ทำไมไม่คราฟต์เบียร์ไทย เติบโตไม่ไหวใต้กฎหมายสุรา?

2 Min
9857 Views
12 Nov 2020

หนึ่งในวงการค้าขายที่มีความหลากหลายน้อยเหลือเกินในประเทศไทย คงหนีไม่พ้นวงการน้ำเมา เพราะไม่ว่าเราจะเดินเข้าร้านสะดวกซื้อเจ้าไหน ร้านขายของชำอะไร ตัวเลือกของเบียร์ดูเหมือนจะมีไม่มากนัก เรียกว่าจะฝากเพื่อนซื้อทีก็นึกไม่นานพูดกันไม่กี่ชื่อ ถ้าหากอยากกินคราฟต์เบียร์ (Craft Beer) ที่หลากหลายกว่านั้นก็ไม่ได้มีขายทั่วไป แถมราคาแพงกว่าเพราะเป็นของนำเข้า

เมื่อช่วงเดือนกันยายน พ.ศ.2563 แบรนด์ “ศิวิไลซ์” (Beer Sivilai) คราฟต์เบียร์ไทยจากเครือมหานคร ชนะรางวัลเหรียญเงินจากเวที ‘World Beer Awards 2020’ แต่ตลกร้ายนิดหน่อยที่เจ้าของแบรนด์ขึ้นรับรางวัลในฐานะแบรนด์คราฟต์เบียร์จากเวียดนาม

คำถามคือทำไมเป็นแบบนั้น?

ปัจจุบันตลาดคราฟต์เบียร์เติบโตขึ้น เพราะผู้คนต้องการความหลากหลายของรสชาติ แต่ปัญหาคือผู้ประกอบการรายเล็กจะผลิตเบียร์ที่จะเป็นอีกทางเลือกหนึ่งออกมาจำหน่ายนั้น ไม่ใช่เรื่องง่ายเลยแม้แต่นิดเดียว

กฎหมายการอนุญาตผลิตสุรา พ.ศ. 2560 ระบุว่า ผู้ผลิตเบียร์ต้องเป็นบริษัทที่จดทะเบียนตามกฎหมายไทยและมีผู้ถือหุ้นเป็นสัญชาติไทย 51% และแบ่งการผลิตเบียร์ออกเป็น 2 รูปแบบ คือ

1. ใบอนุญาตโรงต้มเบียร์ขนาดใหญ่ (Macrobrewery) ซึ่งต้องมีเงินลงทุนกว่า 100 ล้านบาท และต้องผลิตเบียร์ได้เกิน 10 ล้านลิตรต่อปี

2. ใบอนุญาตโรงต้มเบียร์ขนาดเล็ก (Microbrewery) สำหรับผู้ประกอบการราย “ย่อย” ซึ่งตามกฎต้องมีเงินทุนจดทะเบียน 10 ล้านบาท ผลิตเบียร์มากกว่า 1 แสนลิตร แต่ไม่เกิน 1 ล้านลิตรต่อปี และไม่สามารถบรรจุขวดจำหน่ายได้เอง

เงื่อนไขตามกฎหมายทำให้ผู้ผลิตรายย่อยที่ไม่สามารถทำตามเงื่อนไขใช้วิธีส่งเบียร์ไปผลิตในต่างประเทศ เช่น เวียดนาม สปป.ลาว หรือกัมพูชา และส่งกลับมาขายในประเทศไทย รวมถึงส่งไปประกวดในนามเบียร์ชาติอื่นแบบ ‘แบรนด์ศิวิไลซ์’ ด้วย

ไม่ใช่แค่ปัญหาเรื่องการผลิต อย่างที่ทราบกันดีกว่าประเทศไทยมีกฎหมายควบคุมการโฆษณาสุราอย่าง “เคร่งครัด” ซึ่งโทษความผิดฐานโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์นั้นโทษตามกฎหมาย คือ จำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 500,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ แต่ถ้าเป็นการโฆษณาของผู้ผลิตหรือผู้นำเข้าจะปรับ 500,000 บาท

ด้วยระบบระเบียบในประเทศทำให้หลายคนตั้งข้อสงสัยว่ากฎหมายเหล่านี้ “สมเหตุสมผล” ดีแล้วหรือไม่ เพราะความเป็นไปได้ในการแข่งขันทางธุรกิจตามเงื่อนไขนั้นเป็นไปได้ยากมาก ยกเว้นว่าผู้เล่นคนนั้นจะเป็นผู้เล่นรายใหญ่ ทุนหนา อย่างน้อยก็มีทุนจดทะเบียนมากกว่า 10 ล้านบาท

ติดตาม #ปลดแอกเบียร์ไทย แคมเปญที่ต้องการจุดประกายให้คนไทยตระหนักถึงปัญหาความไม่เท่าเทียมในสังคม ผ่านภาพสะท้อนของธุรกิจคราฟต์เบียร์ไทย เพื่อปลดแอกการผูกขาดทางธุรกิจของนายทุนใหญ่ และเปิดพื้นที่ให้คนเล็กๆ ได้มีที่ยืน ไม่ว่ามิติทางธุรกิจหรือสิทธิการดื่มกิน

ลงทะเบียนเพื่อลุ้นรับบัตรเข้างานเสวนา ‘ทำเบียร์ไทยให้เป็นไท’ (มูลค่า 899 บาท) จำนวน 10 รางวัล รางวัลละ 2 ที่นั่ง ตั้งแต่วันนี้ – 13 พฤศจิกายน 63 โดยทีมงานจะคัดเลือกผู้เข้าร่วมงานจำนวน 10 รางวัล และประกาศรายชื่อผู้โชคดีในวันที่ 13 พฤจิกายน 63

ลงทะเบียนได้ที่: https://www.brandthink.me/registration-beerthai