเนิดของเฟรนช์ฟรายส์ ก็ต่างพยายามหาหลักฐานมานำเสนอเพื่อช่วงชิงความเป็นออริจินัลแบบไม่มีใครยอมกัน
ฝรั่งเศสเชื่อว่ามีหลักฐานทางประวัติศาสตร์ของฟริตส์ในช่วงปี 1789 ที่พ่อค้า-แม่ค้าย่านสะพานปงต์เนิฟ (Pont Neuf) ในปารีส นำมันฝรั่งมาหั่นเป็นแท่งยาวขนาดหนาปานกลางแล้วนำไปทอด ก่อนเกิดการปฏิวัติฝรั่งเศส และในปี 1795 ก็ยังมีการค้นพบสูตรฟริตส์ครั้งแรกในตำราหนังสืออาหารฝรั่งเศสชื่อ ‘La Cuisinière Républicaine’ ซึ่งฝรั่งเศสเชื่อว่าตำราอาหารนี้เองมีอิทธิพลในการพัฒนารูปแบบของเฟรนช์ฟรายส์จนกระทั่งประมาณปี 1840 เราก็พบเห็นเฟรนช์ฟรายส์ได้ตามท้องตลาดทั่วไป
ในเวลาต่อมา นักดนตรีชาวบาวาเรียนอย่าง ‘เฟรเดอริก ครีเกอร์’ (Frédéric Krieger) เดินทางมาเล่นดนตรีที่ปารีส ก็มีโอกาสได้เรียนรู้วิธีการทำมันฝรั่งทอดสไตล์ปารีสไปในตัว หลังจากนั้นไม่นาน เขาก็นำสูตรนี้ไปเปิดกิจการขายมันฝรั่งทอดที่เบลเยียมในชื่อ ‘la pomme de terre frite à l’instar de Paris’ ซึ่งแปลว่า ‘มันฝรั่งทอดสไตล์ปารีส’ และพัฒนารูปแบบในลักษณะหั่นเป็นแท่งยาวๆ จะได้ทอดได้เร็วขึ้นสำหรับวางขายในงานเทศกาลต่างๆ ด้วย และนอกจากนี้เขายังเป็นผู้บุกเบิกการขายฟริตส์ในรูปแบบร้านอาหารเคลื่อนที่ในประเทศ (Friteries) กระทั่งกลายมาเป็นวัฒนธรรมที่แพร่หลายในเบลเยียมทุกวันนี้ และนี่อาจเป็นจุดกำเนิดเฟรนช์ฟรายส์ของเบลเยียม
แต่ในทางกลับกัน ในเบลเยียมเองก็มีเรื่องเล่าเฟรนช์ฟรายส์ของตัวเองที่ไม่ได้ยึดโยงกับฝรั่งเศสเช่นกัน กล่าวคือการทอดมันฝรั่งเกิดขึ้นมาจากความยากจนของชาวบ้านเบลเยียม ในเมืองนามูร์ (Namur) ใกล้กับแม่น้ำมูส (Meuse) ช่วงปลายศตวรรษที่ 17-18 หรือประมาณปี 1680 ที่ตามปกติแล้วคนพื้นถิ่นจะดำรงชีวิตด้วยการจับปลาจากแม่น้ำมาทอดกินกัน แต่เมื่อเข้าสู่ฤดูหนาว แม่น้ำกลายเป็นน้ำแข็งจนไม่สามารถจับปลาได้ ชาวบ้านจึงนำมันฝรั่งดิบมาหั่นเป็นแท่งยาวๆ ทอดกินแทนเนื้อปลา
แม้ว่าภายหลังเรื่องเล่านี้จะถูกทฤษฎีของ ‘ปีแยร์ เลอแคลร์ก’ (Pierre Leclercq) นักประวัติศาสตร์ด้านอาหารแห่งมหาวิทยาลัยลีแอช (University of Liège) โต้กลับด้วยการเสนอว่าเรื่องราวที่ว่านี้ไม่เป็นความจริง เพราะในยุคนั้นน้ำมันมีราคาแพงมากจึงเป็นเสมือนวัตถุดิบที่มีค่า มีราคา ไม่มีทางที่ชาวบ้านในเมืองนามูร์จะใช้น้ำมันในปริมาณมากเพื่อทอดมันฝรั่ง หรือประกอบอาหารประเภทอื่นที่จำเป็นจะต้องใช้น้ำมันมากมายขนาดนั้นแน่นอน อีกทั้งมันฝรั่งเพิ่งจะถูกนำเข้ามาในยุโรปช่วงปี 1730 หลังเรื่องราวนี้ด้วยซ้ำ
หากเรื่องราวของชาวบ้านในเมืองนามูร์ไม่เป็นความจริงอย่างที่นักประวัติศาสตร์คนนี้กล่าวไว้ เราก็สามารถนำข้อมูลของเฟรเดอริก ครีเกอร์ มาอ้างอิงถึงความนิยมของฟริตส์ของคนเบลเยียมได้ เพราะสำหรับคนประเทศนี้แล้ว มันฝรั่งทอดไม่ใช่เพียงแค่เครื่องเคียงที่เสิร์ฟคู่อาหารจานด่วนเหมือนในฝรั่งเศสหรืออเมริกา แต่ถือว่าเป็นเมนูหลักที่สะท้อนถึงวัฒนธรรมการกินประจำชาติเบลเยียม เพราะคนประเทศนี้กินฟริตส์ถึง 75 กิโลกรัมต่อคนต่อปี มากกว่าคนอเมริกันถึง 1 ใน 3 เท่า
อีกทั้งเบลเยียมยังเรียกมันว่า ‘เบลเจียน ฟรายส์’ (Belgian Fries) รวมถึงคิดสูตรสำหรับมันฝรั่งทอดเพื่อสร้างเอกลักษณ์ของเบลเยียมโดยเฉพาะด้วย โดยฟริตส์ของที่นี่จะต้องทอดในน้ำมัน 2 ครั้ง ครั้งแรกทอดด้วยอุณหภูมิ 130-160 องศาเซลเซียส แล้วนำขึ้นมาพักก่อนจะนำไปทอดอีกครั้งด้วยอุณหภูมิ 175 องศาเซลเซียส จากนั้นจึงโรยเกลือเสิร์ฟใส่กรวยกระดาษราดด้วยซอสมายองเนส หรือซอสดิปอื่นๆ ตามท้องถิ่น และสูตรการทอดซ้ำนี้ก็มีระบุในตำราอาหารเบลเยียมในหนังสือ ‘L’école Ménagère’ ปี 1892 เพื่อใช้สำหรับโรงเรียนสอนทำอาหารซึ่งนับว่าเป็นสูตรแรกของโลกเลยก็ว่าได้
นอกจากนี้ เบลเยียมยังกีดกันการเข้ามาของร้านอาหารจานด่วนแฟรนไชส์สัญชาติอเมริกัน อย่าง McDonald’s ด้วยการสร้างธุรกิจร้านขายฟริตส์ในประเทศของตน อีกทั้งยังยื่นคำร้องต่อองค์การยูเนสโก เพื่อขอให้การกินฟริตส์หรือเฟรนช์ฟรายส์ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของยูเนสโก (UNESCO) ในปี 2014 รวมถึงในปี 2016 ด้วย
อย่างไรก็ตาม ปฏิเสธไม่ได้ว่า ทั้งเบลเยียม ฝรั่งเศส และอเมริกา ต่างก็มีอิทธิพลที่ทำให้เฟรนช์ฟรายส์หรือวัฒนธรรมการทอดมันฝรั่งกลายมาเป็นอาหารจานด่วนที่แพร่หลายไปทั่วโลก และกลายมาเป็นคอมฟอร์ตฟู้ดในดวงใจของใครหลายคนนั่นเอง
อ้างอิง