4 Min

ชุบชีวิตของเหลือใช้ด้วยดีไซน์ กับโครงการ ‘Upcycling Upstyling’ ปีที่ 2

4 Min
700 Views
23 Dec 2021

ปัญหาสิ่งแวดล้อม เป็นประเด็นที่ถูกพูดถึงกันมาอย่างยาวนาน ไม่ว่าจะมาในรูปแบบของ โลกร้อน มลพิษทางอากาศ ปัญหาทรัพยากร และปัญหาขยะๆ ต่าง ที่ยิ่งนานวันเข้า ก็ยิ่งทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

ซึ่งปัญหาสิ่งแวดล้อมเหล่านี้ เป็นสิ่งที่ทุกคนจะต้องรับผิดชอบ เพราะเราทุกคนต่างก็เป็นส่วนหนึ่งที่สร้างภาระให้กับโลก และทำให้เกิดปัญหาพวกนี้ขึ้นมา แค่มองไปรอบๆ ตัวก็จะเห็นได้ว่า มีขยะที่เกิดจากการใช้ชีวิตประจำวันของคนเราเยอะมากทีเดียว โดยเฉพาะเรื่องของการจัดการพลาสติก ที่นับวันก็ยิ่งมีมากขึ้นทุกวัน

ของใช้ในชีวิตประจำวันของเรา ส่วนมากก็ทำมาจากพลาสติกทั้งนั้น  ไม่ว่าจะเป็นหลอด แก้วน้ำ ถุงพลาสติก ซึ่งของพวกนี้ก็มักจะเป็นของที่ใช้ได้แค่ครั้งเดียว หรืออย่างเต็มที่ก็ 2-3 ครั้งแล้วก็ต้องทิ้งไป ปัญหาที่เกิดขึ้นก็คือ ขยะพลาสติกที่ถูกทิ้งแล้วไปอยู่ที่ไหนกัน

อย่างที่ทราบกันว่าข้อดีของพลาสติก คือ การใช้ซ้ำและนำกลับมารีไซเคิลได้ ซึ่งจัดเป็นหนึ่งในการหมุนเวียนทรัพยากรมาใช้เพื่อไม่เกิดการสูญเปล่า

ซึ่งแนวคิดนี้ก็เป็นสิ่งที่ PTT Global Chemical หรือ GC เชื่อมั่นว่า ของที่เราคิดว่าไร้ประโยชน์แล้วเหล่านี้ สามารถนำมาเพิ่มมูลค่าขึ้นมาได้ ด้วยการใช้ความรู้และทักษะการออกแบบ รวมถึงความร่วมมือทำให้เกิดผลิตภัณฑ์ใหม่ ที่สามารถใช้ในชีวิตประจำวันได้จริงๆ

จึงเป็นที่มาของโครงการ Upcycling Upstyling โดยจัดขึ้นเป็นครั้งที่ 2 ภายใต้ชื่อธีม “Home & Living” ตามแนวทางของ GC Circular living กับการเดินทางสู่เป้าหมาย Net Zero ในปี 2050 ผ่านการเชื่อมโยงเครือข่ายการจัดการขยะ และผู้ผลิตสินค้าชั้นนำต่างๆ

ปีนี้ GC ได้เชิญแบรนด์ชั้นนำทั้งหมด 20 แบรนด์ มาร่วมสร้างสรรค์ผลงาน Eco-Design โดยใช้วัสดุเหลือใช้และสิ่งที่เรามองว่าเป็นขยะต่างๆ นำมา Upcycle เพิ่มมูลค่าเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ที่ทั้งดีไซน์สวย และสามารถใช้ได้จริง ตอบโจทย์คนรุ่นใหม่ที่หันมาสนใจสิ่งแวดล้อมกันมากขึ้น

นอกจากจะมีแบรนด์ชั้นนำต่างๆ เข้าร่วมโครงการนี้แล้ว ยังได้รับความร่วมมือจากสุดยอดดีไซเนอร์ชั้นนำของไทยและผู้ประกอบการธุรกิจอุตสาหกรรม มาร่วมกันออกแบบและสร้างชิ้นงานออกมา ให้เป็นรูปเป็นร่างอย่างที่เราได้เห็นกัน

คอนเซปต์ของผลิตภัณฑ์ในปีนี้จะเป็นพวกเฟอร์นิเจอร์ ของตกแต่ง ของใช้ในบ้าน และวัสดุก่อสร้างต่างๆ ที่สร้างขึ้นจากสิ่งที่คนทั่วไปคิดว่าไม่มีประโยชน์ โดยวันนี้ BrandThink ได้หยิบยก 2 ผลิตภัณฑ์ที่มีความน่าสนใจ มีสไตล์แปลกใหม่ มานำเสนอให้ชมกัน ซึ่งทั้ง 2 ชิ้นงานนี้เป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่งของผลิตภัณฑ์ Upcycling จากทั้งหมด 20 ชิ้นเท่านั้น

Field Bed & Stool Chair

พลาสติกเป็นสิ่งที่เราเข้าใจว่าย่อยสลายได้ยาก และเมื่อนึกถึงขวดพลาสติก ทุกคนก็จะคิดว่าวิธีการรีไซเคิล หรือการนำกลับมาใช้ใหม่ก็คงจะมีไม่มากเช่น แต่ทาง Ichitan เชื่อว่าผลลัพธ์จากขวดพลาสติกไม่ได้เป็นสิ่งที่แย่เสมอไป มันสามารถนำมาเพิ่มคุณค่าและใช้ประโยชน์ได้อีกมากมาย Ichitan จึงร่วมมือกับ Feltech และ Stu/D/O ร่วมกันใช้ความคิดสร้างสรรค์ นำขวดเครื่องดื่ม Ichitan มาชุบชีวิตออกแบบเป็นชิ้นงานใหม่ขึ้นมา

ผลงานเตียงสนามและเก้าอี้สตูลนี้ ผลิตขึ้นจากเส้นใยจากขวดพลาสติก PET 100% โดยผ่านกระบวนการผลิตเฉพาะของ Feltech ผ่านการบด ฉีดเป็นเส้นใย และใช้ความร้อนในการขึ้นรูป อัดออกมาเป็นผ้า Felt ที่นิ่ม แต่มีความแข็งแรง ทนทานเทียบเท่ากับไม้อัด สามารถดูดซับเสียงได้ ไม่กักเก็บความชื้นและเชื้อโรค

ประกอบกับว่าช่วงที่กำลังดำเนินโครงการอยู่นั้น เป็นช่วงที่วิกฤตโควิด 19 กำลังระบาดอยู่พอดี ทางดีไซเนอร์ Stu/D/O จึงจับคุณสมบัติเด่นของผ้า Felt ตัวนี้ ที่สามารถใช้งานได้หลากหลายรูปแบบ นำมาออกแบบเป็นเตียงสนามดีไซน์สวย และรับน้ำหนักได้มาก ที่ได้คิดมาแล้วว่า ถ้าใช้งานเตียงนี้ในโรงพยาบาลสนาม หรือฮอลล์ใหญ่ๆ ก็จะช่วยซับเสียงไปได้มากอีกด้วย

เตียงสนามนี้ประกอบกันโดยใช้การพับ โดยได้แรงบันดาลใจมากจาก origami ของญี่ปุ่น ทำให้เตียงนี้ไร้รอยต่อ และง่ายต่อการจัดเก็บมากๆ นอกจากนี้ ในการผลิตเตียงหนึ่งหลัง ยังใช้ขวดพลาสติกมากถึง 900 ขวด ทำให้สามารถบริหารพลาสติกไปได้เยอะมากทีเดียว

ส่วนเก้าอี้สตูลรูปทรงไม่เหมือนใครนั้น ดีไซเนอร์ใช้เทคนิค deployable structure บิดขึ้นมาเป็นเก้าอี้ ที่เหมาะกับการใช้งาน Home-use ที่หลากหลาย สามารถนั่งได้ หรือจะใช้เป็นโต๊ะหัวเตียงก็ได้เช่นกัน ซึ่งทางผู้ผลิตผลงาน ‘Field Bed & Stool Chair’ ทั้ง 3 เชื่อว่าโปรเจกต์นี้จะสามารถต่อยอดออกไปเป็นอย่างอื่นได้อีก และเชื่อว่าจะสามารถตอบโจทย์ผู้บริโภคยุคใหม่ ที่หันมาเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ Upcycling ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในชีวิตประจำวันมากขึ้นอีกด้วย

Talking wall กำแพงพูดได้

ปัญหาที่ SIG Combibloc ผู้ผลิตกล่องบรรจุภัณฑ์รายใหญ่พบนั่นก็คือ ในปีๆ หนึ่งมีขยะที่เกิดจากกล่องนม UHT มากกว่าหนึ่งหมื่นล้านกล่องต่อปี ถึงแม้กล่องพวกนี้จะสามารถนำมาล้าง และนำมารีไซเคิลใหม่ได้ก็จริง แต่ก็ดูเป็นวิธีที่ไม่ค่อยยั่งยืนเท่าไหร่ SIG Combibloc จึงอยากนำกล่องนม UHT มาเพิ่มมูลค่า และสร้างเป็นผลิตภัณฑ์ที่สามารถนำไปใช้ได้จริงมากขึ้น

หลังจากที่ AdvancedMat ได้โจทย์มา จึงสนใจที่จะนำกล่องนมเหล่านี้มาผลิตเป็นวัสดุก่อสร้าง เพราะต้องใช้ material ในการผลิตเยอะ และจะสามารถกำจัดได้ครั้งละมากๆ

นอกจากนี้ทางผู้ผลิตยังนำเอาจุดด้อยของกล่องนมมาใช้ประโยชน์ เนื่องจากปัญหาของการรีไซเคิลกล่องนมคือ มันสามารถแยกชั้นออกมาได้ยาก มีทั้งกระดาษและโลหะอยู่รวมกัน แต่ทาง AdvancedMat เล็งเห็นว่าจุดด้อยตรงนี้นำมาใช้ประโยชน์ ช่วยเพิ่มความแข็งแรงของตัวชิ้นงานได้ จึงได้ออกมาเป็นวัสดุ PolyAl จากกล่องนม UHT 100% มีความแข็งแรงทนทาน ใช้ในการก่อสร้างได้จริง

คุณสมชนะ กังวารจิตต์ จาก Prompt Design จึงออกแบบ PolyAl ที่ได้มาเป็นอิฐบล็อคช่องลม แต่จะเป็นบล็อคช่องลมเฉยๆ ก็จะดูธรรมดาเกินไป ทางดีไซเนอร์จึงเพิ่มรูปเล่นการออกแบบ โดยออกแบบออกมาเป็นชุดคอลเลคชัน 8 ชิ้น ความพิเศษอยู่ที่ว่า บล็อคช่องลมทั้ง 8 ชิ้นนี้ สามารถต่อกันเป็นตัวอักษร A-Z และตัวเลข 0-9 ได้ครบ สามารถเรียงออกมาเป็นคำต่างๆ ได้ตามต้องการ จึงเป็นที่มาของชื่อ Talking wall นั่นเอง ผลงานชิ้นนี้จึงมีทั้งความโดดเด่นด้านการใช้วัสดุอย่างชาญฉลาด และด้านดีไซน์ ที่นอกจากจะสวยงามแล้ว ยังมีความหมายลึกซึ้งแฝงอยู่อีกด้วย

นอกจาก 2 ชิ้นงานที่นำมาเล่าสู่กันฟังในวันนี้แล้ว ยังมีผลงานอื่นๆ จากโครงการ Upcycling Upstyling นี้อีก 18 ชิ้น ผลิตภัณฑ์หลากหลายรูปแบบการใช้งาน ไม่ว่าจะเป็นประตูที่ทำมาจากซองแชมพูรีจอยส์ ซึ่งใช้สร้างบ้านพลาสติกให้ผู้ยากไร้มาแล้วจริงๆ กะละมังซักผ้าจากถุงน้ำยาซักผ้า เอาใจสายแม่บ้าน ที่นอกจากจะมีฟังก์ชันพิเศษสำหรับซักล้างแล้ว ยังมีดีไซน์เก๋ ใช้ประดับตกแต่งบ้านได้อีกด้วย หรือจะเป็นการนำแหอวนเก่าๆ มา Upcycle เป็นที่ฝาปิดกระป๋องรูปทูน่า และงานหัตถกรรมเก้าอี้สาน นอกจากตัวอย่างที่ยกมาแล้ว ยังมีผลงานอื่นๆ ที่ถูกพลิกโฉมจากของที่ไม่ใช้แล้ว มาเป็นผลิตภัณฑ์ Upcycling รูปแบบใหม่ ที่หลายคนไม่อาจจะนึกไม่ถึงมาก่อน ซึ่งผลิตภัณฑ์ต่างๆ เหล่านี้ มีโอกาสออกมาวางจำหน่ายเพิ่มเติมได้ในอนาคต หากใครสนใจก็สามารถติดตามเพิ่มเติมได้ที่ GCcircularlivingshop ขอทาง GC ได้โดยตรง

#GC #UpcyclingUpstyling2