สรุปรายงานพิเศษโลกร้อนที่ 1.5 องศา และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ-ที่ดิน

7 Min
408 Views
14 Sep 2021

การประชุมเผยแพร่รายงานพิเศษเกี่ยวกับภาวะโลกร้อนที่ . องศาเซลเซียส (Special Report on Global Warming of 1.5 °C) และรายงานพิเศษเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและที่ดิน (Special Report on Climate Change and Land)

สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) โดยกองประสานการจัดการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (กปอ.) จัดการประชุมเผยแพร่รายงานพิเศษเกี่ยวกับภาวะโลกร้อนที่ ๑.๕ องศาเซลเซียส (Special Report on Global Warming of 1.5 °C) และรายงานพิเศษเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและที่ดิน (Special Report on Climate Change and Land) ภายใต้โครงการวิเคราะห์ข้อมูลและจัดทำข้อเสนอแนะเชิงวิชาการจากรายงานฉบับพิเศษของคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เมื่อวันอังคารที่ ๓ สิงหาคม ๒๕๖๔ เวลา ๐๙.๓๐ น. โดยเป็นการประชุมผ่าน สื่ออิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งได้รับเกียรติจาก ดร.รวีวรรณ ภูริเดช เลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นประธานกล่าวเปิดการประชุม โดยการประชุมดังกล่าวเป็นการนำเสนอผลการศึกษาที่เกี่ยวข้องกับข้อมูลจากรายงานพิเศษ ๒ ฉบับข้างต้น และรับทราบข้อเสนอแนะเพิ่มเติมเพื่อนำไปปรับปรุงข้อเสนอแนะเชิงวิชาการสำหรับประยุกต์ใช้ด้านนโยบายและแผนการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศ ซึ่งมีผู้เข้าร่วมประชุมประกอบด้วย หน่วยงานภาครัฐ ผู้เชี่ยวชาญ นักวิชาการ สถาบันการศึกษา และเจ้าหน้าที่ สผ. จำนวนกว่า ๒๐๐ คน

ความเป็นมา

การประชุมคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (IPCC) ของอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (UNFCCC) สมัยที่ 43 (.. 2559) ได้จัดทำรายงานฉบับพิเศษเกี่ยวกับภาวะโลกร้อนที่ 1.5 องศาเซลเซียส และรายงานฉบับพิเศษเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและที่ดิน เพื่อเป็นข้อมูลประกอบในการจัดทำรายงานประเมินสถานการณ์ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ฉบับที่ 6 (AR6) ของ IPCC และจะเป็นรายงานข้อมูลที่เกี่ยวข้องด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจากทั่วโลก ซึ่งประเทศส่วนใหญ่จะนำข้อมูลจากรายงานดังกล่าวไปวิเคราะห์ความเชื่อมโยงกับผลกระทบจากการดำเนินงานภายในประเทศ เพื่อกำหนดเป้าหมายที่เหมาะสมสำหรับการเตรียมความพร้อมที่จะรองรับและปรับตัวจากผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นได้

สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ในฐานะหน่วยประสานงานกลางของ UNFCCC จึงเห็นควรให้จัดทำโครงการวิเคราะห์ข้อมูลและจัดทำข้อเสนอแนะเชิงวิชาการจากรายงานฉบับพิเศษของคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อเป็นแนวทางในการกำหนดนโยบายและเผยแพร่องค์ความรู้ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อวิเคราะห์ผลการศึกษาที่ได้จากการศึกษาข้อมูลจากรายงานพิเศษทั้ง 2 ฉบับ ในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับบริบทของประเทศไทย และเชื่อมโยงผลวิเคราะห์จากนโยบายของประเทศและผลงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับรายงานพิเศษ 2 ฉบับ เพื่อนำมาจัดทำข้อเสนอแนะเชิงวิชาการสำหรับเป็นแนวทางในการกำหนดนโยบายด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

ผลการศึกษารายงานพิเศษเกี่ยวกับภาวะโลกร้อนที่
1.5 องศาเซลเซียส และรายงานพิเศษเกี่ยวกับ
การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและที่ดิน

1. รายงานพิเศษเกี่ยวกับภาวะโลกร้อนที่ 1.5 องศาเซลเซียส

สถานการณ์ปัจจุบัน

จากข้อมูลปี ค.. 2017 (.. 2560) พบว่ากิจกรรมของมนุษย์ได้ส่งผลให้อุณหภูมิโลกสูงขึ้นประมาณ 1 oC เมื่อเทียบกับระดับก่อนยุคอุตสาหกรรม และคาดว่าภาวะโลกร้อนที่ 1.5 oC จะเกิดขึ้นภายในปี ค.. 2040 (.. 2583) การหลีกเลี่ยงภาวะ
โลกร้อนที่ 1.5 oC มีความเป็นไปได้ ขึ้นอยู่กับการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในอนาคต

ผลกระทบของภาวะโลกร้อนที่ 1.5 และ 2 องศาเซลเซียส

เพียงการร้อนขึ้นครึ่งองศา สร้างความแตกต่างในแง่ผลกระทบได้อย่างมาก

ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแม้ว่าจะเป็นวงกว้าง แต่กลุ่มที่ได้รับผลกระทบส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มที่เปราะบาง เช่น กลุ่มเกษตรกรหรือผู้อาศัยอยู่บริเวณชายฝั่ง ประชากรที่ยากจนในแอฟริกาและบริเวณเกาะขนาดเล็กต่างๆ ทางเลือกในการปรับตัวก็จะมี trade-off เกิดขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และมีความสัมพันธ์กับ SDGs ต่างๆ

โอกาสในการจำกัดภาวะโลกร้อนที่ 1.5 องศาเซลเซียส
และความจำเป็นสำหรับการดำเนินงานที่เร่งด่วน

การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของโลกทั้งหมดสุทธิ

ภายใต้วิถีการจำกัดภาวะโลกร้อนที่ 1.5 oC การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ของโลกสุทธิ ในปี ค.. 2030 จะต้องลดลงประมาณ 45% จากระดับของปี ค.. 2010 และถึงระดับศูนย์สุทธิ ประมาณปี ค.. 2050

หลักการของการจำกัดภาวะโลกร้อนที่ 1.5 °C คือ พยายามลดการปล่อย CO2 ให้เหลือศูนย์โดยเร็วที่สุด อย่างไรก็ตามเป้าหมายที่ระบุในแผนการลดก๊าซเรือนกระจก Nationally Determined Contributions (NDCs) ปัจจุบันไม่สามารถจำกัดภาวะโลกร้อนที่ 1.5 °C ได้จึงต้องมีการเพิ่มความมุ่งมั่นในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้มากขึ้น

การจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิที่ 1.5 °C ต้องอาศัยการเปลี่ยนแปลงเชิงระบบ (transformative systematic change) 4 ระบบหลัก คือ 1) ระบบพลังงาน 2) การใช้ประโยชน์ที่ดินและระบบนิเวศ 3) ระบบเมืองและโครงสร้างพื้นฐาน และระบบอุตสาหกรรมและมีเครื่องมือเชิงนโยบายที่หลากหลายเช่นการลดการอุดหนุนเชื้อเพลิงฟอสซิลการใช้นวัตกรรมกลไกด้านราคาและเครื่องมือเชิงนโยบายระหว่างประเทศ

เทคโนโลยี Carbon Dioxide Removal (CDR) เป็นเทคโนโลยีที่มีความสำคัญต่อทุกวิถีการลดก๊าซเรือนกระจก โดยช่วยให้มุ่งไปสู่จุดที่เป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutral) ได้เร็วขึ้น เช่น การปรับใช้เทคโนโลยีการผลิตพลังงานชีวภาพควบคู่กับการดักจับและกักเก็บคาร์บอน (Bio-Energy with Carbon Capture and Storage: BECCS) คาดว่าการใช้งานส่วนใหญ่จะอยู่ในช่วงครึ่งหลังของศตวรรษที่ 21

2. รายงานพิเศษเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและที่ดิน

สถานการณ์ปัจจุบัน

การใช้ประโยชน์ที่ดิน และการใช้ประโยชน์จากระบบนิเวศ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เนื่องจากความต้องการพื้นที่สร้างผลผลิตชีวภาพ (biological productivity) ประมาณ 1 ใน 3 ของพื้นที่ของโลก พื้นที่เพาะปลูก (Croplands) เพื่อตอบสนองความต้องการอาหารประมาณ 12–14% ของพื้นที่ของโลก ส่งผลต่อความต้องการในการใช้ปุ๋ย  การใช้น้ำในระบบชลประทานเพื่อกระบวนการผลิตของภาคเกษตร และพื้นที่ป่าไม้ถึง 60-85% รวมถึงทรัพยากรธรรมชาติอื่น ๆ อีกถึง 70-90% ตลอดจนการลดลงของความหลากหลายทางชีวภาพ 11-14%

ผลกระทบจากมาตรการลดก๊าซเรือนกระจกที่เกี่ยวข้องกับที่ดิน

ภาคการเกษตร ป่าไม้ และการใช้ประโยชน์ที่ดิน (Agriculture, forestry and other land use: AFOLU) เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยคิดเป็น 23% ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งหมดของโลก การทำลายป่า (deforestation) ที่เกิดขึ้นในประเทศกำลังพัฒนานับเป็นสาเหตุสำคัญในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพิ่มขึ้นสู่บรรยากาศ ในขณะที่กระบวนการผลิตทางการเกษตร เช่น นาข้าว ปศุสัตว์ และการเพาะปลูกที่ใช้ปุ๋ยเคมี โดยภาคการเกษตร ป่าไม้ ก็นับเป็นสาเหตุสำคัญที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจก

สารมลพิษช่วงชีวิตสั้น (Short-Lived Climate Forcers: SLCFs) ประกอบด้วยฝุ่นหิน (mineral dust) ละอองทางอากาศที่มีคาร์บอนเป็นองค์ประกอบ (คาร์บอนต่ำ (black carbon: BC) และคาร์บอนอินทรีย์ (organic carbon: OC)) และสารประกอบอินทรีย์ระเหยทางชีวภาพ (biogenic volatile organic carbon: BVOC) โดยเป็นอนุภาคที่มีผลกระทบทางอ้อมต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ มีผลต่อการแลกเปลี่ยนการแผ่รังสี การดูดซับหรือการแผ่รังสี และส่งผลต่อระบบนิเวศในระดับภูมิภาค รวมถึงการเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดินด้วย

มาตรการที่สามารถลดการปล่อยและเพิ่มการดูดกลับก๊าซเรือนกระจกได้ เช่น การลดการทำลายป่า การลดพื้นที่ป่าเสื่อมโทรม การเปลี่ยนแปลงวิธีการบริโภคอาหาร การลดปริมาณขยะที่เกิดจากการผลิตของภาคเกษตร การเพิ่มพื้นที่ป่า ฟื้นฟูป่า และปลูกป่า ซึ่งเป็นส่วนที่ดูดซับ CO2 การปลูกพืชพลังงาน การควบคุมหรือลดการใช้ปุ๋ยไนโตรเจน การลด CH4 และ CO2 ในพื้นที่ป่าพรุหรือพื้นที่ชุ่มน้ำ

ความเสื่อมโทรมของที่ดิน

การประเมินความเสื่อมโทรมที่ดิน พบว่า ตั้งแต่ปี .. 2542-2554 พื้นที่ประมาณ 20% อยู่ในภาวะเสื่อมโทรม

ส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ทุ่งหญ้า และ พ..2544-2548 พบว่าพื้นที่ป่าไม้ของโลกถูกรบกวนแบ่งเป็นการทำลายป่า 27% การจัดการป่า 26% พื้นที่ป่าถูกเปลี่ยนแปลงเป็นการเกษตร 24% และพื้นที่ถูกไฟป่า 23%

การแก้ปัญหาความเสื่อมโทรมของที่ดินมี 3 แนวทางสำคัญ ได้แก่ 1) การดำเนินมาตรการลดก๊าซเรือนกระจกสามารถดำเนินการได้โดยการเพิ่มพื้นที่ป่า เช่น การปลูกป่าในพื้นที่ที่ไม่เคยเป็นป่ามาก่อน (Afforestation) การปลูกป่าในพื้นที่ที่เคยเป็นป่ามาก่อน (Reforestation) ในพื้นที่เคยเสื่อมโทรม 2) การส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากชีวมวลให้เกิดประโยชน์อย่างยั่งยืน เช่น การเปลี่ยนวิธีใช้พลังงานจากเชื้อเพลิงชีวมวลแบบดั้งเดิม (Conventional Biomass) ไปเป็นเทคโนโลยีที่ทันสมัยมากขึ้น มีประสิทธิภาพมากขึ้น และ 3) มาตรการป้องกันและลดความเสื่อมโทรมของที่ดิน มาตรการจัดการที่ดินอย่างยั่งยืน การฟื้นฟูพื้นที่เสื่อมโทรม การฟื้นฟูระบบนิเวศ

การแปรสภาพที่ดินเป็นทะเลทราย

การแปรสภาพที่ดินเป็นทะเลทราย (desertification) อาจเกิดจากกิจกรรมของมนุษย์และความแปรปรวนของภูมิอากาศ เช่น การขยายพื้นที่เพาะปลูก การจัดการที่ดินที่ไม่ยั่งยืน เป็นต้น แนวทางการรับมือกับภัยแล้ง ได้แก่ การให้ความช่วยเหลือและชดเชยความเสียหาย การจัดทำแผนเพื่อเตรียมรับมือกับภัยแล้ง การบรรเทาความเสี่ยงจากภัยแล้งโดยใช้มาตรการเชิงรุก และการบริหารจัดการเพื่อลดผลกระทบในอนาคต

ความมั่นคงทางอาหาร

ความมั่นคงทางอาหารจะได้รับผลกระทบมากขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เช่น ระบบทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์จะมีความเปราะบาง (Vulnerability) ต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสูงมาก รวมถึงการผลิตผักและผลไม้ก็มีความอ่อนไหวเช่นกัน โดยเฉพาะผลผลิตที่ลดลงจากความเครียดจากความร้อนที่เพิ่มขึ้นในเขตร้อนชื้นหรือกึ่งร้อนชื้น

ผลการวิเคราะห์ข้อมูลและจัดทำข้อเสนอแนะเชิงวิชาการโดยใช้ข้อมูลจากรายงานพิเศษเกี่ยวกับภาวะโลกร้อนที่1.5 องศาเซลเซียส และรายงานพิเศษเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและที่ดิน

สำหรับประเทศไทยซึ่งเป็นประเทศที่มีส่วนในการปล่อยและลดก๊าซเรือนกระจกภายใต้แผนการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศปี .. 2564-2573 ภายใต้การดำเนินงานของสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ความท้าทายหากดำเนินตามแนวทางของรายงานฉบับพิเศษ พบว่าประเทศไทยจะต้องมีความพยายามในการพัฒนานโยบายต่าง ที่สำคัญเพื่อตั้งเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศที่สูงขึ้นหรือมีเป้าหมายการปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Carbon) โดยมีข้อเสนอแนะในการพัฒนานโยบายในเรื่องภาวะโลกร้อนที่ 1.5 องศาเซลเซียส และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและที่ดิน 7 แนวทางที่สำคัญดังนี้

นอกจากการพัฒนานโยบายด้านการจัดการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแล้ว การเสริมสร้างองค์ความรู้โดยเฉพาะการพัฒนาหลักสูตรการศึกษาในระดับความรู้ทั่วไป เพื่อให้เกิดความรู้และความเข้าใจที่แพร่หลาย จนเกิดความตระหนักของการมีส่วนร่วมการลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และองค์ความรู้ระดับสูงที่เน้นการศึกษา งานวิจัยและพัฒนาเพื่อที่จะนำข้อมูลไปใช้ประโยชน์ในการวิเคราะห์หรือคาดการณ์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

ท้ายที่สุด ในการที่จะลดผลกระทบจากภาวะโลกร้อน และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและที่ดิน ยังคงเป็นความท้าทายที่สำคัญของทุกประเทศที่ต้องร่วมมือกันตามบริบทของแต่ละประเทศ รวมถึงประเทศไทยซึ่งมีหลายมิติที่เชื่อมโยงและได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโดยตรงและโดยอ้อม และส่งผลกระทบและนำไปสู่ปัญหาด้านอื่น ๆ เช่น ความยากจน ความเหลื่อมล้ำ เป็นต้น ดังนั้นปัจจัยความสำเร็จในการพัฒนานโยบาย และการนำเครื่องมือด้านนโยบายต่าง ๆ ไปใช้ ขึ้นอยู่กับมุมมองภาครัฐที่เป็นผู้กำหนดนโยบายและเชื่อมโยงนโยบายอื่น ๆ แบบบูรณาการ และภาครัฐเองเป็นหน่วยงานที่ขับเคลื่อนที่สำคัญ โดยต้องส่งเสริมและสนับสนุนความร่วมมือของทุกภาคส่วน