1 Min

สาวถามหานกปริศนาด้วยการวาดภาพ ชาวเน็ตตอบ อ่อ! นี่มัน ‘นกกระสาปากพลั่ว’ ที่ตัวสูงเท่าคน แถมยังกินลูกจระเข้ได้แบบชิลๆ 1 คำโอมากาเสะ

1 Min
293 Views
04 Mar 2024

เป็นกระแสอีกครั้งเมื่อสมาชิกท่านหนึ่งของกลุ่ม ‘นี่ตัวอะไร’ บนแพลตฟอร์มเฟซบุ๊ก ได้โพสต์สเตตัสตั้งคำถามในกลุ่มว่า

“สอบถามผู้รู้ค่ะ พอดีไปเที่ยวแล้วเจอน้องตัวนี้มาแต่จำชื่อน้องไม่ได้ ชอบหน้าน้องมากน้องดูโหดดี ได้โปรดเถอะค่ะเถียงกับแฟนนอนไม่หลับ ไปหาในเน็ตไม่เจอไม่รู้จะพิมพ์ว่าไงอยากได้รูปน้องด้วยค่ะลืมถ่ายไว้” 

โดยผู้ที่ตั้งสเตตัสถามนี้ก็ได้แนบภาพของรูปนกปริศนาตัวหนึ่งที่มีใบหน้าไม่เป็นมิตรชวนท้าตีท้าต่อยมาประกอบเพื่อให้ผู้อ่านเห็นภาพ งานนี้ทำเอาชาวเน็ตผู้เชี่ยวชาญ เข้ามาแสดงความคิดเห็นตอบกลับว่าเจ้านกที่ถามถึงนั้นคือ ‘นกกระสาปากพลั่ว’

นกกระสาปากพลั่ว (Shoebill) นี้ ถือเป็นนกขนาดใหญ่ชนิดหนึ่งในประเภทนกกระทุง โดยมีถิ่นกำเนิดและถิ่นที่อยู่อาศัยในทวีปแอฟริกา โดยนกกระสาปากพลั่วนั้นจะมีขนาดตัวโตเต็มวัยสูงตั้งแต่ 115-150 เซนติเมตร โดยประมาณ ซึ่งเท่ากับความสูงของสาวเอเชียมาตรฐาน และมีขนาดปีกขณะกางอยู่ที่ 230-260 เซนติเมตร นอกจากนี้ยังมีจุดเด่นอยู่ที่จะงอยปากหนารูปทรงประหลาดต่างจากนกชนิดอื่นๆ ชวนให้เรานึกถึงไดโนเสาร์บินได้ในยุคโบราณ  

ปากอันใหญ่โตนี้เองทำให้มันกลายเป็น ‘สุดยอดนักล่า’ ที่มักจะซุ่มโจมตีเหยื่ออยู่นิ่งๆ ริมหนองน้ํา ก่อนที่จะพุ่งลงไปจับเหยื่อและกลืนเข้าไปทั้งตัวด้วยปากขนาดยักษ์ 

จากการศึกษาในปี 2015 ที่ตีพิมพ์ใน ‘วารสารปักษีวิทยาแอฟริกัน’ (Journal of African Ornithology) พบว่ากว่า 71 เปอร์เซ็นต์ ที่เป็นเหยื่อของมันคือปลาดุก รองลงมาคือปลาไหล งู และลูกจระเข้ที่มันสามารถกลืนลงไปได้ภายในคำเดียว

.

นกกระสาปากพลั่ว เริ่มเป็นที่รู้จักในแวดวงวิทยาศาสตร์ จากการที่มีคนนำหนังของมันเข้ามาขายในยุโรป ทว่ามันกลับเป็นที่รู้จักอยู่แล้วตั้งแต่สมัยอียิปต์โบราณ โดยปรากฏภาพเขียนของมันและมีการเรียกชื่อว่า ‘Abu Markub’ ที่มีความหมายว่า ‘ผู้มากับรองเท้า’ ซึ่งมาจากจะงอยปากที่มีลักษณะเหมือนรองเท้าขนาดใหญ่นั่นเอง 

แต่แม้จะแข็งแกร่งเพียงใด นกกระสาปากพลั่วกลับถูกจัดอยู่ในสัตว์ที่มีภาวะเสี่ยงใกล้สูญพันธุ์จากบัญชีแดงของสหภาพเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ ของสหภาพนานาชาติเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติและทรัพยากรธรรมชาติ (IUCN) ซึ่งในปัจจุบันพบว่ามีนกกระสาปากพลั่วเหลือเพียง 5,000-8,000 ตัวเท่านั้นในโลก

อ้างอิง