ทำเบียร์ไทย ให้เป็นไท เจาะลึกปัญหาเบียร์ไทย ทำไมต้องปลดแอก?

5 Min
765 Views
23 Nov 2020

เบียร์ไทยทำไมต้องเป็นไท?

ในงานเสวนาทำเบียร์ไทยให้เป็นไทซึ่ง BrandThink ร่วมกับบางแก้วเบียร์ จัดขึ้นเมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ได้เปิดประเด็นพูดคุยปัญหาสุรากับผู้คร่ำหวอดในวงการคราฟต์เบียร์

ตั้งแต่ เท่าพิภพ ลิ้มจิตรกร สส.พรรคก้าวไกล ผู้ผลักดัน พ...สุราก้าวหน้า

..ดร.วิชิต ซ้ายเกล้า เจ้าของ Chit Beer ผู้บุกเบิกวงการคราฟต์เบียร์ไทย

รศ.ดร.ยุกติ มุกดาวิจิตร อาจารย์คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

รศ.ดร.เจริญ เจริญชัย อาจารย์สาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการอาหาร คณะเทคโนโลยีการเกษตร

และ อุทิศ เหมะมูล นักเขียนซีไรต์และเจ้าของผลงาน ‘Writer’s Taste ดื่มประวัติศาสตร์ จิบวิวัฒนาการ สำราญรสเบียร์ 

เพื่อเจาะลึกลงไปถึงกฎหมายที่ทำให้วงการคราฟต์เบียร์ไม่สามารถเติบโตได้ ไม่ว่าจะเป็นกฎหมายที่ระบุเรื่องใบอนุญาตผลิตจนถึงมาตรา 32 ว่าด้วยการห้ามโฆษณาสุรา

เงื่อนไขเหล่านี้ทำร้ายรายเล็กในวงการน้ำเมาอย่างไร และพวกเราในฐานะประชาชนสามารถทำอะไรได้บ้าง?

ร่วมแสดงความคิดเห็นทำไมการทำเบียร์ไทยถึงควรเสรีพร้อมติด #ปลดแอกเบียร์ไทย เพื่อร่วมขับเคลื่อนเบียร์ไทยสู่อนาคตได้ที่ https://bit.ly/3pNhZei

ปัญหาสุราไทย คืออะไรกันแน่?

หากพูดถึงเรื่องที่ทำให้ผู้ผลิตเบียร์รายเล็กติดขัดอย่างหนัก

ปัจจัยแรกมาจากกฎหมายที่กีดกันเป็นหลัก

เท่าพิภพ ลิ้มจิตรกร สส.พรรคก้าวไกล ระบุว่าปัจจุบันยังไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงเชิงกฎหมาย

ดังนั้น ในปัจจุบันถ้าต้องการผลิตคราฟท์เบียร์ตามกฎหมายการอนุญาตผลิตสุรา ซึ่งมีการควบคุมตั้งแต่ปี 2550 ต่อเนื่องถึงปัจจุบันที่กำหนดให้ผู้ผลิตต้องมีใบอนุญาต ซึ่งมี 2 รูปแบบคือ

  1. ใบอนุญาตโรงต้มเบียร์ขนาดใหญ่ (Macrobrewery) ซึ่งต้องมีเงินลงทุนกว่า 100 ล้านบาท และต้องผลิตเบียร์ได้เกิน 10 ล้านลิตรต่อปี
  2. ใบอนุญาตโรงต้มเบียร์ขนาดเล็ก (Microbrewery) สำหรับผู้ประกอบการรายย่อยซึ่งตามกฎต้องมีเงินทุนจดทะเบียน 10 ล้านบาท ผลิตเบียร์มากกว่า 1 แสนลิตร แต่ไม่เกิน 1 ล้านลิตรต่อปี

ซึ่งการที่ต้องมีทุนจดทะเบียนมากขนาดนั้น ทั้งทุนจดทะเบียนและจำนวนผลิตนั้น นับเป็นการกีดกันการให้ใบอนุญาตของผู้ผลิตรายเล็กๆ

ปัญหาคือตัวเลขพวกนี้มาจากไหน ผมเคยถามผู้มีอำนาจว่า
ทำไมต้อง 10 ล้านลิตร เขาก็บอกว่า ไม่รู้…”

รวมถึงข้อกำหนดในมาตรา 32 ห้ามการโฆษณา ซึ่งมีโทษปรับถึง 50,000 บาท รวมถึงข้อจำกัดอื่นๆ เช่น การห้ามขายออนไลน์ ปัจจุบันก็มีการวิพากษ์วิจารณ์อย่างมาก ว่าความจริงแล้วควรถูกกฎหมายหรือไม่ เพราะกฎหมายลูกด้านการขายออนไลน์นั้นถือว่าเกินกว่ากฎหมายแม่บท

ด้าน อุทิศ เหมะมูล นักเขียนซีไรต์ผู้สำราญในรสเบียร์กล่าวว่าปัญหาหลักๆ คือคนออกกฎหมายไม่ใช่คนที่ดื่มกินกับเราทุกคน เปรียบเหมือนคนที่ไม่อยู่ในพื้นที่ ไม่ได้อยู่ในกระบวนการ แต่ดันมาพูดแทนคนที่อยู่ในพื้นที่จริง และมาออกกฎแทนคนที่กิน คนที่ผลิต คนที่มีรายได้จากเรื่องนี้

เราเอาคนที่ไม่กิน ไม่ดื่ม ไม่มีส่วนร่วมมาออกกฎหมายควบคุมได้ยังไง
อุทิศกล่าว

แล้วกฎหมายเบียร์ (สุรา) เหล่านี้เกิดขึ้นมาได้ยังไง?

ผมว่ามันมาจาก 2 ส่วน คือเรื่องสังคม วัฒนธรรม ความดีเลว และอีกส่วนที่สำคัญคือผู้มีอำนาจ เวลาเขาให้รางวัลใครเนี่ย เขาให้อำนาจในการผูกขาด
รศ.ดร.ยุกติ มุกดาวิจิตร กล่าว

การตั้งกฎหมายที่เป็นการผูกขาดทางเศรษฐกิจและอำนาจ เบื้องหลังศีลธรรมและความผิดบาปของการดื่มสุรายังมีผลประโยชน์ของชนชั้นนำแอบอยู่ข้างหลัง ถ้าหากว่าเราเอาแต่มองเรื่องความผิดบาป เราจะมองไม่เห็นปัญหานี้ ถ้าหากเราหยิบประเด็นเรื่องเบียร์มาผูกกับเรื่องเศรษฐกิจ เรื่องการกระจายรายได้ เรื่องการท่องเที่ยว การเกษตร ก็จะเห็นช่องทางและมุมมองที่แตกต่างไปจากเดิม

ซึ่งการเอากฎหมายสุรากับศีลธรรมมาผูกจนเป็นเรื่องเดียวกันนั้นอาจารย์ยุกติ มองว่าเป็นเรื่องที่บ้ามากในสังคมไทย ซึ่งการจะก้าวผ่านไปได้ สังคมต้องก้าวทะลุเรื่องศีลธรรมไปมองเรื่องสิทธิเสรีภาพให้ได้

กฎหมายทั้งหลายที่มีการออกมาเพื่อจำกัดทางผู้มีอำนาจมักจะบอกว่าเพื่อป้องกันไม่ให้เยาวชนเข้าถึงการดื่ม เป็นการป้องกันนักดื่มหน้าใหม่

แน่นอนว่าอาจารย์ยุกติมองว่าเยาวชนเป็นเรื่องหนึ่ง ถ้ายังไม่ถึงอายุก็ไม่ควรเข้าถึง แต่ยังมีกระบวนการอีกมากในการป้องกัน ไม่ใช่ใช้คนกลุ่มหนึ่งมาตั้งกฎเกณฑ์เพื่อกันคนทั้งหมด เมื่อถึงอายุแล้วการดื่มกินก็เป็นเรื่องธรรมดา ประเด็นสำคัญคือวัฒนธรรม ตราบใดที่เรายังตีตราว่าสุราเป็นเรื่องผิดบาปจากการสร้างภาพลักษณ์ ความชอบธรรมของกฎหมายที่ไม่ยุติธรรมก็ยังมีอยู่

นี่คือสิ่งที่ผมคิดว่าเสื่อมที่สุดของสังคมไทย
คือการทำให้วัฒนธรรมบางอย่างเป็นความผิดบาป

ทำไมโฆษณาเบียร์ (สุรา) ไม่ได้? 

สำหรับ ..ดร.วิชิต ซ้ายเกล้า เจ้าของแบรนด์ Chit Beer ผู้บุกเบิกวงการคราฟต์เบียร์ในไทย ถูกจับในข้อหาโฆษณาเชิญชวนมาแล้วกว่า 8 ครั้งตามมาตรา 32 ซึ่งระบุว่าห้ามโฆษณาที่แสดงชื่อ เครื่องหมายการค้า หรือโฆษณาเพื่อโน้มน้าวให้เกิดการบริโภค แต่สามารถทำได้ ถ้าเป็นการส่งเสริมสังคม คำว่าผู้ใดในกฎหมายแปลว่า ใครก็ได้ ผู้ผลิต ผู้บริโภค ไม่ว่าดื่มหรือไม่ ถ้าหากโฆษณาตามความหมายข้างต้นก็มีความผิดเช่นเดียวกัน

แม้ว่ากฎหมายจะระบุว่า เพื่อป้องกันไม่ให้แอลกอฮอล์ไปถึงเยาวชน แต่ในการบังคับใช้นั้นถูกตีความไม่ตรงกับวัตถุประสงค์ เมื่อให้อำนาจเจ้าหน้าที่ตัดสินตามดุลพินิจ แต่ไม่ได้มีเกณฑ์มาตราที่ชัดเจนว่าแบบไหนที่เรียกว่าโฆษณา

เช่น การเขียนบรรยายรสชาติ หรือบอกว่าสุรานั้นมีส่วนประกอบของอะไร ก็สามารถนับเป็นการเชิญชวนให้คนดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งไม่ได้มีใครมากำหนดมาตรฐาน

บริบทตอนที่ออกกฎหมายกับตอนนี้ไม่เหมือนกัน สื่อก็ต่างกัน ปัจจุบันทุกคนสามารถเล่าเรื่องเป็นสื่อได้บนออนไลน์ การที่เราจะพูดอะไรเป็นเรื่องที่ง่ายมาก เทคโนโลยีทำให้สนามผู้เล่นเท่าเทียมแล้ว ดังนั้นถ้าตัวใหญ่พูดได้ ตัวเล็กก็ต้องพูดได้ แต่กลายเป็นว่าพอคนตัวเล็กจะพูด กฎหมายกลับมาบอกว่าพูดไม่ได้

กฎหมายเบียร์ (สุรา) เปลี่ยนแปลงได้จริงไหม?

ปัจจุบันมีการพยายามผลักดันร่างพ...สุราก้าวหน้า เพื่อแก้ไขกฎหมายมาตรา 153 ซึ่งกีดกันการผลิตเชิงพาณิชย์ ปัจจุบันร่างพ...ฉบับนี้ สามารถดันให้เข้าสู่วาระประชุมได้แล้วในวาระประชุมลำดับที่ 180 กว่า

ซึ่งถือว่าช้ามาก และอาจไม่มีความเป็นไปได้เลยที่จะเปลี่ยนแปลง แต่ถือว่าเป็นก้าวที่ไกลที่สุดสำหรับการเปิดเสรีให้วงการคราฟต์เบียร์

โดยการแก้ไขกฎหมายครั้งนี้มีเป้าหมายว่าไม่ควรให้มีการกำหนดจำนวนผลิต หากรายเล็กผลิดได้ 20-30 ลิตร ก็สามารถขอใบอนุญาตได้ การต้มกินเองไม่เกี่ยวข้องกับการค้าก็สามารถทำได้โดยไม่ได้มีการจำกัด รวมถึงสุราชุมชน หรือว่าสุราท้องถิ่นด้วย

นอกเหนือจากที่มีการยื่นเพื่อแก้ไขมาตรา 153 ในร่างพ...สุราก้าวหน้า รศ.ดร.เจริญ เจริญชัย ยังระบุว่ามีช่องทางอื่นที่กำลังอยู่ในกระบวนการ คือการยื่นเพื่อแก้ไขตามมาตรา 77 ในรัฐธรรมนูญปี 2560 ซึ่งระบุว่ากฎหมายใดที่มีความล้าสมัย หรือขัดต่อการดำรงชีวิตของประชาชนสามารถแก้ไขได้ นับเป็นอีกทางในการยื่นเรื่องเพื่อแก้ไขตามกระบวนกฎหมาย ซึ่งกฎหมายสุรานั้นถือว่าเข้าข่ายกฎหมายที่ล้าสมัยและควรแก้ไข

แต่ถึงแม้กฎหมายจะยังไม่ไปถึงฝัน แต่สิ่งที่เปลี่ยนแปลงอย่างเห็นได้ชัดคือสังคม

เราเชื่อว่าก่อนกฎหมายเราเริ่มเอาชนะทางความคิด
คนหันมาให้ความสนใจคราฟต์เบียร์มากขึ้น
เท่าพิภพ กล่าว

ปัญหาเบียร์ ไม่ใช่แค่เรื่องเบียร์…

วิชิตยังมองว่าเบียร์เป็นแค่สิ่งหนึ่งที่ทำให้คนรู้สึกถึงความไม่ยุติธรรมในสังคม เป็นเพียงส่วนหนึ่งในสังคมที่ทำให้ประชาชนเห็นว่าเราสามารถทำได้ เราสามารถเปลี่ยนแปลงได้ เราต้องดึงอำนาจของข้างบนลงมา

วงการคราฟต์เบียร์สามารถเติบโตได้ด้วยภาคประชาชน สุราเป็นสิ่งหนึ่งที่ทำให้คนตระหนักว่านี่เป็นสิทธิของเรา ไม่ว่าจะรวยหรือจนนี่คือสิทธิที่ทุกคนควรมี

การต่อสู้ครั้งนี้ ไม่ใช่แค่เพราะผมอยากทำเบียร์
แต่เราอยากพิสูจน์ให้ได้ว่าคนตัวเล็กๆ คนหนึ่งมีสิทธิ์มีเสียงเท่ากัน
มีสิทธิ์มีเสียงเท่าคนที่มีตังด์หมื่นล้าน ยอดขาย 2 แสนล้านเหมือนกัน
เท่าพิภพกล่าวปิดท้ายในวงเสวนา