3 Min

สงสัยมั้ยว่าทำไมเวลาไม่สบายต้องให้ “น้ำเกลือ” และในนั้นมันมีอะไร?

3 Min
9640 Views
11 Oct 2020

คงไม่มีใครอยากไม่สบาย แต่ถ้าใครป่วยหนักแบบล้มหมอนนอนเสื่อ เราก็อาจต้องเข้าโรงพยาบาลเพื่อให้หมอให้ “น้ำเกลือ” กับเรา

แต่สงสัยมั้ยครับว่าทำไมต้องเป็น “น้ำเกลือ” จะน้ำอย่างอื่นไม่ได้รึไง? แล้วใน “น้ำเกลือ” มันมีอะไรบ้าง?

เอาจริง ๆ “น้ำเกลือ” ที่ใช้ ๆ กันทั่วไปมันก็คือ น้ำเปล่ากับ “เกลือ” หรือสารที่มีชื่อทางเคมีว่าโซเดียมคลอไรด์นี่แหละครับ โดยน้ำเกลือมาตรฐานเขาจะเรียกว่า น้ำเกลือธรรมดา (normal saline) ซึ่งก็คือน้ำที่มี “เกลือ” ผสมอยู่ 0.9%

แล้วทำไมต้องน้ำเกลือ น้ำเปล่าได้หรือไม่?

คือยังงี้ครับ “น้ำเกลือ” นี่ตอนแรกเขาคิดมาเพื่อจะเป็นวิธีการทรีตผู้ป่วยที่เป็นอหิวาห์ตกโรคตอนต้นศตวรรษที่ 19 ซึ่งคนเป็นอหิวาห์ตกโรคหลาย ๆ คนจะอยู่ในภาวะที่กินข้าวกินน้ำไม่ได้ และขาดน้ำจนตาย หมอสมัยนั้นก็เลยหาวิธีเอาน้ำเข้าร่างกายทางอื่นที่ไม่ใช่ทางปาก ซึ่งวีธีที่สมเหตุสมผลก็คือการให้ทางเส้นเลือดดำ

ทีนี้หมอสมัยนั้นรู้แล้วว่าในเลือดมนุษย์มีเกลือ (เพราะเลือดมนุษย์มีรสเค็ม) แล้วก็ต้องการให้ “น้ำ” ที่มนุษย์รับเข้าไปในกระแสเลือดมีความเข้มข้นเท่ากันก็เลยเติมเกลือเข้าไป ซึ่งในแง่นี้ เกลือมันไม่ได้มีคุณค่าทางอาหารอะไรทั้งนั้นใน “น้ำเกลือ” และคนก็เข้าใจกันผิด ๆ มาว่า “น้ำเกลือ” จริง ๆ คือ “ยาบำรุง” จริง ๆ ไม่ใช่เลย มันคือน้ำเปล่าใส่เกลือนี่แหละครับ ซึ่งใส่เกลือเข้าไปเพื่อให้มันไม่ไปปั่นป่วนความเข้มข้นของ “เกลือในเลือด”

เล่ามาถึงตรงนี้มันดูไม่มีอะไร แต่ความสนุกกำลังจะเริ่มครับ

วงการแพทย์ใช้ น้ำเกลือธรรมดา ที่มีเกลือผสมอยู่ 0.9% เป็นมาตรฐานมาตั้งแต่ปลายศตวรรษที่ 19 ซึ่งนักวิทยาศาสตร์สมัยนั้นเชื่อกันว่าในเลือดของมนุษย์มีเกลืออยู่ 0.9% และน้ำเกลือแบบนี้ก็ยังใช้อยู่ในปัจจุบัน ไปโรงพยาบาลไหนก็เจอ

อย่างไรก็ดี วิทยาศาสตร์หลังจากนั้นก็มีความเข้าใจเรื่องเลือดมนุษย์สูงขึ้น และทุกวันนี้ก็ไม่ได้เชื่อกันแล้วว่าเลือดของมนุษย์มีเกลืออยู่ 0.9% แต่มีน้อยกว่านั้นแน่นอน

ทว่าน้ำเกลือธรรมดาแบบมาตรฐานที่คนค้นพบแล้วว่ามันมีเกลือมากกว่าในเลือดมนุษย์ก็ยังถูกใช้ในการให้คนไข้มาเรื่อย ๆ ด้วยเหตุผลง่าย ๆ ว่ามัน “เวิร์ก”

แต่ตั้งแต่ยุค 1980’s เป็นต้นมา ก็มีแพทย์หลายคนตั้งคำถามว่าจริง ๆ น้ำเกลือธรรมดาที่มีเกลือ 0.9% คือสิ่งที่ดีที่สุดหรือไม่ ในการให้กับคนไข้ที่ขาดน้ำ และถ้าเราใช้สารละลายชนิดอื่น ๆ ที่ผสมมาให้มีคุณลักษณะทางคล้ายคลึงกับเลือดมนุษย์มากขึ้น (ไม่ใช่แค่ “ใส่เกลือ” น้อยลง แต่ใส่สารอื่น ๆ ให้คล้ายคลึงกับเลือดมนุษย์มากขึ้นด้วย) ผลในทางด้านการรักษาจะต่างกันมั้ย เพราะจริง ๆ มันก็มีการคิดค้นสารละลายที่มีคุณสมบัติคล้ายเลือดมนุษย์มาหลายชนิด (ที่ดังสุดคือสารชื่อ Ringer’s Solution)

ผลที่อาจ “น่าตกใจ” ก็คือ น่าจะแทบทุกครั้งที่มีการทดลองเก็บข้อมูล พบว่าผู้ป่วยที่ได้รับ “น้ำเกลือธรรมดา” จะมีโอกาสตาย หรือพบภาวะที่มีเกลือในเลือดสูงเกินไป หรือมีปัญหาไต สูงกว่าผู้ป่วยที่ได้รับสารละลายอื่นที่ผสมให้คล้ายเลือดกับมนุษย์กว่าน้ำเกลือ

อันนี้ต้องเข้าใจก่อนนะครับ ว่านี่ไม่ได้หมายความว่า “น้ำเกลือ” เป็นยาพิษ น้ำเกลือนี่ก็ยังเป็นอะไรที่คุณไปหาหมอแล้วหมอก็จะให้คุณทางเส้นเลือดดำถ้าคุณป่วยจนกินข้าวกินน้ำไม่ได้นี่แหละ ประเด็นคือ ในโลกวิทยาศาสตร์การแพทย์ เขาสงสัยกันว่า “มันไม่มีสารอะไรดีกว่านี้แล้วเหรอ?” แล้วก็เขาก็ทดลอง ผลก็ปรากฏว่าจริง ๆ มันมีสารที่ดีกว่า

แต่ถามว่า “ดีกว่า” แค่ไหน? คำตอบคืออัตราการตายห่างกันแค่ 1-2% ซึ่งตัวเลขแค่นี้ แพทย์ที่ยังเชื่อในน้ำเกลือก็น่าจะบอกว่า “ไม่มีนัยยะสำคัญ” แต่สำหรับแพทย์กลุ่มที่สนับสนุนให้มีการเปลี่ยนจากน้ำเกลือเป็นสารอื่น เขาก็จะบอกว่า 1-2% นี่คิดเป็นคนจริง ๆ มันเยอะนะถ้านับจากคนไข้ 1 ล้านคน นี่หมายถึงคน 10,000-20,000 ที่ต้องรับน้ำเกลือจะมีโอกาสรอดชีวิต หรือไม่ ต้องมีปัญหาไตมากกว่า ซึ่งในแง่นี้แม้ว่าต้นทุนของสารละลายที่คล้ายกับเลือดมนุษย์จะสูงกว่าน้ำเกลือนิดหน่อย (ก็ย่อมสูงกว่าอยู่แล้วเพราะสารมันเยอะกว่า) แต่เทียบกับคนที่มันจะช่วยเพิ่มขึ้นได้ 1-2% เขาก็ว่ามันคุ้มนะ

อย่างไรก็ดี ในอุตสาหกรรมการแพทย์ในภาพใหญ่ หมอก็ยังใช้น้ำเกลือธรรมดาอยู่นี่แหละครับ ไปโรงพยาบาลถ้าเราไปขอสารแทนน้ำเกลืออย่าง Ringer’s Solution (ซึ่งก็ว่ากันว่าเป็นสารละลายที่ผสมได้ใกล้เคียงกับเลือดมนุษย์ที่สุด) หมอก็ไม่มีให้หรอก เราก็ต้องใช้ “น้ำเกลือธรรมดา” กันต่อไปนี่แหละ

ซึ่งตรงนี้ เราก็อย่าได้ตื่นตระหนกไปนะครับ ก็อย่างที่บอกครับ น้ำเกลือไม่ใช่ยาพิษ มันคือวิธีการรักษาที่พิสูจน์มากว่าร้อยปีแล้วว่า “เวิร์ก” แต่ทุกวันนี้คนตั้งคำถามกับมันเพราะมันอาจมีสิ่งที่ดีกว่า ซึ่งฝ่ายที่ยังสนับสนุนการใช้น้ำเกลือก็ไม่ใช่จะไม่ปรับตัวนะครับ ปัญหาหลัก ๆ ของน้ำเกลือคือมัน “เค็ม” ไป มันจะส่งผลร้ายต่อคนที่มีปัญหาไต ซึ่งหมอก็รู้ และเขาก็มีน้ำเกลือแบบเข้มข้นต่ำให้บริการเป็นมาตรฐานตามโรงพยาบาลทั่วไป (แบบเข้มข้นต่ำคือมีเกลือ 0.3% ซึ่งเข้มข้นน้อยกว่าเลือดของมนุษย์) ซึ่งในกรณีของเด็กเล็ก ๆ “น้ำเกลือ” ที่ให้นี่แทบจะเป็นน้ำเปล่าไม่ใส่เกลือด้วยซ้ำ เพราะไตของเด็กยังไม่แข็งแรง

ก็นี่แหละครับเรื่องราวของ “น้ำเกลือ” ซึ่งอีก 100 ปี ใครจะไปรู้ วงการแพทย์อาจเลิกให้ “น้ำเกลือธรรมดา” แล้วหันไปใช้สารละลายที่ผสมสารอื่น ๆ เข้าไปให้คล้ายเลือดมนุษย์กว่านี้ก็ได้ แต่เรา ๆ นอกวงการแพทย์ก็คงไม่รู้หรอกครับ และก็คงเรียกมันว่า “น้ำเกลือ” อยู่ดี

อ้างอิง