‘เด็ก’ คือมนุษย์ตัวเล็กที่มีความคิด ความรู้สึก และหัวใจที่เปราะบาง คำพูดบางคำที่ผู้ใหญ่ตั้งใจใช้เพราะห่วงใยหรือหวังให้เขาเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ อาจให้ผลตรงกันข้ามกับสิ่งที่หวัง แทนที่จะกระชับสัมพันธ์กลับเปลี่ยนเป็นเพิ่มช่องว่าง และทำให้เด็กรู้สึกว่าเราไม่เข้าใจเขาแทน
เรื่องนี้เป็นบทสรุปจาก รีม ราอูดา (Reem Rauoda) นักจิตวิทยาด้านพฤติกรรมเด็ก ซึ่งศึกษาวลีมากกว่า 200 แบบที่พ่อแม่ใช้กับลูก เธอพบว่า มีหลายคำที่พ่อแม่มักพูดโดยไม่รู้ตัวว่ากำลัง ‘ปิดกั้น’ เด็กๆ อยู่โดยไม่ตั้งใจ
เรามาดูกันว่ามีคำไหนบ้าง และจะปรับเปลี่ยนอย่างไรให้ลูกเปิดใจฟังเรามากขึ้น
อย่าพูดว่า “เพราะพ่อแม่บอกอย่างนั้น” แต่ควรบอกว่า “พ่อแม่รู้ว่าลูกอาจไม่ชอบ พ่อแม่จะอธิบายว่าเพราะอะไร แล้วเราจะได้ไปกันต่อ”
คำว่า ‘เพราะพ่อแม่บอก’ ไม่ต่างอะไรกับการสั่งให้ทำ เป็นการสอนให้เชื่อฟังอย่างไม่ลืมหูลืมตา และปิดกั้นการสื่อสารเพื่อสร้างความเข้าใจ พ่อแม่ควรอธิบายเหตุผล แม้จะสั้นๆ แต่จะช่วยให้ลูกรู้สึกเป็นกันเองกับเรามากขึ้น เป็นการควบคุมสถานการณ์ได้ด้วยความสงบ รวมถึงยังสอนให้ลูกเข้าใจบทบาทการเป็นผู้นำที่ผู้อื่นให้ความเคารพ
อย่าพูดว่า “ถ้าลูกไม่ฟัง ลูกจะไม่ได้ของขวัญ” แต่ควรบอกว่า “ลูกจะได้ของขวัญเมื่อลูกพร้อม”
เด็กบางคนอาจอยากได้ของเล่น แต่เมื่อไม่ได้กลับงอแง การไปบังคับว่าถ้า… จะไม่ได้ เปรียบได้กับการคุกคามที่นำไปสู่การต่อต้าน เพราะเป็นการบีบบังคับให้เด็กๆ เป็นฝ่ายตั้งรับอยู่ด้านเดียว แต่ในคำที่ต่างออกไป นอกจากช่วยให้พ่อแม่กำหนดสถานการณ์ให้มั่นได้แล้ว ยังเผยถึงอนาคตที่เด็กๆ จะได้รับสิ่งที่ต้องการได้ เพราะการให้ของขวัญ ซื้อของให้ สิ่งที่ต้องทำ ไม่ใช่การกำจัดข้อจำกัด (ที่อาจซื้อหรือให้ไม่ได้ในทันที) แต่ควรเป็นการขจัดอาการงอแงแทน
อย่าพูดว่า “หยุดร้องได้แล้ว ไม่เป็นอะไรแล้ว” แต่ควรบอกว่า “หนูคงอารมณ์ไม่ดี บอกพ่อแม่หน่อยได้ไหมว่าเกิดอะไรขึ้น”
การบอกให้หยุดทำ ไม่ต่างอะไรกับการเพิกเฉยอารมณ์ของเด็ก และนำไปสู่การทำลายความสัมพันธ์ และผลลัพธ์สุดท้ายจะลงเอยที่เด็กกลายเป็นคนไม่ฟังใคร และไม่ให้ความร่วมมือทำกิจกรรมใดๆ กับครอบครัว ตรงกันข้ามกับการรับฟังปัญหา ความรู้สึก เด็กจะรู้สึกสงบลงเร็วขึ้น และไว้วางใจพ่อแม่มากขึ้น
อย่าพูดว่า “พ่อแม่บอกกี่ครั้งแล้ว” แต่ควรบอกว่า “ช่วยบอกได้ไหมว่ามันเป็นเพราะอะไร”
เด็กบางคนอาจมีพัฒนาการบางด้านล่าช้า หรือเรียนรู้บางเรื่องไม่ค่อยเก่ง ปัญหานี้บางครั้งอาจไม่ได้เกิดขึ้นจากตัวเด็กเอง แต่อาจมาจากความไม่เข้าใจในสิ่งนั้นๆ จริงๆ เมื่อพบสถานการณ์เช่นนี้ คำที่พูด ไม่ควรโทษหรือโยนต้นตอความผิดไปที่ตัวเด็ก แต่ควรขอคำตอบเพื่อหาทางช่วยกันแก้ไขปัญหาและเปิดโอกาสให้เด็กได้แก้ตัวใหม่
อย่าพูดว่า “ลูกทำได้ดีกว่านี้” แต่ควรบอกว่า “ตอนนี้มีบางอย่างขัดขวางด้านที่ดีที่สุดของลูกอยู่ เราลองมาคุยกันว่ามันเกิดจากอะไร”
คำว่า “ลูกทำได้ดีกว่านี้” จะทำให้เด็กรู้สึกอับอาย เป็นเหมือนการลงโทษแบบกลายๆ พ่อแม่ควรเปลี่ยนจากการลงโทษมาเป็นการสร้างความร่วมมือ ช่วยให้ลูกได้ตรึกตรองถึงข้อผิดพลาดที่เกิด ไปพร้อมกับแสดงความเชื่อมั่นในตัวลูก และพร้อมช่วยเหลืออยู่ข้างๆ
นักจิตวิทยาด้านพฤติกรรมเด็ก ยังอธิบายต่อว่า การสอนหรือทำให้เด็กฟังผู้ใหญ่ จะเกิดขึ้นได้เพราะเด็กมีความรู้สึกปลอดภัยทางอารมณ์ และสิ่งนี้จะเกิดได้ก็ต่อเมื่อคนเป็นพ่อและแม่ไม่เข้าไปควบคุมพฤติกรรมลูกผ่านคำพูด
และการเปลี่ยนคำพูดก็ไม่ใช่แค่การปรับเพียงภาษา แต่ยังหมายถึงการเปลี่ยนแปลงมุมมองของเราต่อการเลี้ยงลูก เมื่อเราตอบสนองเหตุการณ์ต่างๆ ของเด็กบนความเห็นอกเห็นใจ และความเป็นผู้นำ เด็กจะไว้ใจพ่อแม่ การเลี้ยงดูก็ง่ายขึ้น และสุดท้ายสิ่งนั้นจะส่งต่อไปถึงตัวของเด็กเอง ให้เขาได้เติบโตมาเป็นผู้ใหญ่ที่มีความยืดหยุ่นทางอารมณ์ และรับมือกับสถานการณ์ต่างๆ ได้ดีขึ้น
อ้างอิง:
- I’ve studied over 200 kids – parents who have an easy time getting their children to listen never use these ‘toxic’ phrases https://www.cnbc.com/2025/06/22/ive-studied-over-200-kids-phrases-parents-should-use-to-get-children-to-listen.html