ทำไม “ผ้าถุง” ถึงกลายเป็นอาวุธต่อต้านเผด็จการในพม่า?

4 Min
1450 Views
09 Mar 2021

ถ้าดาวเด่นการประท้วงในสายตาโลก ปี 2020 คือไทย เพราะผู้ประท้วงมี ‘กิมมิค’ เยอะเหลือเกิน พอถึงปี 2021 ดาวเด่นก็คงไม่พ้นพม่า เนื่องจากคนประท้วงกันต่อเนื่องนับแต่รัฐประหารในเช้าตรู่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา

และไฮไลต์ล่าสุดของเดือนมีนาคมก็คงจะเป็นการใช้ “ผ้าถุง” ในการประท้วง เรียกได้ว่าเป็นภาพแปลกตามาก เพราะผู้หญิงพม่าจำนวนมากเอาผ้าถุงมาตากพาดกลางถนน!?

การประท้วงด้วยการเอาผ้าถุงมาตากกลางถนน ณ กรุงย่างกุ้ง

การประท้วงด้วยการเอาผ้าถุงมาตากกลางถนน ณ กรุงย่างกุ้ง | The Hindustan Times

คำถามคือทำไมต้องผ้าถุง แล้วการกระทำนี้คืออะไร?

คำถามนี้ง่าย แต่ตอบยาก ต้องใช้ความเข้าใจเรื่องวัฒนธรรมพม่าจำนวนมาก เอาล่ะ เราจะค่อยๆ อธิบายกัน

โสร่ง VS ผ้าถุง

เบื้องต้น เราอาจเห็นว่าพม่าเป็นชาติที่ผู้ชายก็ใส่ “ผ้าถุง” เหมือนกัน แต่เรามักจะเรียก “โสร่ง” ดังนั้นสิ่งที่ผู้ชายกับผู้หญิงนุ่งเป็นสิ่งเดียวกันหรือเปล่า?

คำตอบที่เร็วที่สุดคือ เป็นคนละสิ่งกัน แล้วสองสิ่งนี้ต่างกันอย่างไร
คำว่า “โสร่ง” เป็นภาษามาเลย์ ใช้เรียกผ้านุ่งที่ใช้ปกปิดส่วนล่างของร่างกาย คำว่า “โสร่ง” นี้ “ฝรั่ง” หยิบยืมมาใช้เป็นศัพท์เทคนิคทางวัฒนธรรมในการเรียก “ผ้าถุง” หรือผ้านุ่งในวัฒนธรรมเอเชียที่หลากหลาย

แต่ปัญหาคือคำว่า “โสร่ง” ในความเข้าใจของฝรั่งเป็นคำที่ใช้เรียก “ผ้าถุง” แบบไม่จำกัดเพศ ซึ่งในความเป็นจริงในหลายวัฒนธรรม จะมีคำเรียกผ้าแบบนี้แบบแยกเพศเลย เพราะถึงแม้จะเป็น “ผ้าถุง” เหมือนกัน แต่สังคมที่บทบาทของผู้ชายและหญิงต่างกันมากๆ การแต่งกายนั้นก็จะผูกกับเพศกำเนิดมากๆ ซึ่งจะมีรายละเอียดที่ไม่เหมือนกัน และสังคมพม่าก็ชัดเจนมากในประเด็นนี้

ในพม่า ผ้าถุงผู้ชายจะเรียกว่า “ปะโซ” (Paso) ส่วนผ้าถุงผู้หญิงจะเรียกว่า “ตะเมน” (Htamein) ซึ่งคำกลางในการเรียกจะเรียก “หล่องหยี่” (Longyi)

ภาพการนุ่งตะเมน

ภาพการนุ่งตะเมน (ซ้าย) และ ปะโซ (ขวา) ในสังคมพม่ายุคก่อนอาณานิคม | Indochina Voyages

ดังนั้นถ้าอธิบายง่ายๆ สิ่งที่เราเรียกว่า “โสร่ง” ก็คือสิ่งที่คนพม่าเรียก “หล่องหยี่” แต่คำๆ นี้โดยทั่วไปคนพม่าจะไม่ใช้ แต่จะเรียกแยกว่า “ปะโซ” และ “ตะเมน” ไปเลย เพราะ “โสร่ง” ของผู้ชายและผู้หญิงนั้นไม่เหมือนกันทั้งลายและวิธีการใส่

เราคงจะไม่ลงรายละเอียดว่ามันต่างกันอย่างไร แต่ประเด็นก็คือในวัฒนธรรมพม่า คำเรียก “ผ้าถุง” นั้นแยกเพศชัดเจน และสิ่งที่ปรากฏในการประท้วงตอนนี้คือ “ตะเมน” หรือ “ผ้าถุงของผู้หญิง” เท่านั้น ไม่ใช่ผ้าถุงที่ผู้ชายพม่าใส่

ส่วนทำไมต้องเป็นของผู้หญิง เราต้องทำความเข้าใจจักรวาลวิทยาและบทบาททางเพศของคนพม่า

“บุญ” ในจักรวาลวิทยาของพม่า

สังคมพม่ามีความเชื่อเรื่อง “บุญ” คล้ายๆ กับสังคมไทย (พม่าจะเรียกว่า “พง” หรือ hpon) ซึ่งก็เข้าใจได้เพราะพม่าเป็นประเทศที่มีความเชื่อทางศาสนาคล้ายกับไทยที่สุดในโลกแล้วประเทศหนึ่ง

ว่าแต่ “บุญ” คืออะไรล่ะ?

คำคำนี้เราได้ยินมาแต่เด็ก เราใช้พูดกับคนไทยได้ปกติ แต่ถ้าจะอธิบายให้คนนอกวัฒนธรรมไทยฟังว่าอะไรคือ “บุญ” แน่นอนว่าหลายๆ คนอธิบายไม่ได้แน่ๆ

โดยทั่วไป ถ้า “ฝรั่ง” อธิบาย บุญคือพลังที่มองไม่เห็น มีมาแต่กำเนิด และเป็นคำอธิบายว่าทำไมคนในสังคมถึงมีสถานะที่ต่างกัน หรือพูดง่ายๆ พื้นฐานของ “บุญ” นั้นดูจะเป็นเรื่องของโชคลาภมากกว่า “ความดี” อย่างที่คนไทยเข้าใจกันปกติ ซึ่งนี่ก็ตรงกันกับรากฐานของคำว่าบุญที่มาจากเทพชื่อ Bhaga ในศาสนาพราหมณ์อันเป็นเทพแห่งโชคลาภ

ความเชื่อแบบพม่าจริงๆ ก็คล้ายๆ ความเชื่อของไทยในสมัยก่อนที่เชื่อว่าคนจะเกิดเป็นผู้ชายได้ต้อง “มีบุญ” ดังนั้นพื้นฐานแล้ว คนพม่าถือว่าผู้ชายมีบุญมากกว่าผู้หญิง

การลด “บุญ” ของทหารด้วยผ้าถุง

โดยทั่วไปคนพม่ารุ่นใหม่ๆ ก็ไม่ได้ต่างจากคนไทยนัก คือจะมี “ความเชื่อ” น้อยกว่าคนสมัยก่อน แต่อย่างไรก็ดี สิ่งที่คนพม่ามองเห็นก็คือพวกทหารหรือฝ่ายเผด็จการมีความเชื่ออย่างลึกซึ้งในเรื่องพวกนี้ ก็เลยเกิดแคมเปญประท้วงเอาผ้าถุงผู้หญิงมาแขวนเป็นแนวกันทหาร

อ่านมาถึงตรงนี้ เราคนไทยอาจจะเริ่มคุ้นๆ แต่ฝรั่งก็คงงง เพราะฝรั่งปัจจุบันไม่มีความเชื่อเรื่อง “ที่สูงและที่ต่ำ” เหมือนคนไทยหรือคนพม่า แต่สำหรับคนไทย เราคงเข้าใจไม่ยากว่าสังคมเรามีความเชื่อจริงๆ ว่า “หัว” เป็น “ของสูง” ที่ไม่ควรจะเอา “ของต่ำ” ไว้เหนือหัว ไม่ว่า “ของต่ำ” นั้นจะเป็นอะไร

มาถึงตอนนี้ หลายคนคงจะ “อ๋อ” แล้ว

ใช่แล้วครับ คนพม่าใช้ผ้าถุงผู้หญิงที่เป็น “ของต่ำ” ในทางวัฒนธรรม มาวางกันเป็นแนวกั้นทหาร เพราะทหารจะไม่อยากให้ผ้าถุงผู้หญิงสูงกว่าหัว เพราะนั่นจะทำให้ “บุญ” เสื่อม

อันนี้คนไทยเราอาจจะงงหน่อยว่า “บุญ” จะเสื่อมได้ไงในกระบวนการแบบนี้ เพราะถ้าเป็นบ้านเราเราจะเชื่อว่าการลอดราวตากผ้าถุงจะทำให้ “ของเสื่อม” ซึ่งก็อย่างที่เล่า ความเชื่อของคนพม่าคล้ายๆ เรา แต่เรียกได้ว่าไม่เหมือนเราซะทีเดียว

อธิบายง่ายๆ แบบเกมก็คือ การให้ทหารพม่าลอดราวตากผ้าถุงนั้นเป็นการทำให้ค่า Luck ลดลง และเป็นการทำลายขวัญและกำลังใจของทหารนั่นเอง
หรือพูดง่ายๆ มันไม่เกี่ยวว่าเรื่องพวกนี้มันจะ “จริง” หรือไม่ หรือผู้ประท้วงจะเชื่อหรือไม่ แต่ประเด็นคือการทำสิ่งที่ฝ่ายเผด็จการเชื่อว่าจะนำ “โชคร้าย” มา มันก็คือการประท้วงที่ได้ผล ถ้าฝ่ายเผด็จการเชื่อว่าเป็นเรื่องจริง

แคมเปญ ‘โบกผ้าถุง’ ในวันสตรีสากล

ในวันที่ 8 มีนาคม 2021 ที่เป็นวันสตรีสากล ทางนักกิจกรรมชาวพม่าก็ยังมีแคมเปญประท้วงด้วยการเอาผ้าถุงมาโบกอีกด้วย เรียกได้ว่าเป็นการข่มขวัญเหล่าทหารผู้ชายพม่าที่มีความเชื่อในแบบดั้งเดิม

โปสเตอร์แสดงกิจกรรมโบกผ้าถุงประท้วง

โปสเตอร์แสดงกิจกรรมโบกผ้าถุงประท้วง | Facebook

ทั้งนี้สิ่งที่น่าสังเกตในการประท้วงในพม่าตั้งแต่แรกๆ ก็คือ “ผู้หญิง” มีบทบาทมากๆ และมีมาตั้งแต่แรกๆ แล้วด้วย ซึ่งสื่อต่างชาติก็ตั้งข้อสังเกตอย่างเดียวกับไทยปีที่แล้วเป๊ะ! ว่า “ผู้หญิง” มีบทบาทในการต่อต้านเผด็จการอย่างมีนัยยะสำคัญ โดยเฉพาะถ้าเทียบกับการประท้วงในโลกตะวันตกที่ยังมีลักษณะ “ชายเป็นใหญ่” อยู่มาก

ส่วนความต่างนี้จะเกิดจากเหตุผลใดนั้น ก็คงต้องว่ากันยาว เพราะข้อเสนอใดๆ ที่ทำมาอย่างรัดกุมก็น่าจะเป็นวิทยานิพนธ์ปริญญาเอก หรืองานวิจัยดีๆ ได้สักชิ้นทีเดียว

อ้างอิง: