2 Min

มีแฟนแต่ก็เหงา ทำไมเราถึงรู้สึกเหงาแม้ไม่ได้อยู่ตัวคนเดียว?

2 Min
3344 Views
28 Jan 2022

ความรู้สึกเหงาหรือเดียวดายมักจะถูกเข้าใจว่ามักจะเกิดขึ้นเฉพาะกับคนโสด คนที่ไม่ค่อยมีเพื่อน หรือคนที่ไม่ค่อยออกไปไหนมาไหนหรือสุงสิงกับใครเป็นพิเศษ

ตามคำบอกเล่าของ Niloo Dardashti นักจิตวิทยาและผู้เชี่ยวชาญด้านความสัมพันธ์ จริงๆ แล้วคนที่มีคู่เองก็สามารถรู้สึกเหงาได้เช่นเดียวกัน โดยเฉพาะคู่รักที่อยู่ร่วมกันมานาน

สาเหตุอาจจะเกิดจากปัญหาอะไรบางอย่างในความสัมพันธ์ของทั้งคู่ หรือไม่ก็อาจจะเป็นเรื่องของการที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งพยายามที่จะให้อีกฝ่ายมาเติมเต็มช่องว่างอะไรบางอย่างของตัวเอง เมื่ออีกฝ่ายทำไม่ได้ก็เลยรู้สึกอ้างว้างหรือรู้สึกเหงา หากลองไปปรึกษานักจิตวิทยาหรือผู้เชี่ยวชาญด้านความสัมพันธ์เกี่ยวกับปัญหาลักษณะนี้เราก็อาจจะได้คำตอบที่แตกต่างกันออกไป เพราะสาเหตุมันก็เป็นไปได้มากมาย

Gary Brown นักบำบัดด้านการแต่งงานและครอบครัวกล่าวว่า ความรู้สึกลักษณะนี้เกิดขึ้นได้ในคู่รักที่สูญเสียความผูกพันทางอารมณ์ไป แม้แต่ในคู่รักที่ดูจะมีความสัมพันธ์ที่ดีและรักกันมาก บางทีก็อาจจะมีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งรู้สึกห่างเหินจากอีกคนอย่างไม่มีสาเหตุ

Jenny Taitz นักจิตวิทยาคลินิกให้ความเห็นว่า บางครั้งมันอาจจะเป็นเรื่องของการไม่ยอมให้ตัวเองรู้สึกไม่มั่นคงหรืออ่อนแอ ทำให้เราไม่กล้าพูดถึงเรื่องราวที่เกี่ยวกับตัวเองหรือเรื่องราวที่คิดว่าเป็นเรื่องส่วนตัวมากเกินไป ซึ่งนั่นอาจทำให้อีกฝ่ายรู้สึกเหงาหรือรู้สึกว่าเรายังไม่ไว้ใจเขามากพอที่จะแลกเปลี่ยนเรื่องราวทำนองนี้ได้ การมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับใครสักคนแต่เขาไม่รู้เรื่องราวเกี่ยวกับเราเลยก็อาจจะทำให้คนคนนั้นรู้สึกเหงาได้

โซเชียลมีเดียเองก็เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เรารู้สึกเหงาได้เช่นกัน Taitz ยกตัวอย่างว่าสมมติว่าในเทศกาลวาเลนไทน์คุณกำลังเพลิดเพลินกับการรับประทานมื้อค่ำอยู่ แต่แล้วคุณไปเห็นว่ามีคู่รักมอบของขวัญให้กันและกันบนโซเชียลมีเดีย คุณอาจจะรู้สึกโดดเดี่ยวขึ้นมาทันทีเลยก็ได้

ตัวอย่างที่ Taitz ยกขึ้นมานั้นไม่เกินจริงเลย งานวิจัยชิ้นหนึ่งซึ่งมีการเผยแพร่บน American Journal of Preventive Medicine ชี้ว่า คนที่ใช้โซเชียลมีเดียมากกว่า 2 ชั่วโมงต่อวันมีแนวโน้มที่จะรู้สึกเหงามากกว่าคนที่ใช้โซเชียลมีเดีย 30 นาทีหรือต่ำกว่าต่อวัน

แม้กระทั่ง DNA ของเราเองก็มีส่วนที่สามารถทำให้เรารู้สึกเหงามากกว่าคนอื่น งานวิจัยชิ้นหนึ่งซึ่งเผยแพร่บนเว็บไซต์ nature.com บ่งชี้ว่า ความรู้สึกเหงาอาจเป็นลักษณะทางพันธุกรรม ทำให้คนบางคนรู้สึกเหงามากกว่าคนอื่น และ Dardashti อธิบายเพิ่มเติมว่า การมีความสัมพันธ์ไม่อาจช่วยให้ความรู้สึกเหงาทางพันธุกรรมนี้หายไปได้

 จะจัดการกับความเหงาเมื่ออยู่ในความสัมพันธ์ได้ ทางที่ดีเราควรพิจารณาสิ่งต่างๆ ในความเหงาของเราก่อน เช่น เราเหงาตอนไหน ตอนที่อยู่ด้วยกันหรือตอนที่ห่างกัน เราเหงามากกว่าหรือบ่อยกว่าไหมตอนที่ยังไม่มีแฟน หลังจากที่เราประเมินตัวเองและมั่นใจแล้วว่าความเหงานี้เกิดจากปัญหาอะไรบางอย่างในความสัมพันธ์ สิ่งแรกที่เราควรทำคือคุยกับคู่รักของเรา อธิบายให้เขาฟังว่าเรารู้สึกอย่างไรและเพราะอะไร หลังจากนั้นก็อาจจะพยายามหาทางออกร่วมกันโดยการปรับความเข้าใจ ปรับพฤติกรรม หรือหากพบว่าอีกฝ่ายพยายามทำทุกอย่างแล้วแต่เราก็ยังเหงาเหมือนเดิม เราก็อาจจะต้องลองไปพบและปรึกษาผู้เชี่ยวชาญด้านความสัมพันธ์หรือนักจิตวิทยาดู เพราะมันอาจจะเกิดจากการที่เราเป็นคนเหงาง่ายหรือเหงามากกว่าคนอื่นก็ได้

อ้างอิง