1 Min

ทำไมเรามักจะ ‘เผลอแลบลิ้น’ เวลาง่วนกับการ ‘ใช้มือ’

1 Min
1322 Views
17 Jan 2022

ร่างกายมนุษย์เป็นสิ่งมหัศจรรย์ที่แม้เผ่าพันธุ์ของเราจะดำรงอยู่มาหลายแสนปีแล้ว แต่เราก็ยังมีความรู้เกี่ยวกับมันไม่ถี่ถ้วน และก็ไม่ใช่แค่เรื่องโรคระบาดที่ดาหน้าเข้ามา หรือการเสื่อมถอยของร่างกายเมื่ออายุเรายืนขึ้นเรื่อยๆ แต่บางทีแม้กระทั่งเรื่องพื้นๆ ที่เราเห็นกันตลอดเราก็ไม่มีความรู้ต่อมันอย่างแท้จริง

เอาง่ายๆ เราเคยสังเกตกันไหมว่า เวลาคนนั่งทำอะไรอย่างใจจดใจจ่อ เขามักจะเผลอแลบลิ้นมา ซึ่งอะไรพวกนี้น่าจะเป็น ‘ลักษณะตามธรรมชาติ’ ของมนุษย์ ที่ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับวัฒนธรรม แต่มันคือ ‘กลไกของร่างกาย’ เลย

เออ ทำไมล่ะ?

ตรงนี้ จริงๆ มีงานวิจัยในปี 2015 พยายามจะหาคำตอบ โดยการนำเด็กกลุ่มหนึ่งมาทำการทดลองให้ทำสิ่งต่างๆ ซึ่งผลออกมาพบว่า ถ้าสิ่งที่เด็กทำยิ่งซับซ้อน และ ‘ใช้มือ’ เยอะๆ เด็กก็ยิ่งจะมีแนวโน้มจะ ‘เผลอแลบลิ้น’ ออกมา ซึ่งเขาก็สังเกตอีกว่าลิ้นมันจะแลบไปทางขวาด้วย

แน่นอนงานชิ้นนี้ค่อนข้างจะเป็นหลักฐานเลยว่า เวลาคนเราทำอะไรด้วยมือที่มันซับซ้อน ก็มีแนวโน้มจะแลบลิ้นออกมาจริงๆ แต่มันยังไม่มีคำอธิบายที่แน่ชัด

แต่คำอธิบายก็โผล่มาในปี 2019 ที่นักวิจัยพบว่า จริงๆ แล้ว สมองส่วนที่ใช้ในการสั่งการการทำงานของมือนั้นอยู่ติดกับสมองที่ใช้ในการประมวลผลด้านภาษา นี่จึงกลายมาเป็นคำอธิบายว่า เวลาเรา ‘ใช้มือ’ มากๆ สมองส่วนนั้นจะทำงานเยอะ และมีความเป็นไปได้ที่ ‘คลื่นไฟฟ้า’ ในการสั่งการจะลามไปยังอาณาบริเวณข้างๆ ซึ่งก็คือส่วนที่ใช้ในการประมวลผลด้านภาษา และทำให้เราเผลอ ‘ขยับลิ้น’ ในที่สุด ทั้งๆ ที่ลิ้นมันไม่ได้เกี่ยวอะไรกับสิ่งที่เราตั้งใจทำอย่างใจจดใจจ่ออยู่เลย

สิ่งที่น่าสนใจอีกอย่างก็คือ สมองทั้งสองส่วนที่ว่าอยู่ในซีกซ้าย มันเลยเป็นคำอธิบายว่า ทำไมคนเผลอแลบลิ้นส่วนใหญ่จะเผลอไปทางขวา นั่นเป็นเพราะโดยพื้นฐาน สมองด้านหนึ่งจะมีหน้าที่สั่งการการขยับร่างกายฝั่งตรงข้ามเสมอ

ดังนั้น นี่จึงเป็นคำอธิบายเบื้องต้นว่า ทำไมเราถึง ‘เผลอแลบลิ้น’ เวลามือเราง่วนกับการทำงานอะไรอยู่ ไม่ใช่เรื่องนิสัยส่วนตัว ไม่ใช่เรื่องวัฒนธรรม แต่มันคือเรื่องของพื้นฐานของร่างกายมนุษย์เองที่ส่วนที่ใช้สั่งการมือกับภาษามันดันอยู่ใกล้กัน บางทีการทำงานของทั้งสองส่วนก็เลยเหลื่อมกัน สั่งการส่วนหนึ่งไปขยับอีกส่วนเท่านั้นเอง

อ้างอิง