โซเชียลมีเดียเผยเอกสารรายงานตัวนักศึกษาวิชาทหาร ผู้ปกครองต้องเซ็นต์ยินยอม “ไม่เรียกร้องค่าเสียหายใดๆ กับเจ้าหน้าที่และกองทัพบก” ไม่ว่ากรณีใดๆ ที่เกิดระหว่างการฝึก ในขณะที่ทางกองทัพระบุว่า ถ้าเสียหายทางแพ่งหรืออาญาก็ยังคงฟ้องร้องได้ตามกฎหมาย
เป็นนักศึกษาวิชาทหาร ต้องอดทน โดนอะไรก็ต้อง “ไม่เรียกร้อง”
เกิดเป็นประเด็นขึ้นมาหลังจากเปิดภาคเรียนปี 2563 มาได้ไม่นาน สิ่งหนึ่งที่นักเรียนชายมัธยมปลายต้องเลือก คือจะเข้าร่วมเป็น ‘นักศึกษาวิชาทหาร’ หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า “เรียน รด.” หรือไม่
โดยการเข้าเป็นนักศึกษาวิชาทหาร จะมีเอกสารรายงานตัวอยู่หลายฉบับ หนึ่งในนั้นคือเอกสารยินยอมของผู้ปกครอง
ในเอกสารดังกล่าว รายละเอียดข้อที่ 3 ระบุว่า
“หากมีความเสียหายใดๆ เกิดขึ้นในระหว่างการฝึกวิชาทหาร ผู้ปกครองไม่ติดใจจะเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนจากเจ้าหน้าที่ และกองทัพบก”
หลังจากนักเรียนคนหนึ่งเผยแพร่เอกสารดังกล่าว ก็มีการวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง หลายคนมองว่าการเซ็นต์ยินยอมนั้นไม่สมเหตุสมผล ในขณะที่บางฝ่ายมองว่าไม่ได้เสียหายอะไรเพราะการฝึกรด. “ไม่ได้โหดขนาดนั้น”
ต่อมา พ.อ.วินธัย สุวารี โฆษกกองทัพบก ออกมาชี้แจงว่า แบบฟอร์มการรายงานตัวมีรายละเอียดตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมการฝึกวิชาทหาร พ.ศ.2503 ที่ระบุข้อคุณสมบัติผู้เรียนไว้ว่า บุคคลผู้ประสงค์จะเข้าศึกษาจะต้องมีอายุ 15 ปีขึ้นไป และสำเร็จการศึกษาในระดับมัธยมศึกษาตอนต้น (ม.3 หรือเทียบเท่าขึ้นไป) และที่สำคัญคือ ผู้สมัครต้องมีร่างกายแข็งแรง ไม่มีโรค มีสภาพร่างกาย หรือจิตใจ ที่ไม่ขัดต่อการรับราชการทหาร
ส่วนการเซ็นต์ว่าผู้ปกครองไม่ติดใจจะเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนจากเจ้าหน้าที่นั้นไม่เกี่ยวกับกรณีที่ผิดตามกฎหมายทั้งทางแพ่ง และอาญา ซึ่งการฝึกที่ผ่านมาตั้งแต่อดีตจนปัจจุบันกว่า 50 ปี ไม่เคยรับข้อมูลความเสียหายใดๆ ทางผู้บังคับบัญชาและครูฝึกก็ให้ความสำคัญเรื่องความปลอดภัยกับนักเรียนเสมอ
สรุปแล้วการเซ็นไม่ติดใจเรียกร้องค่าเสียหายนั้น เป็นเรื่องที่มีมาตลอดช่วงการเรียนรด. แต่ก็เกิดคำถามขึ้นอีกว่า ถ้าหากไม่เคยมีการเรียกร้องความเสียหายใดๆ ตลอด 50 ปี การเซ็นยินยอมไม่เรียกร้องนั้น มีไว้เพื่ออะไร?
ปัจจุบันการเป็นทหารอาจไม่ได้เป็นอาชีพที่ ‘ป๊อปปูล่า’ สำหรับเด็กรุ่นใหม่ ช่วงชีวิตมัธยมปลายหลายคนเรียนรด.เพื่อที่จะไม่ต้องเข้าร่วมการจับใบดำใบแดงเป็นทหารเกณฑ์ (แม้ว่าการเป็นนักศึกษาวิชาทหารก็เป็นการยอมรับสถานะ “ทหาร” อยู่กลายๆ) แต่การเรียนรด.ก็ไม่ได้ทำให้หนีจากวัฒนธรรมทหารชั้นผู้น้อยที่ต้อง “รับได้” และ “ไม่เรียกร้อง” ได้มากมายนัก
ทั้งนี้ปัจจุบันมีการเสนอร่าง พ.ร.บ.เกณฑ์ทหาร เพื่อแก้ไขเรื่องการรับทหารกองเกินแบบจับใบดำใบแดง เป็นรูปแบบสมัครใจแทนยกเว้นในภาวะสงคราม ถ้าหากการแก้ไข พ.ร.บ.ผ่านมติและมีการบังคับใช้จริงในอนาคต จำนวนผู้เข้าสมัครนักศึกษาวิชาทหารก็อาจลดลงตามไปด้วย และอาจต้องมีการปรับรูปแบบการเรียนเพื่อให้สอดคล้องในอนาคต
แล้วคุณล่ะ เคยผ่านการเป็นนักศึกษาวิชาทหารแบบไหนมาบ้าง แล้วคิดเห็นยังไงกับการเซ็นยินยอมไม่เอาเรื่องในเอกสารรายงานตัวนี้?
อ้างอิง:
- สถาบันศึกษาวิชาทหาร. ใบสมัครเข้ารับการฝึกวิชาทหาร. https://bit.ly/32eCF5k
- กรุงเทพธุรกิจ. ทบ.แจงฝึกนักศึกษาวิชาทหาร ยังเปิดช่องฟ้องแพ่ง-อาญา. https://bit.ly/2WiaEpK