2 Min

รู้หรือไม่? หาวเกิดจากอะไร และทำไมต้องหาวตามกัน

2 Min
982 Views
10 May 2021

“หาว” เป็นอาการที่พบได้บ่อยๆ เกิดขึ้นได้กับทุกเพศ ทุกวัย ซึ่งมักเกิดขึ้นอย่างไม่ตั้งใจในช่วงเวลาสั้นๆ อาจจะนานหลายวินาที โดยบางคนขณะหาวอาจมีเสียงร่วมด้วย หรือมีน้ำตาไหลออกมาหลังหาวเสร็จ หรือบางคนหาวไปต้องยกแขนยืดกล้ามเนื้อไปด้วย

เคยสงสัยไหม? ทำไมคนเราถึงต้องหาว

การหาวถือเป็นกลไกหนึ่งของร่างกายที่ต้องการรับเอาออกซิเจนจากอากาศเข้าสู่กระแสเลือด พร้อมกับขับคาร์บอนไดออกไซด์ในเลือดออกไป เพื่อรักษาความสมดุลของร่างกาย ทำให้การหาวเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อร่างกายเรามีออกซิเจนไม่เพียงพอหรือมีคาร์บอนไดออกไซด์ในเลือดมากเกินไป จนก่อให้เกิดอาการง่วง เหงา หาวนอนขึ้นมาได้นั่นเอง

ถึงแม้ปัจจุบันนักวิจัยยังไม่สามารถหาสาเหตุที่แน่ชัดของการหาวได้ แต่คาดเดาว่าส่วนใหญ่มาจาก ‘ความง่วง ความเบื่อหน่าย และความเมื่อยล้า’ เช่น เมื่อเราเหนื่อยจะไม่สามารถหายใจได้ตามปกติ การหาวจะช่วยให้สามารถหายใจเข้าลึกๆ เพื่อนำออกซิเจนเข้าไปกระแสเลือดมากขึ้น และในขณะที่หายใจออกก็นำคาร์บอนไดออกไซด์ได้มากขึ้นเช่นเดียวกัน

อีกทั้งอาจเกิดจากกระบวนการสร้างความเย็นแก่สมอง การหาวช่วยให้อุณหภูมิภายในสมองลดลง เพราะเมื่อหาวต้องสูดลมหายใจเข้าลึกๆ เพื่อดึงอากาศเย็นเข้าไปผ่านทางปาก ทำให้เลือดที่กำลังสูบฉีดไปหล่อเลี้ยงสมองเย็นตัวลง

นอกจากนี้ การหาวเพื่อขยายเนื้อเยื่อปอด ยืดกล้ามเนื้อรวมถึงข้อต่างๆ ในร่างกาย ซึ่งช่วยเพิ่มอัตราการเต้นของหัวใจ ส่งเลือดไปที่ในหน้า และสมองเพื่อให้ตื่นตัว รู้สึกกระปรี้กระเปร่ามากยิ่งขึ้น

ทำไมเวลาเห็นคนหาวมักจะหาวตามกันเหมือนเป็นโรคติดต่อ

บ่อยครั้งที่เราเห็นคนอื่นหาวแล้วต้องหาวตามทั้งๆ ที่ไม่ได้ง่วงด้วยซ้ำ ซึ่งมีข้อสันนิษฐานว่า การหาวตามคนอื่นเป็น ‘พฤติกรรมเลียนแบบโดยไม่รู้ตัว’ หรือที่เรียกว่า ‘Chameleon Effect’ เกิดขึ้นจากเซลล์สมองกระจกเงา (Mirror Neurons) จะสั่งให้สมองทำงานเหมือนเรากำลังทำสิ่งเดียวกับนั้นอยู่ด้วย

ซึ่งความน่าสนใจคือ ไม่ได้มีเพียงมนุษย์เท่านั้นที่หาวติดต่อกันได้ แต่ยังพบว่าสุนัข และชิมแปนซีก็มีพฤติกรรมหาวตามกันด้วยเช่นกัน!

อีกข้อสันนิษฐานคือ การหาวจามกันเกิดจากการเข้าใจถึงอารมณ์ และความรู้สึกของผู้อื่นหรือที่เรียกว่า empathy yawn ซึ่งเป็นการเรียนรู้เกี่ยวกับอารมณ์ และความคิด โดยคนที่มีความรู้สึกห่วงใยเข้าใจผู้อื่นมากพอ จะสามารถสวมบทบาทความคิด และความรู้สึกของผู้อื่นราวกับตัวเองอยู่ในสถานการณ์นั้นๆ ผ่านการเอาใจเขามาใส่ใจเรา ตลอดจนสามารถตอบสนองความต้องการของผู้อื่นในสถานการณ์ต่างๆ ได้อย่างเหมาะสม

อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีการยืนยันแน่ชัดว่า การหาวเป็นโรคติดต่อหรือไม่ อาจเกี่ยวข้องกับการสื่อสารในสังคม ทั้งนี้การหาวนั้นไม่ได้ก่อให้เกิดความเจ็บปวดใดๆ กลับช่วยลดอุณหภูมิภายในสมอง และกระตุ้นการไหลเวียนเลือดได้ดี

อ้างอิง: