ทำไม The Voice ไทยปีนี้ไม่มี ‘เพลงสากล’? และทำไม YouTube ถึงบล็อกเพลง Nirvana ในอเมริกา? ทั้งหมดเกี่ยวกันอย่างไร?
เรื่องลิขสิทธิ์เป็นเรื่องปวดหัวที่หลายคนไม่อยากยุ่งด้วยนัก อย่างไรก็ดีในหลายๆ ครั้งมันก็ส่งผลมาสู่สิ่งที่เรา ‘รู้สึก’ ได้ในชีวิตประจำวัน
ถ้าใครได้ดูรายการ ‘The Voice Thailand’ ปีนี้ สิ่งหนึ่งที่อาจสังเกตคือ ปีนี้ไม่มีเพลงสากล ทั้งนี้หลังจากมีผู้ใช้อินเทอร์เน็ตตั้งคำถามนี้ ทางผู้จัดรายการ The Voice จึงมาตอบให้ ซึ่งคำตอบนี้นักดนตรีมีชื่ออย่าง ‘หนึ่ง Mr. Drummer’ ก็ได้โพสต์บน Facebook ของตัวเอง จนคนแชร์เป็นไวรัลโพสต์ในวันที่ 30 กันยายน 2024 ซึ่งโพสต์ยาวมาก แต่สามารถสรุปความได้ว่า
ในปีก่อนๆ The Voice เวลาจะ ‘เคลียร์ลิขสิทธิ์’ เพลงสากล สมัยก่อนติดต่อผ่าน ‘ตัวแทนลิขสิทธิ์’ ในไทยเจ้าเดียวจบ แต่ปัจจุบัน ด้วยเหตุบางอย่าง ทำแบบนั้นไม่ได้แล้ว จะขอเพลงมาร้องในรายการ ต้องไปไล่ติดต่อ ‘นักแต่งเพลง’ โดยตรง ซึ่งกระบวนการ ‘เคลียร์’ ยุ่งยากและใช้เวลามาก เพราะต้องไปหาคอนแท็กนักแต่งเพลงเป็นคนๆ และบางเพลงมีนักแต่งหลายคนก็ต้องไปขอทุกคนด้วย สุดท้ายเคลียร์ไม่ได้ทันเวลา ก็เลยต้องระงับการใช้ ‘เพลงสากล’ ในรายการ
ต่อมาไม่นาน วิชัย มาตกุล ผู้เป็น Creative Director แห่งบริษัทโฆษณาชื่อดัง Salmon House ก็ดูเหมือนจะโพสต์ขึ้นมาเพื่อเสริมประเด็นบทสนทนานี้ โดยเน้นไปที่ประเด็นค่าลิขสิทธิ์ในการใช้เพลงดังๆ ของต่างประเทศที่แพงมาก ซึ่งได้ยกตัวอย่างว่า หากเขาจะทำโฆษณาชิ้นหนึ่ง จะมีการใช้เพลงสากลสั้นๆ แบบให้คนในโฆษณาร้องเฉพาะท่อนฮุกของเพลงดังกล่าวเท่านั้น แต่หลังจากติดต่อไปที่เจ้าของลิขสิทธิ์ เขาเคาะมาว่าค่าใช้ลิขสิทธิ์บทประพันธ์เพลงโดยนำท่อนฮุกไปร้องในโฆษณาสั้นๆ อยู่ที่ 2.5 ล้านบาท ซึ่งแพงว่าค่าโปรเจกต์โฆษณาทั้งหมด แผนการเลยยุติไป
ทั้งนี้ถ้าใครตามข่าวต่างประเทศด้านดนตรี เราก็จะพบโดยบังเอิญว่าในวันเดียวกันนี้มีข่าวใหญ่ข่าวหนึ่งว่า อยู่ดีๆ คนอเมริกันก็เข้าดู YouTube เพลงของวงดนตรีดังๆ อย่าง Nirvana, Green Day และนักร้องอีกจำนวนมากไม่ได้ สืบสาวราวเรื่องก็คือ YouTube ไม่สามารถดีลกับองค์กรบริหารลิขสิทธิ์บทประพันธ์เพลงที่เป็นตัวแทนในการดีลเก็บค่าลิขสิทธิ์ในการเผยแพร่ ‘บทประพันธ์เพลง’ เหล่านี้บน YouTube ได้ และพอดีลไม่สำเร็จ YouTube ก็จำต้องถอนเพลงออกจากแพลตฟอร์ม เพราะถ้าไม่ได้รับอนุญาตก่อนก็ถือว่าละเมิดลิขสิทธิ์
เรื่องทั้งหมดอาจฟังดูไม่เกี่ยวกัน แต่จริงๆ มันเป็น ‘เรื่องเดียวกัน’ เลย แต่ก่อนอื่นเราอาจต้องย้อนทำความเข้าใจเบสิกเรื่องลิขสิทธิ์งานดนตรีกันก่อน
โดยทั่วๆ ไปในโลกปัจจุบัน ลิขสิทธิ์งานดนตรีจะแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ ‘ลิขสิทธิ์บทประพันธ์เพลง’ ที่อยู่กับตัวนักประพันธ์เพลง กับ ‘ลิขสิทธิ์งานบันทึกเสียง’ ที่มักจะอยู่กับค่ายเพลงหรือบริษัทที่ผลิตงานบันทึกเสียงออกมาขาย
ในระบบไทยจะง่าย เพราะปกติค่ายเพลงจะรวบลิขสิทธิ์ทั้งสองมาเป็นของตัวเอง ทำให้เคลียร์ง่ายเวลามีคนเอาไปใช้ แต่จะมีปัญหาเวลานักร้องไปร้องเพลงตัวเองตามคอนเสิร์ต ก็ต้องขออนุญาตค่ายก่อน ซึ่งในไทยก็จะมีปัญหาถกเถียงกันว่า ‘ไม่เป็นธรรม’
ระบบอเมริกาและโลกตะวันตกไม่เป็นแบบนั้น ลิขสิทธิ์ตัวบทประพันธ์เพลงโดยทั่วไปจะอยู่กับตัวผู้แต่งเพลงเสมอ ทำให้คนเหล่านี้ใช้เพลงที่ตนเองแต่งไปเล่นสดได้เสมอแบบไม่ต้องขออนุญาตใคร หรือถ้าแตกกับค่ายเพลงเดิม ก็ยังสามารถนำเพลงตัวเองมาบันทึกเสียงใหม่ให้เป็นของตัวเองได้ ดังในกรณีที่โด่งดังของ Taylor Swift
ลิขสิทธิ์เป็นของนักแต่งเพลงมีข้อดีในแบบที่ว่ามานี้เอง แต่จากมุมผู้อื่นที่ต้องการนำเอาบทประพันธ์เพลงไปใช้ มันจะยุ่งยากมาก คือต้องไปขอนักแต่งเพลงโดยตรงถึงจะไม่ละเมิดลิขสิทธิ์ ทั้งนี้อยากลองให้นึกถึงสมัยก่อนที่ไม่มีเทคโนโลยีการติดต่อสื่อสารแบบปัจจุบัน เราจะไปตามตัวขอใช้บทเพลงยังไง? ไม่ต้องพูดถึงเพลงในประเทศอื่น เพราะแค่เพลงในประเทศตัวเองยังยากเลย เพราะถึงเรารู้ว่าใครเป็นคนแต่งเพลงนี้ๆ เราก็ไม่รู้ว่าจะติดต่อเขาได้ยังไง
จึงทำให้เกิดระบบ ‘สมาคมเก็บค่าลิขสิทธิ์บทประพันธ์เพลงเพื่อการแสดง’ (Performance Right Society) ขึ้นมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 19 ซึ่งระบบนี้ก็ง่ายๆ คือพวกนักแต่งเพลงก็ไปรวมตัวกันเป็นสมาคมและมอบอำนาจการ ‘เก็บค่าลิขสิทธิ์’ ทั้งประเทศให้กับสมาคมฯ และสมาคมฯ ก็จะไปไล่เก็บค่าลิขสิทธิ์แล้วนำมาแจกจ่ายให้นักแต่งเพลงที่เป็นสมาชิก
บางคนอาจมีคำถามว่า เราจะเชื่อใจสมาคมฯ ได้อย่างไร? แต่ความเป็นจริงคือระบบนี้อยู่มาเกิน 100 ปี และประเทศส่วนใหญ่ในโลกก็จะเชื่อใจสมาคมฯ ในประเทศตัวเองให้ไปไล่เก็บค่าลิขสิทธิ์ให้ โดยแทบทุกประเทศในโลก สมาคมแบบนี้จะมีเพียงแห่งเดียว ทำให้ง่ายต่อการจัดการ ใครต้องการจะ ‘เคลียร์ค่าลิขสิทธิ์เพลง’ ของนักแต่งเพลงในประเทศนี้ก็ติดต่อสมาคมฯ จบ สมาคมฯ ก็จะมีเรตมาให้ ถ้าโอเคก็ลุยต่อ ไม่โอเค ถ้าไม่ถอยเลย ก็อาจไปคุยกับตัวนักแต่งเพลงเจ้าของลิขสิทธิ์โดยตรงก็ได้
และสมาคมฯ พวกนี้ในแต่ละประเทศก็จะมีดีลกันพอสมควร ทำให้การติดต่อเคลียร์ค่าลิขสิทธิ์เป็นไปโดยง่าย เช่นถ้าเราเป็นคนฝรั่งเศส อยากใช้เพลงของนักแต่งเพลงเยอรมัน เราก็ติดต่อ SACEM ของฝรั่งเศส แล้วเขาก็จะให้คอนแท็ก GEMA มา เป็นต้น
ระบบแบบนี้ก็ดำเนินไปเรื่อยๆ จนถึงจุดหนึ่งที่เทคโนโลยีเริ่มเปลี่ยน คือในตอนแรก ‘สมาคมเก็บค่าลิขสิทธิ์บทประพันธ์เพลงเพื่อการแสดง’ เป้าหมายหลักที่ตั้งมาแรกสุดตั้งแต่ศตวรรษที่ 19 คือการเก็บเงินค่าลิขสิทธิ์บทประพันธ์เพลงตามร้านอาหารและร้านเหล้า ซึ่งมันเป็นสิ่งที่นักแต่งเพลงตามไปตรวจสอบและเก็บเองไม่ไหว เลยมอบอำนาจให้สมาคมฯ ไปจัดการแทน
แต่ในยุคปัจจุบัน บทประพันธ์เพลงไม่ได้ถูกใช้แค่เล่นตามร้านอาหารและร้านเหล้า แต่ยังถูกใช้ในโฆษณา ใช้ในหนัง ไปจนถึงใช้ในรายการทีวี ซึ่งเราไม่ต้องมีความรู้อะไรก็น่าจะพอเดาออกว่ามูลค่าทางเศรษฐกิจของกิจกรรมพวกนี้มันสูงมาก จึงทำให้บรรดานักแต่งเพลงเริ่ม ‘ถอนสิทธิ์’ ในการดีลเพลงเพื่อใช้ในการทำสื่อต่างๆ จากสมาคมเก็บค่าลิขสิทธิ์บทประพันธ์เพลงเพื่อการแสดง เอามาจัดการเอง เพราะพวกนักแต่งเพลงคิดว่าการดีลเองตรงๆ จะทำให้พวกเขาได้เงินเยอะกว่า และนี่เรากำลังพูดถึงอุตสาหกรรมดนตรีในยุค ‘ขาลง’ ที่ทุกฝ่ายต่างดิ้นรนหารายได้เพิ่ม
นี่จึงเป็นการตอบประเด็นที่ทั้ง หนึ่ง Mr. Drummer และ วิชัย มาตกุล พูดถึงว่าทำไมปัจจุบันลิขสิทธิ์ตัวบทประพันธ์เพลงฝั่งอเมริกาถึงดีลยาก และทำไมมันถึงแพงนัก
แต่มากกว่านั้น ในกรณีของ YouTube ที่ไม่สามารถดีลกับ ‘สมาคมเก็บค่าลิขสิทธิ์บทประพันธ์เพลงเพื่อการแสดง’ ได้ ก็เป็นภาพสะท้อนถึงปรากฏการณ์เดียวกัน คือพวกนักแต่งเพลงทั่วๆ ไปถึงจะโด่งดังแค่ไหน ก็มักจะไม่ห้าวหาญขนาดจะดีลกับ YouTube เองตรงๆ แต่เลือกดีลผ่านสมาคมฯ เหมือนเดิม เพราะดีลแบบนี้ ‘อำนาจต่อรอง’ มากกว่า แต่การที่ดีลไม่ผ่านล่าสุดที่เป็นข่าว ถ้าให้เดาก็คือ YouTube น่าจะยืนยันขอจ่ายค่าลิขสิทธิ์บทประพันธ์เพลงเท่าเดิมแบบที่เคยจ่ายทุกปี แต่ฝั่ง ‘สมาคมเก็บค่าลิขสิทธิ์บทประพันธ์เพลงเพื่อการแสดง’ นั้นไม่ยอมอีกแล้ว จะเอาค่าลิขสิทธิ์เพิ่ม เพราะสมาชิกเรียกร้องมา ดีลเลยล่ม YouTube เลยต้องถอนเพลงจำนวนมากที่เคลียร์ลิขสิทธิ์ส่วนบทประพันธ์เพลงไม่สำเร็จออกจากแพลตฟอร์ม (โดยมีข้อยกเว้นสำคัญคือพวกบันทึกการแสดงสด เพราะในระบบกฎหมายลิขสิทธิ์อเมริกา นักแต่งเพลงไม่มีอำนาจลิขสิทธิ์เหนือ ‘บันทึกการแสดงสด’ ของเพลงตัวเอง)
ดังนั้นสรุปง่ายๆ เรื่องราวของความติดขัดในการใช้บทเพลงทั้งหมด เกิดจากฝั่ง ‘นักแต่งเพลง’ เรียกร้องอำนาจ (และผลตอบแทน) ในการควบคุมลิขสิทธิ์บทเพลงตัวเองมากขึ้นนั่นเอง
ถ้าจะถามว่ามันถูกต้องและเป็นธรรมหรือไม่ เราอาจต้องเข้าสู่บทสนทนาทางปรัชญาและนโยบายสาธารณะเกี่ยวกับ ‘สมดุล’ ของลิขสิทธิ์และทรัพย์สินทางปัญญาโดยรวมๆ ซึ่งจะวุ่นวายมาก แต่สิ่งที่เดาได้เลยแบบไม่ต้องวิเคราะห์อะไรก็คือ ต่อจากนี้ไปจากมุมของไทย การใช้เพลงต่างประเทศ จากฝั่งอเมริกามันจะวุ่นวายและมีค่าใช้จ่ายเยอะมากๆ จนทั้งนักโฆษณา คนทำหนัง รวมถึงคนทำรายการทีวีจะหลีกเลี่ยงไม่ใช้กันแบบที่เราเห็นในรายการ The Voice Thailand ปีนี้นั่นเอง
อ้างอิง
- American Songwriter. YouTube Removes Iconic Music Videos by Adele, Nirvana, and More Amid Copyright Negotiations. https://shorter.me/ko5I2
- Facebook. https://bit.ly/4eJGG3S
- Facebook. https://bit.ly/47PkvH7