3 Min

Toxic Productivity เมื่อความขยัน หรือความพยายามมากไป ยิ่งทำให้ชีวิตเราพัง

3 Min
2765 Views
02 May 2021

“ฉันไม่อยากเป็นคนเก่ง ฉันอยากเป็นคนโชคดี ฉันเหนื่อย”

ใครกำลังทุกข์ทรมานกับการปลดล็อกสกินทอง ‘มนุษย์โพรดักทีฟ’ อยู่บ้าง
มาลองเช็กอาการกันหน่อย คุณเป็นแบบนี้หรือเปล่า?​

✔ ‘ว่างแล้วรู้สึกผิด เอางานมาอีก!’ : เลิกงานไม่เป็น ทำงานตลอดเวลา ไม่เว้นหลังเลิกงานหรือวันหยุด
✔ ‘แป๊บนะแก ฉันขอเคลียร์งานก่อน’ : เทเพื่อน/เลื่อนนัดกินข้าวตอนเย็น เพราะข้อสุดท้ายใน To-do-list วันนี้ยังไม่ได้ถูกขีดฆ่า
✔ ‘เดี๋ยวผมทำเองครับพี่’ : ได้ครับ/ได้ค่า รับบท volunteer โปรเจ็กต์นั้นฉันขอรับไว้เอง แม้ว่างานในมือที่ถืออยู่จะแน่นไม่ไหวแล้ววว

ถ้าคุณแอบติ๊กถูก ✔ ในใจข้อใดข้อหนึ่งที่ว่ามาอาจเป็นไปได้ว่าคุณตกอยู่ในภาวะ Toxic productivity

เอ๊ะๆ ว่าแต่ทำไมการโพรดักทีฟที่ใครต่อใครต่างก็ยกย่องให้เป็นเครื่องมือสู่ความสำเร็จ ถึงกลายเป็นเรื่อง toxic ไปได้ล่ะ?

แน่นอนว่าอะไรที่มากเกินไปก็คงไม่ดี productivity ก็เช่นเดียวกัน
ความโพรดักทีฟอาจทำให้เรากระตือรือร้นอยากที่จะทำงานหรือบรรลุเป้าหมายตลอดเวลา แต่เมื่อมันเลยขีดจำกัดขึ้นมาก็อาจนำไปสู่ด้านลบได้

✔เช็กให้ชัวร์แบบไหนที่เรียกว่า Toxic productivity

1. เมื่องานกระทบกับสุขภาพ ความสัมพันธ์ หรือชีวิตความเป็นอยู่ของตัวเองจนเสียสมดุล
2. คาดหวังกับตัวเองสูงเกินไป คาดหวังกับเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ พอไม่เป็นไปอย่างที่ตั้งใจก็รู้สึกผิดหวังมากๆ
3. รู้สึกผิดกับการหยุดพักอยู่เฉยๆ หรือการอยู่ว่างๆ ในวันหยุด บางคนอาจจะมีปัญหานอนไม่หลับด้วย

ถอนอาการ Toxic productivity ต้องทำยังไง?

1. รู้ตัวก่อน
สังเกตตัวเองว่า เราคอยตัดสินตัวเองกับสิ่งที่ยังทำไม่ได้ทำ มากกว่าโฟกัสไปกับงานที่ทำเสร็จลุล่วงไปแล้วหรือไม่
ช่วงนี้เรารู้สึกผิดกับเรื่องงานบ่อยเกินไปหรือเปล่า เช่น คิดว่าตัวเองควรทำได้มากกว่านี้สิ หรือรู้สึกแย่ที่ปล่อยเวลาผ่านไปเฉยๆ โดยไม่ได้งาน

นอกเหนือจากการจับสังเกตความคิดที่แว้บเข้ามาในหัวแล้ว เรายังสามารถสำรวจร่างกายของตัวเองได้ด้วยนะ ลองเช็กง่ายๆ ว่า ร่างกายรู้สึกเหนื่อยหรืออ่อนล้าเกินไปไหม เราตื่นตอนเช้ามาด้วยความรู้สึกแบบไหน? กด snooze หรือลุกอย่างง่ายดายกันแน่?

2. หยุดถามตัวเองว่า ‘ทำอะไรต่อดี?’
ตอบอีเมลเสร็จแล้ว งานใหม่ก็เพิ่งส่งหัวหน้าไป ส่วนงานเก่าที่คั่งค้างก็เคลียร์จนหมดพอดี ว่างแบบนี้จะทำอะไรต่อดีนะ?​ ในกรณีที่ทำทุกอย่างเสร็จหมดแล้วจริงๆ ลองคุยกับตัวเองดูบ้าง ว่าเราพักผ่อนอย่างเต็มที่หรือยัง มีอะไรที่เราสามารถทำเพื่อผ่อนคลาย และทำมันได้โดยไม่เครียดบ้างในตอนนี้

3. บางทีเจ้านายอาจไม่ได้ให้ค่ากับการทำงานหนักของเราขนาดนั้น
ต้องยอมรับว่าในความเป็นจริงอาจจะมีหัวหน้าหรือเจ้านายเพียงไม่กี่คนที่แคร์กับการลงทุนลงแรง ของเรา หรือสนใจว่าเราทำงานหนักกี่ชั่วโมง เพราะสุดท้ายแล้วพวกเขามักจะโฟกัสไปที่ผลลัพธ์มากกว่า ซึ่งก็คือผลงานที่ดีนั่นเอง

4. เพิ่มการดูแลตัวเองใน To-do-list
เชื่อว่าทุกคนรู้ว่า ‘Self-care’ เป็นเรื่องสำคัญ แต่เมื่อเจองานหนักงานเร่งทุกวี่วัน เราก็พลอยหละหลวมไปด้วย ดังนั้น ลองใช้ To-do-list ของตัวเองให้เป็นประโยชน์ด้วยการเพิ่มเติมหัวข้อการดูแลตัวเองเข้าไปทุกๆ วัน เช่น กินข้าวกลางวัน กินน้ำ 8-10 แก้ว ออกกำลังกาย หรือนอนให้พอ อย่าลืมว่าร่างกายมนุษย์ไม่ใช่เครื่องจักร

5. ใส่ฟิลเตอร์ ‘มืออาชีพ’
ท่องไว้ว่างานไม่ใช่ทุกสิ่ง และบางทีการผูกคุณค่าของตัวเองไว้กับงาน อาจทำให้จิตวิญญาณถูกกลืนกินจนนำไปสู่การ ‘Burn out’ ในที่สุด ถ้ายังไม่อยากไปถึงขั้นนั้น อาจจะลองฝึกเทคนิคการทำงานแบบมืออาชีพมากขึ้น ด้วยการไม่นำเรื่องงานมาเป็นเรื่องส่วนตัว และปฏิบัติกับเจ้านายหรือเพื่อนร่วมงาน เสมือนพวกเขาเป็นลูกค้า การใส่ฟิลเตอร์แบบนี้เข้าไปจะช่วยให้คุณมองเหตุการณ์อย่างเป็นกลาง ไม่ตอบสนองอย่างหุนหันพลันแล่นหรือควบคุมอารมณ์ไม่ได้

6. ปลดปล่อยตัวเองจาก ‘วัฒนธรรมเร่งรีบ’
ขอเท้าความสั้นๆ ว่า ‘Hustle culture’ หรือ ‘วัฒนธรรมเร่งรีบ’ คือวัฒนธรรมที่เติบโตมาพร้อมกับ American dreams ซึ่งเชื่อว่าทุกคนสามารถประสบความสำเร็จได้ หากทำงานหนักมากพอ ค่านิยมนี้ส่งเสริมให้คนอเมริกันจำนวนมากทำงานแบบหามรุ่งหามค่ำจนเสียสมดุลชีวิต จนนำไปสู่ Toxic productivity ทางออกของปัญหานี้ คือการปลดปล่อยตัวเองจากการเร่งรีบจนเกินจำเป็น แล้วหันมารซื่อสัตย์กับตัวเองให้มากขึ้น ลองตั้งคำถามว่าสิ่งสำคัญของเราจริงๆ คืออะไร ณ ตอนนี้ เรากำลังเลือกทำสิ่งที่สำคัญกับเรา สิ่งที่เราคิดว่าเราควรทำ หรือสิ่งที่สังคมพร่ำบอกว่ามันสำคัญกันแน่

สรุปง่ายๆ ความแตกต่างระหว่าง Productivity กับ Toxic productivity น่าจะมีเส้นกั้นบางๆ อยู่ที่เรารักษา ‘สมดุล’ ของงานกับชีวิตได้หรือเปล่า

แต่สิ่งสุดท้ายที่อยากจะบอกทุกคนก็คือ อย่าลืมว่าเราไม่จำเป็นต้องยึดโยงคุณค่าของตัวเองกับงานที่ทำเสมอไป ไม่ต้องเป็นพนักงานดีเด่น ไม่ต้องสอบได้ที่หนึ่ง ไม่ต้องได้รับการยอมรับจากทุกคนในแผนก เราก็ยังสามารถเป็นมนุษย์ที่ดีพอของใครสักคนได้เหมือนกัน

อ้างอิง: