2 Min

เลิกหมกมุ่นกับความสุข เพราะจะยิ่งทุกข์ อยู่กับอารมณ์อย่าง ‘เข้าใจ’ เป็นคำตอบที่ใช่กว่า

2 Min
882 Views
28 Jan 2021

ก่อนอื่น เราอาจจะต้องเข้าใจว่า ‘ความสุข’ ไม่ใช่สิ่งที่ยั่งยืน ถึงแม้คุณจะมีความสุขในวันนี้ แต่มันไม่ได้แปลว่าความสุขเหล่านั้นจะอยู่กับคุณตลอดไป

นักจิตวิทยา Itai Ivtzan เคยกล่าวไว้ว่า ความสุขเป็นเพียงอารมณ์หนึ่งที่สามารถแปรปรวนได้ มันไม่แปลกอะไรที่คุณจะไม่มีความสุขในบางช่วงเวลา

มิหนำซ้ำ การที่เราหมกมุ่นกับความสุขมากไป อาจจะไม่ใช่เรื่องที่ดีสักเท่าไหร่

หมกมุ่นกับความสุขเท่าไร จะยิ่งทุกข์เท่านั้น

Sonja Lyubomirsky ศาสตราจารย์ นักเขียน และรองอธิบดีคณะจิตวิทยาแห่งมหาวิทยาลัย California Riverside ระบุว่า คนที่มองหาหรือให้ความสำคัญกับความสุขมากเกินไปอาจจะมีความสุขน้อยกว่าคนทั่วไปด้วยซ้ำ

คนที่หมกมุ่นอยู่กับความสุข มักจะใช้เวลามากเกินไปในการสำรวจอารมณ์ตัวเอง จะคอยเฝ้าถามตัวเองว่า “ฉันมีความสุขหรือยัง?” ซึ่งมักจะรู้สึกล้มเหลว พอเจอกับความผิดหวังหรือความทุกข์ในชีวิตประจำ

ความเป็นจริง เป้าหมายอาจจะไม่ได้เป็นเรื่องของการมีความสุขในทุกขณะของชีวิต เพราะมันเป็นเรื่องปกติที่คนเราจะไม่ได้รู้สึกสุข หากคนรักตายจากไป หรือการที่พวกเราต้องเผชิญกับวิกฤตโควิด-19 ก็เป็นเรื่องธรรมดาที่พวกเราจะไม่มีความสุข ซึ่งไม่ได้ผิดแปลกหรือแย่อะไรเลย

นักจิตวิทยาหลายท่านจึงเลือกมองหาคำว่า ‘สุขภาวะที่ดี’ แทนที่จะเป็นเรื่องการมีความสุข เราไม่สามารถมีความสุขในขณะที่คู่รักเราตายจากไปได้ แต่เมื่อความทุกข์ ความเศร้า เป็นเพียงส่วนหนึ่งของชีวิต เราสามารถอยู่กับอารมณ์เหล่านั้นในสุขภาวะที่ดีได้ ซึ่ง ‘สุขภาวะที่ดี’ ดูจะเป็นเป้าหมายที่จับต้องได้มากกว่า การจะมาบังคับตัวให้มีความสุขในทุกเวลา

Smile

Smile | pixabay.com

‘สุขภาวะที่ดี’ เป็นเหมือนทักษะ และเป็นสิ่งที่ฝึกได้

ประเด็น ถัดมาก็คือเรื่องของ เงิน หลายคนมองว่าเงินจะช่วยให้เรามีความสุข ส่วนคนไหนที่มีเงินน้อย ความทุกข์อาจจะมาเยี่ยมเยือนเป็นธรรมดา

ก็ต้องขออธิบายว่า ความมั่นคงทางการเงินมีผลกระทบต่อสุขภาพจิตอย่างแน่นอน และความยากจนอาจเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้วงจรเลวร้ายในสังคมเกิดขึ้นซ้ำไปซ้ำมา และส่งต่ออารมณ์ ต่อสุขภาพจิต และส่งผลต่อความบอบช้ำทางจิตใจ

แต่อย่างไรก็ตาม มันไม่ได้แปลว่า มีเงินเยอะจะเท่ากับสุขเยอะเสมอไป อย่างการศึกษาในปี 2018 ระบุว่าคนในอเมริกาเหนือพอใจกับชีวิตของพวกเขาอย่างมากเมื่อพวกเขามีรายได้ราว 105,000 เหรียญต่อปี แต่ในขณะที่เงินสูงกว่านั้น ความสุขกลับลดลง (ตัวเลขนี้เป็นตัวเลขที่ค่อนข้างสูง สูงกว่ารายได้เฉลี่ยของคนสหรัฐทั่วไป)

อีกหนึ่งวิจัยก็ระบุว่า การมีเงินเยอะ ช่วยให้เรามีความสุขมากขึ้นจริง แต่มันก็จะไปตันที่ประมาณ 75,000 เหรียญสหรัฐต่อปีเท่านั้น พอถึงตรงนี้ เราไม่ให้ไปดูที่ตัวเลขจำนวนเงิน เพราะระบบสวัสดิการ ค่าครองชีพ ค่าแรง และบริบทของแต่ละประเทศแตกต่างกันมาก แต่เราอยากเน้นย้ำว่า เงินเยอะขึ้น อาจไม่ได้แปลว่าสุขมากขึ้นเสมอไป

ทำอย่างไร ถึงจะมีสุขภาวะที่ดีได้

สิ่งสำคัญก็คือ ‘การตระหนักรู้’ รู้ว่าอารมณ์เราเป็นอย่างไร อาจจะไม่ต้องขั้นนั่งสมาธิ แต่อาจจะเป็นการใช้ชีวิตทั่วไป และเรารู้ตัวว่าเราสุข เราทุกข์ เราโกรธ เราโมโห เพราะถ้าเรารู้สึกและมีสติในทุกสภาวะ เราก็จะอยู่กับมันได้อย่างเข้าใจ และจัดการมันได้อย่างเหมาะสมนั่นเอง

อีกสิ่งสำคัญก็คือ การดำรงอยู่อย่างมีความหมาย เป้าหมายของชีวิตเป็นสิ่งที่ควรมี อาจจะไม่ใช่อะไรที่ยิ่งใหญ่ อาจจะไม่ใช่อะไรที่เปลี่ยนโลก อาจจะเป็นการดำรงอยู่เพื่อหาของกินอร่อย อยู่เพื่อเลี้ยงลูก อยู่เพื่อคุยกับหลาน หรืออยู่เพื่อที่จะนอนต่อ สิ่งเหล่านั้นอาจจะเกิดขึ้นจากเข้าใจแก่นแกนของตัวเรา มันอาจจะยาก มันอาจจะเปลี่ยนไปในแต่ละวัน แต่ถ้าคุณมีมัน คุณก็จะดำรงอยู่ได้ด้วยสุขภาวะใจที่ดีขึ้นอีกเยอะ

แล้วคุณล่ะ ตื่นมาทุกวันเพื่ออะไร มีคำตอบของคำถามนี้แล้วหรือยัง?

อ้างอิง:

  • HuffPost. Trying To Be Happier Won’t Work. Here’s What Will, According To Science. https://bit.ly/35ZGdK6