7 Min

จาก Bitcoin สู่ DeFi-NFT-GameFi-Web 3.0 ปีที่ทุกคนได้รู้จัก ‘คริปโท’

7 Min
211 Views
13 Jan 2022

ถ้าย้อนกลับไปสักปี 2017 ถามว่าบิตคอยน์คืออะไร? บล็อกเชนคืออะไร? คงจะมีไม่กี่คนในสังคมที่ตอบได้ หรือจริงๆ ถ้าย้อนกลับไปสักปลายปี 2020 คนที่จะรู้จักและเข้าใจสิ่งเหล่านี้ก็เรียกได้ว่าน่าจะยังไม่เยอะ

แต่มาถึงสิ้นปี 2021นี้ เราไม่ต้องอธิบายอีกแล้วว่าบล็อกเชนคืออะไร คนที่ไม่เคยได้ยินว่าอะไรคือบิตคอยน์คงแทบไม่เหลือแล้ว และในทางกลับกัน เราก็จะเห็น ‘วัยรุ่นคริปโท’ มากมายที่พูดถึง NFT, DeFi, GameFi โดยไม่มีคำอธิบายใดๆ กันเป็นปกติ ราวกับว่าสิ่งเหล่านี้คนในสังคมต่างรับรู้และเข้าใจอย่างถ่องแท้แล้ว ซึ่งก็แน่นอนว่าพวกเขาเข้าใจผิด แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้อยู่ดีว่าปีนี้เราเริ่มเห็นหลายคนได้ผันตัวมาเป็น ‘นักเทรดคริปโท’ กันมากมาย

มันเกิดอะไรกันขึ้น? เรื่องมันเริ่มมาจากว่า ตั้งแต่ปลายปี 2020 ราคาของบิตคอยน์พุ่งขึ้นอย่างต่อเนื่องและไม่หยุดจนทำ ‘นิวไฮ’ หรือราคาทะลุสถิติได้ในช่วงต้นปี 2021 และ ‘ความสนุก’ ก็ได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว

ต้องย้อนกลับไปก่อนว่าในปี 2017 บิตคอยน์เคยราคาขึ้นไปถึงประมาณ 20,000 BTC/USD (อ่านว่า สองหมื่นเหรียญสหรัฐต่อหนึ่งบิตคอยน์ เขาเขียนกันแบบนี้ครับ เป็นจารีตทางการเงิน) ก่อนจะตกฮวบมายาวนาน และในบรรดานักเทรดและคนที่เชื่อในคริปโททั้งหลายก็รอคอยเวลาที่ราคามันจะกลับขึ้นไปเท่าเดิม

จริงๆ ราคาเริ่มไต่มาตั้งแต่เดือนตุลาคม 2020 และทำนิวไฮสำเร็จอย่างเงียบๆ ในเดือนธันวาคม 2020 และก็ขึ้นต่อไม่หยุด จนต้นปี 2021 หลายคนอาจได้ยินว่า 1 บิตคอยน์เกิน 1 ล้านบาทแล้ว คือมันเป็นหมุดหมายใหม่จริงๆ ราคาสูงอย่างไม่เคยสูงมาก่อน และเนื่องจากราคาขึ้นไม่หยุดมาหลายเดือน ก็เลยเริ่มเป็นข่าว สื่อสายการเงินต่างๆ ก็เริ่มรายงานกัน และไม่นานสื่อทั่วๆ ไปก็รายงานตาม ทำให้บิตคอยน์ ‘ขึ้นหน้าหนึ่ง’ บนสื่อทุกแขนงทั่วโลกอีกครั้ง หลังจากห่างหายไปหลายปี

ราคาที่ขึ้นพุ่งพรวดคราวนี้ ทำให้ ‘นักลงทุนรายย่อย’ แห่เข้าไปซื้อบิตคอยน์และสารพัดคริปโทกันมากมาย ถ้าถามว่ามากแค่ไหน ก็มากจนระบบรับสมัครของ Bitkub ล่ม และระบบเทรดล่ม (ลองไปหาอ่านข่าวเก่าๆ ช่วงต้นถึงกลางมกราคา 2021 ได้)

ปรากฏการณ์ที่นักลงทุนรายย่อยจำนวนมากเข้ามาซื้อคริปโทตามกระดานเทรดคริปโทแบบนี้ไม่ใช่มีแค่ในไทย มันเป็นไปทั่วโลก และผลก็คือพวกนักลงทุนรายใหญ่ๆ รวมถึงคนมากมายที่เคยดูถูกคริปโทก็เลยคิดว่า “มันใหญ่เกินกว่าจะไม่ยุ่งด้วยไม่ได้แล้ว” ทุกคนก็เลยแห่กันไปซื้อคริปโททำเอาราคาพุ่งขึ้นไปอีก

ในบรรดาคนเด่นคนดังในโลกธุรกิจที่มีผลต่อราคาคริปโทก็คงจะได้แก่ อีลอน มัสก์ ที่ประกาศโพล่งมาช่วงเดือนมีนาคม 2021 ว่าบริษัทเทสลาของเขาจะยอมรับการชำระเงินค่ารถเป็นบิตคอยน์ ซึ่งต่อมาก็มีการรายงานอีกว่าเทสลานั้นถือบิตคอยน์เอาไว้จำนวนหนึ่ง

ปีนี้เทสล่าก็พีคแล้วพีคอีก หุ้นขึ้นกระจาย ไม่ใช่บริษัทเล็กๆ แล้ว และการที่บริษัทยักษ์ใหญ่ระดับนี้ที่ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับคริปโทเลยยังถือบิตคอยน์ในมือก็ส่งแรงกระเพื่อมไปทั่วโลกธุรกิจว่า ณ ตอนนี้คริปโทไม่ใช่สินทรัพย์ที่ต้องหลีกให้ไกลแล้ว เป็นของที่ถือได้ และบางคนก็เริ่มเชื่อจริงๆ แล้วว่าบิตคอยน์จะกลายมาเป็นสินทรัพย์ที่มีหน้าที่แบบ ‘ทองคำ’ ในที่สุด

ทั้งหมดนี้ส่งผลกระทบต่อตลาดคริปโทในภาพรวมหมด แต่ถ้าเราไปดูเหล่าวัยรุ่นคริปโทหน้าใหม่ในตลาด ก็จะเห็นว่าจริงๆ พวกเขาไม่ค่อยมีใครถือบิตคอยน์กันหรอก แต่จะถือพวกคริปโทสกุลอื่นๆ เพราะพวกเขาก็เชื่อกันว่าถ้าอยากรวยจริงๆ มันไม่ควรจะถือบิตคอยน์ เพราะราคามันขึ้นไปเยอะแล้ว แต่ต้องไปเล่นสกุลเล็กๆ เพราะมีโอกาสจะมีมูลค่าเพิ่มขึ้นไปอีก

ใครถือคริปโทสกุลโซลานา (Solana) เอาไว้ตั้งแต่ต้นปี 2021 ก็ขอแสดงความยินดีด้วย เพราะหนึ่งปีที่ผ่านมา เหรียญที่เคยไม่มีใครรู้จักเหรียญนี้ มีมูลค่าเพิ่มจากประมาณเหรียญละ 50 บาท มาเป็นราคา 5,000 บาท หรือเพิ่มมา 100 เท่าตัว เรียกว่าใครมีก็ถือว่ารวยสุดๆ

การทะยานขึ้นของโซลานาเป็นภาพสะท้อนว่า ตอนนี้คนเริ่มไม่ได้มองแค่การถือบิตคอยน์เพื่อเก็งกำไรแล้ว แต่จะไปมองภาพรวมของตลาดคริปโตที่เริ่มแสดงให้เห็นแล้วว่าเมื่อมันประสานกับเทคโนโลยีบล็อกเชนและการเขียนโค้ดในลงไปในนั้น (หรือเรียกรวมๆ ว่าการทำ ‘สมาร์ตคอนแทร็ค’) มันทำอะไรได้เยอะ และเมื่อก่อนมีเพียงบล็อกเชนของคริปโทอันดับ 2 อย่างอีเธอเรียม (Ethereum) เท่านั้นที่ทำได้ แต่ทุกวันนี้มีบล็อกเชนใหม่ๆ และเหรียญใหม่ๆ ออกมาสู้เต็มไปหมด ซึ่งโซลานานั้นเขามองว่าภาษีดีสุดที่จะท้าชิงอีเธอเรียมได้ ราคาเลยพุ่งอย่างที่เห็น

คำถามคือเทคโนโลยีบล็อคเชนทำอะไรได้บ้าง? สิ่งที่เกิดขึ้นในปี 2021 ทำให้เห็นชัดๆ ว่ามี 3 อย่างที่ใช้ได้จริง และคนใช้กันแพร่หลายแล้ว ก็คือสิ่งที่เรียกกันว่า DeFi, NFT และ GameFi ทั้งหมดนี้แม้ว่าสื่อกระแสหลักอาจรายงานกันน้อย แต่ก็เป็นสิ่งที่เหล่าวัยรุ่นคริปโทรู้กันหมดแล้วว่าคืออะไร ดังนั้นเราจะสรุปให้ฟังกันสั้นๆ

DeFi หรือที่ชื่อเต็มๆ ว่า Decentralized Financed หลักๆ ไอเดียคือเราสามารถใช้เทคโนโลยีบล็อกเชนแทนสถาบันการเงินต่างๆ ได้ ซึ่งถ้าจะให้อธิบายว่ามันทำยังไงในพื้นที่สั้นๆ จะยากนิดนึง แต่ประเด็นคือในปี 2021 นี้มีการใช้กระดานเทรดแบบไม่รวมศูนย์ (คือกระบวนการรันด้วยโค้ดหมด ไม่มีตัวกลางถือเงินไว้แบบกระดานเทรดปกติอย่าง Binance, Bitkub หรือกระทั่งหน้าใหม่มาแรงอย่าง FTX) อย่าง SushiSwap หรือ PancakeSwap มีการใช้แพลตฟอร์มที่เหมือน ‘หวยคริปโต’ ที่เอาเงินไปลงไว้ แล้วจะมีการสุ่มว่าใครได้รายได้ก้อนใหญ่ไปอย่าง Pooltogether

นี่ยังไม่พูดถึงพวกฟังก์ชันพื้นฐานแบบการเอาคริปโทไปฝากตามแพลตฟอร์มเพื่อเอา ‘ดอกเบี้ย’ ที่มีให้บริการแพร่หลายแล้ว ทั้งตามกระดานเทรดและแพลตฟอร์มแยก (ภาษาคนในแวดงวงคริปโตจะเรียกว่า ‘สเตกกิ้ง’ (staking) ซึ่ง ‘แรงจูงใจ’ ที่จะให้คนเอาคริปโทไปฝากเอาดอกเบี้ยนี้ก็คืออัตราดอกเบี้ยมันสูงมาก เรียกได้ว่า เบสิคๆ ก็ 5-6 เปอร์เซ็นต์ต่อปี (สูงกว่าเงินฝากประจำ หรือผลตอบแทนจากพวกตราสารหนี้ทั่วไปแน่ๆ) หรือถ้าแบบบ้าบอไปเลยระดับ 1,000 เปอร์เซ็นต์ต่อปีก็ยังมี และแน่นอนแม้ว่าตัวเลขมันจะดูเป็นการหลอกลวงแค่ไหนมันก็ล่อหลอกคนเข้ามา ‘ลงทุน’ ได้

NFT หรือ Non-Fungible Token หลักๆ ไอเดียคือการทำให้ ‘สิ่งของดิจิทัล’ ที่ปกติถูกก็อบไปได้เรื่อยๆ ก็ให้เป็นสิ่งของที่ ‘มีแค่ชิ้นเดียวในโลก’ และผ่านการจารึกชื่อ ‘เจ้าของ’ เอาไว้บนบล็อกเชน เมื่อทำแบบนี้เลยทำให้สิ่งของดิจิทัลเหล่านี้ที่ไม่เคยมีราคาค่างวด กลายมาเป็นสิ่งที่มีราคาแพงสุดๆ 

NFT นั้นจะว่าไปก็เป็นเทคโนโลยีที่ทำได้นานแล้ว แต่มันเป็นกระแสครั้งแรกหลังจากงาน NFT ชื่อ Everydays: the First 5000 Days ของนักทำศิลปะดิจิทัลนามว่า ‘บีเพิล’ ถูกขายไปได้ประมาณ 2,000 ล้านบาทเมื่อเดือนมีนาคม 2021 และสื่อรายงานกันทั่วโลกจึงทำให้เหล่า ‘ศิลปินดิจิทัล’ แห่กันมาขายงานเป็น NFT กันจนถึงตอนนี้ แพลตฟอร์มที่ใช้ขายงานฮิตๆ ก็เช่น OpenSea และ Rarible เรียกได้ว่าทำเอาเหล่านักออกแบบกราฟิก หลายคนที่เคยไม่มีที่ทางในโลกศิลปะดั้งเดิม (ซึ่งไม่เชิดชูงาน ‘ศิลปะดิจิทัล’ เท่าไร) กลายมาเป็นเศรษฐีชั่วข้ามคืนเลยทีเดียว เรื่องราวแบบนี้พอมีมากขึ้นๆ คนก็เลยแห่กันมาขาย NFT กันสนุกสนาน

GameFi เป็นคำศัพท์น้องใหม่ของโลกคริปโท หลักๆ ไอเดียคือการเอา DeFi มาปนกับเกมหรือการทำเกมที่เงินในเกมเป็นคริปโท และทำให้ผู้เล่นสามารถย้ายเงินเข้าออกจากเกมได้ หรือพูดอีกแบบว่าม ไอเดียคือมันจะทำให้เงินในเกม สิ่งของในเกมถูกบันทึกไว้บนบล็อกเชน และสามารถ ‘นำออก’ ไปใช้ที่อื่นได้ ซึ่งเวลาเล่นเกม เราสะสมเงินพวกนี้ได้ หรือเล่นเกมไปก็ได้เงินด้วย

ระบบเหล่านี้มีอีกชื่อว่า ‘Play-to-Earn’ เกมที่ดังสุดคือ Axie Infinity ของเวียดนามที่เป็นข่าวเพราะมีเด็กชาวฟิลิปปินส์เล่นเกมนี้มาแต่แรกๆ และรวยจากการหาเงินในเกม แล้วเอาเหรียญในเกมที่มูลค่ามากขึ้นเรื่อยๆ ไปเทรดแลกเงินจริงที่เยอะระดับเอาไปซื้อบ้านได้ แน่นอนว่าเกมพวกนี้ก็ดาหน้ากันมาเต็มไป และคนก็แห่ไปเล่นกันเต็มเพราะหวังจะ ‘รวยข้ามคืน’ แต่สุดท้ายหลายคนก็เริ่มออกมาเตือนแล้วว่า จริงๆ เกมพวกนี้มีโมเดลเหมือนกันหมด คือมันจะคล้ายกับ ‘แชร์ลูกโซ่’ ที่เอาเงินของคนเข้าทีหลังมาเป็นผลตอบแทนของคนเข้าก่อน จุดจบก็มักจะคล้ายๆ กันคือราคาเหรียญที่เคยพุ่งทะยานขึ้นต่อเนื่อง พอถึงจุดหนึ่งก็จะร่วงดิ่งลงจนแทบไม่มีมูลค่า เพราะสุดท้ายเกมพวกนี้คนเล่นเพราะหวังเอาเงินเป็นหลัก เนื่องจากเกมก็ไม่ได้สนุก แถมพอเงินในเกมไม่มีมูลค่า คนก็เลิกเล่น และไม่มีปัจจัยอะไรที่จะทำให้เงินในเกมพวกนี้กลับมามีคุณค่าอีก

จะเห็นได้ว่าปี 2021 เป็นปีทองของคริปโทจริงๆ เพราะมีเทคนิคทางการเงินมากมายที่ล่อหลอกให้คนมาเข้าร่วมเพราะหวังรวย แต่พร้อมกันนั้นมันก็เอาเงินพวกนี้มาพัฒนาระบบนิเวศให้ใหญ่โตต่อไป ซึ่ง ‘ก้าวต่อไป’ ที่กำลังพัฒนากันอยู่คือสิ่งที่เรียกกันว่าเว็บ 3.0 หรือโครงสร้างอินเทอร์เน็ตใหม่ๆ ที่ข้อมูลของเราไม่ได้อยู่ในมือบริษัทเอกชนอีกแล้ว แต่อยู่บนบล็อกเชนที่ใครจะมาลบก็ไม่ได้ นี่คือไอเดียของสิ่งที่เรียกกันว่า เมทาเวิร์ส (Metaverse) ที่พูดกันในโลกคริปโทอยู่แล้วก่อนที่เฟซบุ๊กจะเปลี่ยนชื่อบริษัทเป็น Meta

นี่จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมคนเข้าไปจับจองที่ดินเสมือนในโลกเสมือนอย่าง Decentraland กัน เพราะคนเริ่มคิดกันแล้วว่าเว็บ 3.0 จะเกิดขึ้นจริงๆ และการลงทุนในหลายสิ่งที่จะเป็น ‘ทรัพย์สิน’ ได้ในยุคเมทาเวิร์สของเว็บ 3.0 ไม่ใช่เมทาเวิร์สปลอมๆ ของเฟซบุ๊กซึ่งวันนี้ปวดหัวมากที่ผู้ใช้ลดลงเรื่อยๆ และคนรุ่นใหม่ๆ ไม่ใช้แล้วเลยต้องหาอะไรใหม่ๆ มาขาย (แน่นอนว่าฟีดแบคในภาพรวมก็เละพอควรตั้งแต่การมองว่าเฟซบุ๊กไม่น่าจะมีปัญญาทำได้ จนถึงมองว่าถ้าทำได้มันคือหายนะ)

สุดท้าย คริปโทก็มีราคาของความยิ่งใหญ่ ปีนี้คนรู้จักคริปโทมากขึ้น และก็รู้มากขึ้นเช่นกันว่าการดำเนินระบบทั้งหมดมันกำลังกินค่าไฟฟ้ามหาศาลระดับที่ปีหนึ่งจะใช้ไฟระดับประเทศขนาดกลางๆ ประเทศหนึ่งอย่างอาร์เจนตินา และทำให้คนเริ่มเป็นห่วงว่าอะไรแบบนี้มันไม่ยั่งยืน (ซึ่งน้อยคนก็จะเข้าใจว่า จริงๆ ระบบคริปโทมันปรับตัวการใช้ไฟตามขนาดของ ‘เหมือง’ หรือจำนวนคอมพิวเตอร์ที่เข้ามาร่วมในระบบ คือมีคอมพิวเตอร์เครื่องเดียว ระบบก็เดินได้ แต่พอมีคอมพิวเตอร์เป็นหมื่นเป็นแสนเครื่อง ระบบมันก็ปรับตัวให้กินไฟมากขึ้นตาม – ศัพท์เทคนิคในทางคริปโทจะเรียกว่า ‘ปรับค่าดิฟฟ์’)

อีกด้านหนึ่งรัฐบาลทั่วโลกก็เริ่ม ‘เป็นห่วง’ ที่ระบบคริปโทมันใหญ่เกินไป สถาบันการเงินกระโดดเข้าร่วมกันทั่ว แต่ระบบนี้ไม่มีใคร ‘ควบคุม’ หรือ ‘กำกับดูแล’ นั่นคือสัญญาณอันตรายว่ามันอาจทำให้เกิดวิกฤตการเงินครั้งต่อไปของโลกได้ ยังไม่ต้องพูดถึงความกังวลว่าระบบคริปโทในภาพรวมนั้นเอื้อให้เกิดการฟอกเงินอย่างฉาวโฉ่มาช้านาน ผลก็คือรัฐทั่วโลกก็เริ่มมีท่าทีต้องการการควบคุมคริปโทมากขึ้น พวกกระดานเทรดระดับโลกเริ่มถูกจี้เรื่องทรัพย์สินอย่างไม่เคยมีมาก่อน และประเทศที่ไม่มีท่าทีจะเก็บภาษีคริปโทมาตลอดอย่างอเมริกาในที่สุดก็เคาะแล้วในเดือนพฤศจิกายน 2021 ว่าจะเก็บภาษีผลกำไรจากการเทรดไม่ได้ ต่างจากที่เก็บจากนักเทรดหุ้น

กล่าวโดยสรุป คริปโทยิ่งใหญ่และแพร่หลายไปทั่วจริงๆ ในปี 2021 แต่ราคาที่ต้องจ่ายก็คือ รัฐจับตาดูมากขึ้นและพยายามเข้าควบคุมมากขึ้น ซึ่งไม่ได้หมายความว่าโลกคริปโทจะอยู่เฉยๆ เพราะมันก็มีเทคโนโลยีที่เตรียมพร้อมจะหนีการควบคุมของรัฐอยู่ตลอด นี่คือเสน่ห์ของมันที่ทำให้คนที่ศึกษาหลงใหลในเทคโนโลยีมหัศจรรย์พวกนี้ แม้จะอธิบายให้คนอื่นฟังได้ยากยิ่งว่ามันคืออะไร

และคุณูปการของปี 2021 ก็คือจบปีนี้ไป เราแทบไม่ต้องอธิบายให้ใครฟังอีกแล้วว่าบิตคอยน์คืออะไร

อ้างอิง