รู้ไหม ตอนนี้เราเลี้ยงปลาแซลมอนกันบนบกได้แล้ว

3 Min
9642 Views
18 May 2021

นับตั้งแต่คนเรารู้จักการกิน “ปลาแซลมอน” และเริ่มพัฒนาเทคโนโลยีการแบ่งปันอาหารทางไกลได้สำเร็จ ไม่ว่าจะเรื่องการขนส่งหรือการถนอมอาหารแบบต่างๆ “ปลาแซลมอน” ก็ค่อยๆ กลายเป็นเมนูโปรดของคนทั่วโลกไปโดยปริยาย

แต่ด้วยความนิยมที่เพิ่มขึ้น ก็ทำให้จำนวนแซลมอนที่เคยจับได้ง่ายและมีอยู่มากมายตามธรรมชาติเริ่มลดน้อยลง เพราะระบบนิเวศไม่สามารถผลิตได้ทันต่อความหิวของคนเรา

นอกจากจะเป็นที่โปรดปรานของคนแล้ว แซลมอนก็ยังเป็นอาหารหลักของสัตว์ในธรรมชาติอีกมาก

เมื่อความต้องการสวนทางกับจำนวนที่มี มนุษย์เราจึงคิดหาวิธีเพาะพันธุ์และทำฟาร์มเลี้ยงปลาแซลมอนขึ้นเอง โดยมีนอร์เวย์เป็นฐานที่มั่นรายใหญ่ ทั้งเป็นผู้บุกเบิกและครองตลาดค้าปลาแซลมอนส่งขายไปทั่วโลก นอกจากนี้ ยังมีแซลมอนของชิลี สกอตแลนด์ และแคนาดา เป็นต้นธารสายใหญ่รองลงมาในอุตสาหกรรม

ฟาร์มเลี้ยงแซลมอนในทะเล ประเทศนอร์เวย์

ฟาร์มเลี้ยงแซลมอนในทะเล ประเทศนอร์เวย์ | Norwegian Seafood Council

ความที่ปลาแซลมอนเป็นปลาในเขตน้ำจืดชอบอาศัยอยู่ในแหล่งน้ำเย็น พอเริ่มโตขึ้นก็ว่ายออกไปใช้ชีวิตอยู่กลางทะเล แล้วกลับมาวางไข่และตายในแหล่งน้ำจืดที่เป็นถิ่นกำเนิดของมันอีกที การทำฟาร์มแซลมอนส่วนใหญ่จึงแบ่งกระบวนการเพาะเลี้ยงเป็นสองระยะ เริ่มจากการฟักไข่ในบ่อน้ำจืด พอโตขึ้นก็ค่อยย้ายไปปล่อยสู่กรงตาข่ายในทะเล หลังจากเลี้ยงไปสักระยะจนได้น้ำหนักที่ต้องการก็ค่อยจับมาขาย

กระบวนการที่ว่ามานี้ ช่วยทำลายข้อจำกัดเรื่องจำนวนปลาในธรรมชาติลงได้ และทำให้ปลามีมากพอต่อความต้องการของคนเรา

อนาคตของปลาแซลมอนที่อยู่บนบก

แต่สิ่งที่ว่ามาทั้งหมดกำลังจะกลายเป็นอดีตไปแล้ว เพราะตอนนี้เราได้เดินทางมาถึงจุดที่มนุษย์สามารถเพาะเลี้ยงปลาแซลมอนได้ครบทั้งกระบวนการบนบก โดยแทบไม่ต้องพึ่งพากลไกทางสิ่งแวดล้อมกันเลยทีเดียว

อุตสาหกรรมแซลมอนในอนาคต กระบวนการทุกอย่างตั้งแต่ต้นจนจบจะถูกสร้างขึ้นในโรงงานเดียว ง่ายๆ แค่ปรับระบบน้ำ อุณหภูมิ ความจืดความเค็มให้เหมาะกับช่วงวัยในแต่ละบ่อก็พอ

แถมเมื่อวัฏจักรของปลาสามารถเกิดและจบได้ภายในโรงงานเดียว เราก็สามารถแปรรูป ใส่กล่อง พร้อมส่งขายได้ทันที โดยไม่ต้องขนย้ายไปมาระหว่างสถานที่ให้เสียเวลาเหมือนในอดีต

สิ่งที่เกิดขึ้นนี้ อาจจะเป็นมาตรฐานใหม่ของการเพาะเลี้ยงแซลมอนในอนาคต

โดยโรงงานเพาะเลี้ยงแซลมอนบนบกที่มีกระบวนการครบวงจรนี้เกิดขึ้นแล้วที่สหรัฐอเมริกา ลงทุนโดย Atlantic Sapphire ซึ่งเป็นบริษัททำฟาร์มแซลมอนรายใหญ่ของนอร์เวย์ นอกจากนี้ ก็ยังมีบริษัทอื่นๆ ที่พยายามลงทุน ออกแบบ และสร้างโรงงานในลักษณะเดียวกันอีกกว่า 40 แห่งทั่วโลก (อยู่ในระหว่างดำเนินการก่อสร้าง)

Atlantic Sapphire ได้ลงทุนเปิดโรงงานและเริ่มเฟสการเพาะเลี้ยงรอบแรกไปเมื่อปี 2019 ซึ่งอีกไม่นานเราก็คงมีโอกาสได้ลองลิ้มรสแซลมอนที่เลี้ยงแบบปิดนี้ (การเพาะเลี้ยงจนโตพร้อมขาย มักจะใช้เวลาราว 20 เดือน)

แน่นอนว่าการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาเทคโนโลยีนี้ขึ้น ก็เพื่อรองรับความต้องการ (กิน) แซลมอนของคนที่อาจเพิ่มมากขึ้นอีกในอนาคต

เฉพาะในสหรัฐฯ การบริโภคปลาแซลมอนเพิ่มขึ้นประมาณ 9 เปอร์เซ็นต์ทุกๆ ปี ในขณะที่เราไม่สามารถจับปลาในมหาสมุทรได้มากกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบันอีกแล้ว

การหาทางพัฒนาแหล่งโปรตีนขึ้นมาใหม่ จึงเป็นแนวทางที่สำคัญในวันข้างหน้า (ทั้งยังตอบโจทย์เรื่องความมั่นคงทางอาหารที่อาจขาดแคลน เมื่อประชากรโลกเพิ่มมากขึ้น)

หรือหากว่ากันเฉพาะเรื่องแซลมอน ปัจจุบันการทำฟาร์มแบบเดิมในบ่อพักกลางทะเลค่อนข้างมีเงื่อนไขด้านสิ่งแวดล้อมและกฎระเบียบเพิ่มมากขึ้น และเราก็เริ่มมาถึงขีดจำกัดในการเพิ่มสถานที่เลี้ยงในธรรมชาติแล้วด้วย

แถมในอนาคต ยังมีปัญหาความแปรปรวนของสภาพอากาศที่เอาแน่เอานอนไม่ได้ ความผันแปรของอุณหภูมิน้ำทะเลที่อาจไม่เหมือนเดิมเพราะปัญหาโลกร้อนตามมามากขึ้น

ฟาร์มปลาแซลมอนในสหรัฐที่นำแซลมอนมาเลี้ยงบนบกทั้งระบบ

ฟาร์มปลาแซลมอนในสหรัฐที่นำแซลมอนมาเลี้ยงบนบกทั้งระบบ | Politico

แล้วแซลมอนที่เลี้ยงบนบกมันดีกว่าไหม

หากว่ากันที่ขั้นตอนการผลิต ย่อมดีกว่าแน่นอน เพราะไม่ต้องเสียเวลาเรื่องการขนย้ายไปมา ที่อาจเสี่ยงทำให้ปลาตาย ดังนั้น เรื่องความสดของอาหารทางนี้จึงชนะขาด

นอกจากนี้ ก็ยังมีจุดขายเรื่องการควบคุมและป้องกันพวกโรคติดต่อ ซึ่งการเลี้ยงแบบปิดจะป้องกันพวกปรสิตในธรรมชาติได้ดีกว่า (ตามที่บริษัทออกข่าวประชาสัมพันธ์)

แต่ก็มีการเกทับกันถึงคุณภาพของเนื้อปลา จากกลุ่มที่ทำฟาร์มแบบเดิมว่า ปลาเลี้ยงในบ่อจะมาสู้กับปลาที่เลี้ยงในทะเลได้อย่างไร เนื้อปลาในทะเล (จริงๆ) ย่อมเจ๋งกว่าวันยังค่ำ

ส่วนแบบไหนจะอร่อยกว่ากัน ก็คงต้องรอพิสูจน์กันด้วยตัวเอง

ก่อนจบเรื่องราวอย่างทิ้งท้ายถึงเรื่องแซลมอนในธรรมชาติไว้อีกสักหน่อย

เทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้นมานี้ ย่อมส่งผลดีต่อมนุษย์ในอนาคตแน่ๆ และยังช่วยผ่อนวิกฤตหนักๆ เรื่องจำนวนสัตว์น้ำในธรรมชาติที่ลดลง หรือที่มีอยู่ก็สุ่มเสี่ยงต่อการได้ไมโครพลาสติกมาเป็นของแถมในจานอาหาร

เพียงแต่หากคุยกันให้ลึกลงไปอีกหน่อย ดังที่กล่าวไปตั้งแต่ตอนต้นว่าปลาแซลมอนในธรรมชาติค่อยๆ ลดจำนวนน้อยลงเรื่อยๆ นอกจากจะกระทบต่อเราแล้ว สัตว์ในธรรมชาติก็พลอยอดยากไปด้วย

ปลาแซลมอนถือเป็นแหล่งอาหารที่สำคัญของนกกระสาสีน้ำเงิน นาก สิงโตทะเล ไปจนถึงสัตว์ใหญ่อย่างหมีกริซลีย์ แถมพวกซากปลาที่ถูกหมีลากขึ้นไปกินบก ก็ยังกลายเป็นปุ๋ยให้กับต้นไม้ในป่าได้อีก ดังนั้น หากเราสามารถคืนชีพให้กับแซลมอนในธรรมชาติได้ด้วย ก็จะเกิดผลดีทั้งต่อเราและต่อโลก

เพราะต้องไม่ลืมว่าวิวัฒนาการทางธรรมชาติที่สมดุล เกิดขึ้นจากความร่วมมือของทุกฝ่าย และตอบแทนผลประโยชน์คืนกลับมาอย่างเท่าเทียม

เมนูสุดโปรดของใครหลายๆ คน

เมนูสุดโปรดของใครหลายๆ คน | BBC

อ้างอิง