เพราะอยู่หลังคีย์บอร์ด
เพราะไม่จำเป็นต้องเผยตัวตน
เพราะไม่รู้จักกัน
หรือไม่ว่าจะเพราะอะไรก็ตาม
แต่ทุกวันนี้หลายคนมักส่งและรับความเกลียดชังกันผ่านข้อความจากตัวอักษรทางโลกออนไลน์ เพียงเพราะแต่ละฝ่ายมี ‘ความคิดเห็นต่างกัน’ แล้วแทนที่จะแลกเปลี่ยนทัศนะกันดีๆ ในหลายกรณีกลับพิมพ์ความเห็นที่รุนแรงกลับไปกลับมา กะว่าให้อีกฝ่ายพังทลายเสียให้ได้ บางคนก็โดนโจมตีอย่างหนัก กรณีนี้ในโซเชียลมีเดียไทยเรียกว่า ‘ทัวร์ลง’
แต่ที่น่าแปลกคือ หากจำลองสถานการณ์ให้แสดงความคิดเห็นในเรื่องหนึ่งแบบเห็นหน้า ตาต่อตา ฟันต่อฟัน พวกเขากลับมีแนวโน้มที่จะโต้ตอบกันอย่างสุภาพชนมากกว่า นั่นอาจเพราะตัวอักษรอาจมีเสียง (ที่เราคิดเอง) แต่ไร้น้ำเสียงที่แท้จริงของเจ้าของคอมเมนต์ เลยทำให้บางทีการสื่อสารถูกเข้าใจผิดหรือแลดูรุนแรงได้ง่าย
เรื่องนี้ยืนยันด้วยผลการทดลองจากนักวิจัยของ UC Berkeley และ University of Chicago พวกเขาให้นักศึกษา 300 คน อ่าน ดูวิดีโอ หรือฟังข้อโต้แย้งเกี่ยวกับหัวข้อที่น่าสนใจ เช่น สงคราม การทำแท้ง และเพลงคันทรีหรือเพลงแร็ป หลังจากนั้น อาสาสมัครจะถูกสัมภาษณ์เกี่ยวกับปฏิกิริยาของพวกเขาต่อความคิดเห็นที่ไม่เห็นด้วย
ผลลัพธ์ที่ได้คือ ในข้อความเดียวกัน หัวข้อเดียวกัน แต่มีความแตกต่างที่ชัดเจนระหว่าง ‘คนที่ดูหรือฟัง’ กับ ‘คนที่อ่านจากตัวหนังสือ’
โดยผู้ที่ฟังหรือดูคนที่พูดข้อความจะให้ความสนใจกับน้ำเสียงของเจ้าของข้อความนั้นมากกว่าคนที่แค่อ่าน หรือพูดง่ายๆ ว่า ข้อความเดียวกัน เมื่อประกอบด้วยน้ำเสียง สีหน้า ท่าทาง จะทำให้เรารับรู้ความหนักเบาในน้ำเสียงของการสื่อสาร รวมถึงเจตนาที่แท้จริงได้มากกว่าเพียงแค่อ่านจากตัวอักษร
ซึ่งผลลัพธ์นั้นไม่น่าแปลกใจเลยสำหรับนักวิจัย เพราะพวกเขาเองก็ได้เจอประสบการณ์ที่คล้ายกันกับตัวเอง “พวกเราคนหนึ่งอ่านส่วนหนึ่งของสุนทรพจน์จากนักการเมืองคนหนึ่ง ซึ่งเขาไม่เห็นด้วยอย่างยิ่งกับข้อความนั้น” จูเลียนา ชโรเดอร์ หนึ่งในนักวิจัยเล่า “แต่ในสัปดาห์ต่อมา เขาได้ยินคลิปสุนทรพจน์เดียวกันเปิดทางสถานีวิทยุ เขารู้สึกตกใจกับปฏิกิริยาของตัวเองที่มีต่อนักการเมืองคนนี้ ซึ่งแตกต่างกันกับตอนที่เขาได้อ่านข้อความ” เพราะเขารู้สึกว่าข้อความที่ได้ยินนั้นฟังดูสมเหตุสมผลมากกว่าตอนเขาแค่อ่านมัน
การวิจัยนี้ชี้ให้เห็นว่า วิธีที่ดีที่สุดสำหรับการตอบโต้คนที่ไม่เห็นด้วยคือ ทำความเข้าใจ ประนีประนอม และพูดคุยกันแบบเจอหน้ากันนั้นได้ผลดีที่สุด
แต่เราคงไม่สามารถไปเจอกับคนที่เห็นต่างกันได้ทุกคน
ดังนั้น ข้อเสนอหนึ่งของนักวิจัยคือ การอัดคลิปอธิบายถึงมุมมองของตัวเอง แบบที่อินฟลูเอนเซอร์ในโลกออนไลน์ทำ
แต่ก็อีกเช่นกันคงไม่ใช่ทุกครั้งที่เราจะอัดคลิปอธิบายให้ใครสักคน งั้นลองอ่านข้อความนั้นด้วยการออกเสียงแบบไร้อคติ อาจจะช่วยได้มากขึ้น
สุดท้ายแล้ว เพราะโลกออนไลน์นั้นสุดจะแฟนตาซีที่ใครจะเป็นอะไรก็ได้ จะเผยตัวตนจริง จะปลอมตัวเพื่อแสดงตัวตนที่ต้องการ แต่โปรดอย่าลืมว่าเบื้องหลังคีย์บอร์ดนั้นพวกเขาก็คือมนุษย์ที่มีความรู้สึกเหมือนเราเช่นกัน
คงไม่มีใครชอบให้คนมาพูดจาไม่ดีใส่ เพราะอย่างนั้นก่อนจะตอบโต้อะไรกลับไป ลองไตร่ตรองดูเยอะๆ ใช้ความเห็นอกเห็นใจ แลกเปลี่ยนกันด้วยความเข้าอกเข้าใจ ดีกว่าสาดคำด่าแล้วไม่ได้อะไรเลย นอกจากความสะใจที่เดี๋ยวมันก็หายไป หรือไม่ก็สร้างแต่ผลกระทบร้ายแรงตามมา
อ้างอิง:
- You Should Never, Ever Argue With Anyone on Facebook, According to Science https://bit.ly/43dkicX
- Why You Should Never Argue With Anyone on Facebook https://bit.ly/43dNQHs