3 Min

‘เปลี่ยนทอมให้เป็นเธอ’ และแนวคิดบำบัด ‘ซ่อม’ เพศวิถี ทำให้มีคนเดือดร้อนกว่าที่คิด

3 Min
603 Views
06 Oct 2022

ก่อนที่สื่อประเภทต่างๆ และคนในสังคมไทยจะค่อยๆ เปลี่ยนมาใช้คำว่าหลากหลายทางเพศแทนคำว่าเบี่ยงเบนทางเพศในการเรียกกลุ่ม LGBTQI+ เมื่อมีการพูดคุยในสาธารณะก็ดูเหมือนว่าจะต้องใช้เวลายาวนานหลายทศวรรษ

ขณะเดียวกัน ยังมีอีกหลายประเทศที่เพิ่งประกาศเมื่อไม่กี่ปีมานี้เองว่าหญิงหรือชายข้ามเพศไม่ถือเป็นโรคทางจิตเวช (mental disorder) และได้รับการยืนยันจากองค์การอนามัยโลก (WHO) ที่แจ้งเรื่องนี้ไปยังประเทศสมาชิกทั่วโลกเมื่อปี 2018 แต่กว่าที่คนส่วนใหญ่จะตระหนักว่าทุกคนมีสิทธิยืนยันเพศวิถีของตัวเองโดยไม่ได้จำกัดอยู่แค่เพศหญิงหรือชาย กลุ่มคนหลากหลายทางเพศในหลายๆ ประเทศก็ต้องเจอกับแรงกดดันหลายด้าน

LGBTQI+ หลายคนถูกครอบครัวจับแต่งงานหรือไม่ก็ส่งไปรับการบำบัดเรื่องเพศวิถี เพราะยึดมั่นกับวิธีคิดแบบเก่าที่มองว่านี่คืออาการที่แก้ไขได้ บวกกับมีงานวิจัยที่เผยแพร่เมื่อราวทศวรรษที่แล้วระบุว่าการเป็นชายรักชายหรือหญิงรักหญิงนั้นบำบัดหายได้’ (ซึ่งภายหลังงานดังกล่าวก็ถูกโจมตีจากนักวิจัยและนักสิทธิมนุษยชนจำนวนมากว่าเป็นงานวิจัยที่เก็บข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่างจำนวนน้อยมาก ทั้งยังเป็นการทดลองที่ร่วมมือกับองค์กรทางศาสนาที่มีแนวคิดเหยียดกลุ่ม LGBTQI+ จนมีคนตั้งข้อสงสัยเรื่องความน่าเชื่อถือและเป็นกลางของผลวิจัย)

นอกจากนี้ การบำบัดเรื่องเพศวิถี หรือ “conversion therapy” ก็ถูกดำเนินการในนามกิจกรรมต่างๆ กันไป เช่น ที่จีนมีการจัดแคมป์บำบัดเพื่อให้คนที่เป็นชายรักชายกลับมาเป็นชายรักหญิง ซึ่งตามค่านิยมของสังคมจีนมองว่านี่คือชายแท้

วิธีบำบัดยอดฮิตของแคมป์เหล่านี้ก็คือการบังคับให้ผู้ที่ถูกแปะฉลากว่าเบี่ยงเบนทางเพศต้องฝึกความอดทนของร่างกายและจิตใจแบบแมนๆไม่ต่างจากการฝึกทหาร และหลายครั้งก็ใช้วิธีด่าทอหรือกดดันให้เปลี่ยนใจ ทำให้คนที่เป็น LGBTQI+ กลายเป็นคนป่วยทางใจด้วยโรคซึมเศร้าไปจนถึงโรคเครียดหลังเจอเหตุการณ์ร้ายแรง (PTSD) จนสำนักงานสิทธิมนุษยชน UN Human Rights ต้องประกาศรณรงค์ให้ประเทศสมาชิกทั่วโลกออกกฎหมายห้ามการบำบัดเพศวิถี

ที่จริงแล้วจีนยกเลิกกฎหมายลงโทษเกย์ไปตั้งแต่ปี 2001 แต่สำนักข่าว Reuters รายงานเมื่อปี 2021 ว่าจนถึงทุกวันนี้สังคมจีนก็ยังยึดมั่นในความเชื่อว่าลูกชายต้องเป็นผู้สืบทอดสายสกุลการที่ครอบครัวไหนมีลูกชายเป็นเกย์หรือเป็นหญิงข้ามเพศจึงถือว่าเป็นเรื่องร้ายแรงอกตัญญูต่อวงศ์ตระกูลทำให้คนกลุ่มนี้ถูกบังคับให้เข้ารับการบำบัดและส่วนใหญ่ก็ถูกกักขังหน่วงเหนี่ยวรวมถึงถูกละเมิดสิทธิด้วยวิธีต่างๆ

กรณีของประเทศไทย แม้จะไม่มีค่ายหรือคลินิกบำบัดทางเพศอย่างเป็นรูปธรรม แต่ค่านิยมของคนส่วนใหญ่ในสังคมก็ยังมองว่าการเป็น LGBTQI+ นั้นแก้ได้เหมือนอย่างการเล่นมุก (ไม่ตลก) อย่างเปลี่ยนทอมให้เป็นเธอที่มองว่าหญิงรักหญิงหายได้ถ้าได้ลองมีอะไรกับผู้ชายและเรื่องนี้ก็วนกลับมาเป็นประเด็นถกเถียงในสื่อโซเชียลอยู่เรื่อยๆ

ยิ่งถ้าคนพูดประโยคแบบนี้เป็นคนดังซึ่งมีคนติดตามเยอะในสื่อโซเชียลฯ ก็อาจจะทำให้แรงปะทะจากการถกเถียงหนักหน่วงกว่าปกติ

เหมือนอย่างกรณีล่าสุดที่ อิงฟ้า วราหะ มิสแกรนด์ไทยแลนด์ 2022 ที่แสดงจุดยืนสนับสนุนกลุ่มหลากหลายทางเพศและประกาศตัวเป็นหญิงรักหญิง และแฟนคลับเรียกว่าแด๊ดดี้หรือโพคิงซึ่งเป็นการระบุว่าตัวเธอนั้นเป็นคนแมนๆจนถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าเธอไม่ได้เข้าใจความหลากหลายทางเพศอย่างแท้จริง เพราะคนที่รณรงค์ในประเด็น LGBTQI+ จำนวนมากเชื่อว่าการเปลี่ยนเพศวิถีไม่มีทางทำได้ด้วยการข่มขืนจิตใจหรือร่างกาย และการที่คนในสังคมยังมองว่าหญิงรักหญิงสามารถแก้ให้หายได้ก็นำไปสู่การละเมิดทางเพศมากมาย รวมถึงคดีข่มขืนที่มีความเชื่อแบบนี้เป็นแรงขับเคลื่อนอยู่เบื้องหลัง

อย่างไรก็ อิงฟ้าได้โพสต์ข้อความขอโทษและยอมรับข้อผิดพลาดผ่านทางสื่อสังคมออนไลน์เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2022 แต่กระแสวิพากษ์วิจารณ์เรื่องนี้ยังดำเนินต่อไปโดยมีคนมองว่าต้องรณรงค์เกี่ยวกับประเด็นนี้อย่างต่อเนื่อง เพราะจะเห็นได้ว่ายังมีค่านิยมในสังคมที่ยังกดทับอัตลักษณ์ของกลุ่มคนหลากหลายทางเพศอยู่ แม้แต่คนที่ประกาศตัวเป็นหนึ่งในผู้สนับสนุนสิทธิ LGBTQI+ ก็ยังเข้าใจคลาดเคลื่อนว่าเพศวิถีเป็นเรื่องซ่อมได้ทั้งที่องค์กรระหว่างประเทศด้านสุขภาพและจิตวิทยายืนยันมาสักพักใหญ่แล้วว่าเรื่องนี้ไม่ใช่อาการป่วยทางจิตที่จะต้องรักษา

อ้างอิง