2 Min

‘มาริโกะ อาโอกิ’ ปรากฏการณ์ปริศนาว่าทำไมเข้าร้านหนังสือแล้วปวดอึ

2 Min
11909 Views
25 Mar 2021

ชอบเข้าร้านหนังสือไหมครับ?

เคยรู้สึกไหมว่าเข้าไปนานๆ แล้วมีอาการมวลท้องประหลาด ทำให้ต้องรีบไปเข้าห้องน้ำ

ถ้าคุณเคย ขอบอกว่าไม่ใช่คุณคนเดียวที่เป็น แต่คนญี่ปุ่นจำนวนมากก็มีอาการแบบนี้ จนเขามีชื่อเรียกอาการว่า “มาริโกะ อาโอกิ”

และวันนี้เราจะมาเล่าให้ฟังกัน

ปรากฏการณ์มาริโกะ อาโอกิ

หากย้อนไปดู คนญี่ปุ่นมีบันทึกว่าคนมีอาการแบบนี้มาตั้งแต่กลางศตวรรษที่ 20 แล้ว และก็มีคนพูดถึงอาการพวกนี้เรื่อยๆ แต่ไม่มีใครสนใจจนกระทั่งในปี 1985 ผู้หญิงวัย 29 ปี ชื่อ มาริโกะ อาโอกิ ได้ส่งจดหมายจากทางบ้านไปยังนิตยสาร Book Magazine เล่าว่าเธอไปร้านหนังสือ ยืนอ่านหนังสือไปนานๆ แล้วปวดอึ

ซึ่งคนจำนวนมากได้อ่าน และก็มีจดหมายมายังนิตยสารว่า “ฉันก็เป็นเหมือนกัน”

จากนั้นปรากฏการณ์ “มาริโกะ อาโอกิ” ก็เกิดขึ้น พวกสื่อทีวีเริ่มสนใจ และก็ไปสัมภาษณ์คนสารพัด และก็พบว่ามีหลายคน “รู้สึก” แบบเดียวกัน เรียกได้ว่าเป็นส่วนหนึ่งของ “ป๊อปคัลเจอร์” ญี่ปุ่นไปเลย

พวกรายการญี่ปุ่นช่วง 1990’ s ทำเรื่องนี้บ่อยๆ และในช่วง 2000’ s พวกรายการตอบคำถามก็มีการถามคำถามถึงอาการนี้เป็นปกติ กล่าวคือ อย่างน้อยๆ ในบรรดาสื่อญี่ปุ่น ก็ล้วนดูจะเชื่อว่าอาการนี้มีจริงๆ

และมีการสำรวจหลายครั้งว่าคนญี่ปุ่นมีอาการนี้แค่ไหน ผลก็คือ คนประมาณ 10-25% ของกลุ่มตัวอย่างล้วนรายงานว่ามีอาการแบบนี้

ปัญหาคือ ในทางการแพทย์ จนถึงทุกวันนี้ในศตวรรษที่ 21 ก็ยังไม่มีการยอมรับใดๆ ว่าอาการนี้มีจริงๆ

ปริศนาความปั่นป่วนของช่องท้อง

แม้ว่าในทางการแพทย์ ปรากฏการณ์มาริโกะ อาโอกิจะพิสูจน์ชัดๆ ในทางวิทยาศาสตร์ไม่ได้ว่าเกิดจากอะไร แต่เนื่องจากการไม่มีคำอธิบายในทางวิทยาศาสตร์ในสิ่งที่คนเชื่อว่ามีจริงๆ นี้เอง เลยทำให้เกิดคำอธิบายเป็นสิบๆ แบบถึงที่มีของปรากฏการณ์นี้ ซึ่งเราคงจะแบ่งได้เป็น 3 กลุ่มใหญ่ๆ

กลุ่มแรก คือเชื่อว่าเป็นเรื่องของ “สารเคมี” อันนี้เป็นคำอธิบายแรกๆ ที่น่าจะมาจากการที่คนไปสัมภาษณ์มาริโกะ อาโอกิ และพบว่าเธอทำงานโรงพิมพ์ คนเลยคิดกันว่า หรือว่าอาการนี้เกิดจากการสูดดมหมึกของหนังสือใหม่มากเกินไป อย่างไรก็ดี ก็มีคนทดลองสูดหมึกหนังสือใหม่มาไม่รู้กี่ครั้ง ก็ไม่ได้ปวดอึแต่อย่างใด และนี่ก็เลยทำให้เกิดทฤษฎีสมคบคิดที่ไปกันใหญ่สุดๆ ว่าพวกสำนักพิมพ์ใหญ่ๆ รวมหัวกันแอบใส่สารเคมีบางอย่างเข้าไปในหนังสือ เพื่อให้คนที่เข้าร้านหนังสือปวดอึ (ว่าแต่…จะทำไปทำไม?)

กลุ่มที่สอง เชื่อว่าเป็นอาการทางประสาทที่เกิดจากการกระตุ้น อันนี้อธิบายง่ายๆ ว่าคนญี่ปุ่นจำนวนไม่น้อยนิยมอ่านหนังสือในห้องน้ำ คนก็เลยคิดว่ามันเป็นไปได้หรือเปล่าว่า มันเป็นอาการที่เกิดจากการฝึกโดยไม่รู้ตัวที่เชื่อมโยงหนังสือกับการอึ แต่ปัญหาของคำอธิบายนี้ก็คือ คนญี่ปุ่นก็อ่านหนังสือบนรถเมล์ บนรถไฟใต้ดิน และในอีกสารพัดที่ ทำไมถึงไม่ปวดอึแบบในร้านหนังสือ?

กลุ่มที่สาม คือเชื่อว่าเกิดจากสรีระในการก้มไปหยิบหนังสือ ที่เป็นการกระตุ้นลำไส้ให้ยึดตรง หรือเป็นการทำให้ขาทำมุมกับลำตัวเหมือนตอนนั่งอึ ซึ่งพอก้มไปหยิบหลายๆ เล่มก็เป็นการยืดลำไส้หลายรอบ และกระตุ้นให้ปวดอึ อย่างไรก็ดี คำอธิบายนี้ก็ยังแปลกๆ เพราะงานจำนวนมากก็ดูจะต้องก้มแบบนี้ แต่ก็ไม่ได้มีใครบ่นว่าทำให้ปวดอึแต่อย่างใด

การก้มไปหยิบหนังสือกับการยึดลำไส้

การก้มไปหยิบหนังสือกับการยึดลำไส้ | Wikipedia

และนี่ก็เป็นแค่คำอธิบายใหญ่ๆ เท่านั้น เพราะมันมีคำอธิบายย่อยๆ อีกเต็มไปหมด ตั้งแต่คำอธิบายว่า เพราะวรรณกรรมบางแบบไปกระตุ้นสมองบางส่วน ไปจนถึงคำอธิบายแบบเหนือธรรมชาติเพี้ยนๆ

แต่ข้อเท็จจริงก็คงเดิม คนญี่ปุ่นจำนวนมากเชื่อว่าอาการนี้มีอยู่จริงๆ ไม่ใช่แค่ “อุปทานหมู่”

แต่ในทางวิทยาศาสตร์ก็ไม่มีคำอธิบายที่ชัดเจนเช่นกันว่า มันเกิดจากอะไร!?

อ้างอิง: