Select Paragraph To Read
- จากเวียดกงถึงตาลีบัน
- ความไฮเทคของตาลีบัน
ณ ตอนนี้ เดือนกันยายน 2021 “ชัยชนะ” ของตาลีบันและการยึดอัฟกานิสถานนั้นไม่ใช่สิ่งที่ต้องเถียงกันแล้ว เพราะตาลีบันยึดได้แล้วและกำลังเปลี่ยนอัฟกานิสถานเป็นรัฐอิสลามอีกครั้ง
ทั้งผู้หญิง นักดนตรี ดาราตลก ที่ไม่หนีออกนอกประเทศหรือหนีไม่ทันก็โดนประหารชีวิตกันไปเรียบร้อย ซึ่งข่าวแบบนี้เราแทบจะเห็นรายวัน
แน่นอน เรื่องพวกนี้ อเมริกาไม่ปลื้มแน่ๆ แต่อเมริกาอาจไม่ปลื้มมากกว่าถ้าเราบอกว่าพวกเขา “แพ้” สงครามอัฟกานิสถานเช่นเดียวกับตอนสงครามเวียดนาม

ภาพเฮลิคอปเตอร์อเมริกาขนส่งคนออกจากสถานฑูตอเมริกากรุงไซง่อน หลังจากโดนเวียดกงยึด | The Guardian
จากเวียดกงถึงตาลีบัน
อเมริกา “แพ้” สงครามเวียดนามหรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับไปถามใคร แต่ก็ไม่ขอแนะนำให้ไปถามทหารอเมริกันด้วยคำถามนี้ เพราะมันเป็น “ความแปดเปื้อน” ของกองทัพอเมริกันที่ได้ชื่อว่าเป็นกองทัพที่ “แข็งแกร่งที่สุดในโลก” และทุกวันนี้ คนอเมริกันก็จะไม่เรียกสิ่งที่เกิดขึ้นที่เวียดนามว่าการ “แพ้สงคราม” เพราะสุดท้ายอเมริกาก็แค่ “ถอนทหารออกมาเอง” ไม่ได้เสียดินแดนอะไร

ภาพเฮลิคอปเตอร์อเมริกาขนส่งคนออกจากสถานฑูตอเมริกากรุงคาบูล หลังจากโดนตาลีบันยึด | BBC
แต่สำหรับอเมริกา แค่การ “ไม่ชนะ” กองทัพฝ่ายตรงข้ามที่ไม่ได้มีอาวุธไฮเทคอะไรนั้นก็กระทบกระเทือนภาพลักษณ์มากแล้ว เพราะนี่คือชาติที่ภูมิใจในกองทัพของตัวเองและความ “ไม่เคยแพ้สงคราม” จนทำให้ต้องยืนยันแบบนั้นมาตลอด (ก็ไม่แปลก เพราะบางชาติก็ชอบจะภูมิใจในการ “ไม่เคยเสียเอกราช” เช่นกัน ทั้งที่ถ้าไปดูข้อเท็จจริง เราอาจสงสัยว่ามันจริงเหรอ?)
แน่นอน ภาวะแบบนี้ทำให้เหตุการณ์ที่ตาลีบันยึดกรุงคาบูลถูกเอาไปเทียบกับเหตุการณ์ตอนกรุงไซ่ง่อนแตก และแม้ว่าทั้งสองเหตุการณ์จะมีความต่างกันมาก แต่ความคล้ายมันก็มีอย่างที่ว่ามา และคำถามทางการเมืองก็ตามมามากมายโดยเฉพาะต่อประธานาธิบดีโจ ไบเดน ผู้สั่งถอนทหารออกจากอัฟกานิสถาน
ถ้าพูดเรื่องการเมืองคงจะยาว ดังนั้นเราจะขออธิบายแค่ว่าทำไม ชาติมหาอำนาจทางการทหารอย่างอเมริกาถึง “แพ้” สงครามอัฟกานิสถาน
สงครามที่ไม่ได้สู้สุดตัวกับเทคโนโลยีที่ไม่ได้สร้างเพื่อชัยชนะ
อัฟกานิสถานเป็นประเทศที่โดนโดรนทิ้งระเบิดมากที่สุดในโลก หรือพูดอีกแบบ อัฟกานิสถานเป็นประเทศที่อเมริกาได้ทดลอง “เทคโนโลยีสงครามโดรน” แบบเต็มๆ

โดรนอเมริกา เหนือน่านฟ้าอัฟกานิสถาน | AA
แต่อเมริกาก็ยังแพ้ คำถามคือเกิดอะไรขึ้น?
คำตอบง่ายๆ เร็วๆ ดิบๆ ก็คือ คุณไม่สามารถ “ชนะสงคราม” ได้โดยการทิ้งระเบิดรัวๆ และจริงๆ นี่ก็เป็นสิ่งที่อเมริกาน่าจะได้เรียนรู้มาตั้งแต่ช่วงสงครามเย็นแล้ว
การทำสงครามของอเมริกาในอัฟกานิสถาน เป็นสงครามที่ “ไม่ต้องทำก็ได้” ดังนั้นสิ่งที่อเมริกาต้องการจะหลีกเลี่ยงที่สุดก็คือความตายของทหารอเมริกัน ซึ่งอเมริกาก็ทำได้ดีจริงๆ เพราะในช่วงเวลาประมาณ 20 ปีเหมือนกันในเวียดนาม ทหารอเมริกันตายไปเกือบ 50,000 คน แต่พอมาเป็น 20 ปีในอัฟกานิสถาน ทหารอเมริกันตายไปไม่ถึง 3,000 คน
เหตุหลักๆ ของการพยายามทำสงครามแบบทหารตายน้อยก็คือ ถ้ารบแล้วทหารตายเยอะ คนก็จะต่อต้านเยอะ รัฐบาลกลางอเมริการู้เรื่องนี้ดีจากสงครามเวียดนาม ก็เลยพัฒนาเทคโนโลยีการจู่โจมระยะไกลสารพัดมาเพื่อ “รักษาชีวิตทหาร” และนี่ก็ร่วมถึงการพัฒนาเสื้อเกราะ และเทคโนโลยีตรวจจับการวางระเบิดของฝ่ายตรงข้ามด้วย
แต่ถามว่าเทคโนโลยีแบบนี้เป็นไปเพื่อ “ชัยชนะ” ไหม?
คำตอบคือ “ไม่ใช่” เทคโนโลยีแบบนี้คือการทำสงครามแบบ “เปลืองตัวน้อยที่สุด” ถล่มฝ่ายตรงข้ามให้มากที่สุด ดังนั้น การใช้อาวุธมันถึงรุนแรงมากๆ กินวงกว้างมากๆ ต่างจากการส่งทหารตัวเป็นๆ ไปยึดพื้นที่ และเลือกยิงเฉพาะ “ข้าศึก”
แน่นอนการส่งทหารตัวเป็นๆ ไปมีแนวโน้มจะสร้างความเสียหายน้อยกว่า แต่ทหารก็เสี่ยงตายมากกว่า อเมริกาเลยไม่ทำ และเน้นทิ้งระเบิดปูพรม และยิงขีปนาวุธจากโดรน ซึ่งผลของการทำสงครามแบบนี้ก็คือ คนบริสุทธิ์จำนวนมากโดนลูกหลง เมืองทั้งเมืองโดนระเบิด คนไม่มีบ้านกลายมาเป็นผู้ลี้ภัยกันมากมายในรอบหลายต่อหลายปี
ถ้า “การชนะสงคราม” เป็นแค่การถล่มเมืองให้เป็นหน้ากลอง ทำลายทุกชีวิตที่โดรนมองเห็น อเมริกาก็น่าจะชนะสงครามทุกสงครามแน่ๆ แต่ปัญหาคือ การชนะสงครามไม่ใช่การฆ่าทุกคนที่ขวางหน้า แต่คือการได้รับการสนับสนุนจากคนที่ยังเหลือชีวิตอยู่ด้วย
และในแง่นี้อเมริกาสู้อะไรตาลีบันไม่ได้เลย
ความไฮเทคของตาลีบัน
การทิ้งระเบิดของอเมริกานั้น ก็คงไม่ต้องเดาว่ามันไม่ได้โดนแค่ตาลีบัน แต่โดน “ผู้บริสุทธิ์” นับไม่ถ้วน ทำให้คนต้องเสียบ้าน ฯลฯ สารพัด และก็ไม่แปลกที่ทำให้กระแสเกลียดอเมริกันรวมไปจนถึงรัฐบาลอัฟกานิสถานที่อเมริกันสนับสนุนจะขยายตัวเรื่อยๆ
ซึ่งนี่เป็นต้นตอชัยชนะของตาลีบัน
ตาลีบันไม่ใช่กองกำลังไฮเทค เรียกได้ว่าสู้กันโง่ๆ แบบมีปืนไรเฟิลแบบออโต้พื้นๆ และก็มีการวางระเบิดเท่านั้น รถยานเกราะอะไรก็ไม่มี (ไม่ต้องไปพูดถึงขีปนาวุธและอาวุธหนักอื่นๆ) แต่สิ่งที่ตาลีบันมีคือความสามารถในการใช้โซเชียลมีเดียระดับเซียน เรียกได้ว่าวางระเบิดเมื่อไรก็ทวีตบอกทีหนึ่งว่าเราจะชนะ เชียร์อัปกันสุดๆ
ซึ่งในอัฟกานิสถาน คนที่เหลือๆ อยู่ไม่น้อยก็คือคนเกลียดอเมริกันแทบทั้งนั้น เพราะคนที่นิยมวิถีตะวันตกจริงๆ ก็ทนประเทศไม่ไหวและลี้ภัยกันไปซะเยอะแล้ว พูดอีกแบบก็คือคนที่เหลือๆ อยู่ตอนนี้ “ส่วนใหญ่” คือคนที่พร้อมสนับสนุนตาลีบัน ไม่ว่าจะออกตัวชัดๆ หรือไม่

แม้ชาวโลกจะเกลียดตาลีบัน แต่ตาลีบันเป็นเซเล็บในอัฟกานิสถานแบบคนไปถ่ายเซลฟี่ด้วย | MIT Technology Review แม้ชาวโลกจะเกลียดตาลีบัน แต่ตาลีบันเป็นเซเล็บในอัฟกานิสถานแบบคนไปถ่ายเซลฟี่ด้วย | MIT Technology Review
และนี่เป็นเหตุผลที่ทำให้ตาลีบันสามารถ “ยึดอำนาจ” และ “ปกครอง” ได้ คนที่เราเห็นพยายามจะเกาะขาเครื่องบินอเมริกันไป รวมจนถึงคนที่โดนจับมาประหาร ว่ากันตรงๆ คือ “คนส่วนน้อย” ที่เหลืออยู่ที่เป็นปฏิปักษ์ต่อตาลีบัน
แต่ถามว่าทั้งหมดนี้บอกอะไรเรา?
เคสตั้งแต่ตาลีบันและเวียดนามนั้นมีความคล้ายคือ อเมริกันทำสงครามยาวราว 20 ปีและ “ไม่ชนะ” เลยยอมถอนทหารไปเองในที่สุด หรือพูดง่ายๆ กองกำลังไหนที่สามารถ “ยืนระยะ” ยาวๆ นาน 20 ปีนั้นก็น่าจะสามารถ “ชนะ” อเมริกาได้ (หรือให้ตรงคือทำให้อเมริกายอมรามือและถอนทหารได้)
เพราะในระยะเวลานานขนาดนั้น สงครามของอเมริกาก็จะทำให้คนในท้องถิ่นเป็นปฏิปักษ์กับอเมริกามากพอ และก็ทำให้คนอเมริกันเองรู้สึกเหม็นเบื่อกับการเอาภาษีมหาศาลลงมาเทกับ “สงครามที่ไม่มีวันจะชนะ” และทำให้รัฐบางกลางตัดสินใจถอนกำลังในที่สุด
อ้างอิง
- BBC. Why is the Taliban’s Kabul victory being compared to the fall of Saigon? https://bbc.in/3tzY7NS
- MIT Technology Review. The Taliban, not the West, won Afghanistan’s technological war. https://bit.ly/3lliPx8