พระโคกินเหล้า ≠ แช่ง แต่หมายถึง ‘ค้าขาย-คมนาคมสะดวก’ ชาวทวิตเตอร์สงสัย #ม็อบชาวนา อยู่ไหนในพิธีพืชมงคล
ไทยเป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศบนโลกนี้ที่ยังมีการจัด ‘พระราชพิธี’ เพื่อเสี่ยงทายและเพื่อความเป็นสิริมงคลด้านการเกษตรและเพาะปลูก (Royal Ploughing Ceremony) โดยมีชื่อไทยเป็นทางการว่า ‘พระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ’ ทั้งยังกำหนดให้วันพืชมงคลเป็นวันหยุดราชการด้วย ซึ่งในปี 2565 พิธีนี้ถูกจัดขึ้นในวันที่ 13 พฤษภาคม
หากพูดถึงประวัติความเป็นมาแบบสั้นๆ เว็บไซต์กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ของไทยระบุว่า พระราชพิธีนี้เป็นความเชื่อในศาสนาพราหมณ์ และภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีการจัดพระราชพิธีมาตั้งแต่ยุคราชอาณาจักรสุโขทัยและสืบทอดมาจนถึงยุคปัจจุบัน โดยตั้งแต่ปี 2509 เป็นต้นมา คณะรัฐมนตรีได้ลงมติให้วันพืชมงคลเป็น ‘วันเกษตรกร’ ด้วย
อีกประเทศในแถบนี้ที่ยังมีพิธีแบบเดียวกัน คือ ‘กัมพูชา’ ซึ่งเคยระงับการจัดงานไปเมื่อสองปีก่อนเพราะสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และจะกลับมาจัดพระราชพิธีอีกครั้งในวันที่ 19 พฤษภาคม 2565 ส่วนเมียนมาเคยมีประเพณีนี้เช่นกัน ยกเลิกพิธีไปเมื่อราว ค.ศ. 1885 ซึ่งเป็นยุคสิ้นสุดการปกครองระบอบกษัตริย์ของเมียนมา
ส่วนไฮไลต์ของพระราชพิธีพืชมงคลที่สื่อไทยติดตามรายงานกันทุกปี คือ สิ่งที่ ‘พระโค’ เลือกกิน เพื่อนำไปพยากรณ์แนวโน้มเกี่ยวข้องกับการเพาะปลูกและเกษตรกรรมโดยรวมในประเทศไทย ซึ่งปีนี้พระโคได้กิน ‘น้ำ–ถั่ว–หญ้า–เหล้า’ จากของกิน 7 อย่างที่มีให้เลือกในพระราชพิธีทุกๆ ปี ได้แก่ ข้าวเปลือก ข้าวโพด ถั่วเขียว งา น้ำ หญ้า เหล้า
ดิน–น้ำปีนี้เป็นอย่างไรให้ ‘พระโค–พระยาแรกนา’ ทำนายกัน
‘พระโค’ ตามความเชื่อในศาสนาพราหมณ์ ไม่ใช่ ‘วัว’ ธรรมดา แต่เป็น ‘เทวดาผู้ทำหน้าที่เป็นพาหนะของพระอิศวร’ ทั้งยังเป็นสัตว์เลี้ยงที่พระกฤษณะและพระพลเทพดูแล จึงเปรียบได้กับความอุดมสมบูรณ์ ดังนั้นในการประกอบพระราชพิธีพืชมงคลฯ จึงกำหนดให้ใช้ ‘พระโคเพศผู้’ เข้าร่วมพิธีมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 1 ของยุครัตนโกสินทร์ เพื่อเป็นตัวแทนของ ‘ความเข้มแข็งและความอุดมสมบูรณ์’
การที่พระโคเลือกกินน้ำ–ถั่ว–หญ้า จึงเป็นเรื่องเข้าใจได้ เพราะอาหารหลักของวัวทั่วไปก็คือของกินทั้งสามอย่างนี้อยู่แล้ว ขณะที่การกินเหล้าของพระโคก็ไม่เท่ากับ ‘แช่ง’ เหมือนการรณรงค์ต่อต้านการมอบเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นของขวัญ แคมเปญยอดฮิตติดหูคนไทยซึ่งจัดทำโดย ‘สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ’ (สสส.) เพราะ ‘เหล้า’ มีความหมายเป็นอย่างอื่นในพระราชพิธีพืชมงคล
ข้อมูลจากทวิตเตอร์ของ ‘วิทยุรัฐสภา’ TPChannel10 รายงานการเสี่ยงทายของพระโคในปี 2565 ระบุว่า การกินน้ำและหญ้า พยากรณ์ได้ว่า ปีนี้ ‘น้ำท่าจะบริบูรณ์พอสมควร ธัญญาหารจะอุดมสมบูรณ์ดี’
กิน ‘ถั่วเขียว’ พยากรณ์ว่า ผลาหาร ภักษาหาร จะอุดมสมบูรณ์ดี และกิน ‘เหล้า’ พยากรณ์ว่า การคมนาคมจะสะดวกขึ้น การค้าขายกับต่างประเทศจะดีขึ้น เศรษฐกิจจะรุ่งเรือง
นอกจากการเสี่ยงทายด้วยการให้พระโคเลือกของกินแล้ว ยังมีการเสี่ยงทายด้วยการเลือกหยิบผ้านุ่งโดย ‘พระยาแรกนา’ ซึ่งเว็บไซต์กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ระบุว่า เป็นการเสี่ยงทายเพื่อพยากรณ์เรื่องน้ำท่าในการเกษตรและการเพาะปลูก ส่วนผู้ที่เป็นพระยาแรกนาในปีนี้ คือ ทองเปลว กองจันทร์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
พระยาแรกนาปีนี้หยิบผ้านุ่งเสี่ยงทายได้ ‘ผ้า 4 คืบ’ ซึ่งพยากรณ์ได้ว่าปีนี้ ‘น้ำจะมากสักหน่อย’ นาในที่ดอนจะได้ผลบริบูรณ์ดี นาในที่ลุ่มอาจจะเสียหาย ได้ผลไม่เต็มที่
นานาทัศนะชาวทวิตเตอร์ผ่าน #วันพืชมงคล
เนื่องจากพระราชพิธีพืชมงคลฯ เป็นประเพณีที่เก่าแก่และสืบทอดกันมายาวนาน การเปลี่ยนแปลงของยุคสมัยและการเติบโตแบบก้าวกระโดดของเทคโนโลยีจึงทำให้ผู้คนในโลกยุคใหม่ตั้งคำถามว่า คำพยากรณ์เกี่ยวกับการเกษตรและการเพาะปลูกที่มาจากการ ‘เสี่ยงทาย’ ยังจำเป็นอยู่หรือไม่
ผู้ใช้ทวิตเตอร์จำนวนมากติดแฮชแท็ก #วันพืชมงคล และ #พระโค เพื่อแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้มากกว่า 1.1 หมื่นครั้ง จนแฮชแท็กนี้ติดอันดับใน 20 เทรนด์ยอดนิยมของทวิตเตอร์ประเทศไทย เมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม โดยบางส่วนมองว่านี่เป็นพิธีที่เก่าแก่และเป็นขวัญกำลังใจ ทั้งยังมีการมอบเมล็ดพันธุ์พืชแก่เกษตรกรและประชาชนที่เข้าร่วมพระราชพิธีด้วย
แต่ผู้คนอีกจำนวนไม่น้อยตั้งคำถามถึงความแม่นยำของการพยากรณ์ในพระราชพิธี โดยมองว่าไม่ควรจะเน้นประเด็นนี้ เพราะจากสถิติที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่าคำพยากรณ์จากการเสี่ยงทายไม่ตรงกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริง และเสนอให้ใช้ข้อมูลจากกรมอุตุวิทยามาเป็นหลักการพยากรณ์จะดีกว่า
นอกจากนี้ยังมีผู้มองว่า ‘ความเป็นสิริมงคลของเกษตรกร’ ควรจะรวมถึงการช่วยเหลือชาวนาไทยที่ได้รับผลกระทบและความเดือดร้อนจากโครงสร้างด้านการเกษตรที่ไม่เป็นธรรมด้วย โดยเฉพาะผู้ที่มาปักหลักชุมนุมในนาม #ม็อบชาวนา เพื่อเรียกร้องให้รัฐทำตามคำสัญญาในการช่วยเรื่องการชำระหนี้เกษตรกรซึ่งเกิดจากปัจจัยต่างๆ ที่ชาวนาไม่อาจควบคุมได้ เช่น กลไกราคาข้าว ปัญหาภัยแล้งหรือน้ำท่วมที่เกิดจากระบบชลประทานในแต่ละพื้นที่ไม่ตอบโจทย์ผู้ทำการเกษตร รวมถึงราคาปุ๋ยหรือสารเคมี
ตัวอย่างความเห็นที่มีผู้รีทวีตหรือกดแสดงความคิดเห็นเป็นจำนวนมากในทวิตเตอร์ มีทั้งวิพากษ์วิจารณ์และล้อเลียนสิ่งที่เกิดขึ้นในวันนี้ เช่น
“ฉลองวันชาวนากับเกษตรกร แต่ม็อบชาวนาไม่มีใครเห็นหัว”
“เรื่องพิธีกรรมเพื่อเป็นขวัญกำลังใจอะไรนี่ยังพอเข้าใจนะ แต่ไอ้เรื่องทำนายฟ้าฝนความอุดมสมบูรณ์นี่เพื่ออะไร? จำได้ว่าเคยมีคนเก็บสถิติย้อนหลัง ปรากฏว่าผิดแทบทุกปี บางปีนี่ตรงข้ามกันชนิดหน้ามือกับหลังตีนด้วยซ้ำ มีกรมอุตุฯ ใช้หลักวิทย์ แต่พร้อมๆ กันนั้นรัฐก็ยังใช้วัวทำนาย…”
“พระโคที่กินข้าวเหนียวมะม่วง: พระโคเชลล่า”
“ต่อให้พระโคกินหญ้ากี่กระสอบ ดื่มเหล้าขาวไปกี่ลิตร กินถั่วไปกี่ถ้วย ก็ไม่มีประโยชน์ใดๆ เพราะชาวนาและเกษตรกรไทยก็ยังคงมีเรื่องหนี้สิน ยังคงต่อสู้กับนายทุนที่ผูกขาดกับการเกษตร มีปัญหาเรื่องที่ดินทำกิน และยังคงมีปัญหาเรื่องราคาพืชผลและการเกษตรตกต่ำอยู่เนืองๆ”
“ถึงจะเสี่ยงทายมากี่ปี คนที่กินดีอยู่ดีก็เจ้าสัวเหมือนเดิม!! ถถถ #สงสารเกษตรกรตาสีตาสา”
อ้างอิง
- Twitter. #วันพืชมงคล. https://bit.ly/3FGzS6I
- กระทรวงเกษตรและสหกรณ์. พระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ. https://bit.ly/3NcOvBc
- สำนักวรรณกรรมเเละประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร. เสี่ยงทาย. https://bit.ly/38nMHXi
- สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์. กรมการข้าว เตรียมแจก 6 พันธุ์ข้าวทรงปลูกพระราชทาน เนื่องในวันพืชมงคล ปี 2565. https://bit.ly/3FHnXFQ
- Tourism in Camabodia. Events in Cambodia: Royal Ploughing Ceremony. https://bit.ly/3l5481B