2 Min

“อีกะเทย!” “มึงสิอีกะเทย!” 7 กรกฎาคม ครบรอบ 7 ปี วลีในตำนานของโลกโซเชียลมีเดียไทย

2 Min
7 Views
08 Jul 2025

ครบรอบ 7 ปี วันถือกำเนิดวลีแห่งตำนานของโซเชียลไทย อย่าง “อีกะเทย!” “มึงสิอีกะเทย!” จากวันที่ 7 กรกฎาคม 2561 วันที่บุคคลคล้ายพระภิกษุสงฆ์ปะทะเดือดกับฆราวาสบนรถตู้โดยสาร

ต้นเหตุของเหตุการณ์ในตำนานครั้งนั้น เกิดขึ้นจากที่มีผู้เห็นเหตุการณ์ได้บันทึกคลิปวิดีโอบุคคลสองคนบนรถตู้โดยสาร กำลังต่อปากต่อคำกันด้วยวาจาที่รุนแรง แสบสัน และเต็มไปด้วยคำหยาบคาย ซึ่งคนหนึ่งเป็นบุคคลคล้ายพระภิกษุสงฆ์ ห่มจีวรสีส้ม นั่งอยู่เบาะด้านหน้าข้างๆ คนขับรถ ส่วนอีกคนหนึ่งเป็นฆราวาส นั่งอยู่เบาะช่วงด้านหลังของรถตู้โดยสาร

บุคคลที่ได้ทำการบันทึกคลิปวิดีโอลงแพลตฟอร์ม Facebook ส่วนตัว ได้ให้ความเห็นว่า เรื่องทั้งหมดเกิดจากที่บุคคลคล้ายพระภิกษุสงฆ์ แซงคิวขึ้นรถตู้ผู้โดยสารคนอื่นๆ เป็นจำนวนเกือบ 15 คน จึงทำให้เกิดปากเสียงกันเล็กน้อยตั้งแต่ก่อนขึ้นรถตู้โดยสาร โดยบุคคลที่คล้ายพระภิกษุสงฆ์ได้อ้างว่า ตนก็จ่ายเงินเหมือนกับผู้โดยสารคนอื่นๆ เช่นกัน เหตุใดจะไม่สามารถขึ้นรถตู้โดยสารได้

เหตุการณ์ทุกอย่างเริ่มดูสงบลง แต่ทว่าหลังจากที่รถตู้โดยสารเริ่มเคลื่อนตัว ทันใดนั้นก็ได้มีเสียงตะโกนด่าคนขับรถด้วยถ้อยคำที่หยาบคาย และใช้สรรพนามในการเรียกตนเองว่า ‘กู’ จากบุคคลที่คล้ายพระภิกษุสงฆ์ ซึ่งสาเหตุเกิดจากการที่ไม่ได้รับเงินทอนจำนวน 3 บาทจากคนขับรถตู้โดยสาร

ผู้โดยสารคนอื่นๆ ที่เดินทางด้วย เริ่มเกิดความรู้สึกตื่นตระหนกและเกรงกลัวว่า คนขับรถจะเสียสมาธิในการขับรถและเกิดอุบัติเหตุตามมาในภายหลัง ผู้โดยสารอีกคนหนึ่งเริ่มเกิดอาการไม่พอใจในการกระทำของบุคคลที่คล้ายพระภิกษุสงฆ์คนนี้ จึงเริ่มตะโกนด่ากราดให้ลงจากรถตู้โดยสารทันที

จากนั้นจึงเกิดวลีเด็ดมากมายที่ก่อเป็นกระแสโซเชียลให้คนเล่นกันมาตลอด 7 ปี เช่น “มึงสิอีกะเทย”, “กูจะแจ้ง กูจะแจ้ง”, “มีใบมั้ย”, “นิมนต์ลงบัดเดี๋ยวนี้”, “ปาราชิก”, “อีมารศาสนา”

เหตุการณ์ที่เป็น ‘มีม’ (Meme) อันเกิดจากความรุนแรงหรือความหัวร้อนของผู้คน ไม่ได้มีเพียงแค่เหตุการณ์บุคคลที่คล้ายพระภิกษุสงฆ์ปะทะเดือดกับฆราวาสบนรถตู้โดยสารเท่านั้น แต่ยังมีอาม่าตบเด็กในเทศกาลวันคริสต์มาส กับเพลงสุดฮิตประจำเทศกาลอย่าง ‘Joy To The World’, หนุ่มแว่นหัวร้อนกับวลีเด็ด “ทำไมคนไทยชอบเ*ือกเรื่องชาวบ้าน” หรือสาวสั่งพิซซ่าเดลิเวอรี กับวลี “ตกนรกอเวจีปอยเปต แสนล้านภพแสนล้านชาติ”

เหตุผลที่มนุษย์เรามักจะหัวเราะหรือทำเรื่องเครียดให้เป็นเรื่องตลก เนื่องจากถือเป็นกลไกการเยียวยาทางจิตใจ (Psychological Coping Mechanism) อย่างหนึ่ง ซึ่งมันสามารถช่วยลดความรู้สึกหวาดกลัวหรือสิ้นหวังให้เป็นไปในทางที่ดีขึ้นได้

และแน่นอนว่ามนุษย์ต้องใช้ ‘อารมณ์ขัน’ เป็นวิธีระบายความเครียด เพราะการหัวเราะก็ถือเป็นกลไกการป้องกันตนเอง (Defense Mechanism) ของมนุษย์เช่นกัน เนื่องด้วยการหัวเราะนั้น สมองจะมีการหลั่งฮอร์โมนที่ช่วยคลายความเครียด เช่น เอ็นดอร์ฟิน (Endorphin), โดปามีน (Dopamine) และเซโรโทนิน (Serotonin)

ทั้งนี้ทั้งนั้น การแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง ไม่ควรใช้ความขัดแย้งในการรับมือกับสถานการณ์ และถ้าหากเราเล่นมุกตลกขบขันในสถานการณ์ที่ไม่ควรเล่น ก็อาจจะทำให้ผู้ฟังฝ่ายตรงข้ามรู้สึกไม่พอใจกับคำพูดของเราได้ ดังนั้น การเล่นมุกตลกที่ดี ก็ควรมาเคียงคู่กับกาลเทศะที่เหมาะสมด้วยเช่นกัน

อ้างอิง: