Emergency = สระว่ายน้ำ? เกณฑ์วัดความรู้ของครูควรเป็นอย่างไรทำไมสายอาชีพครูจึงไม่ดึงดูดกลุ่ม ‘หัวกะทิ’? .
อยากรู้แต่ไม่มีเวลา อ่านแค่นี้พอ
จากประเด็นที่มีผู้ตอบว่า ‘Emergency room=สระว่ายน้ำ’ ในการสอบครูผู้ช่วยปี 2565 ย้อนไปถึงการเรียกร้องให้ลดคะแนนสอบ TOEIC เหลือ 250 คะแนนของโครงการครูคืนถิ่นเมื่อ 5 ปีก่อน ทำให้หลายคนตั้งคำถามถึงระดับความรู้ความสามารถของ ‘พ่อ–แม่พิมพ์แห่งชาติ’ ว่าควรมีเกณฑ์อย่างไร และทำไมสายอาชีพครูจึงไม่ดึงดูดกลุ่ม ‘หัวกะทิ’ ทางวิชาการให้หันมาสนใจ?
ในการสอบครูผู้ช่วยบรรจุเข้าราชการประจำปี 2565 เกิดประเด็นวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง เมื่ออนาคตครูผู้ช่วยจำนวนหนึ่งได้ออกมาแชร์คำตอบในวิชาภาษาอังกฤษ โดยมีโจทย์เกี่ยวกับผู้หญิงซึ่งยืนอยู่หน้าห้อง ‘Emergency room’ (ห้องฉุกเฉิน) และมีการถามเพิ่มเติมว่าผู้หญิงคนนี้อยู่ที่ไหน และ ผู้เข้าสอบหลายคนเข้ามาแชร์คำตอบว่าผู้หญิงคนนี้อยู่ที่ ‘สระว่ายน้ำ’
จากคอมเมนต์ของหลายคนที่ออกมากล่าวถึงการสอบของตัวเองโดยชี้ว่าตอบผิดเหมือนๆ กัน และหลายคนกล่าวว่าตอบข้อสอบไปแบบ ‘มั่วๆ’ ทำให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางในโลกออนไลน์ว่า นี่เป็นเรื่องที่ควร ‘ปกติ’ หรือไม่สำหรับอาชีพที่ควรมีความรู้มากพอจะมาสอนเด็กๆ ในอนาคต เพราะคำศัพท์ที่อยู่ในข้อสอบนั้นเป็นศัพท์พื้นฐานที่ควรรู้ในระดับผู้จบการศึกษาระดับปริญญาตรี
เกณฑ์คะแนนสอบภาษาอังกฤษของวิชาชีพครู
ไม่ใช่เรื่องที่เพิ่งเกิดขึ้นในปีนี้
ถ้าหากใครจำได้ นี่เป็นเรื่องที่เคยถูกพูดถึงหลายครั้ง ก่อนหน้านี้เคยมีประเด็นคะแนนสอบ TOEIC หรือเกณฑ์คะแนนภาษาอังกฤษ โดยในปี 2560 โครงการครูคืนถิ่น หรือ โครงการผลิตครูเพื่อพัฒนาท้องถิ่น ได้เรียกร้องให้มีการปรับลดคะแนนสอบภาษาอังกฤษ จาก 400 คะแนนลดลงให้เหลือ 250 คะแนน และใช้วิธีการฝึกอบรมแทน เนื่องจากมีผู้มองว่าเป็นคะแนนที่ ‘มากเกินไป’ โดยปีนั้นเป็นปีแรกที่มีการกำหนดเกณฑ์ภาษาอังกฤษสำหรับโครงการครูคืนถิ่นด้วย
ในเวลานั้น ข้อเรียกร้องของโครงการเองก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักหน่วงเช่นกัน เนื่องจากคะแนน TOEIC 400 คะแนนจากคะแนนเต็ม 990 ก็นับว่าเป็นคะแนนไม่ถึงครึ่ง ซึ่งถ้าเป็นการสมัครเข้าบริษัทเอกชนส่วนใหญ่มีการระบุด้วยซ้ำไปว่าผู้สมัครต้องได้คะแนน TOEIC อย่างน้อย 650 คะแนน
แม้ว่าต่อมาคณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.) ไม่ได้ตอบสนองต่อคำเรียกร้องของผู้เข้าสอบ แต่ก็มีการระบุว่าคะแนน TOEIC นั้นเป็นคะแนนส่วนกลาง ไม่ใช่คะแนนจากมหาวิทยาลัย ซึ่งกำหนดเกรดเฉลี่ยให้ไม่ต่ำกว่า 3.00 จึงกำหนดไว้เพื่อความเท่าเทียม
ประเด็นเรื่องคะแนนสอบและความรู้ความสามารถของคนที่จะมาเป็น ‘พ่อ–แม่พิมพ์ของชาติ’ ในอนาคตนั้นทำให้หลายคนตั้งคำถามว่าควรตั้งเกณฑ์คะแนนอย่างไรเพื่อให้มีประสิทธิภาพสูงสุด และมันควรเป็นเรื่องที่ถูกพูดถึงหลายต่อหลายครั้งในสังคมว่าปัญหานี้ควรมีการแก้ไขอย่างจริงจังหรือไม่ รวมถึงคำถามที่ว่าเหตุใดอาชีพครูจึงไม่ใช่อาชีพอันดับต้นๆ ที่เด็ก ‘หัวกะทิ’ ที่มีระดับคะแนนดีให้ความสนใจ
ความเห็นส่วนหนึ่งมองว่าเป็นเพราะ ‘เงินเดือนค่าตอบแทน’ ที่ไม่ดึงดูดใจสำหรับคนที่มีระดับคะแนนดีซึ่งมักจะหันไปสนใจสายอาชีพอื่นๆ แทน และเมื่อติดตามข้อมูลอื่นๆ เช่น ฐานเงินเดือนของครูและบุคลากรทางการศึกษา ตาม พ.ร.บ.เงินเดือน เงินวิทยฐานะ และเงินประจำตำแหน่งข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2558 พบว่าเงินวิทยฐานะข้าราชการครูแบ่งออกตามตำแหน่งคือ
- ครูผู้ช่วย ขั้นต่ำ 15,050 บาท, ขั้นสูง 24,750 บาท
- ครู คศ.1 ขั้นต่ำ 15,440 บาท, ขั้นสูง 34,310 บาท
- ครู คศ.2 ขั้นต่ำ 16,190 บาท, ขั้นสูง 41,620 บาท
- ครู คศ.3 ขั้นต่ำ 19,860 บาท, ขั้นสูง 58,390 บาท
- ครู คศ.4 ขั้นต่ำ 24,400 บาท, ขั้นสูง 69,040 บาท
- ครู คศ.5 ขั้นต่ำ 29,980 บาท, ขั้นสูง 76,800 บาท
อย่างไรก็ดี หากมีการทำวิทยฐานะชำนาญการ หรือเชี่ยวชาญเพิ่มเติม จะสามารถเลื่อนขั้นเพื่อเพิ่มเงินเดือนได้ ดังนั้นความจริงแล้วหากเทียบกับอาชีพข้าราชการด้วยกันแล้วนับว่าเป็นเงินเดือนในระดับ ‘ทั่วไป’ แต่ประเด็นสำคัญคือสำหรับครูที่ถูกบรรจุในรูปแบบ ‘อัตราจ้าง’ จำนวนมากที่ไม่ได้ถูกกำหนดเงินเดือนที่ตายตัว ทำให้หลายคนมีเงินเดือนในระดับหลักพัน น้อยกว่ากลุ่มที่ได้บรรจุเข้าข้าราชการ
ค่าตอบแทนในวิชาชีพครูอาจเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้สายอาชีพไม่น่าสนใจสำหรับกลุ่ม ‘หัวกะทิ’ ทำให้สังคมตั้งคำถามว่าเพื่อพัฒนาศักยภาพของสายอาชีพ ที่อาจส่งผลถึงการเรียนรู้ของการศึกษาไทยในภาพรวม ควรสร้างแรงจูงใจให้คนเข้ามาทำงานในสายอาชีพครูมากขึ้นอย่างไรต่อไป?
อ้างอิง
- คมชัดลึก. ครูคืนถิ่นต่อรองลดคะแนนสอบTOEIC? . https://bit.ly/3HxU1MB
- Thansettakij. “สอบครูผู้ช่วย” 43,453 คน ราบรื่น เตรียมประกาศผลสอบภายใน 21 ก.พ.65. https://bit.ly/34f8wGN
- Kruchiangrai. สอบครูผู้ช่วย65 สอบอะไรบ้าง. https://bit.ly/3B3uhVQ
- พระราชบัญญัติเงินเดือน เงินวิทยฐานะ และเงินประจําตําแหน่ง ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2558. https://bit.ly/3FgRBAl
- มติชน. โชว์บัญชี ‘เงินเดือน–เงินวิทยฐานะ–ค่าตอบแทนพิเศษ’ ครู ‘พอ–ไม่พอ’ ใช้หนี้ธ.ออมสิน? . https://bit.ly/3cdxczE
- Tcij. รื้อปัญหาครู ระบบความเหลื่อมล้ำ ล้าหลัง ค่าจ้างรัฐสูง–เอกชนต่ำ เกษียณเยอะ งานหนัก ไม่อิสระฯ . https://bit.ly/3osPz9A