รู้ไหม? เจ้าของทฤษฎี ‘พีทาโกรัส’ คือคนที่ทำให้เรามีลัทธิวีแกนในทุกวันนี้

4 Min
833 Views
25 Feb 2022

คุณรู้ไหมว่า ก่อนที่กระแสอาหาร Plant based จะเป็นที่นิยมในกลุ่มคนรักษาสุขภาพในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา จริงๆ แล้วการ ‘ไม่กินเนื้อสัตว์’ หรือ ‘วีแกน’ นั้นมีประวัติยาวนานมาตั้งแต่สมัยก่อนคริสตกาลเสียอีก

บุคคลสำคัญคนแรกๆ ในประวัติศาสตร์ที่มีการบันทึกไว้ว่าเป็นวีแกนคือ พีทาโกรัส (Pythagoras) นักคณิตศาสตร์ชาวกรีกโบราณผู้คิดค้น ‘ทฤษฎีบทพีทาโกรัส’ สูตรสามเหลี่ยมมุมฉากในตำนาน

พีทาโกรัสไม่รับประทานเนื้อสัตว์ทุกชนิดและเป็นคนแรกๆ ที่พูดถึงประโยชน์ของการงดเว้นเนื้อสัตว์ เพราะเชื่อว่าสิ่งมีชีวิตทุกอย่างบนโลกนี้มีจิตวิญญาณ สมัยนั้นคนที่ไม่กินเนื้อสัตว์ยังไม่มีชื่อเรียกว่า ‘มังสวิรัติ’ (Vegetarian) แบบในปัจจุบัน แต่เรียกว่า ‘พีทาโกเรียน’ (Pythagorean) ตามนักปราชญ์คนดัง ทำให้ต่อมาเขาจึงได้ชื่อว่า ‘บิดาแห่งมังสวิรัติสมัยใหม่’

ภายหลังอิทธิพลแนวคิดของพีทาโกรัสได้กลายมาเป็นแกนหลักของการเคลื่อนไหวทางสังคมสมัยวิกตอเรียหรือช่วงปี 1837-1901 ที่การกินอาหารมังสวิรัติเป็นที่นิยมมากถึงขนาดที่มีการก่อตั้งสมาคมมังสวิรัติขึ้นเป็นครั้งแรกในโลกตะวันตก

ยุคทองของอาหารมังสวิรัติ

เนื้อสัตว์เป็นที่นิยมมากในสมัยวิกตอเรีย ซึ่งครั้งหนึ่งเคยมีปรากฏการณ์ขาดแคลนเนื้อสัตว์ (Meat famine) ที่ทำให้มันมีราคาแพงมากจนชนชั้นแรงงานและคนยากจนซื้อไม่ไหว กลุ่มนักปฏิรูป นักการกุศล และชาวคริสเตียนเคร่งศาสนาในอังกฤษจึงได้ร่วมกันก่อตั้งสมาคมมังสวิรัติแห่งสหรัฐอาณาจักร (The Vegetarian Society of the United Kingdom) ขึ้นเป็นครั้งแรกในปี 1847 เพื่อต่อต้านความนิยมของการกินเนื้อสัตว์และเผยแพร่ความเชื่อที่ว่าคนเราไม่จำเป็นกินเนื้อสัตว์ก็สามารถอยู่รอดได้

การเคลื่อนไหวขององค์กรการกุศลนี้สนับสนุนคนหันไปรับประทานอย่างอื่นแทนเนื้อสัตว์ โดยใช้วิธีการจัดแคมเปญบนท้องถนนและเขียนบทความลงหนังสือพิมพ์ การโปรโมตรูปแบบนี้ได้กระแสตอบรับที่ดีมาก คนรุ่นใหม่ในสมัยนั้นหันมาสนใจการกินมังสวิรัติมากขึ้นและทำให้ร้านอาหารมังฯ ผุดขึ้นทั่วเมืองใหญ่ๆ ในอังกฤษ Freemasons’ Tavern โรงเตี๊ยมชื่อดังในลอนดอนที่เป็นสถานที่จัดประชุมและปราศรัยระดับชาติก็ขายอาหารมังสวิรัติด้วยเช่นกัน

อาหารมังสวิรัติในยุควิกตอเรียไม่ได้มีแต่ของพื้นๆ อย่างซุปผักธรรมดาอย่างที่หลายคนเข้าใจ อาหารตำรับอังกฤษหลายอย่างได้มีการปรับสูตรให้ไร้เนื้อสัตว์ สร้างสรรค์เมนูขึ้นมาใหม่ รวมถึงมีการคิดค้น ‘เนื้อที่ทำจากถั่ว’ (Nut meat) และแฮมมังสวิรัติขึ้นมาทดแทนเนื้อสัตว์ ซึ่งสูตรตำราอาหารมังสวิรัติในสมัยนั้นก็ได้ตกทอดมาถึงทุกวันนี้

นอกจากนี้ ‘สื่อ’ ถือว่ามีบทบาทสำคัญที่ทำให้สมาคมประสบความสำเร็จ จนทำให้การรับประทานมังสวิรัติกลายเป็น ‘ลัทธิ’ ที่ขับเคลื่อนสังคมในด้านอื่นๆ มีการจัดตั้งโรงเรียนช่างกลเพื่อสนับสนุนการศึกษาสำหรับผู้ใหญ่ การเคลื่อนไหวรณรงค์เรื่องสวัสดิภาพสัตว์ (Animal welfare) หรือแม้กระทั่งสร้างโรงพยาบาลเพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยโรคมะเร็ง

อิทธิพลของศาสนาคริสต์

สาเหตุที่ทำให้มังสวิรัติเป็นที่นิยมในยุควิกตอเรียนั้นส่วนหนึ่งเป็นเพราะความเชื่อจากพระคัมภีร์ไบเบิลที่นำโดยศาสนาจารย์วิลเลียม คาวเฮิร์ด (William Cowherd) โดยความเชื่อของเขาค่อนข้างสอดคล้องกับแนวคิดของพีทาโกรัสที่ว่า ‘พระเจ้าสถิตอยู่ในสิ่งมีชีวิตทุกชนิด’ การรับประทานเนื้อสัตว์และดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จึงเป็นบาปที่ทำให้ไม่ได้รับความรักจากพระเจ้า ผู้มีศรัทธาหลายคนจึงเชื่อว่าการทานเนื้อคือการทารุณกรรมสัตว์ และคนกินเนื้อก็เป็นคนโหดร้าย

ต่อต้านการทารุณกรรมสัตว์

‘สวัสดิภาพสัตว์’ เป็นหนึ่งในเหตุผลสำคัญที่ทำให้การกินมังสวิรัติเป็นที่สนใจในวงกว้างในยุควิกตอเรีย เนื่องจากการขนส่งปศุสัตว์สมัยนั้นต้องข้ามมหาสมุทรแอตแลนติกซึ่งทำให้สัตว์เจ็บป่วยระหว่างทางและต้องทนทรมานจนกว่าจะถึงโรงฆ่าสัตว์ แถมระบบโรงฆ่าสัตว์สมัยนั้นทั้งไม่สะอาดและมีวิธีฆ่าสัตว์ที่โหดร้าย สมาคมได้นำประเด็นนี้ไปเผยแพร่ให้ประชาชนทั่วไปทราบ โดยมีการจัดกิจกรรมทั่วลอนดอนและภูมิภาคต่างๆ อีก 19 เมือง ผู้คนจึงให้ความสนใจกับการรณรงค์สิทธิสัตว์ (Animal rights) กันมากขึ้น ท้ายที่สุด ในช่วงปลายยุควิกตอเรีย สมาคมมังสวิรัติมีสมาชิกนักเคลื่อนไหวมากถึง 7,000 คน

หนึ่งในนักเคลื่อนไหวคนสำคัญ เฮนรี ซอลต์ (Henry Salt) ได้เขียนหนังสือ ‘Animals’ Rights Considered in Relation to Social Progress’ (1892) และ ‘The Logic of Vegetarianism’ (1899) ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับสิทธิสัตว์และการต่อต้านความรุนแรงต่อสัตว์ ซึ่งครั้งหนึ่ง มหาตมา คานธี (Mahatma Gandhi) กล่าวว่าหนังสือทั้งสองเล่มนี้เป็นเหตุผลที่ทำให้เขาหันมากินมังสวิรัติ

อย่างไรก็ดี ภายหลังการเคลื่อนไหวของสมาคมได้ซาลง แต่ก็ได้กลับมาเป็นที่รู้จักอีกครั้งอีกในฐานะสมาคมวีแกน (The Vegan Society) ที่นำโดยโดนัลด์ วัตสัน (Donald Watson) ซึ่งเป็นผู้ก่อตั้งและคนแรกที่คิดคำว่า ‘วีแกน’ ขึ้นมาใหม่ในปี 1944

แล้วเราก็มีกลุ่มวีแกนอย่างที่รู้จักกันในวันนี้

อ้างอิง