ทำไมบางทีเราตื่นตี 3 ตี 4 มาครุ่นคิดถึงความผิดพลาดต่างๆ ในชีวิต และพยายามนอนต่อก็ไม่หลับ
เคยตื่นกลางดึกมานั่ง ‘คิดมาก’ แล้วนอนต่อก็ไม่หลับบ้างไหม? ถ้าเคย นี่ไม่ใช่อาการของคนแก่ คนหนุ่มสาวจำนวนไม่น้อยก็เป็น และถ้าคุณเป็น ก็อย่าได้คิดว่าคุณเป็นเพียงคนเดียว คนเป็นกันเยอะ หรืออย่างน้อยก็เคยเป็น และจริงๆ มันมีคำอธิบายและทางแก้แบบพื้นฐานที่คุณเอาไปลองทำได้
อย่างแรกเลย ทำไมเราต้องไปตื่นกลางดึก ตี 3 ตี 4?
ถ้าตอบแบบกำปั้นทุบดิน เขาก็จะบอกว่าเพราะเราเครียด แต่พูดแบบนี้มันตีขลุมไปหน่อย เพราะในความเป็นจริง ความเครียดไม่ได้ทำให้เราตื่นกลางดึกและนอนไม่หลับเสมอไป และแต่ละ ‘ระดับของการนอน’ (sleep stage) มันก็จะมีวิธีการจัดการกับความเครียดต่างกัน เช่นในช่วงหลับแบบ REM (Rapid eye movement) เขาก็ว่าความเครียดจะถูกเปลี่ยนไปเป็นความฝัน เป็นต้น
อย่างไรก็ดี ถ้าจะอธิบายสั้นๆ ก็อธิบายได้ว่า ในการหลับของมนุษย์มันจะมีหลายช่วงที่เรียกรวมๆ ว่าวงจรการหลับ โดยวงจรหนึ่งจะเริ่มและจบในประมาณ 1 ชั่วโมงครึ่ง – 2 ชั่วโมง
เราคงไม่ลงรายละเอียดว่ามีช่วงอะไรบ้าง แต่ประเด็นในที่นี้คือ จากการศึกษาเขาพบว่า ‘ช่วงเปลี่ยนผ่าน’ ของการนอนระดับต่างๆ เรียกว่าช่วง ‘หลับแบบตื้น’ (light sleep) มันเป็นช่วงเปลี่ยนผ่าน ทำให้ตลอดคืนเราหลับแบบนี้เยอะสุด โดยเขาประเมินว่าครึ่งหนึ่งของเวลานอนของเราในคืนหนึ่งๆ เป็นการหลับแบบนี้
ในช่วงหลับแบบตื้นมันคือช่วงที่เรา ‘พร้อมตื่น’ ได้ สภาพร่างกายเป็นแบบนั้น และบางทีเวลามีอะไรกระตุ้นมานิดเดียวเราก็ตื่นแล้ว ซึ่งนั่นอาจเป็นการเปลี่ยนแปลงในสภาพแวดล้อม (เช่น เสียงดังกลางดึก) หรือความเครียด
และการตื่นกลางดึก มันจะตื่นจากช่วง ‘หลับแบบตื้น’ นี่แหละ ไม่ว่าจะด้วยสาเหตุอะไรก็ตาม
แต่ปัญหาจริงๆ มันอาจไม่ใช่ว่าเราตื่น แต่เราจะนอนต่อยังไงก็นอนไม่หลับต่างหาก
ซึ่งพอนอนไม่หลับก็ยิ่งเครียด ยิ่งเครียดก็ยิ่งนอนไม่หลับ วนกันเป็นวงจรอุบาทว์
ก่อนอื่นเราต้องเข้าใจว่า ในขณะที่มันไม่มีคำอธิบายชัดเจนว่าทำไมเราถึงตื่นกลางดึก แต่มันมีความชัดเจนกว่าในส่วนของคำอธิบายว่าทำไมเราตื่นมาแล้วนอนไม่หลับ
อย่างแรกเลยเราต้องเข้าใจว่าร่างกายและจิตใจเราอยู่ในสภาพอ่อนแอมากในยามดึก ดังนั้นเวลาตื่นมากลางดึก เราตื่นมาในสภาพร่างกายและจิตใจอ่อนแอพร้อมกับคำถามว่า ‘ตื่นมาทำไม?’ และเริ่มคิดอะไรไปเรื่อยว่าเพราะเรื่องโน่นนี่ในวันที่ผ่านมาหรือเปล่าที่ทำให้เราเครียด และบางทีก็พานจะคิดย้อนไปถึงสารพัดความผิดพลาดที่เคยทำมาในชีวิตที่นำเรามาจนถึงจุดนี้
ดูเหมือนว่าเราเหมือนพยายามจะ ‘แก้ปัญหา’ ในยามดึกที่ร่างกายและจิตใจเราอ่อนแอที่สุด ซึ่งจริงๆ มันไม่ใช่การ ‘แก้ปัญหา’ ด้วยซ้ำ แต่มันคือ ‘ความวิตกกังวล’ ที่เกิดจากการคิดถึงปัญหาไปพร้อมกับจินตนาการถึงสถานการณ์ที่แย่ที่สุดที่มันจะนำพาเราไป ซึ่งไม่ใช่การคิดถึงปัญหาเพื่อหาทางออก
ซึ่งถามว่าทำไมเราเป็นแบบนั้น คือเราตื่นมาอยู่คนเดียวท่ามกลางความมืด เรานอนไม่หลับ เราไม่รู้จะคุยกับใคร เราจะทำอะไรได้นอกจาก ‘คิดมากเกินความจำเป็น’ ล่ะ? เราก็เลยคิดไปเรื่อยว่าทำไมเรานอนไม่หลับ และกลายเป็นเรื่องอื่นๆ จนนอนไม่หลับจริงๆ
ก็คงไม่ต้องอธิบายมากว่าภาวะที่ว่ามานี้ไม่ดีต่อกายและใจแบบสุดๆ ซึ่งสิ่งแรกที่เราควรจะทำก็คือพยายามนอนต่อ แต่ถ้าผ่านไป 15-20 นาทีแล้วยังนอนไม่หลับ เขาจะแนะนำให้เปิดไฟสลัวๆ แล้วอ่านหนังสือ ซึ่งไอเดียที่ทำแบบนี้คือ เราต้องเบี่ยงเบนความสนใจตัวเองไปจากความคิดเรื่องร้ายๆ ที่ไหลบ่ามาไม่หยุด ซึ่งถ้าเราโชคดี สักพักเราจะง่วงอีกรอบ และนอนต่อได้
และถ้าเราโชคดีอีก ก็จะพบว่าภาวะที่ว่านี้ไม่ได้เกิดทุกวัน และเราก็อาจไม่ต้องไปใส่ใจมันได้ในที่สุด
อย่างไรก็ดี ถ้าภาวะแบบนี้เกิดขึ้นต่อเนื่อง จนทำให้เรารู้สึก ‘นอนไม่พอ’ หรือ ‘พักผ่อนไม่เพียงพอ’ ทางที่ดีควรพบแพทย์ เพราะการนอนน้อยไปนี่ไม่ใช่แค่ทำให้เราไม่สดชื่นในการมีชีวิตเท่านั้น มันยังเพิ่มความเสี่ยงกับโรคภัยอีกสารพัดให้เราด้วย
อ้างอิง
- IFLS. Why Do We Wake Around 3am And Dwell On Our Fears And Shortcomings? https://bit.ly/3ZijAud