ขอความรักบ้างได้ไหม? 14 กุมภาพันธ์ ชวนบอกรักษ์ ‘พญาแร้ง’ นกนักกินซากที่เหลืออยู่ในไทยเพียง 6 ตัว
ทราบหรือไม่ว่า วันที่ 14 กุมภาพันธ์ คือ วันรักษ์พญาแร้ง?
หากไม่ทราบมาก่อน ก็คงไม่แปลกอะไร เพราะว่าปี 2566 นี้เพิ่งเป็นปีแรกที่มีการกำหนดให้ 14 กุมภาพันธ์ เป็นวันรักษ์พญาแร้ง
ในความหมายของวัน ‘รักษ์’ ต่างๆนานาไม่ว่าจะเป็นธรรมชาติป่าไม้สัตว์ป่าบนโลกใบนี้คือการชวนให้ผู้คนตระหนักถึงการมีอยู่ของทรัพยากรดังกล่าวว่ามันมีคุณค่านะเราต้องหวงแหนอนุรักษ์และดูแลไม่ต่างจากสถานะความรักที่เรามอบให้กันในวันวาเลนไทน์
เพราะทุกสิ่งล้วนมีคุณค่าและความหมายในตัวของมัน
แล้ว 14 กุมภาพันธ์ วันรักษ์พญาแร้ง มีความหมายอย่างไร?
ก่อนอื่น ต้องทำความเข้าใจว่า พญาแร้ง เป็นหนึ่งในสายพันธุ์นกที่ ‘เคย’ พบในประเทศไทย
คนส่วนใหญ่อาจรู้จักเรื่องราวของพญาแร้งจากตำนานแร้งทึ้งศพ (คน) ที่ถูกนำมาฌาปนกิจยังวัดสระเกศฯ
ในจินตภาพ เรื่องราวของพญาแร้งอาจชวนนึกถึงฉากในภาพยนตร์สยองขวัญ ไม่สง่างามเหมือนนกอินทรี ไม่ยิ่งใหญ่ดังนกเงือก ไม่สวยงามดังเวลานกยูงรำแพน
แต่โดยเนื้อแท้ พญาแร้งและแร้งสายพันธุ์ต่างๆ ล้วนแต่เป็นนกนักกินซาก พวกมันไม่นิยมการล่าเหยื่อ แต่จะเฝ้าหาสิ่งมีชีวิตที่ถึงฆาตแล้วมาเป็นอาหาร คอยกินและทำลายซากก่อนที่มันจะเน่าเปื่อยกลายเป็นแบคทีเรียเชื้อโรคคุกคามสิ่งมีชีวิตอื่นให้ม้วยมรณาตามกัน
ทว่าพญาแร้งก็ได้สูญพันธุ์จาก ‘ป่า’ ของประเทศไทยเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และการสูญพันธุ์ของพญาแร้งนั้นถูกพบเมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ เมื่อ 31 ปีก่อน (พ.ศ. 2535)
โดยพญาแร้งฝูงสุดท้ายที่มีอยู่ราวๆ 30 ตัวในป่าห้วยขาแข้ง ถูกฆาตกรรมทางอ้อม จากการกินซากสัตว์ที่ถูกคนใส่ยาเบื่อวางทิ้งไว้กลางป่า คาดกันว่า พราน–ผู้กระทำ คงอยากล่าสัตว์กินเนื้ออย่างเสือ แต่เป็นแร้งที่จมูกไวบินมาพบก่อน จนเกิดโศกนาฏกรรมแห่งความสิ้นสูญในที่สุด
วันที่ 14 กุมภาพันธ์จึงเปรียบได้กับหมุดหมายการบันทึกอดีตแสนโศกาของสัตว์ชนิดนี้
แล้วเมื่อพญาแร้งสูญพันธุ์ไปแล้ว – เราจะรักษ์ไปเพื่ออะไร?
จริงอยู่ที่พญาแร้งสูญพันธุ์ไปแล้วในทางนิเวศวิทยา (หรือการสูญพันธุ์ตามหน้าที่) แต่ตอนนี้เรายังมีพญาแร้งที่อาศัยอยู่ในกรงเลี้ยงอยู่อีก 6 ตัว เป็นเพศผู้ 3 ตัว และเพศเมียอีก 3 ตัว – จับคู่กันได้ลงตัวพอดี
คู่หนึ่งอาศัยอยู่ที่สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ส่วนอีก 2 คู่อาศัยอยู่ที่สวนสัตว์นครราชสีมา (สวนสัตว์โคราช)
และแร้งทั้ง 3 คู่ อยู่ในขั้นตอนของการศึกษาวิจัย และพยายามหาทางเพาะเลี้ยงให้พวกมันมีลูกออกมาสืบเผ่าพันธุ์ไปก่อนที่จะเหลือเพียงความว่างเปล่าภายในกรง มี กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช, องค์การสวนสัตว์ในพระบรมราชูปถัมภ์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ช่วยกันทำโครงการฟื้นฟูประชากรพญาแร้งในถิ่นอาศัยของประเทศไทย
ด้วยความหวังที่ว่าในสักวันหนึ่งประเทศไทยจะมีพญาแร้งโบยบินอยู่กลางเวหาเหนือผืนป่าอีกครั้ง
แต่โครงการนี้อาจกลายเป็นเรื่องเปล่าประโยชน์ หากเราได้แร้งกลับคืนมา แต่ก็ยังไม่สนใจอนุรักษ์มันในวันข้างหน้า – ปล่อยให้ประวัติศาสตร์กลับมาซ้ำรอยเดิมอีกหน
เหล่านี้คือความหมายเพิ่มเติมของวันที่ 14 กุมภาพันธ์ ที่ขอให้เป็นมากกว่าวันวาเลนไทน์ แต่ขอความรักไปยัง ‘พญาแร้ง’ เพิ่มอีกสักชนิด
อ้างอิง
- มูลนิธิสืบนาคะเสถียร, ‘พญาแร้ง’ เทศบาลประจำผืนป่า: สัตว์แห่งความหวังกับปฐมบทแห่งการฟื้นฟูคืนสู่ธรรมชาติ, https://shorturl.asia/XwIN9
- โครงการฟื้นฟูประชากรพญาแร้งในถิ่นอาศัยของประเทศไทย https://shorturl.asia/Ugr4P