ว่าด้วย SPQR สัญลักษณ์คลาสสิกของ ‘เผด็จการในคราบประชาธิปไตย’ ที่ใช้กันมาตั้งแต่จักรวรรดิโรมัน
สำหรับคนยุโรปและคนเชื้อสายยุโรป ยุคที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของพวกเขาคือยุคโรมัน และก็ไม่แปลกที่จะมีคนจำนวนไม่น้อยโหยหาอดีต และพยายามแสดง ‘สัญลักษณ์แบบโรมัน’ เพื่อเป็นการเชิดชูอดีตอันรุ่งโรจน์ ซึ่งการใช้สัญลักษณ์นี้ ในปัจจุบันถูกใช้มากในลัทธิชาตินิยมคนขาว (White Nationalism) และสัญลักษณ์ที่ว่าก็คือ SPQR สัญลักษณ์ของ อาณาจักรโรมันที่ปรากฏบ่อยๆ ในหนังไปจนถึงเกม และทำให้คนปัจจุบันเชื่อกันว่า นี่คือ ‘สัญลักษณ์ของชาวโรมันยุครุ่งเรือง’ ที่เป็นเหมือน ‘ธงชาติ’ ในยุคนั้น
ก่อนอื่นเลยเราต้องบอกว่าการมองว่าคนโรมันโบราณมองว่า SPQR คือ ‘สัญลักษณ์’ ของพวกเขาน่าจะเป็นสิ่งที่ผิด แต่เอาจริงๆ การ ‘เข้าใจผิด’ นี้ก็ไม่ได้เพิ่งเกิด มันมีมาเป็นพันปี หรือกล่าวให้ตรงก็คือมันถูกพยายามทำให้คนเข้าใจว่าเป็น ‘สัญลักษณ์ของอาณาจักรโรมัน’ มาตั้งแต่ยุคโรมัน
แน่นอน อาจฟังดูงงๆ แต่เราจะไม่งงถ้าเข้าใจความหมายของ ‘ตัวย่อ’ SPQR ซึ่งตัวย่อนี้ในทางประวัติศาสตร์มันชัดเจนว่าย่อมาจาก ‘Senatus Populusque Romanus’ ที่เป็นภาษาละติน หมายความว่า ‘วุฒิสภาและประชาชนชาวโรมัน’
ตรงนี้ถ้าใครพอรู้ประวัติศาสตร์ ก็จะรู้ว่ายุคที่อาณาจักรโรมันรุ่งเรืองตอนแรกนั้นคือยุค ‘สาธารณรัฐโรมัน’ (Roman Republic) คือยุคที่เป็น ‘ประชาธิปไตย’ ที่สุด ยังไม่มีจักรพรรดิ ปกครองผ่านวุฒิสภา ที่วุฒิสมาชิกมาจากประชาชน ยุคนี้นี่แหละที่บ้านเมืองอยู่ใต้การปกครองของ ‘วุฒิสภาและประชาชนชาวโรมัน’ จริงๆ
ในแง่นี้มันก็สมเหตุสมผลมากที่ ‘รัฐบาลโรมัน’ จะใช้ตัวย่อว่า SPQR ซึ่งหมายถึง ‘รัฐบาลและประชาชน’ เพราะคนโรมันในยุคสาธารณรัฐก็เชื่อว่า ‘อำนาจอธิปไตยต้องมาจากประชาชน’
แต่เรื่องตลกร้ายคือ จริงๆ แล้วไม่มีหลักฐานใดเลยในยุคที่ ‘อำนาจอธิปไตยมาจากประชาชน’ จะมีการใช้โลโก้ SPQR เพื่อป่าวประกาศย้ำว่า ‘อำนาจอธิปไตยต้องมาจากประชาชน’
อ้าว แล้วโลโก้นี้มาจากไหน?
คำตอบคือ มาจากยุคจักรวรรดิ หรือยุคที่ ‘เผด็จการ’ ในนาม ‘จักรพรรดิ’ ครองอำนาจแล้ว
ในยุคจักรวรรดินั้น เริ่มแรกจักรพรรดิไม่ได้มีอำนาจเด็ดขาด หรือพูดให้ตรงก็คือ ภายใต้ทฤษฎีการเมือง ‘อำนาจอธิปไตย’ ไม่ได้เป็นของจักรพรรดิ (ซึ่งนี่ต่างจากพวกทฤษฎีการเมืองยุคต่อมาที่เชื่อว่ากษัตริย์ได้รับอำนาจการปกครองมาจากพระเจ้า) แต่เป็นของประชาชน ประชาชนโรมันก็ยังคิดแบบนั้น และในแง่นี้เวลาพวก ‘จักรพรรดิ’ ใช้อำนาจ ก็มักจะอ้างว่าที่มาของอำนาจคือประชาชน แค่เขาเป็นผู้ใช้อำนาจนั้นแทนประชาชน
และนี่เลยเป็นเหตุผลว่าในยุคของจักรวรรดิ โลโก้ SPQR จึงปรากฏไปทั่ว และหลักฐานทางโบราณคดีที่มีการแสดงโลโก้นี้ตั้งแต่เหรียญไปจนถึงสถาปัตยกรรม ก็มาจากยุคนี้ทั้งสิ้น
ให้เทียบแบบปัจจุบัน มันก็น่าจะคล้ายๆ การเปลี่ยนการปกครองมาเป็น ‘เผด็จการ’ แต่มีการเขียนในเอกสารราชการและสถานที่ราชการบอกประชาชนซ้ำๆ ว่า ‘อำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน’
พูดอีกแบบคือ นี่เป็นการ ‘สะกดจิต’ ประชาชนให้คิดว่าตัวเองมีอำนาจ ทั้งๆ ที่ตัวเองไม่ได้มีอำนาจเลย และนี่คือความหมายที่แท้จริงของ SPQR ในยุคแรกเริ่ม
แต่ความตลกร้ายจริงๆ คือหลังจากนั้น
SPQR ถูกใช้ซ้ำๆ โดยทุกรัฐบาลและสถาบันทางการเมืองที่เชื่อว่าตนเอง ‘เป็นผู้สืบทอดของอาณาจักรโรมัน’ ซึ่งก็แน่นอน คือเวลาอ้างมันก็จะอ้างเหมือนยุคจักรวรรดิเลย คือบอกว่าอำนาจมาจากประชาชน แต่ในทางพฤตินัย ประชาชนไม่มีอำนาจ วุฒิสภาก็ไม่มีอำนาจ ตัวอำนาจมาจากตัว ‘ผู้นำทางการเมือง’ ที่อ้างอำนาจประชาชนมาใช้เองเน้นๆ
ยุคที่ใกล้ปัจจุบันสุดคือยุคฟาสซิสต์อิตาลี ที่จอมเผด็จการอย่างเบนิโต มุสโสลินี ก็ได้ใช้ SPQR เป็นโลโก้ของรัฐ และมีการนำโลโก้นี้ไปติดไว้ ตั้งแต่ตามฝาท่อระบายน้ำยันตึกรามบ้านช่องต่างๆ ซึ่งความหมายของมันก็ทับซ้อนว่า เป็นการกลับไปหาอาณาจักรโรมัน และใช่แล้ว มันคือการที่ ‘เผด็จการที่อ้างประชาชน’ นั้นอ้างสัญลักษณ์ของ ‘เผด็จการที่อ้างประชาชน’ ของอีกยุคมาใช้
และก็ไม่แปลกเลยที่ความ ‘ตลกร้าย’ และความหมายทับซ้อนกันหลายทอดนี้มันก็ทำให้พวกนักชาตินิยมคนขาวนำโลโก้นี้กลับมาใช้อีกตาม ‘จารีต’ ของมันเป๊ะๆ ที่เป็นการสนับสนุน ‘เผด็จการในคราบประชาธิปไตย’ ในยุคปัจจุบัน
อ้างอิง
- Hyperallergic. The Misuse of an Ancient Roman Acronym by White Nationalist Groups. http://tinyurl.com/4dzv53mj