3 Min

ทำไมโลกทุกวันนี้ไม่มี “ซิทคอม” ?

3 Min
681 Views
24 Jun 2021

Select Paragraph To Read

  • ทำไมซิทคอมถึง “ตาย” ?
  • ซิทคอม สิ่งที่คนในยุคสตรีมมิ่งไม่ต้องการ
  • ซิทคอมตาย ช่องว่างระหว่างวัยที่ห่างขึ้น

ชอบดูซิทคอมไหมครับ?

คน Gen Y ขึ้นไปน่าจะโตมากับรายการทีวีจำพวกซิทคอมหรือ Situational Comedy ไม่มากก็น้อย

รายการพวกนี้คือรายการตลกที่เรื่องราววนเวียนอยู่รอบๆ ตัวละครชุดหนึ่ง และเรื่องราวก็มักจะไม่พัฒนาไปไหน แต่ละตอนจะมีเรื่องราวให้เกิดความตลกเป็นตอนๆ ก่อนจะปิดท้ายด้วยการที่สถานการณ์กลับไปที่เดิม และเตรียมเริ่มตลกในตอนใหม่

ละครโทรทัศน์แนวนี้มักจะสั้นๆ ความยาวราวตอนละครึ่งชั่วโมงเท่านั้น และจะถ่ายทำในฉากเดิมๆ มุมกล้องเดิมๆ เวลาตัวละครปล่อยมุกก็จะมีแทร็กเสียงหัวเราะให้คนดูรู้ว่าควรจะขำตอนไหน

อธิบายแบบนี้ ซิทคอมอาจดูน่าเบื่อ แต่อยากให้ย้อนกลับไปปี 1995 ที่เป็นยุคทองของรายการประเภทนี้ในอเมริกา ยุคนั้นรายการทีวี 38 รายการจาก 50 รายการที่คนดูมากที่สุดเป็นซิทคอม

พอผ่านมาปี 2014 รายการยอดฮิตนั้นเป็นซิทคอมแค่ 9 รายการเท่านั้น

และมาปัจจุบัน ลองนึกดูสิว่าซิทคอมเรื่องไหนที่ดังเรื่องล่าสุด คือเราแทบจะนึกไม่ออกแล้ว ซิทคอมกลายเป็นรูปแบบของรายการทีวีที่ตาย ไปแล้วอย่างสิ้นเชิง

และถ้าเอาซิทคอมให้คน Gen Z ดูก็คงจะรู้สึกงงๆ ว่ามันตลกยังไง

ทำไมซิทคอมถึง “ตาย” ?

อาจพูดยากว่าซิทคอมนั้นตายตอนไหน แต่หลักๆ ซิทคอมที่ยิ่งใหญ่สองเรื่องสุดท้ายก็คือ The Big Bang Theory ที่มี 12 ซีซั่น (ฉายเริ่มปี 2007 มาจบปี 2019) และ Modern Family ที่มี 11 ซีซั่น (เริ่มฉายปี 2009 มาจบปี 2020)

หรือพูดง่ายๆ ซิทคอมเพิ่งตายปี 2020 นี่เอง และความตายของมันไม่ได้เกี่ยวอะไรกับโควิดเลย เพราะซิทคอมรุ่นหลังพวกนี้ไม่ได้ดังและมีชื่อเสียงแบบแทรกซึมไปในป๊อปคัลเจอร์ในระดับที่เทียบกันได้เลย (ซิทคอมรุ่นหลังจากนี้ ดังสุดน่าจะเป็น Brooklyn Nine-Nine ที่จะจบในปี 2021 ในซีซั่นที่ 8 แต่ความดังเทียบกับรุ่นก่อนๆ ไม่ได้เลย)

คำถามคือเกิดอะไรขึ้นกับซิทคอม?

คำอธิบายหลากหลายมาก แต่คำอธิบายพื้นฐานที่สุดก็คือเรื่องของพฤติกรรมการดูซีรีส์ของคนที่เปลี่ยนไป

ซิทคอมเป็นรูปแบบละครทีวีที่อยู่ในโลกมาตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เรียกได้ว่าพอคนอเมริกันเริ่มมีทีวีดูกันแพร่หลายในทศวรรษที่ 1950’ s ซิทคอมก็ถือกำเนิดมาแล้ว (ตอนแรกเริ่มมาจากละครวิทยุ แต่ขอไม่เล่าไปถึงตรงนั้น) หรือพูดอีกแบบมันเป็นรูปแบบรายการที่เกิดมากับทีวีนี่เอง และก็อยู่คู่โลกมาตลอดศตวรรษที่ 20 ก่อนจะค่อยๆ ลดลงในศตวรรษที่ 21 อย่างที่เล่า

ซิทคอมเกิดมาในฐานะของละครโทรทัศน์ที่ดูสบายๆ ไม่ต้องติดตามดูทุกตอนก็รู้เรื่อง เอาไว้ดูชิลๆ ตอนค่ำๆ หลังครอบครัวกินข้าวเย็นแล้วนั่งล้อมวงดูทีวีกัน ซึ่งในแง่นี้เรื่องราวที่ไม่ไปไหนได้กลายมาเป็นจุดแข็งเพราะคนไม่ได้ต้องการให้มันไปไหน ต้องการให้เรื่องราววนๆ ไปเรื่อยๆ ปล่อยมุกขำๆ แล้วก็จบตอนไป พลาดตอนอาทิตย์นี้ ดูต่ออาทิตย์หน้า ก็ไม่ได้รู้สึกขาดอะไรไป

ซึ่งอะไรพวกนี้จำเป็นพอสมควรสำหรับครอบครัวจำนวนมาก ที่จะมานั่งดูทีวีร่วมกันหลังกินข้าว คือมันไม่ต้องการอะไรเครียดๆ ต้องการสิ่งที่เด็กดูได้ด้วย

และซิทคอมก็ตอบโจทย์ครอบครัว มาตลอด อย่างน้อยๆ ก็ครอบครัวในแบบอเมริกัน ดังนั้นจึงไม่แปลกเลยที่เรตติ้งซิทคอมทั้งหลายจะโคตรดีและดีที่สุดในบรรดารายการทีวี

ถ้าจะพูดอีกแบบ ซิทคอมมันมากับทีวีและก็ไม่แปลกที่มันจะไปกับทีวีเช่นกัน

ซิทคอม สิ่งที่คนในยุคสตรีมมิ่งไม่ต้องการ

ตัดภาพมาทุกวันนี้ คงไม่ใช่ยุคที่ต้องเถียงกันแล้วว่า คนดูทีวีน้อยลงหรือไม่ หรือสตรีมมิ่งนั้นเป็นแค่กระแสที่มาแล้วก็จะไป

เพราะมันชัดแล้วว่าคนดูทีวีน้อยลงและดูสตรีมมิ่งมากขึ้น และนั่นมากับพฤติกรรมการดูที่ต่างออกไปและนำมาสู่ความตายของซิตคอม ในที่สุด

ในยุคของสตรีมมิ่ง อาจพูดได้ว่าซีรีส์ที่เนื้อหาซ้ำๆ ซากๆ นั้นไม่มีที่ยืน ซีรีส์ที่คนจะดูคือซีรีส์ที่ชวนติดตามทุกตอน เรื่องพลิกไปมาให้ลุ้น และคนก็จะดูยาวๆ รวดเดียวจบ ฟิตๆ หน่อยก็ดูวันเดียว หรือปกติหน่อยก็ทยอยดูให้จบในสุดสัปดาห์ และโดยทั่วๆ ไปซีรีส์แบบนี้หนึ่งซีซั่นจะไม่ยาวเท่าไร เรียกได้ว่าเกิน 8 ตอน คนก็บ่นว่ายาวแล้ว

ตัดภาพกลับไปซิทคอม ในยุคคลาสสิค หนึ่งซีซั่นจะมีราว 24 ตอน ฉายอาทิตย์ละครั้ง คือฉายกันทียาวๆ เลยครึ่งปี คนก็ตามดูกันไปยาวๆ

อะไรแบบนี้ดูจะเป็นไปไม่ได้ในยุคสตรีมมิ่ง เพราะคนจะดูเมื่ออยากดู จะดูต่อเมื่อมันมีเรื่องราวน่าติดตามและนี่เป็นอะไรที่ตรงข้ามกับซิทคอมโดยสิ้นเชิง

ซิทคอมตาย ช่องว่างระหว่างวัยที่ห่างขึ้น

คำถามต่อมา เมื่อซิทคอมตายแล้ว ทำให้เกิดอะไรขึ้น?

คำตอบคือมุกตลกแบบยุคก่อนก็ตายไปพร้อมกัน ซึ่งตรงนี้ก็ต้องยอมรับว่า ด้วยความฮิตและแพร่หลายของซิทคอม มันก็ทำให้อารมณ์ขันของคน Gen Y, Gen X ไปจนถึงก่อนหน้านั้นมีลักษณะร่วมกันอยู่พอสมควร

แต่พอมา Gen Z สิ่งที่เคยตลกมันไม่ตลกอีกต่อไป ซึ่งมันไม่ได้เปลี่ยนเพราะบรรยากาศทางสังคมเปลี่ยน เท่ากับการที่คนรุ่นใหม่ๆ ไม่ได้รับการสืบทอดอารมณ์ขันผ่านซิทคอมอีกแล้ว

แต่ในทางกลับกันคนรุ่นเก่าก็งงกับอารมณ์ขันสไตล์ 9gag” และการเล่นมีมของคนรุ่นใหม่เหมือนกัน

และทั้งหมดนี้แม้ว่าดูเผินๆ จะเป็นเรื่องเล็กน้อย แต่ในความเป็นจริงนี่เป็นรอยแยกทางวัฒนธรรมที่ใหญ่มากๆ ในสังคม เพราะมันหมายความว่าในภาพใหญ่ คนรุ่นเก่าและรุ่นใหม่ไม่สามารถกระทั่งหัวเราะไปพร้อมกันได้อีกต่อไป

ซึ่งก็ไม่แปลก เพราะทุกวันนี้ภาวะที่คนรุ่นเก่ากับคนรุ่นใหม่ขัดแย้งกันระดับมองหน้ากันไม่ติดจะเกิดขึ้นทั่วโลก

อ้างอิง