
tortoise l Gianluigi Guercia/AFP
เป็นเรื่องที่ยากจะจินตนาการว่าเราจะมีความรู้สึกนึกคิดอย่างไร หากวันนี้เป็นวันที่เราใช้ชีวิตมาเป็นเวลานานถึง 190 ปี
มันคงเป็นช่วงเวลาที่เต็มไปด้วยประสบการณ์อันมากล้น ผ่านการสัมผัสพลวัตรแต่ละยุคสมัย ได้เห็นการเปลี่ยนแปลงมากมาย นับตั้งแต่วันที่ฟ้ากลางคืนยังเต็มไปด้วยหมู่ดาวพร่างพราว จนถึงวันที่รัตติกาลสว่างตลอด 24 ชั่วโมง ด้วยหลอดนีออนเหมือนแฟรนไชส์ร้านสะดวกซื้อหน้าปากซอย
น่าเสียดายว่า แม้โลกเราจะมีสิ่งมีชีวิตที่อยู่มาถึง 190 ปี แต่เราก็ไม่สามารถไต่ถามความเป็นไปของโลกผ่านประสบการณ์จากเขาได้
เพราะสิ่งมีชีวิตที่ว่าคือ เต่า
ใช่ เรื่องราวในคราวนี้เรากำลังพูดถึงเต่าที่มีชื่อว่า ‘โจนาธาน’ สิ่งมีชีวิตบนบกที่ผ่านการรับรองจาก กินเนส เวิลด์ เรคคอร์ด ให้เป็นสัตว์บกที่มีอายุยืนนานมากที่สุดของโลกใบนี้ (เท่าที่มนุษย์รู้จัก)
‘โจนาธาน’ เต่ายักษ์สายพันธุ์เซเชลส์ เป็นสิ่งมีชีวิตที่เดิมทีอาศัยอยู่บนเกาะเซเชลส์ กลางมหาสมุทรอินเดีย ตามประมาณการคาดว่า เต่าสายพันธุ์เซเชลส์นามโจนาธาน น่าจะฟักออกจากไข่มาลืมตาดูโลกเมื่อปี ค.ศ. 1832 ซึ่งเป็นข้อมูลที่ไม่สามารถยืนยันได้จริงว่าถูกต้องแค่ไหน
อายุของโจนาธานถูกคำนวนตามสภาพร่างกาย สัดส่วนทางสรีระวิทยาเมื่อตอนปี 1882 ที่คาดกันว่า เวลานั้นโจนาธานน่าจะเป็นเต่าตัวโตเต็มวัยและมีอายุขัยเฉลี่ยประมาณ 50 ปี ในวันที่มันถูกย้ายมาอยู่ที่เกาะเซนต์เฮเลนา เกาะทางตอนใต้ของมหาสมุทรแอตแลนติกที่อยู่ในเครือจักรภพของสหราชอาณาจักร ในฐานะของขวัญแก่ผู้ว่าการรัฐเวลานั้น ซึ่งทำการพิสูจน์และรับรองอายุดำเนินการโดยพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติอังกฤษ
นับจากนั้น โจนาธาน ก็ใช้ชีวิตอยู่บนเกาะอย่างสุขสบายท่ามกลางสนามหญ้ากว้างไกล และปลอดภัยจนมาถึงปัจจุบัน ต่างจากเพื่อนฝูงตัวอื่นๆ ที่ล้มหายตายจากไปตั้งแต่กลางศตวรรษที่ 19 เนื่องจากการรุกรานของคนเราไปทำลายแหล่งที่อยู่อาศัยบนเกาะเซเชลส์และอาหารการกินของเต่าจนหมดสิ้น จนกลายเป็นสิ่งมีชีวิตที่ถูกระบุว่าสูญพันธุ์จากโลกไปแล้ว
เหลือเพียงแค่โจนาธานกับพรรคพวกเพียงไม่กี่ตัวที่ได้รับการดูแลเป็นพิเศษ ประหนึ่งสิ่งมีชีวิตในสวนสัตว์
ตลอดช่วงชีวิตของโจนาธานจนมาถึงปัจจุบัน เต่าตัวนี้ใช้ชีวิตผ่านการเปลี่ยนแปลงผู้ว่าการรัฐบนเกาะเซนต์เฮเลนามาแล้วถึง 31 คน
หากนับว่าเป็นสารานุกรมทางประวัติศาสตร์ โจนาธานใช้ชีวิตผ่านการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญของมนุษยชาติหลายเรื่อง อาทิเช่น ภาพถ่ายพอเทรตภาพแรก (ค.ศ. 1838) การใช้โทรศัพท์ครั้งแรก (ค.ศ. 1876) หอไอเฟลสร้างเสร็จ (ค.ศ. 1887) นีล อาร์มสตรอง เหยียบดวงจันทร์ (ค.ศ. 1969) ตลอดจนผ่านการเปิดตัวไอโฟนรุ่นแรกโดย สตีฟ จอบส์ (ค.ศ. 2007)
ด้วยอายุ 190 ปี และความชราที่ไม่เคยปรานีสิ่งมีชีวิตชนิดใด วันนี้โจนาธานกลายเป็นเต่าพิการทางสายตา เพราะโรคต้อ จมูกสูญเสียการดมกลิ่น แต่ผู้ดูแลให้ความเห็นว่า โจนาธานยังเป็นเต่าที่แข็งแรง ยังสามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ โดยไม่ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ เพียงหากยังมีมนุษย์ช่วยหุงหาอาหารให้เป็นประจำทุกมื้อ (ตามการดูแลขอแพทย์จากองค์กรพิทักษ์สัตว์)
ในอีกความหมายหนึ่ง หากเราพิธีพิถันดูแล (หรืออนุรักษ์) สิ่งมีชีวิตร่วมโลกอื่นๆ พวกมันก็จะมีอายุยืนจนถึงวันสิ้นอายุขัยตามธรรมชาติ
แต่น่าเสียดายที่เรื่องแบบนี้ไม่ได้เกิดขึ้นกับสัตว์ทุกตัว
ทั้งนี้เคยมีการตั้งสมมติฐานด้วยว่า เต่าสายพันธุ์เซเชลส์อาจจะเป็นสัตว์บกที่มีอายุขัยยืนยาวที่สุดในโลก แต่ที่ผ่านมาการพิสูจน์เรื่องนี้ก็ยังไม่ประสบความสำเร็จสักเท่าไหร่นัก เนื่องจากผู้ติดตามหรือนักวิจัยมักลาจากโลกนี้ไปก่อนวันเต่าสิ้นลมหายใจ
ขณะเดียวกันข้อมูลยืนยันอายุของเต่า หรือวันเดือนปีเกิดก็ยังเป็นเรื่องที่เกิดจากการคำนวนขึ้นมาภายหลัง ทำให้เป็นเรื่องยากที่จะระบุรายละเอียดลงไปอย่างแน่ชัด
จนกว่ามนุษย์เราจะหาการพิสูจน์ผลต่างๆ ได้ดีกว่าที่เป็นอยู่ ด้วยหลักฐานที่มีในวันนี้ ไม่ว่าอย่างไรก็คงยังต้องยกให้ ‘โจนาธาน’ เป็นสิ่งมีชีวิตบนบกที่มีอายุเยอะที่สุดต่อไป
อ้างอิง
- Wikipedia. Jonathan (tortoise). https://bit.ly/3uiGR1W
- Guinnessworldrecords. Introducing Jonathan, the world’s oldest animal on land at 187 years old. https://bit.ly/3ofCjpe
- Nature World News. Tortoise Named Jonathan Hailed as World’s Oldest Living Land Animal. https://bit.ly/3rflU6d