2 Min

เพราะเราทุกคนมีความเป็นเด็กอยู่ข้างใน ลองทำความรู้จักและเข้าใจ เพื่อเป็นตัวเองในแบบฉบับที่ดีที่สุด

2 Min
47 Views
05 Mar 2025

บุคลิกภาพความเป็นเด็กมักถูกมองในแง่ลบเมื่อคนที่แสดงออกมานั้นอยู่ในวัยผู้ใหญ่ เรามักถูกสั่งสอนให้โตขึ้น ให้ทำตัวเป็นผู้ใหญ่ ให้เลิกเป็นเด็กได้แล้ว แต่เราอาจไม่จำเป็นต้องละทิ้งความเป็นเด็กเสมอไป เพราะความเป็นจริงแล้ว…

“แม้เราจะเติบโตขึ้นด้วยวัย และประสบการณ์ที่พบเจอมา แต่ข้างในจิตใจเรายังมีเด็กคนหนึ่งอาศัยอยู่ด้วยเสมอ ดังนั้น อย่าลืมดูแลเขาให้ดีด้วยนะ”

Moody จึงอยากชวนทุกคนมาทำความรู้จักกับ ‘Inner Child’ แนวคิดที่ว่าด้วยความเป็นเด็กที่อยู่ข้างในแม้ในวันที่เราเติบโตเป็นผู้ใหญ่ขึ้นแล้วก็ตาม

โดย Inner Child เป็นแนวคิดที่ริเริ่มมาจากนักจิตวิเคราะห์ คาร์ล กุสตาฟ ยุง หรือ คาร์ล ยุง (Carl Gustav Jung) นักจิตวิทยาผู้เป็นบิดาแห่งทฤษฎีบุคลิกภาพ เขาเชื่อว่าคนเราไม่ได้เกิดมาอย่างว่างเปล่า แต่ทุกคนย่อมมี ‘บุคลิกภาพดั้งเดิม’ ที่ถูกกำหนดไว้ภายในจิตใต้สำนึก แล้วพัฒนาร่วมกับประสบการณ์ และการเรียนรู้ที่ได้รับ กลายเป็นบุคลิกภาพส่วนตัวของแต่ละบุคคลเมื่อโตขึ้นนั่นเอง

แต่แม้จะโตสักแค่ไหนก็ยังมี ‘Inner Child’ หรือ ‘เด็กน้อยที่อยู่ข้างใน’ อาศัยร่วมกับเราอยู่เสมอ เปรียบเสมือนจิตวิญญาณความเป็นเด็กที่ซ่อนอยู่ในระดับจิตใต้สำนึกของเรา และเด็กน้อยคนนี้สามารถถูกกระตุ้นให้แสดงตัวตนออกมาจากสิ่งเร้าที่เจอในชีวิตประจำวัน ทำงานเป็นบุคลิกภาพย่อยโดยไม่รู้ตัว

Inner Child ยังสามารถแบ่งออกเป็น 2 ด้าน คือ

  1. Child Work เปรียบเป็น ด้านสดใสร่าเริง (น้องร่าเริง) ที่ประกอบด้วย ความไร้เดียงสา ความรู้สึกแห่งอิสระ ความคิดสร้างสรรค์ ความสุขแบบเด็กๆ และสัญชาตญาณความตื่นเต้นที่คอยกระตุ้นให้เราอยากลองทำสิ่งใหม่ๆ

หากพูดให้เห็นภาพก็คงเป็นด้านแห่งศิลปะ งานอดิเรก รวมถึงความบันเทิงรูปแบบต่างๆ ที่เราชอบ สามารถเป็นเมล็ดพันธุ์แห่งการพัฒนาศักยภาพ หรือความสามารถพิเศษเฉพาะตัวได้อีกด้วย

  1. Shadow Work ถ้าแปลตรงตัวก็คือ เงามืดภายในใจ (น้องเศร้าซึม) ของคนเราที่เต็มไปด้วยบาดแผล ความเจ็บปวดที่เกิดขึ้นในวัยเด็ก (trauma) ความต้องการ รวมถึงอารมณ์ที่ไม่ถูกเติมเต็มซึ่งถูกเก็บกดเอาไว้

ดังนั้น จึงง่ายต่อการถูกกระตุ้นจากสิ่งเร้าภายนอกในระหว่างการใช้ชีวิตประวัน และยังสามารถส่งผลกระทบต่อจิตใจ รวมถึงเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมในด้านลบให้แย่ลงได้อย่างร้ายแรงที่สุด หากไม่รักษาแผลของเขาให้หาย หรือบรรเทาให้ดีขึ้น เงามืดภายในใจนี้เองที่สามารถต่อยอดกลายเป็นอาการป่วยทางใจของใครหลายคนได้อย่างง่ายดาย

โดยในบทความชื่อ ‘Why Should You Heal Your Inner Child?’ ได้แนะนำว่า สิ่งแรกที่ทุกคนควรทำก่อนเข้าสู่ขั้นตอนฮีลใจคือ ‘การยอมรับเด็กน้อยข้างใน’ ว่าพวกเขามีตัวตนอยู่ และมีบาดแผลใดเกิดขึ้นบ้าง หรือความต้องการใดยังไม่ถูกเติมเต็ม

ต่อไปคือ ‘การสื่อสาร’ เรียกง่ายๆ ว่าการสำรวจจิตใจจากการพูดคุยกับตัวเอง เช่น การพูดคนเดียวหน้ากระจก เขียนไดอารี หรือปรึกษานักจิตบำบัดก็ได้ เพื่อหาสาเหตุของความเจ็บปวดนั้น เมื่อหาต้นสายปลายเหตุได้แล้ว เชื่อว่าทุกคนจะสามารถแก้ปมนั้นได้ด้วยตัวเอง แล้วกลับมารักตัวเองมากขึ้นในทุกๆ วัน

การแก้ปมในใจ บางเรื่องแก้ง่าย บางเรื่องแก้ยาก หรือบางเรื่องอาจแก้ไม่ได้เลยก็มี แต่สิ่งสำคัญคือคอย ‘ตระหนักรู้ถึงเด็กน้อยที่อยู่ข้างใน’ อยู่เสมอ เพื่อเช็กสุขภาพใจของเราว่าเป็นอย่างไรบ้าง และหมั่นเติมความสุขเล็กๆ ให้ตัวเอง เพื่อโอบกอดเด็กคนนั้นไว้ด้วยความอบอุ่น

อ้างอิง