2 Min

‘โรงเรียนไม่ใช่สถานที่ปลอดภัย’ เปิดสถิติล่วงละเมิดทางเพศนักเรียน ปี 2556-2560

2 Min
793 Views
24 Nov 2020

‘โรงเรียนไม่ใช่สถานที่ปลอดภัย’

นี่คือหนึ่งในถ้อยคำรณรงค์ซึ่งเป็นประเด็นไวรัล จากการชุมนุมเรียกร้องโดยกลุ่ม ‘นักเรียนเลว’ เมื่อวันเสาร์ที่ 21 พฤศจิกายนที่ผ่านมา เพื่อชี้ให้เห็นปัญหาการล่วงละเมิดทางเพศเด็กนักเรียนในสถานศึกษานั้นมีอยู่จริง จนเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง

ศูนย์เฉพาะกิจคุ้มครองและช่วยเหลือเด็กนักเรียน สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เคยรวบรวมสถิติกรณีการฟ้องร้องคดีล่วงละเมิดทางเพศเด็กนักเรียนในช่วงปี พ.ศ.2556-2560 โดยพบว่าตลอด 5 ปีนี้ มีนักเรียนที่เผชิญปัญหาการถูกล่วงละเมิดทางเพศถึง 727 ราย

และในจำนวนนั้นมี 53 รายถูกล่วงละเมิดโดยครูหรือบุคลาการทางการศึกษา

อรรถพล อนันตวรสกุล อาจารย์ประจำคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชี้ว่าปัญหาและตัวเลขการล่วงละเมิดทางเพศที่เราเห็นนั้นเป็นเพียงยอดภูเขาน้ำแข็ง

เชื่อว่าตัวเลขที่แท้จริงของเหยื่อการล่วงละเมิดทางเพศมีมากกว่านั้นมาก เนื่องจากนักเรียนถูกล่วงละเมิดทางเพศส่วนใหญ่เลือกที่จะไม่บอกใคร เพราะรู้สึกว่าไม่สามารถพึ่งพาใครได้ เพราะโรงเรียนคือสถานที่จำลองการความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่างผู้ใหญ่กับเด็กที่ชัดเจนมาก

สาเหตุการล่วงละเมิดทางเพศในโรงเรียนเป็นเพราะ “ผู้ใหญ่” ใช้อำนาจในการล่วงละเมิด “ผู้น้อย” และสร้างความอับอายกดดัน

ทั้งนี้ ไม่ใช่เด็กผู้หญิงเท่านั้นที่ตกเป็นเหยื่อการล่วงละเมิดทางเพศ เด็กผู้ชายเองก็ตกเป็นเหยื่อของความสัมพันธ์เชิงอำนาจนี้ด้วยเช่นกัน

ด้านมูลนิธิสร้างความเข้าใจเรื่องสุขภาพผู้หญิง ระบุว่าการล่วงละเมิดทางเพศในโรงเรียนที่เราเห็นเป็นข่าวนั้นมีเพียง 5% ของจำนวนที่แท้จริงทั้งยังมีแนวโน้มที่มากขึ้น

และหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้เรื่องนี้เป็นปัญหายืดเยื้อเพราะกระทรวงศึกษาธิการไม่ได้มีนโยบายที่ชัดเจนในการแก้ไขปัญหา แม้ว่าจะพยายามให้มีการจัดการจากส่วนกลาง แต่กระบวนการอาจล่าช้าและไม่ทันการณ์ในการช่วยเหลือนักเรียนที่ถูกล่วงละเมิด

มูลนิธิสร้างความเข้าใจเรื่องสุขภาพผู้หญิงจึงเสนอให้มีหลักสูตรวิชาเรื่องเพศที่มีการสอนเรื่องการล่วงละเมิดอย่างชัดเจน โรงเรียนต้องสร้างสภาพแวดล้อมที่สร้างเสริมความรู้ รับฟัง ไม่ตัดสินเด็กที่มีปัญหา

และต้องเป็นศูนย์กลางในการรวบรวมและดึงเครือข่ายผู้ปกครองและชุมชนให้ร่วมกันหาแนวทางแก้ไขเรื่องนี้โดยเฉพาะ

อ้างอิง:

  • สำนักวิชาการ สำนักเลขาธิการผู้แทนราษฎร. เด็กนักเรียนกับการถูกล่วงละเมิดทางเพศ มีนาคม 2561. https://bit.ly/373eGXN
  • สำนักงานบริหารนโยบายของนายกรัฐมนตรี. การแก้ปัญหาการล่วงละเมิดทางเพศนักเรียนในโรงเรียน. https://bit.ly/2IZvKWA