12 Min

‘นวัตกรรมทางสังคมและความยั่งยืน’
สิ่งสำคัญที่ตอบโจทย์โลกอนาคต
หลังโควิด-19 และสาขาใหม่ของ มธ.
ที่เจาะลึกเรื่องนี้

12 Min
4265 Views
27 Oct 2021

การระบาดของโคโรนาไวรัส 2019หรือ COVID 19 นับว่าเป็นหนึ่งในวิกฤตครั้งยิ่งใหญ่ที่พวกเราต้องเผชิญ บางคนสูญเสียรายได้ บางคนสูญเสียธุรกิจ บางคนสูญเสียการศึกษา และบางคนอาจสูญเสียคนรัก เพราะฉะนั้นเราปฏิเสธไม่ได้เลยว่า วิกฤตดังกล่าวส่งผลกระทบต่อผู้คนในเกือบจะทุกมิติ ทั้งในด้านสังคม เศรษฐกิจ การเมือง การศึกษา การสาธารณสุข การแพทย์ การคมนาคม การท่องเที่ยว การรักษาสิ่งแวดล้อม และอื่นๆ อีกมาก

ด้วยรูปแบบวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไป การดำเนินชีวิตด้วยแนวทางใหม่อย่าง New Normal จึงเข้ามามีบทบาทมากขึ้น ซึ่งหลายฝ่ายก็มองว่า เราจะดำเนินชีวิตแบบวิถีใหม่ไปอีกนาน หรือมันอาจจะเป็นแนวทางที่กำลังเปลี่ยนแปลงพวกเราไปตลอดกาลเลยก็ว่าได้

แต่วิถีชีวิตรูปแบบใหม่ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย หลายอย่างมีทีท่าว่าจะเปลี่ยนแปลงอย่างไม่หยุดนิ่ง การปรับตัวจึงเป็นอีกหนึ่งทักษะสำคัญเพื่อความอยู่รอด ไม่ใช่แค่ภาคประชาชน แต่รวมถึงภาคธุรกิจ หรือการจัดการบริหารในเชิงโครงสร้างอีกด้วย

จากปัจจัยดังกล่าว เราจะเห็นเลยว่า ผู้คน ภาคธุรกิจ และองค์กรต่าง ๆ ให้ความสำคัญกับการปรับตัวและการแก้ปัญหาต่างๆ มากยิ่งขึ้น ซึ่งไม่ใช่แค่การจัดการสถานการณ์เฉพาะหน้า แต่ทุกฝ่ายต่างมองไปถึงอนาคต มองถึงการอยู่รอดแบบยั่งยืน หลายองค์กรจึงมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำงานที่ผสมผสานระหว่างที่สำนักงานและที่บ้านอย่างถาวร เป็นการทำงานที่ยืดหยุ่นกว่าที่เคยเป็นมา

การปรับเปลี่ยนดังกล่าวเป็นหนึ่งในตัวอย่างของ “นวัตกรรมทางสังคม” ที่หลายฝ่ายต่างพัฒนาขึ้นเพื่อแก้ปัญหาที่ได้พบเจอ ดังนั้น คำว่า “นวัตกรรมทางสังคม” จึงเป็นอีกหนึ่งหัวข้อที่จะมีบทบาทและถูกพูดถึงอย่างมากในอนาคต เป็นแนวคิดที่เกิดขึ้นมาเพื่อรับมือปัญหาด้านต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม

ในวันที่ทุกอย่างเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว อะไรก็ไม่แน่นอน นวัตกรรมทางสังคมและความยั่งยืนเป็นแนวคิดที่จะทำให้เราเข้าใจความเป็นไป และบริหารจัดการทรัพยากรต่างๆ ให้เกิดประโยชน์สูงสุด และที่สำคัญจะทำให้เราสามารถจัดการสิ่งเหล่านั้นได้อย่างยั่งยืน มันจะกลายเป็นสิ่งสำคัญของโลกยุคใหม่ ที่เราจะได้ยินคำเหล่านี้บ่อยขึ้นหลายเท่าตัว

ในวันนี้ BrandThink จึงขอเชิญท่านผู้อ่านมาร่วมพูดคุยกับ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ประภาภรณ์ ติวยานนท์ มงคลวนิช คณบดีวิทยาลัยโลกคดีศึกษากับประเด็น ‘นวัตกรรมทางสังคมและความยั่งยืน’ เรามาดูกันดีกว่าว่าในวันที่โลกเปลี่ยนไปทำไมสิ่งเหล่านี้ถึงเป็นสิ่งสำคัญ และทางโลกคดีศึกษาเองมีแนวคิดและปรับเปลี่ยนอย่างไรบ้าง? รวมไปถึงมาดูกันว่าหลักสูตรหลักสูตรปริญญาโทและเอก สาขานวัตกรรมทางสังคมและการพัฒนาอย่างยั่งยืน ของวิทยาลัยโลกคดีศึกษานั้นตอบโจทย์กับโลกที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างไรบ้าง

อะไรคือนวัตกรรมทางสังคม (Social Innovation) ?

ต้องอธิบายก่อนว่า นวัตกรรมทางสังคม (Social Innovation) ไม่ได้จำเป็นต้องเป็นเทคโนโลยีเพียงอย่างเดียว อาจเป็นผลิตภัณฑ์หรือการบริการก็ได้เช่นกัน โดยในช่วงเริ่มแรก อาจารย์บอกเล่าให้พวกเราฟังว่า นวัตกรรมทางสังคมต้องเป็นสิ่งที่ตอบโจทย์ปัญหาของสังคม อาจอ้างอิงได้จาก 2 ปัจจัยหลัก

  1. ต้องเป็นอะไรที่ใหม่ อาจไม่ต้องเป็นสิ่งใหม่ที่เพิ่งถูกคิดหรือสร้างขึ้น แต่ต้องมีการประยุกต์ใช้ในสถานการณ์ปัจจุบัน และแก้ปัญหาอย่างเหมาะสม
  2. ต้องมีความยั่งยืน (Sustainability) เพราะถ้าไม่ยั่งยืนก็จะไม่สามารถตอบโจทย์ปัญหาสังคมได้นั่นเอง

“การแก้ปัญหาครั้งเดียวในสังคม แบบ one-time solution อาจไม่ได้เรียกสิ่งนั้นว่าเป็นนวัตกรรมสังคม เพราะมันไม่ครอบคลุมถึงความยั่งยืน”

แล้วทำไมถึงต้องยั่งยืน (Sustainability)?

ความยั่งยืน (Sustainability) จะทำให้การแก้ปัญหาหรือการดำรงอยู่ของสิ่งต่างๆ ยังคงสภาพอยู่ต่อไปได้ แม้จะมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น เพราะฉะนั้นความยั่งยืนถึงเป็นสิ่งสำคั​ญ

ความยั่งยืนเป็นโจทย์ที่สังคมและธุรกิจต้องคำนึงถึง เป็นการทำความเข้าใจว่ากระบวนการต่างๆ ส่งผลอะไรต่อโลกใบนี้ ส่งผลอะไรต่อไปในอนาคต แล้วจะทำอย่างไรให้สิ่งเหล่านั้นช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมให้มากที่สุด

รวมถึง การบริหารจัดการในองค์กร ไปจนถึงแนวคิดการทำเพื่อสังคม (CSR) และชุมชนบนพื้นฐานของความมีจริยธรรมในการทำธุรกิจ ที่สำคัญต้องทำอย่างจริงใจจริงจังในระยะยาว เพื่อให้ครอบคลุมมิติด้านสังคม (Social) เศรษฐกิจ (Economic) และสิ่งแวดล้อม (Environmental) อีกด้วย

: อย่างสถานการณ์โควิด-19 พอพูดถึงเรื่องเศรษฐกิจ เรายังไม่รู้เลยว่าผลกระทบของร้านที่ปิดไป หรือเศรษฐกิจที่ร่วงไปเป็นจำนวนกี่เปอร์เซ็นต์ เราจะปรับตัวและทำให้มันจะกลับขึ้นมาได้อย่างไร  ประเด็นสำคัญตอนนี้ถึงเป็นเรื่องของการคิดนอกกรอบ เป็นเรื่องของความยั่งยืน เป็นเรื่องที่ถ้าเจออีกครั้ง ก็จะไม่มีปัญหาเหมือนในอดีต

แต่อย่างไรก็ตาม ความสำเร็จของความยั่งยืนอาจแตกต่างกันไปในแต่ละบริบท

ความยั่งยืนคือความสามารถในการแก้ปัญหาอย่างมีความต่อเนื่อง ครอบคลุมถึงมิติในเรื่องของเวลา อนาคตต้องใช้ได้อยู่ ยังตอบโจทย์อยู่ มีการเอื้อผลประโยชน์ให้กับชุมชนและคนที่ประสบปัญหาสังคมเกิดขึ้น

เพราะฉะนั้นเราอาจไม่สามารถระบุเจาะจงไปอย่างแน่ชัดว่าสิ่งไหนคือความยั่งยืนหรือไม่ยั่งยืน เพราะเวลาที่ชุมชนหรือชาวบ้านเจอปัญหาบางอย่าง การนำนวัตกรรมทางสังคมบางอย่างเข้าไปแก้ไข มันอาจจะช่วยแก้ปัญหาเดิมได้ แต่ก็อาจมีปัญหารูปแบบใหม่เกิดขึ้น ซึ่งมันอาจไม่ร้ายแรงเหมือนสิ่งที่พวกเขาเคยเจอ เป็นสิ่งที่พวกเขารับได้ มิติของความยั่งยืนเลยตีความค่อนข้างยาก ขึ้นอยู่กับบริบทค่อนข้างมาก ผ่านการแก้ปัญหาหลายระดับ

โดยอีกหนึ่งกรณีที่น่าสนใจคือเรื่องของ PM 2.5 กับการแก้ปัญหาโดยการใส่แมสก์ หลายคนอาจมองว่ามันช่วยแก้ปัญหาได้ ช่วยลดผลกระทบได้จริง แต่ถ้าเรานำคำถามเดียวกันไปถามกับภาคส่วนอื่นๆ หลายฝ่าย รวมถึงตัวอาจารย์เองก็มองว่า มันไม่ได้ยั่งยืนสักเท่าไหร่นัก

เราจะเห็นเลยว่าความยั่งยืนมันค่อนข้างขึ้นอยู่กับบริบทต่างๆ มาก ความยั่งยืนเป็นอะไรที่ส่วนบุคคลมาก ขึ้นอยู่กับการตีโจทย์และประเมินค่าของความยั่งยืนที่แตกต่างกันออกไป ความพิเศษในจุดนี้ทำให้เรื่องนี้กลายเป็นสิ่งที่น่าสนใจและซับซ้อนกว่าที่เคยเข้าใจ เป็นประเด็นที่สามารถนำมาถกเถียง เป็นวิชาที่ต่อยอดได้ เพราะหลายๆ คนมองว่าการไม่แก้ปัญหาที่ปลายเหตุมันไม่ยั่งยืน แต่สำหรับบางคนมันก็อาจจะยั่งยืนเพียงพอแล้วในบริบทของคนๆ นั้น

สรุปก็คือ  Sustainability มีการตีความได้หลายรูปแบบนั่นเอง

นวัตกรรมทางสังคมและความยั่งยืน กับเหตุการณ์ที่เกิดในชีวิตจริง

หลายท่านอาจจะมองว่ามันเป็นเรื่องของทฤษฎี เรื่องของการทำธุรกิจ แต่ความจริงแล้วมันไม่ใช่แค่ในเรื่องธุรกิจ แต่แนวคิดเรื่องดังกล่าวกำลังมีบทบาทสำคัญในทุกภาคส่วน และมันเป็นส่วนหนึ่งในวิถีชีวิตของเราแล้วด้วยซ้ำ

ระดับธุรกิจทั่วไปก็ต้องปรับตัว เพราะนอกจากการบริการ หรือผลิตภัณฑ์แล้ว สิ่งเหล่านั้นต้องเชื่อมโยงกับระบบและปัญหาสังคมให้ได้ ถ้าไม่ปรับจะอยู่ไม่รอด ต้องปรับสภาพตัวเองไปกับสิ่งแวดล้อม

ถ้าคุณเป็นร้านค้า ในปัจจุบันสามารถขายของได้ ทำกำไรได้ แต่เดือนถัดไปยอดขายตก ขายของไม่ได้เพราะรัฐบาลสั่งห้ามหมด คุณจะไปฝืนสิ่งเหล่านั้นก็คงไม่เป็นผล คำว่า Sustainability จะมีความหมายมากขึ้น มันไม่ใช่แค่ตอบโจทย์ปัญหาสังคม แต่มันคือการตอบโจทย์ตัวเองด้วย เพราะว่าเราก็เป็นส่วนหนึ่งของสังคมนั่นเอง

ในรูปแบบของวิถีชีวิตใหม่ บางคนไม่อยากกลับไปทำงานที่ออฟฟิศอีกต่อไป ชอบรูปแบบการ Work From Home เพราะสามารถหลีกเลี่ยงรถติด และใช้เวลาเป็นประโยชน์ โจทย์ของรูปแบบการทำงานมันจึงเปลี่ยนไป อาจไม่ต้องพึ่งพาสถานที่หรือออฟฟิศ เพราะฉะนั้น ธุรกิจที่ทำด้าน venture, office space ก็ต้องพิจารณาแล้วว่า ต้องปรับรูปแบบอย่างไร อาจไม่ต้องมีหน้าร้าน อาจเปิดขายออนไลน์ ดีไม่ดีอาจจะได้ผลิตผลมากกว่าในการไปเปิดร้านด้วยซ้ำ อันนี้เป็นเรื่องความยั่งยืนในภาพรวม เป็นผลลัพธ์ในองค์ประกอบในการทำงานทั้งหมด

ศาสตร์นี้มีความสำคัญและได้รับความสนใจมากขึ้นหลังจากเกิดสถานการณ์โควิด เพราะความเข้าใจของ Sustainability มันค่อนข้างที่จะหลวมในสังคมภาพรวม มีความเข้าใจที่หลากหลาย หลังจากที่เราเกิดวิกฤตทั้งโลก แก่นของคำว่า Social innovation กับ Sustainability จะสามารถมาต่อยอดกับทุกรายวิชา จะเป็นแพทย์ ธุรกิจ กฎหมาย เศรษฐศาสตร์ และหลายวิชาของทางวิทยาลัยฯ ก็มีแนวโน้มที่ดี

โลกยุคโควิด/หลังโควิดกับการเปลี่ยนแปลงอย่างก้าวกระโดด
และความสำคัญของ ‘นวัตกรรมทางสังคมและความยั่งยืน’

สิ่งนี้น่าจะเป็นประเด็นสำคัญที่คนอยากรู้มากที่สุดว่าโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบต่อผู้คนได้เปลี่ยนแปลงโลกไปอย่างมหาศาล ถึงทำให้ ‘นวัตกรรมทางสังคมและความยั่งยืน’ กลายเป็นสิ่งสำคัญ ทำไมมันเป็นเสมือนเครื่องมือสำคัญที่ช่วยให้พวกเราอยู่รอด

ความยั่งยืนมันไม่ใช่แค่เรื่องของการแก้ปัญหา แต่มันคือความยั่งยืนในหลายๆ รูปแบบ เป็นหนทางที่องค์กรใดองค์กรหนึ่งจะสามารถทำงานได้ต่อไป

ยกตัวอย่างง่ายๆ มหาวิทยาลัยหรือสถาบันการศึกษา ถ้าไม่ปรับตัวเอง ไม่มองตัวเองในเชิงความยั่งยืนก็จะมีปัญหาในอนาคต เพราะปีเดียวทุกมหาวิทยาลัยเปลี่ยนแปลงมาอยู่ออนไลน์หมดแล้ว หากยังคิดจะสอนเป็นลักษณะห้องเรียน เป็นลักษณะจะสอนเหมือนว่าทุกอย่างจะกลับมา แบบนั้นไม่ยั่งยืน เพราะนั่นหมายความว่าไม่สามารถที่จะเดินหน้าและไปแข่งกับองค์กรอื่นได้

ความยั่งยืนมันแปรเปลี่ยนการตีความของการทำงานให้ออกมาในรูปแบบใหม่ เช่น มหาวิทยาลัยต้องมานั่งวิเคราะห์ว่าตัวเองไม่ได้เป็นเพียงสถาบันการศึกษา เพราะถ้าสำรวจกันให้ชัด ยังมีหลายภาคส่วนที่ออกมาทำคอร์ส ทำแพลตฟอร์มให้ความรู้ และเป็นความรู้ที่มีประโยชน์ คนอยากเรียนคนอยากฟัง มหาวิทยาลัยเองก็ต้องตีโจทย์กับตัวเองว่าจุดแข็งคืออะไร เพราะฉะนั้นตอนนี้ความยั่งยืนมันไม่ได้แปลว่าต้องตอบโจทย์แค่สังคม แต่ต้องอยู่รอดด้วย

ความหมายของ Sustainability คืออยู่อย่างไรให้มันไปต่อได้ มิฉะนั้นจะตกขบวน องค์กรต้องตีความตัวเองนอกเหนือจากสิ่งที่เคยเป็น ต้องยั่งยืนด้วยตัวของมันเองให้ได้

มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เล็งเห็นถึงการเปลี่ยนแปลงในประเด็นไหน ทำไมถึงต้องเปิดหลักสูตรเพิ่มเติม

ทาง BrandThink ต้องเล่าย้อนไปถึงทางฝั่งโลกคดีศึกษาก่อนว่า คำว่าโลกคดีศึกษา คือการแปลมาจาก Global Studies ถ้ามองในเชิงวิชาการจะเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่ปรากฏในประเทศใดประเทศหนึ่ง ไม่ได้จำกัดประเทศ หรือเรียกว่า Global issue หรือ Worldwide issue

วิชาใน Global studies ไม่ได้เป็นอะไรที่ใหม่ ถ้ามองในมิติทั่วโลกแล้ว ในหลายๆ มหาวิทยาลัยชั้นนำของโลกก็ขยับขยายมาสู่วิชาหรือคณะนี้ แต่ในเมืองไทย ตอนที่ท่านศาสตราจารย์ ดร.นันทวรรณ วิจิตรวาทการ [อดีตคณบดีวิทยาลัยโลกคดีศึกษา] เสนอไปยังสภามหาวิทยาลัย เป็นเหมือนการบุกเบิก เพราะยังไม่มีมหาวิทยาลัยไหนเลือกพัฒนาสาขานี้อย่างชัดเจน แต่ของเราเป็นวิทยาลัยฯ ที่พยายามจะดึงประเด็นหลากหลายมานำเสนอ ไม่ใช่แค่เรื่องของการเมืองหรือเศรษฐกิจ

หากดูในปัจจุบัน หลายๆ ศาสตร์ที่คิดหรือเชื่อมต่อกับนวัตกรรมสังคมอาจมีความไม่ยั่งยืนอยู่บ้าง เพราะเรื่อง Social Innovation อย่างเดียว จะพาเราแก้ปัญหาไปครั้งเดียว เพราะฉะนั้นนวัตกรรมทางสังคมจะต้องมีความเชื่อมต่อกับ Sustainability ด้วย คุณจะเป็นใครก็ได้ที่มีความคิดที่สร้างสรรค์เกี่ยวกับสังคม และคุณต้องการให้มีผลผลิตหรือมีการแก้ปัญหาที่ยั่งยืน

ในช่วงก่อตั้งหลักสูตร เรามีการทบทวนค่อนข้างเยอะว่าต้องมีอะไรที่นอกเหนือจากนวัตกรรม อาจไม่ใช่มิติของนวัตกรรมแค่ในแบบฉบับของเรา แต่เป็นองค์กรสหประชาชาติมอง รัฐบาลหลายๆ ประเทศมอง ต้องมีความยั่งยืนอยู่ด้วย

โดยบางมหาวิทยาลัยมีการตั้งหลักสูตรขึ้นมาเป็นลักษณะ Area Studies ภายใต้ Global studies เขาจะแบ่งเป็น Asia Studies / African studies แต่เราอาจไม่ได้เป็นแบบนั้น เราเน้นที่ประเด็นมากกว่า เช่น สุขภาพ ผู้ประกอบการ หรือนวัตกรรม เพราะฉะนั้นเราจะเอามิติพวกนี้มาตีความเป็นลักษณะ Global ไม่ได้เน้นเป็นพื้นที่ ซึ่งหลักสูตรปริญญาตรีก็จะมีเน้นในเรื่องของ Entrepreneur ซึ่งเป็นความถนัด

ในส่วนของปริญญาโทและเอกก็มีความแตกต่างกัน เพราะขยายวงกว้างขึ้น ไม่ใช่แค่ Entrepreneur แล้ว เพราะว่าเรามองว่าภายใต้ศาสตร์ที่มันจะครอบคลุม Social Entrepreneur ก็คือ Social Innovation นวัตกรรมทางสังคม เพราะมีการเชื่อมต่อกัน อาจจะเป็นนวัตกรรมทางด้านภาครัฐ อาจจะเป็น Third Sector หรือ Private sector ก็ได้ เพราะฉะนั้นการขยายวงเป็นลักษณะ Social Innovation นี้ มันครอบคลุมคลุม Social Entrepreneur เข้าไปด้วย

จากความต้องการขยายองค์ความรู้ให้มากขึ้นงานศึกษาวิจัยบางส่วนจากนักศึกษาปริญญาโทอาจยังไม่ลงลึกมากพอ เราต้องการวิจัยที่มันลึกและขยายองค์ความรู้ เพื่อที่จะให้เขามาถกเถียงกัน และเรามีอาจารย์ที่มากด้วยประสบการณ์ จึงต้องการขยับขยายไปในส่วนของดุษฎีบัณฑิต การเปิดหลักสูตรปริญญาเอกเลยจำเป็นไปโดยปริยาย

ความสนใจพื้นฐานของผู้เรียนควรเป็นแบบไหน และคนเรียนจะได้รับอะไร

ถัดมาเรื่องความสนใจพื้นฐาน ซึ่งก็เป็นคำถามยอดนิยมว่า ถ้าเราจะเลือกเรียนคณะหรือหลักสูตรนี้ ผู้เรียนควรมีความสนใจเรื่องไหน แต่สำหรับหลักสูตรนี้กลับต่างออกไป เพราะเป็นหลักสูตรที่ช่วยในเรื่องของแนวคิด สามารถนำไปประยุกต์กับองค์ความรู้ได้อย่างหลากหลาย และถ้าคุณสนใจในเรื่องราวที่แปรเปลี่ยนไป ก็นับว่าเป็นหลักสูตรที่น่าจะบำบัดความใคร่รู้ของคุณได้ดี

สิ่งสำคัญก็คือ ต้องมีมิติในมุมมองแบบนวัตกรรมสังคมกับความยั่งยืน มหาวิทยาลัยจะใช้ Design Thinking เป็นการตีโจทย์ เป็นกลไกที่ตีโจทย์ได้อย่างรวดเร็ว แต่มันไม่ได้เป็นกลไกเดียวที่ช่วยแก้ปัญหา ทางมหาวิทยาเองก็ตระหนักว่ามันต้องมีหลายมิติ อันหนึ่งที่สำคัญคือการมองให้เป็นระบบ คือ System Thinking สมมุติเราเจอโจทย์แล้วเราระบุได้ว่าปัญหาสังคมคืออะไร เราก็เสนอการแก้จะเป็นนโยบาย จะเป็นการบริการหรือผลิตภัณฑ์ขึ้นมา แต่เราต้องวิเคราะห์ให้มันเป็นเชิงระบบว่าสิ่งที่เราเสนอเป็นการสร้างปัญหาอีกระดับหนึ่งหรือเปล่า

เพราะฉะนั้นนักศึกษาจะได้รับความรู้เชิง System Thinking และ Foresight Thinking หรือการมองไปข้างหน้า จะสามารถสร้างเหตุการณ์จำลองได้ว่า ถ้าเจออะไรคล้ายโควิดอีกรัฐต้องอย่างไรเกี่ยวกับนโยบายสังคมหรือนโยบายสาธารณะ คือเหมือนเป็นการประเมินว่ากลไกในอนาคตจะเกิดอะไรขึ้น

อีกหนึ่งสิ่งที่จะได้รับคือ Problem Analysis คือการสามารถวิเคราะห์ปัญหาสังคม ซึ่งอาจจะแตกต่างจากการวิเคราะห์ทั่วไป เป็นการทำความเข้าใจผ่านทฤษฎีจริง ที่สามารถวิเคราะห์โครงสร้างปัญหาสังคม มีเรื่องของความเชื่อ พฤติกรรมของสังคม มันมีปัจจัยที่ไปคาบเกี่ยวกับการกำหนดว่าปัญหาสังคมนั้นคืออะไร เพราะฉะนั้นจะมีความคาบเกี่ยวกับทฤษฎี เป็นการมอง เป็นการวิเคราะห์ก่อนที่จะไปลงไปแก้ไข

ปัญหาสังคมไทยที่เห็นได้ชัดก็คือเรื่องของการเมือง ถ้ามองในมุมการเมือง มันเป็นปัญหาของการที่กรอบความคิดของคนที่แตกต่างมาปะทะกัน จนเกิดปัญหาสังคม แต่เรากลับไม่ได้ไปแก้ที่กรอบความคิด แต่ไปแก้แบบการเมือง ไม่ได้แก้ที่เชิงระบบบริหาร เราจะเห็นเลยว่าปัญหาสังคมเองก็มีหลายรูปแบบ เราเองต้องมีความละเอียด ระวัง จะสอนหรือว่าจะเป็นคนรับ ต้องมีการไตร่ตรองว่าสิ่งที่นำเสนอไปมีทางอื่น หรือว่าสิ่งที่ถูกต้องกว่าหรือเปล่า

สำหรับความคิดในเรื่องของความยั่งยืนก็เช่นกัน ความยั่งยืนเข้าไปแตะในหลากหลายมิติ เพราะการประเมินความสำเร็จของนโยบายอันใดอันหนึ่งก็สามารถประเมินได้หลายรูปแบบ ไม่ใช่แค่คำว่าประสบความสำเร็จ แต่ต้องดูว่าสำเร็จในด้านไหน ทางด้านผลกระทบ การใช้งบ หรือการแก้ปัญหา คือ Sustainability ก็มีรูปแบบของมัน Sustainability ในกรอบไหน ระยะเวลาไหน ในการสร้าง ส่งผลกระทบขนาดไหน เป็นศาสตร์ที่มีความหลากหลายมาก จึงจำเป็นต้องเปิดการเรียนการสอนทางด้านนี้

ในส่วนนักศึกษาของที่นี่ก็มีหลากหลาย อย่างผู้จัดการภาคเอกชนขนาดใหญ่ที่มาเรียน ก็จะมองว่าในเชิงนโยบายของธุรกิจ เราจะทำอย่างไรให้มันยั่งยืน ถ้าแตะเรื่อง SDG จะแตะทางไหน หรือผู้ก่อตั้ง NGO ที่พยายามช่วยเหลือผู้ไม่มีทุนในการเรียนหนังสือ นักศึกษาที่มาเรียนมักสนใจเรื่องประเด็นปัญหาของสังคม ความเคลื่อนไหวของสังคม ที่เขาตั้งคำถามว่าทำไมออกมารูปแบบนี้ หรือถ้าจะช่วยคนมันมีรูปแบบอื่นที่จะช่วยคน หรือแก้ปัญหาเป็นรูปแบบอื่นได้อีกไหม

อนาคตของโลกคดีฯ กับการยืดหยุ่นเพื่อให้ทุกคนเข้าถึงองค์ความรู้ได้อย่างแท้จริง

ทุกองค์กรต้องมีการปรับตัว ในส่วนของมหาวิทยาลัยก็ไม่ต่างกัน แล้วคณะที่ศึกษาเรื่องนี้โดยตรงมีแนวคิดในแง่ของการปรับตัวอย่างยั่งยืนอย่างไรบ้าง

สิ่งสำคัญที่หลายคนระบุตรงกันก็คือ ‘อย่ารอให้มันเกิดวิกฤตขึ้นมาก่อน เราต้องเปลี่ยนแปลงตัวเองก่อน’ สิ่งที่เราเห็นในภาพของการศึกษาทั่วไป ในระดับแรกเลยคืออาจทำอย่างเดิมไม่ได้แล้ว ทุกอย่างตอนนี้เป็นออนไลน์ อาทิ อาจารย์สร้างคอร์สความยั่งยืน แต่ธรรมศาสตร์มี ฮาวาดส์ ออกซ์ฟอร์ดมี มหาวิทยาลัยชั้นนำของโลกก็มี แล้วคนที่มีเงินทุน เขาจะเลือกไปอันไหน มันก็ต้องไปอันที่ดีที่สุดอยู่แล้ว

ทางมหาวิทยาลัยเองต้องสร้างจุดเด่นขึ้นมา เพราะถ้าเราจะให้อะไรบางอย่างแก่นักศึกษา เราต้องให้อะไรที่มันแตกต่างและพิเศษ สมมุติว่าเราเรียนเรื่องความยั่งยืน เราอาจเจาะลึกเรื่องประเทศไทย หรือเจาะลึกเรื่องภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ที่สถาบันอื่นอาจไม่ทำ มันจะช่วยสร้างคุณค่าให้กับคณะ เพราะตอนนี้โจทย์ที่เจอคือเราจะเพิ่มคุณค่าให้คณะได้ตรงไหนบ้าง

  1. เป็นอะไรที่มีเอกลักษณ์ที่คนอื่นมอบให้ไม่ได้
  2. ต้องมีความยืดหยุ่นสูง

เพราะฉะนั้นการเรียนการสอนจะไม่ใช่รูปแบบเดิม อาจจะเป็นคอร์ส เป็นหลักสูตร เป็นการทำร่วมกับคณะอื่น หรือทำกับต่างประเทศ เรื่องแบบนี้ต้องปรับตัวไปเรื่อยๆ

สถาบันการศึกษาอาจไม่ได้ให้ปริญญาอย่างเดียว ต้องมองไปที่ Experiential learning เป็นการเอาความรู้ความเข้าใจในบริบทจริงๆ มาแปรเป็นความรู้ มหาวิทยาลัยต้องขยับให้ทันในจุดนี้ และการที่จะแปรรูป ทางมหาวิทยาอาจปรับเปลี่ยนให้มีมินิคอร์ส มินิดีกรี หรือสิ่งที่มันสามารถให้คนเข้าถึงได้เร็วและง่าย มีความยืดหยุ่นในการเข้าถึงองค์ความรู้

จากการร่วมพูดคุยกับอาจารย์ประภาภรณ์ เราจะเห็นเลยว่า หลักสูตรดังกล่าวเป็นเหมือนหลักสูตรที่ถูกพัฒนาขึ้นมาเพื่อให้ตอบรับการเปลี่ยนแปลงของโลก เพราะไม่ใช่แค่การสร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่อเข้าไปแก้ปัญหาสังคมที่มันเกิดขึ้น แต่การแก้ปัญหาดังกล่าวต้องเป็นอะไรที่ยั่งยืน สามารถอยู่รอดต่อไปได้แม้จะมีอะไรจะเปลี่ยนแปลง ผ่านการคิดวิเคราะห์อย่างเข้มข้น

“คนที่จะมาเรียนรู้ตรงนี้ต้องมีความสนใจในปัญหาสังคม เพื่อเสริมมิติในการทำงานว่า จะอยู่รอดอยู่อย่างไร ที่สามารถสร้างคุณภาพกับคน ตัวผู้ใช้ และสิ่งแวดล้อม มันไม่ได้เป็นเรื่องใหม่แต่เป็นเรื่องที่จัดระบบความคิดของคนทำงาน” เป็นอีกหนึ่งประโยคสำคัญของอาจารย์ที่ทำให้เห็นภาพองค์ความรู้ที่จะได้รับจากหลักสูตรนี้ได้ดียิ่งขึ้น

สุดท้ายนี้ ในอนาคตข้างหน้าโลกของเราจะเปลี่ยนไปอีกมาก เทคโนโลยีจะเติบโต วิถีแห่งชีวิตจะเปลี่ยนไป ซึ่งโควิด-19 ก็นับว่าเป็นตัวอย่างที่ดีในประเด็นนี้ และในอนาคตก็คงไม่แปลกอะไรที่ปัญหาหรือวิกฤตใหม่ๆ จะถาโถมเข้ามามากขึ้น สิ่งสำคัญคือเราจะมีแนวคิดอย่างไรกับสถานการณ์ไม่แน่นอน เราจะจัดการมันอย่างไร เราจะมองเห็นภาพรวมเป็นแบบไหน แนวคิดในเรื่องนี้ไม่ได้มีประโยชน์แค่ภาคธุรกิจ หรือเชิงโครงสร้าง แต่เป็นแนวคิดที่สามารถนำมาประยุกต์ในส่วนของรายบุคคลได้ด้วย

หากใครสนใจสามารถติดตามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ : **หลักสูตรปริญญาโท สาขานวัตกรรมทางสังคมและการพัฒนาอย่างยั่งยืน (นานาชาติ) วิทยาลัยโลกคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์: https://sgs.tu.ac.th/ma-sgs/

**หลักสูตรปริญญาเอก สาขานวัตกรรมทางสังคมและการพัฒนาอย่างยั่งยืน (นานาชาติ)  วิทยาลัยโลกคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์: https://sgs.tu.ac.th/phd/