ถ้าเห็นตัวย่อ WWF แล้วเรานึกถึงอะไรกัน? หลายๆ คนอาจจะนึกถึงองค์กรพิทักษ์สัตว์ หลายๆ คนอาจจะนึกถึงสมาคมมวยปล้ำ ที่ตอนนี้เปลี่ยนชื่อมาเป็น WWE ไปแล้ว
แต่รู้ไหมว่าสององค์กรที่ว่ามานี้ต่อสู้กันอย่างดุเดือดในเรื่องของการใช้ตัวย่อ WWF นี่แหละ ซึ่งสุดท้ายองค์กรมวยปล้ำก็แพ้ไปและต้องเปลี่ยนชื่อในที่สุด ทั้งๆ ที่ตัวย่อ WWF ก็เป็นตัวย่อที่ทั้งแฟนๆ มวยปล้ำ และคนไม่ดูมวยปล้ำก็จำว่าเป็น ‘เครื่องหมายการค้า’ ไปแล้ว
เรื่องมันเริ่มจากองค์กร World Wildlife Fund ซึ่งเป็นกองทุนเพื่อพิทักษ์สัตว์ป่าถือกำเนิดขึ้นในโลกในปี 1961 โดยมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่สวิตเซอร์แลนด์
ทีนี้ตอนแรกองค์กรก็ไม่ได้มีโลโก้แบบที่เห็นในปัจจุบัน ตอนแรกๆ ใช้โลโก้เป็นหมีแพนด้าเฉยๆ แต่เพิ่งเปลี่ยนมาเป็นโลโก้หมีแพนด้าแบบที่คุ้นตาเราในทุกวันนี้พร้อมกับตัวย่อ WWF ด้วยฟอนต์ Times Roman ในปี 1986 นี่เอง
และนับแต่ปี 1986 เป็นต้นมา World Wildlife Fund ก็เลยเป็นที่รู้จักในนามตัวย่อ WWF
ปัญหาคือ ณ ตอนนั้น WWF นั้นไม่ใช่ WWF เดียวแล้ว เพราะมันมีบริษัทจัดมวยปล้ำในอเมริกาที่ชื่อเต็มว่า World Wrestling Federation ใช้ตัวย่อนี้มาตั้งแต่ปี 1979 และในช่วงทศวรรษ 1980 บริษัทนี้ก็ขยายตัวจนยิ่งใหญ่มีชื่อเสียงไปทั่ว ก็เลยทำการไปจดเครื่องหมายการค้าเช่นกัน และจริงๆ ก็ได้ยื่นจดเครื่องหมายการค้ามาตั้งแต่ช่วงต้นทศวรรษ 1980 แล้ว โดยที่ตอนนั้น WWF พิทักษ์สัตว์ก็ไม่ได้ยื่นเรื่องเพื่อแย้งการจดเครื่องหมายการค้านี้แต่อย่างใด
แต่เครื่องหมายการค้าก็เป็นสิ่งที่ต้องต่ออายุเรื่อยๆ และการต่ออายุครั้งต่อมา WWF พิทักษ์สัตว์ ก็ได้เปลี่ยนโลโก้และมาใช้ โลโก้หมีแพนด้ามีตรา WWF ไปเรียบร้อยแล้ว WWF พิทักษ์สัตว์ก็เลยยื่นข้อเสนอว่าถ้า WWF มวยปล้ำนั้นไม่ใช้ฟอนต์ Times Roman เขียนคำว่า WWF ในกรณีใดๆ ก็ตามในบริบทของกิจกรรมของบริษัทแล้ว ทาง WWF พิทักษ์สัตว์ก็จะไม่ทำการแย้งการยื่นจดเครื่องหมายการค้าของ WWF มวยปล้ำ
ข้อตกลงนี้เกิดขึ้นในปี 1989 และแน่นอนว่า WWF มวยปล้ำก็ตกลงและก็ได้จดเครื่องหมายการค้าผ่านฉลุยไป
แต่ความสงบก็ดำรงอยู่ไม่นาน WWF มวยปล้ำกลายเป็นบริษัทที่ดังใหญ่โตอย่างต่อเนื่อง มีรายการฉายไปทั่วโลก และกิจกรรมมวยปล้ำเถื่อนๆ นั้นก็แน่นอนว่าเป็นคนละเรื่องกับการพิทักษ์สัตว์ ทาง WWF พิทักษ์สัตว์ ก็เลยรู้สึกว่าการที่องค์กรทั้งสองมีชื่อซ้ำกันมันมีปัญหาละ
สุดท้าย WWF พิทักษ์สัตว์ก็เลยรุกก่อนที่ฐานขององค์กรในสวิตเซอร์แลนด์ โดย WWF พิทักษ์สัตว์ก็ฟ้องว่า WWF มวยปล้ำทำการละเมิดเครื่องหมายการค้าของตนจนได้หมายศาล (ซึ่งแน่นอนใช้ได้แต่ในสวิส) เพื่อให้ WWF มวยปล้ำยุติการใช้ตัวย่อ WWF เสีย พร้อมก็ขู่ว่าจะทำการดำเนินการทางกฎหมายในทำนองนี้ไปทุกประเทศทั่วโลก
นี่เลยนำมาสู่ข้อตกลงใหม่ในปี 1994 ที่ทำการตกลงกันที่อเมริกา
ซึ่งข้อตกลงถ้าจะสรุปง่ายๆ ก็คือทาง WWF มวยปล้ำ ยังสามารถใช้โลโก้ของตนได้ และใช้คำว่า World Wrestling Federation ได้ แต่ห้ามใช้ตัวย่อ WWF ในกิจกรรมต่างๆ ของ WWF มวยปล้ำ โดยมีข้ออะลุ่มอล่วยว่า เวลา ‘พูด’ ในรายการสามารถพูดคำว่า WWF ได้ แต่ต้องไม่ ‘เขียน’ ออกมา
ข้อตกลงนี้ก็ดำเนินมาได้ จนมันเกิดความขัดแย้งในยุคอินเทอร์เน็ตที่ทุกๆ องค์กรก็ต้องมีเว็บไซต์ ซึ่ง ในยุคนั้น WWF มวยปล้ำใช้ URL ว่า wwf.ดอทคอม ส่วน WWF พิทักษ์สัตว์ใช้ URL ว่า wwf.org
แน่นอนว่าคนจำนวนมากที่จะเข้าเว็บของ WWF พิทักษ์สัตว์ก็หลงเข้าไปที่เว็บของ WWF มวยปล้ำ และนี่ทำให้ WWF พิทักษ์สัตว์ไม่พอใจมากๆ เพราะทำให้ภาพลักษณ์องค์กรเสื่อมเสีย คราวนี้ก็เลยไปยื่นฟ้องที่ศาลอังกฤษว่า WWF มวยปล้ำละเมิดข้อตกลงที่ทำไว้ในปี 1994 (โปรดสังเกตว่า WWF พิทักษ์สัตว์เวลาฟ้องจะไม่ฟ้องในอเมริกาซึ่งเป็นถิ่นของ WWF มวยปล้ำ)
การปะทะกันในศาลเกิดขึ้นในปี 2001 ที่ศาลในอังกฤษ ทาง WWF มวยปล้ำพยายามจะดีเฟนด์ว่าข้อตกลงที่ทำกันในปี 1994 นั้นไม่ครอบคลุมถึงกิจกรรมต่างๆ บนอินเทอร์เน็ต เพราะนั่นเป็นเทคโนโลยีที่ยังไม่แพร่หลายในตอนนั้น ไม่มีข้อกำหนดใดของข้อตกลงที่จะห้าม WWF มวยปล้ำไปจดทะเบียนเว็บไซต์โดยใช้ตัวย่อ WWF อย่างไรก็ดี ศาลอังกฤษทั้งชั้นต้นและอุทธรณ์ก็ตัดสินไปในทางเดียวกันให้ทาง WWF พิทักษ์สัตว์ได้ชัยชนะ หรือพูดอีกอย่างคือศาลตัดสินว่า WWF มวยปล้ำได้ละเมิดข้อตกลงที่ทำไว้ในปี 1994 จริง
นี่เป็นสาเหตุให้ WWF มวยปล้ำ ตกเป็นเบี้ยล่างในการเจรจาที่จะเกิดขึ้นต่อไป และผลคือ WWF พิทักษ์สัตว์จะยอมให้ WWF มวยปล้ำใช้ ตัวย่อ WWF กับบรรดาสินค้าเก่าๆ (ซึ่งหลังๆ คือวิดีโอของแมตช์เก่าๆ) ได้ ในเงื่อนไขที่ว่า WWF มวยปล้ำก็ต้องเปลี่ยนชื่อองค์กรและผลิตภัณฑ์ต่อๆ ไปไม่ให้เป็น WWF พร้อมไม่ไปยุ่งเกี่ยวกับตัวย่อ WWF ตั้งแต่นี้เป็นต้นไป
ในที่สุด WWF มวยปล้ำที่สร้างแบรนด์มาเป็นยี่สิบปี และยิ่งใหญ่จนสามารถเข้าตลาดหุ้นได้ก็ต้องยอมเปลี่ยนชื่อบริษัทเป็น World Wrestling Entertainment หรือ WWE เพื่อบรรลุข้อตกลงในปี 2002 และใช้ชื่อนี้มาจนถึงปัจจุบัน
อย่างไรก็ดี จะว่าการเปลี่ยนชื่อนี้เป็นโอกาสเหมาะในการเปลี่ยนเพื่อเอาฤกษ์เอาชัยก็ได้ เพราะในปี 2001 ที่ WWF มวยปล้ำโดนฟ้อง ทางบริษัทก็สามารถเทคโอเวอร์ 2 บริษัทมวยปล้ำที่ใหญ่พอจะสู้กันได้อย่าง WCW และ ECW ซึ่งมันก็ส่งผลให้ WWF กลายเป็นบริษัทมวยปล้ำระดับใหญ่เพียงบริษัทเดียวในอเมริกา และก็มีอำนาจในการผูกขาดตลาดมวยปล้ำในอเมริกานั่นเอง
และการที่มันบังเอิญเปลี่ยนชื่อในโอกาสนี้พอดีก็เป็นเหตุผลให้แฟนๆ มวยปล้ำจำนวนไม่น้อยจดจำว่าจริงๆ การเปลี่ยนชื่อจาก WWF เป็น WWE นั้นเป็นการเอาฤกษ์เอาชัยในการควบรวมบริษัท กล่าวคือ เปลี่ยนชื่อเพื่อเปิดศักราชใหม่ของอุตสาหกรรมมวยปล้ำ …แทนที่จะเป็นที่จดจำว่าต้องเปลี่ยนชื่อเพราะโดนองค์กรพิทักษ์สัตว์ฟ้องร้อง
อ้างอิง
- FindlLaw. Agreement – WWF-World Wide Fund for Nature and Titan Sports Inc.. https://bit.ly/3z2hzWD
- CSS. WWE and World Wildlife Fund reach a settlement. https://bit.ly/3zqgl9c
- BBC. Wrestling body submits to name change. http://news.bbc.co.uk/1/hi/uk/1974600.stm
- The New York Times. SPORTS BUSINESS; Wildlife Fund Takes Down Wrestlers in Name Game. https://nyti.ms/3OwrcTt
- Campaign. Knowing the limits of your trademark. https://bit.ly/3oqxQjj