โอลิมปิกยอมรับ “หญิงข้ามเพศ” คนแรกในการลงแข่งในรายการของผู้หญิง…ว่าแต่เรื่องนี้ “แฟร์” กับ “หญิงแท้” แค่ไหน?
ในยุคของการยอมรับความหลากหลาย ก็เป็นปกติที่จะเป็นเรื่อง “ต้องห้าม” ที่เราจะตั้งคำถามว่า “ผู้หญิงข้ามเพศ” นั้นควรจะได้รับการปฏิบัติเหมือนผู้หญิงจริงๆ หรือไม่
เพราะในทางหลักการ หากไม่ปฏิบัติกับ “เธอ” เช่นนั้น ก็ล้วนเป็นการกระทำและทัศนคติที่เข้าข่าย “รังเกียจคนข้ามเพศ” (transphobia) ทั้งหมด
อย่างไรก็ดี นี่เป็นเรื่องในทางสังคมและวัฒนธรรม เพราะในมิติอื่นๆ คำถามก็ยังมีอยู่มากมายว่างานหรือบทบาทหน้าที่ที่มีการแบ่งแยกเพศชัดๆ มาช้านาน การที่ผู้ชายโดยกำเนิดไปเล่นบทบาทของผู้หญิงจะเหมาะสมแล้วจริงเหรอ?
ซึ่งคำถามนี้เป็นประเด็นแน่ๆ ถ้าความสามารถทางกายภาพในการทำสิ่งบางอย่างของผู้ชายและผู้หญิงนั้นต่างกันอย่างมีนัยยะสำคัญ และพื้นที่ที่มีการโต้เถียงอย่างเผ็ดร้อนที่สุดก็คือ ‘กีฬา‘
คำถามง่ายๆ และตรงๆ เลยในประเด็นนี้ก็คือ ผู้หญิงข้ามเพศที่มีโครงสร้างร่างกาย “เหมือนผู้ชาย” ไปลงแข่งกีฬากับผู้หญิงนั้น เธอจะไม่ได้เปรียบเหล่า “หญิงแท้” เกินไปเหรอ
นี่เป็นปัญหา “โลกแตก” เพราะในทางสังคมวัฒนธรรมและการเมือง ไม่มีอะไรที่จะบอกว่าหญิงข้ามเพศจะลงแข่งกีฬากับผู้หญิงไม่ได้ แต่ในโลกของกีฬาที่แข่งกันด้วย “ความสามารถทางร่างกาย” เป็นหลัก มันมีงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ยืนยันด้วยซ้ำว่า ขนาดผู้หญิงข้ามเพศที่เทคฮอร์โมนตลอดจนฮอร์โมนเหมือนผู้หญิง แต่ในอดีตผ่านช่วงวัยรุ่นมาในฐานะผู้ชาย ก็จะมีร่างกายที่ใหญ่โตกว่าและทำให้ได้เปรียบผู้หญิงโดยกำเนิด
พูดอีกแบบ งานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ไม่ได้สนับสนุนความเชื่อทางการเมืองเลยว่า การเอา “ผู้หญิงข้ามเพศ” ไปแข่งกับผู้หญิงนั้นเป็นสิ่งที่ “ยุติธรรม” กับเหล่า “หญิงแท้”
ในโลกของกีฬาเอง จริงๆ ปัญหานี้มีมานาน เพราะในอดีต มีการพยายาม “ลักไก่” เอาผู้ชายมาแข่งในรายการของผู้หญิง เลยมีกระบวนการ “พิสูจน์เพศ” หรือนักกีฬาหญิงต้องเปิดอวัยวะเพศให้กรรมการตรวจสอบมานานแล้วว่าเป็นผู้หญิงจริงๆ
แน่นอน กระบวนการแบบนี้ป่าเถื่อนและดูเหยียดหยามความเป็นมนุษย์มากในมาตรฐานปัจจุบัน และสุดท้ายในโลกกีฬาก็เลยตัดสินว่า การระบุเพศในทางกีฬานั้นจะใช้ “ระดับฮอร์โมนเทสโทสเทอโรน” หรือฮอร์โมนเพศชายในเลือดเป็นตัวตัดสิน
พูดง่ายๆ ด้วยเกณฑ์แบบนี้ คือก็ไม่สนอีกแล้วว่าคุณจะเกิดมาเป็นหญิงหรือชาย ถ้าคุณฮอร์โมนตัวนี้ต่ำกว่าเกณฑ์ คุณคือผู้หญิง (ส่วนเกณฑ์ฮอร์โมนจะแบบไหนเท่าไร แล้วแต่ประเภทกีฬา)
แน่นอน มาตรฐานแบบนี้เกิดขึ้นในยุคหลังๆ ที่มีการเรียกร้องให้นักกีฬาข้ามเพศลงแข่งในรายการของผู้หญิงมากขึ้น และพอมาตรฐานออกมา เอาจริงๆ ก็ไม่แฟร์กับ “หญิงโดยกำเนิด” บางคนด้วย เพราะนักกีฬาหญิงเก่งๆ จำนวนไม่น้อย มีฮอร์โมนเพศชายสูง และพอกฎนี้ออก มันก็ทำให้นักวิ่งหญิงระดับแชมป์โอลิมปิกจากแอฟริกาใต้อย่างแคสเตอร์ เซเมนยา ไม่สามารถลงแข่งโอลิมปิกได้ เว้นแต่เธอจะเทคฮอร์โมนเพื่อกดฮอร์โมนเพศชายของเธอ
ซึ่งเธอก็ไม่ยอมเทค และตอนนี้เธอกำลังอุทธรณ์กับศาลสิทธิมนุษยชนอยู่ เพราะกฎที่ว่าไม่แฟร์กับ “หญิงแท้” ที่พิสูจน์เพศตัวเองมาซ้ำแล้วซ้ำเล่าอย่างเธอเลย
คำถามคือเธอผิดอะไรทั้งๆ ที่เกิดมามีอวัยวะเพศหญิง แต่กลับลงแข่งรายการกีฬาผู้หญิงไม่ได้ เพราะฮอร์โมนเพศชายเธอดันสูงไป
อย่างไรก็ดี โอลิมปิกที่โตเกียวในปี 2021 นี้ (ที่จะจัดทั้งๆ ที่โควิดยังระบาด) กฎเกณฑ์ที่ตัดสิทธิ “หญิงแท้” อย่างแคสเตอร์จากการแข่งขันโอลิมปิก กลับเป็นกฎเกณฑ์ที่ให้สิทธิ์ ลอเรล ฮับบาร์ด นักยกน้ำหนักหญิงข้ามเพศจากนิวซีแลนด์ ให้เป็นผู้หญิงข้ามเพศคนแรก ที่จะได้ลงแข่งโอลิมปิกในรายการของผู้หญิง
แน่นอน ข่าวนี้ก็ออกมาในช่วง Pride Month ในเดือนมิถุนายนพอดี และชาว LGBT ก็น่าจะเฮกันใหญ่ แต่การตัดสินใจนี้ ก็สร้างข้อถกเถียงในวงกว้างอีกว่า มัน “แฟร์” หรือไม่กับนักกีฬายกน้ำหนักหญิงคนอื่นๆ ที่แข่งกับฮับบาร์ด เพราะกีฬายกน้ำหนักมีหลักฐานแน่ๆ ว่าถ้าตอนเป็นวัยรุ่นโตมาแบบผู้ชาย ไม่ได้กินยากดฮอร์โมน ก็จะทำให้สรีระที่พัฒนามาตอนนั้นได้เปรียบคนที่โตแบบผู้หญิงมหาศาลแล้ว และความได้เปรียบนี้ก็ยังจะอยู่มายาวๆ ถึงแม้ว่าปัจจุบันจะ “แปลงเพศ” แล้วและกินยาเพื่อปรับฮอร์โมนให้เหมือนผู้หญิง
ซึ่งในกรณีของลอเรล ฮับบาร์ด เธอยกน้ำหนักมาแต่เด็ก เป็นคนเก่ง แต่ก็ไม่ได้แชมป์อะไรใหญ่โต แต่หลังจากแปลงเพศตอนอายุ 35 ปี และได้เริ่มแข่งรายการของผู้หญิง ก็เรียกได้ว่า เธอกวาดเหรียญทองเป็นว่าเล่น และทุกครั้งที่เธอชนะ ก็จะมี “คำวิจารณ์” เรื่องข้อได้เปรียบทางกายภาพที่ไม่เป็นธรรมของเธอตลอด โดยเฉพาะจากบรรดาผู้แข่งที่เป็นหญิงแท้ของเธอ
ทั้งนี้ กรณีของการให้สิทธิ์นักกีฬาข้ามเพศนั้นแม้ว่าทางโอลิมปิกจะยอมรับแล้วดังที่เล่ามา แต่ในหลายประเทศก็ยังไม่ยอมรับ เช่น ในอเมริกา รัฐอย่างอลาบามา อาร์คันซอส์ มิสซิสซิปปี มอนตานา เทนเนสซี เวสต์เวอร์จิเนีย และฟลอริดา ออกกฎหมายเลยว่าห้ามนักกีฬาข้ามเพศลงแข่งในกีฬาของผู้หญิง
และที่น่าสนใจคืออดีตคนที่เคยแข่งโอลิมปิกได้เหรียญทองแล้วมาแปลงเพศทีหลังอย่าง เคทลิน เจนเนอร์ ก็ยังออกมาบอกเลยว่าให้ผู้หญิงข้ามเพศไปลงแข่งรายการของผู้หญิงมันไม่แฟร์กับ “ผู้หญิงแท้ๆ” เลย
อ้างอิง
- Vox. The problem with sex testing in sports. https://bit.ly/3xKHIHs
- The Guardian. Weightlifter Laurel Hubbard will be first trans athlete to compete at Olympics. https://bit.ly/3vPDEV0
- DW. New Zealand’s Hubbard to be first transgender Olympic weightlifter. https://bit.ly/3vPkJtn
- Aljazeera. Florida joins US states banning transgender girls from sports. https://bit.ly/3xQ1YaF
- BBC. Caitlyn Jenner opposes trans girls in women’s sports as unfair. https://bbc.in/3gVLuXI