‘ศาลเจ้าแม่ทับทิมสะพานเหลือง’ พื้นที่ประวัติศาสตร์ของบรรทัดทอง-สามย่าน กับการต่อสู้เพื่อไม่ให้เหลือเพียงความทรงจำ

3 Min
589 Views
05 Feb 2024

บรรทัดทองสามย่านเป็นอีกย่านที่มีการเปลี่ยนแปลงด้านที่อยู่อาศัยสูงมาก จากอดีตที่เคยเห็นเป็นทั้งตึกแถวที่พัก เป็นทั้งย่านค้าเก่าแก่ของทั้งคนจีนคนไทยเชื้อสายจีนที่ขยายตัวมาจากเยาวราช ทว่าปัจจุบันพื้นที่บางส่วนได้ทยอยถูกทุบทิ้ง นำไปสร้างเป็นคอนโดมิเนียม ทำให้บริบทโดยรอบของพื้นที่ดังกล่าว ต้องเผชิญการเปลี่ยนแปลงศาลเจ้าแม่ทับทิมสะพานเหลืองเป็นอีกหนึ่งจุดที่หลีกไม่พ้นการเผชิญหน้ากับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น 

จากเดิมที่เคยเป็นศาสนสถานสำคัญที่เป็นศูนย์รวมจิตใจของคนในชุมชน แต่ปัจจุบันถูกล้อมรอบด้วยไซต์ก่อสร้าง มีแต่แนวสังกะสีโอบล้อม เงยหน้าไปเห็นเครนก่อสร้างผงาดค้ำ เหลือทางเข้าเป็นช่องว่างเพียงเล็กน้อย จนนำมาสู่การคัดค้านของกลุ่มคนที่ไม่เห็นด้วยและรู้สึกหวงแหน เพราะสิ่งเหล่านี้มีคุณค่าทางจิตใจ ทั้งในแง่สถาปัตยกรรมและเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ ที่ไม่อาจสร้างขึ้นมาทดแทนได้

ศาลเจ้าแม่ทับทิมสะพานเหลืองนั้นเป็นศูนย์รวมความศรัทธา และเป็นหนึ่งในศูนย์กลางการขับเคลื่อนวิถีวัฒนธรรมของคนเชื้อสายจีนในย่านบรรทัดทองสามย่าน ที่สืบสานกันมาจวบจนถึงปัจจุบัน ที่นี่เป็นศาลเก่าแก่ที่มีประวัติความเป็นมาอย่างยาวนาน และอยู่ในบริเวณนี้ก่อนจะมีการพระราชทานพื้นที่เพื่อก่อตั้งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยมีองค์เจ้าแม่ทับทิม หรือเทียนโหวเซี้ยบ้อ’ (เทพนารีที่มีความสำคัญมากกับชาวจีน เป็นเทพประจำอาชีพประมง เชื่อกันว่าถ้าขอพรจะช่วยลดความเสี่ยง และอันตรายจากการเดินเรือ) ที่แกะสลักจากไม้ เป็นองค์เทพประธานประดิษฐานอยู่ในบ้านของชาวชุมชนสะพานเหลือง มาตั้งแต่เริ่มก่อตั้งชุมชน หากนับอายุรวมแล้วเชื่อว่าน่าจะยาวนานนับร้อยกว่าปี 

ในด้านสถาปัตยกรรมของศาลเจ้าแห่งนี้ ถูกสร้างด้วยสถาปัตยกรรมแบบจีนแต้จิ๋ว ที่เรียกว่าเตี่ยวโผกิกซึ่งมีลักษณะเด่นคือ หน้าบัน เป็นองค์ประกอบหนึ่งของโครงสร้างหลังคา หรือบริเวณเหนือประตูทางเข้าของศาล ที่มักจะเป็นรูปทรงเรขาคณิต ที่มีความเชื่อกระแสหลักเกี่ยวกับเรื่องธาตุ อีกทั้งในเชิงศิลปกรรมของศาลเจ้าแห่งนี้ มีการใช้เทคนิคงานแกะสลักปิดทองล่องชาดบนบัลลังก์ไม้ เสามังกรมีบทกวีอยู่ตามเสา ตุ๊กตากระเบื้องเป็นสิบๆ ตัวที่ประดับอยู่บนหลังคา รวมไปถึงการแกะสลักองค์เทพต่างๆ ซึ่งล้วนเป็นผลงานของช่างชาวจีนมากฝีมือในยุคนั้น 

ขณะเดียวกัน ที่นี่ยังถือเป็นศาลที่ได้รับความสำคัญมากศาลหนึ่ง เนื่องจากมีหลักฐานมาตั้งแต่อดีต นั่นคือกระถางธูปที่รัชกาลที่ 6 พระราชทานให้กับทางศาลเจ้า เป็นเครื่องสังเค็ดเนื่องในงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพรัชกาลที่ 5 ตั้งแต่เมื่อปี 2454 โดยบนกระถางธูปมีพระปรมาภิไธยย่อ จปร. พร้อมด้วยอักษรภาษาจีนสลักไว้ชัดเจน

จึงไม่แปลกที่ศาลเจ้าแม่ทับทิมสะพานเหลืองจะมีความสำคัญกับชุมชน ทั้งในแง่ที่พึ่งทางใจและในมิติอื่นๆ 

กลับมาที่ปมความขัดแย้ง ต้องย้อนกลับไปก่อนหน้านี้ที่สำนักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (PMCU) ได้ส่งหนังสือแจ้งถึงผู้ดูแลศาลเจ้าแม่ทับทิมสะพานเหลือง ให้ย้ายออกจากพื้นที่ เพื่อปรับพื้นที่เตรียมการก่อสร้างอาคาร ตามโครงการพัฒนาที่ดิน ทั้งนี้ทางจุฬาฯ ได้เตรียมพื้นที่ภายในบริเวณอุทยาน 100 ปี จุฬาฯ สำหรับก่อสร้างศาลเจ้าแม่ทับทิมแห่งใหม่ โดยต้องย้ายออกจากพื้นที่ภายในวันที่ 15 มิถุนายน 2563 โดยสำนักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่า พื้นที่บริเวณรอบศาลเจ้าแม่ทับทิมสะพานเหลือง เรียกว่าโครงการพัฒนา BLOCK 33 ที่ตั้งใจจะพัฒนาเพื่อสร้างย่านที่พักอาศัยที่เสริมสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้แก่ชุมชนอย่างยั่งยืน ด้วยเหตุทำเลที่ตั้งซึ่งเป็นจุดศูนย์กลางของย่านนี้ ที่สามารถเชื่อมโยงพื้นที่ต่างๆ ตั้งแต่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เขตชุมชน เขตพาณิชย์ และอุทยาน 100 ปี จุฬาฯ 

อย่างไรตาม กรณีนี้ทางกรมศิลปากรระบุว่า ศาลเจ้าแม่ทับทิมฯ ไม่ถือเป็นโบราณสถานหรือเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินตามกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ จึงไม่เข้าข่ายในการเข้ามาดูแลรักษา

หลังจากนั้นไม่นาน ก็เกิดกระแสคัดค้านในโลกออนไลน์ จนแฮชแท็ก #saveศาลเจ้าแม่ทับทิม ติดเทรนด์โซเชียลมีเดีย มีผู้คนออกมาแสดงความไม่เห็นด้วย พร้อมกับตั้งคำถามถึงแนวทางการพัฒนาที่กำลังลบล้างประวัติศาสตร์อันยาวนานของชุมชนแห่งนี้ รวมทั้งชาวบ้าน นิสิตจุฬาฯ ตลอดจนผู้คนที่มีความศรัทธา มาร่วมกันถือป้ายคัดค้าน และรวมพลังกันเคลื่อนไหว เพื่อปกป้องพื้นที่ทางประวัติศาสตร์ (ที่อาจจะเป็นมรดกของชุมชนแห่งสุดท้าย) ของย่านนี้ไว้ ควบคู่ไปกับการเคลื่อนไหวในโลกออนไลน์

ศาลเจ้าแม่ทับทิมสะพานเหลืองอาจไม่ได้เป็นศาสนสถานที่ผู้คนพากันมากราบไหว้หรือขอพรเท่านั้น แต่ยังมีคุณค่า มีความหมายกับผู้คนในพื้นที่ ด้วยความที่อยู่คู่กับชุมชนมากว่าร้อยปี จนเป็นเสมือนสัญลักษณ์ของชุมชน ที่ถึงแม้ว่าตอนนี้ตัวชุมชนแทบจะไม่หลงเหลืออยู่แล้ว ทว่าศาลเจ้าแห่งนี้ยังพอเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ ที่สามารถสะท้อนอัตลักษณ์ของชุมชนออกมาในหลากหลายมิติ ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่แห่งความเชื่อ ความศรัทธา อีกทั้งศิลปวัฒนธรรมและวิถีชีวิตของผู้คน

คงต้องติดตามบทสรุปการต่อสู้อันยาวนาน เพื่อรักษาคุณค่านี้ไว้ให้คงอยู่ต่อไป ว่าเรื่องราวนี้จะจบลงอย่างไร และหากจะต้องสูญเสียศาลเจ้าแห่งนี้ไปจริงๆ จะโยกย้ายเจ้าแม่ไปอยู่แห่งหนใด แล้วธรรมเนียมประเพณีที่ผู้คนเคยปฏิบัติร่วมกันมา อาจเลือนหายไปในที่สุดจริงหรือไม่

อ้างอิง