รู้จัก “เห็ดแครง” สิ่งมีชีวิตประเภท ‘รา’ ที่มี 23,000 เพศ!

3 Min
951 Views
22 Mar 2021

Select Paragraph To Read

  • พืชก็ไม่ใช่ สัตว์ก็ไม่เชิง
  • แก่นสารการ “ร่วมเพศ”
  • สิ่งมีชีวิตที่มีมากกว่า 2 เพศ

โลกนี้มี “สิ่งมีชีวิต” ประหลาดมากมาย บางตัวก็อยู่ในเกาะที่โดดเดี่ยวจากแผ่นดินอื่น บางตัวก็อยู่ในถ้ำปิดตาย บางตัวก็อยู่ใต้ทะเลลึก แต่บางตัวก็อยู่ต่อหน้าต่อตาเรา แต่กว่ามนุษย์จะค้นพบ “ความประหลาด” ก็ใช้เวลายาวนานอยู่

และนี่คือเรื่องราวของสิ่งที่เรียกว่า “เห็ดแครง” ซึ่ง ‘มัน’ ไม่ใช่ทั้งสัตว์ ไม่ใช่ทั้งพืช

เห็ดแครง | Wikipedia

พืชก็ไม่ใช่ สัตว์ก็ไม่เชิง

เห็ดทั้งหลายเป็นสิ่งมีชีวิตในอาณาจักรรา (Fungi Kingdom) ซึ่งเป็นอาณาจักรที่ยกออกจากพืชและสัตว์ชัดเจน

ใครเคยเรียนชีววิทยาคงคุ้นๆ กันอยู่ แต่ถ้าจะถามว่ามันมีส่วนผสมของพืชและสัตว์ยังไง เอาง่ายๆ คือ คนจะเข้าใจว่าเห็ดเป็นพืชเพราะมันดูหน้าตาเหมือนพืช แต่ความต่างของ ‘เห็ด’ กับพืชคือสิ่งมีชีวิตในอาณาจักรราจะสังเคราะห์แสงไม่ได้อย่างพืช แต่มันจะต้องรับพลังงานในการมีชีวิตจากสารประกอบอินทรีย์เท่านั้น

พูดง่ายๆ ก็คือเห็ดต้องได้ “สารอาหาร” จาก “สิ่งมีชีวิต” อื่นๆ ไม่ทางตรงก็ทางอ้อม และนี่คือเหตุผลที่ทำให้มันเหมือน “สัตว์” มากกว่าพืช

ซึ่งความประหลาดของบรรดาสิ่งมีชีวิตในอาณาจักรราก็มีอีกมาก และถ้าไม่ต่างจากสิ่งมีชีวิตกลุ่มอื่นเยอะ เขาคงไม่แยกออกมาเป็นอาณาจักรต่างหาก แต่ตรงนี้เราจะพูดถึงความ “ประหลาด” ระดับไฮไลต์อย่างหนึ่งของสิ่งมีชีวิตในอาณาจักรนี้ซึ่งก็คือ “การร่วมเพศ”

แก่นสารการ “ร่วมเพศ”

ทำไมสิ่งมีชีวิตต้องร่วมเพศ?

ถามคนในโลกสังคมศาสตร์ก็คงตอบอย่าง ถามคนในโลกมนุษยศาสตร์ก็คงตอบอย่าง ถามเฟมินิสต์ก็คงจะตอบอย่าง แต่ถ้าไปถามนักชีววิทยา คำตอบก็คือ สิ่งมีชีวิตร่วมเพศก็เพื่อ “แลกเปลี่ยนพันธุกรรม” เพื่อส่งสิ่งที่ดีที่สุดในทางพันธุกรรมไปสู่ลูกหลาน

ดังนั้นการร่วมเพศในธรรมชาติจึงเป็นไปเพื่อสร้างสิ่งมีชีวิตที่ “ดีขึ้น” ในรุ่นต่อไป หรืออย่างน้อยก็ต้องเป็นไปเพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้สิ่งมีชีวิตในรุ่นต่อไป “แย่ลง” จากส่วนด้อยทางพันธุกรรม

นี่เลยทำให้สิ่งมีชีวิตที่อยู่ “ระดับสูง” ในทางชีววิทยานั้น “มีเพศ” เสมอ เพราะมันเป็นสิ่งมีชีวิตที่เกิดจากการผสมพันธุ์ของสองสิ่งมีชีวิตที่มีพันธุกรรมต่างกันมาไม่รู้กี่รุ่นต่อกี่รุ่น

และในทางกลับกันสิ่งมีชีวิตระดับต่ำในทางชีววิทยานั้นกลับ “ไร้เพศ” และสืบพันธุ์ด้วยการแบ่งเซลล์ ซึ่งแบบนี้ พวกมันจะไม่มีโอกาส “พัฒนา” ตัวเองในกระบวนการขยายพันธุ์

สุดท้าย ถ้าไปถามคนทั่วไป ก็คงจะคิดว่าราก็น่าจะเป็น “สิ่งมีชีวิตชั้นต่ำ” ที่ “ไร้เพศ” แต่ในทางตรงกันข้าม ความประหลาดของพวกมันคือ พวกมันมีเป็นพันเป็นหมื่นเพศกันปกติเลย

สิ่งมีชีวิตที่มีมากกว่า 2 เพศ

เอาล่ะ ก็มาถึง “ตัวอย่าง” สิ่งมีชีวิตในอาณาจักรราที่มีในไทยด้วย สิ่งนี้เรียกว่า “เห็ดแครง” และถ้าดูภาพนอก มันก็เป็นเห็ดปกตินี่แหละ คนไทยเอามากินด้วยซ้ำ โดยทางใต้จะเอามาทำแกงคั่ว

แกงคั่วเห็ดแครง | Krua.co

แต่ความประหลาดของเห็ดแครงคือ มันมี 23,000 เพศ ซึ่งเราก็ต้องมาดูกันว่านี่หมายความว่ายังไง

อย่างแรกสุด เราต้องเข้าใจก่อนว่าสิ่งมีชีวิตในอาณาจักรราทั้งหลาย มัน “ร่วมเพศ” ผ่านการประสานเซลล์โดยตรง โดยไม่ต้องใช้อสุจิกับไข่ แต่เซลล์สืบพันธุ์ของพวกมัน “รวมกัน” ได้โดยตรงเลย (อันนี้พูดง่ายๆ นะครับ) แบบ “แทบไม่จำกัดเพศ”

ซึ่งคีย์คือ “แทบ” คือมันไม่ได้ร่วมเพศโดยไม่มีกฎเกณฑ์ใดๆ
แล้วอะไรคือ “กฎเกณฑ์” ที่ว่า?

อันนี้ต้องเข้าใจก่อนว่า ปกติโครโมโซมเพศในสัตว์จะมีอยู่คู่เดียว และความเป็นไปได้ จะมีแค่ 2 แบบ คือมนุษย์ผู้ชายจะมี XY และผู้หญิงจะมี XX นี่ก็คือ “ระบบสองเพศ” แบบที่เราเข้าใจ

แต่สำหรับสิ่งมีชีวิตในอาณาจักรรา โครโมโซมเพศของพวกมันไม่ได้มีคู่เดียว และแต่ละคู่มันก็ไม่ได้มีความเป็นไปแค่อย่างหรือสองอย่าง เช่น เห็ดแครงมีโครโมโซมเพศ 2 คู่ โดยแบ่งเป็นคู่ A และ คู่ B แต่ละคู่ตัวแรกในคู่จะเรียก Alpha ตัวหลังจะเรียก Beta

ความมันส์ก็คือ ตัว A-Beta มีความเป็นไปได้ 32 แบบ ส่วน A-Alpha, B-Alpha และ B-Beta มีความเป็นไปได้ประมาณ 9 แบบ

ซึ่งนี่หมายความว่าเวลาแบ่งเพศของเห็ดแครงมันจะมีเพศอย่าง A-Alpha-1, A-Beta-1, B-Alpha-1, B-Beta-1 หรือเพศอย่าง A-Alpha-5, A-Beta-12, B-Alpha-3, B-Beta-4 ซึ่งทั้งหมดถือว่าเป็นคนละเพศกัน ระบุในทางพันธุกรรมได้อย่างชัดเจน

ลองคำนวณดูได้นะว่าจะมีส่วนผสมกันได้กี่แบบ ซึ่งถ้าคำนวณแล้วก็มีประมาณ 23,000 แบบ หรือนั่นหมายความว่าเห็ดแครงมีเพศรวมกันทั้งหมด 23,000 เพศนี่เอง

อ่านมาถึงตรงนี้ หลายคนอาจสงสัย นี่มันก็แค่ความต่างกันของพันธุกรรมนี่หว่า ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับ “เพศ” เลยเหรือเปล่า

ใจเย็นครับ…จะถึงแล้ว

อย่างที่ว่ามาก่อนหน้านี้ เห็ดแครงร่วมเพศได้อย่าง “แทบไม่จำกัดเพศ” มันไม่ได้ฟรีหมด และเงื่อนไขของการร่วมเพศที่ว่าก็คือ ต้องมีโครโมโซมเหมือนกันที่คู่ A และคู่ B อย่างต่ำ 1 ตัว

เช่น เห็ดแครงที่มีเพศ A-Alpha-1, A-Beta-1, B-Alpha-1, B-Beta-1 ก็จะสามารถร่วมเพศกับเห็ดแครงที่มีเพศ A-Alpha-1, A-Beta-5, B-Alpha-4, B-Beta-1 เพราะมันมี เพศ A-Alpha-1 และ B-Beta-1 ตรงกัน

แต่เห็ดแครงที่มีเพศ A-Alpha-1, A-Beta-1, B-Alpha-1, B-Beta-1 ก็จะไม่สามารถร่วมเพศกับเห็ดแครงที่มีเพศ A-Alpha-2, A-Beta-5, B-Alpha-4, B-Beta-1 เพราะ ไม่มีโครโมโซมเพศในคู่ A ตรงกันเลยแม้แต่คู่เดียว เป็นต้น

นี่แหละครับ “เพศวิถี” สุดประหลาด ในอาณาจักรราที่ทางชีววิทยายืนยันว่าเป็นแบบนี้

ดังนั้นอย่าไปคิดว่า “เพศตามธรรมชาติ” มีแค่ 2 เพศนะครับ เพราะธรรมชาติจริงๆ “ประหลาด” กว่านั้นเยอะ

อ้างอิง