รักแท้แพ้ระยะทาง แม้แต่ ‘นกอัลบาทรอส’ ยังทิ้งคู่ เมื่อตัวผู้ต้องออกไปหาอาหารไกลบ้าน

2 Min
504 Views
06 Jan 2022

บนโลกใบนี้มีสิ่งมีชีวิตหลายชนิดที่ขึ้นชื่อว่ามีรักเดียวไม่ต่างจากมนุษย์ หรืออาจมีมากกว่ามนุษย์ก็ได้ พวกมันจะสืบพันธุ์แค่กับคู่ครองที่เลือกแล้ว ไม่ผันเปลี่ยนปันใจให้ตัวอื่นไม่ว่าเวลาจะผ่านไปนานแค่ไหน

ตัวอย่างเช่นนกเงือก นกอินทรีหัวขาว นกทั้งสองชนิดจะบินกลับไปหาคู่ตัวเดิมเสมอในฤดูผสมพันธุ์ ตัวผู้จะช่วยตัวเมียฟักไข่ และหาอาหารมาป้อน ทะนุถนอมครอบครัวไปจนกว่าวันที่ลูกๆ จะพร้อมออกบิน

ม้าน้ำ หรือหมาป่าสีเทา นากทะเล หรือหงษ์ก็เช่นกัน หรือสัตว์ในกลุ่มนกทะเลก็ขึ้นชื่อในเรื่องนี้ ตัวอย่างเช่นนกอัลบาทรอสที่จะเป็นคู่พระคู่นางของเรื่องราวในบทนี้ ก็เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างของสิ่งมีชีวิตที่ซื่อสัตย์กับคู่รักอย่างเสมอต้นเสมอปลาย

เราทราบได้จากการเฝ้าติดตามและศึกษาชีวิตของพวกมันในอดีต ซึ่งบอกชัดว่าอัตราการเลิกรากันของนกอัลบาทรอสนั้นมีเพียง 1 เปอร์เซ็นต์ แต่จากการติดตามวันครองรักกันระหว่างเกลอแก้วในช่วง 15 ปีที่ผ่านมา กลับพบอัตราการแยกทางกันสูงขึ้นถึง 8 เปอร์เซ็นต์

เพราะอะไรถึงเป็นเช่นนั้น?

นักวิทยาศาสตร์พยายามหาสาเหตุ จนไปพบจุดเชื่อมโยงที่สำคัญอย่างหนึ่ง ซึ่งพบว่านกอัลบาทรอสจะเปลี่ยนคู่ครองกันมากในปีที่น้ำทะเลมีอุณหภูมิอุ่นขึ้นมากกว่าปกติ ข้อมูลนี้ได้มาจากการศึกษาพฤติกรรมคู่รักของนกกว่า 15,000 คู่บนหมู่เกาะฟอล์คแลนด์ ในทวีปแอนตาร์กติกา

ตามปกติ เหตุผลเดียวที่นกอัลบาทรอส หรือนกชนิดอื่นๆ ต้องแยกทางร้างรากับคู่รักจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อสองล้มเหลวในการผสมพันธุ์ จึงเป็นเหตุให้พวกมันต้องออกหาหาคู่ใหม่เพื่อผสมพันธุ์ กันใหม่ตามวิถีของสัตว์

แต่เรื่องราวในปัจจุบัน มีความแตกต่างออกไป เพราะปัญหามันไม่ได้เกิดขึ้นเพราะผสมพันธุ์กันไม่สำเร็จ แต่กลับเกิดขึ้นจากเวลาของนกสองตัวที่ไม่สัมพันธ์กันอีกต่อไป

โดยทฤษฎีหนึ่ง นักวิจัยอธิบายเอาไว้ว่า ในปีที่น้ำทะเลอุ่น พวกปลาที่เป็นอาหารของอัลบาทรอสจะอพยพย้ายถิ่นที่อยู่ในที่ที่มีอุณหภูมิเหมาะสม ทำให้พวกนกต้องบินออกไปหาอาหารไกลขึ้นและนานขึ้น จึงทำให้กลับมาไม่ทันฤดูผสมพันธุ์ คู่ที่รออยู่จึงรอไม่ไหว ต้องหนีไปทำหน้าที่ของระบบนิเวศสิ่งมีชีวิตกับตัวอื่นแทน

แต่ก็มีอีกทฤษฎี ที่ขยายความต่อจากทฤษฎีแรกว่า เมื่อน้ำอุ่นขึ้น การหาอาหารยากขึ้น ฮอร์โมนความเครียดของอัลบาทรอสก็เพิ่มตาม ทำให้การผสมพันธุ์พบกับความล้มเหลวมากกว่าสำเร็จ ทำให้ชีวิตคู่ต้องจบลงแต่เพียงเท่านี้

อย่างไรก็ตาม การศึกษานี้ซึ่งเกิดขึ้นในหมู่เกาะฟอล์คแลนด์ ที่ยังมีนกอัลบาทรอสอาศัยอยู่มาก ปัญหาที่เกิดขึ้นจึงไม่ใช่เรื่องชวนกังวลมากนัก แต่ถ้าหากมันไปเกิดขึ้นกับมีนกเหลืออยู่น้อย ก็อาจเป็นเรื่องที่เสี่ยงต่อการขยายพันธุ์ ที่อาจนำไปสู่การสูญพันธุ์จากถิ่นที่อยู่อาศัยก็เป็นได้

ปัญหาเรื่องอุณหภูมิน้ำทะเลที่สูงขึ้นนั้น เป็นสิ่งที่แน่ชัดว่าเกิดขึ้นเพราะวิกฤตโลกร้อนเป็นตัวการ ซึ่งก็คงไม่ต้องบอกกันแล้วว่า ใครเป็นผู้ก่อให้เกิดผลกระทบนี้

สำหรับนกอัลบาทรอส ซึ่งไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการสร้างก๊าซเรือนกระจก แต่ต้องรับผลกระทบไปด้วย ดูจะเป็นอะไรที่ไม่ยุติธรรมกับพวกมันเลยจริงๆ

อ้างอิง