ในยุคนี้ประเด็น “สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์” นั้นสามารถมาอยู่ในบทสนทนาสาธารณะ และถกเถียงกันออกโทรทัศน์ได้
ถึงแม้จะได้ไม่เต็มที่ แต่ก็ยังดีกว่าไม่ได้เลย
แน่นอน บทสนทนาเกี่ยวกับประเด็นนี้วางอยู่บนเรื่อง “การปฏิรูปสถาบันกษัตริย์” ของผู้ชุมนุมกลุ่มคณะราษฎร และวางอยู่บนฐาน “ความร่ำรวย” ของพระมหากษัตริย์ไทยที่หลายคนอ้างว่า “รวยที่สุดในโลก”
ใครติดตามข่าวการเงินต่างประเทศจะรู้ว่าความร่ำรวยของพระมหากษัตริย์ไทยไม่ใช่เรื่องลึกลับอะไร เพราะพระมหากษัตริย์ไทยดำรงอยู่อันดับ 1 มาตลอดนับแต่เริ่มมีการจัดอันดับเป็นต้นมา
ภาพแบบนี้อาจทำให้เกิดภาพว่าพระมหากษัตริย์ไทยนั้น “รวยล้นฟ้า” และทำให้เกิดคำถามที่เชื่อมโยงกับความเหลื่อมล้ำระดับมหาศาลของสังคมไทย ซึ่งนำไปสู่ข้อเรียกร้องการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์เป็นเวลาต่อมา
อย่างไรก็ดี รู้ไหมว่าถ้าไม่ได้นับแค่พระมหากษัตริย์ แต่นับทั้ง “ราชวงศ์” จะพบเลยว่า “ราชวงศ์” ของไทย ไม่ได้มีความร่ำรวยติดอันดับ 5 ของราชวงศ์ในโลกเลย
ทำไมถึงเป็นแบบนั้น?
1.
ถ้าจะให้อธิบายสั้นๆ เวลาประเมินความร่ำรวยของราชวงศ์ ในกรณีราชวงศ์ไทยจะตีว่า “สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์” เป็นสินทรัพย์ของพระมหากษัตริย์ ดังนั้น ‘สินทรัพย์ของพระมหากษัตริย์’ ก็จะเท่าๆ กับ ‘สินทรัพย์ของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์’
ถามว่าปริมาณสินทรัพย์ของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์มีมากแค่ไหน คำตอบคือแล้วแต่ “การประเมิน” แต่มาตรฐานคือประมาณ 30,000 ล้านเหรียญ (แม้ว่าบางเจ้าจะประเมินสูงถึง 60,000 ล้านเหรียญ)
ถ้ามองว่ากษัตริย์ไทยคือ “เจ้าของ” สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์แล้ว กษัตริย์ไทยจะรวยระดับไหน?
คำตอบคือถ้าเอามาจัดอันดับกับมหาเศรษฐีในโลกตอนปลายปี 2020 ก็น่าจะรวยอันดับ 20 กว่าๆ ซึ่งเป็นอันดับที่สูงมาก และในเอเชีย คนที่อาจรวยกว่าพระมหากษัตริย์ไทยมีแค่ 3 คน คือ มหาเศรษฐีของจีน 2 คนอย่างแจ๊ค หม่า แห่ง Alibaba และโพนี่ หม่า แห่ง Tencent และมหาเศรษฐีอันดับ 1 ของอินเดียอย่างมูเคช อัมบานี
แต่ถ้ามาดูระดับ “ราชวงศ์” แล้ว ภาพจะออกไปอีกแบบเลย เราจะพบว่าราชวงศ์ไทยไม่ได้ร่ำรวยขนาดนั้น
2.
ในโลกนี้ ส่วนใหญ่ “ราชวงศ์” จะถือครองสินทรัพย์ร่วมกันจำนวนมาก และหลายราชวงก็มีสมาชิกหลายคน
ความมั่งคั่งจึงกระจายไปทั่วราชวงศ์ ไม่ได้มารวมศูนย์ที่พระมหากษัตริย์เพียงพระองค์เดียว และเรียกได้ว่าน่าจะมีเพียงสองราชวงศ์ในโลกเท่านั้น ที่ต่างชาติมักประเมินว่า ความร่ำรวยของพระมหากษัตริย์ = ความร่ำรวยของราชวงศ์ ซึ่งสองราชวงศ์ที่ว่าคือ ‘ราชวงศ์ไทย’ กับ ‘ราชวงศ์บรูไน’
สำหรับราชวงศ์อื่นๆ การประเมินมีหลากหลาย และต้องเน้นว่าเป็นการ “ประเมิน” เท่านั้น เพราะสินทรัพย์ของราชวงศ์โดยทั่วไปจะมีลักษณะที่ซับซ้อนและไม่โปร่งใสแบบเหล่าอภิมหาเศรษฐีในโลก ที่สินทรัพย์หลักๆ คือหุ้นที่อยู่ในตลาดหุ้น ซึ่งเป็นข้อมูลสาธารณะอยู่แล้ว
แล้วราชวงศ์อะไรรวยกว่าไทยบ้าง?
คำตอบที่เร็วสุดคือ อังกฤษ กาตาร์ อาบูดาบี คูเวต และซาอุดิอาระเบีย
ราชวงศ์หลังๆ ที่เป็น “เศรษฐีน้ำมัน” อาจไม่น่าแปลกใจนักที่จะรวยกว่าไทย แต่ ‘ราชวงศ์อังกฤษ’ นี่นะ “รวย” กว่าไทย?
3.
ถ้านับแค่พระราชินีอลิซาเบธที่ 2 พระองค์มีสินทรัพย์ส่วนตัวประมาณ 500 ล้านเหรียญเท่านั้น และนี่ทำให้พระราชินีอลิซาเบธที่ 2 ไม่ติดอันดับ 10 กษัตริย์ที่ร่ำรวยที่สุด
Queen Elizabeth and Prince Philip joined by members of the royal family | Tim Graham/Getty Images
แต่ในความเป็นจริง ราชวงศ์อังกฤษเป็นราชวงศ์ใหญ่ มีสมาชิกเป็นเชื้อพระวงศ์มากมาย และแต่ละคนก็จะมี “ที่ดินตามตำแหน่ง” และสินทรัพย์สารพัดติดตัวมา หากนำทรัพย์สินทั้งหมดมารวมกันจะมีมูลค่าไม่น้อย
และเหนือไปกว่านั้น สิ่งที่ราชวงศ์อังกฤษมีคือ “แบรนด์”
กล่าวคือถ้ามองราชวงศ์อังกฤษเป็น “บริษัท” ที่มีเครื่องหมายการค้าแล้ว มูลค่าของบริษัทไม่ได้มาจากสินทรัพย์ที่จับต้องได้เท่านั้น แต่มาจากสินทรัพย์ที่จับต้องไม่ได้อย่าง “แบรนด์” ด้วย
นิตยสาร Forbes ประเมินว่าราชวงศ์อังกฤษทั้งราชวงศ์มีมูลค่าสูงถึง 88,000 ล้านเหรียญ คือ มีมูลค่าเกือบ 3 เท่าของมูลค่าประเมินมาตรฐานของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ของไทย
ส่วนราชวงศ์กาตาร์ อาบูดาบี คูเวต และซาอุดิอาระเบีย สิ่งที่เหมือนกันคือประเทศกลุ่มนี้ปกครองด้วยระบบกษัตริย์ ดังนั้นตอนที่ประเทศขุดเจอน้ำมัน ความมั่งคั่งก็เลยวนเวียนอยู่ในราชวงศ์ ซึ่งราชวงศ์ของเขามีสมาชิกนับพันหรือกระทั่งนับหมื่นคน และ “ทุกคน” ก็เป็นเศรษฐีที่ได้รับอานิสงส์จากน้ำมัน ดังนั้นเวลาเราพูดถึง “สินทรัพย์ของราชวงศ์” ทางฝั่งประเทศค้าน้ำมันจึงมากมายมหาศาลมากๆ
4.
ถ้าจะพูดถึงกษัตริย์ซัลมานของซาอุดิอาระเบีย ความร่ำรวยของพระองค์ที่ 18,000 ล้านเหรียญอาจดูน้อยกว่าความร่ำรวยของรัชกาลที่ 10 ที่มีสินทรัพย์อย่างน้อย 30,000 ล้านเหรียญพอสมควร
แต่ถ้ากลับมาดูทั้งราชวงศ์ซาอุดิอาระเบียที่มีสมาชิกกว่า 10,000 คน สิ่งที่เขาประเมินก็คือมูลค่าสินทรัพย์รวมกันน่าจะสูงถึง 1,000,000 ล้านเหรียญ และนี่ทำให้ราชวงศ์ซาอุดิอาระเบีย “ยืนหนึ่ง” เป็นราชวงศ์ที่ร่ำรวยที่สุดในโลกอย่างไร้ข้อกังขา และสินทรัพย์ระดับนี้อย่าไปเทียบกับ “บุคคล” เลย เพราะมูลค่านั้นเทียบได้กับ “บริษัท” ที่ใหญ่ที่สุดในโลก ซึ่งในโลกนี้ตอนนี้มีแค่ 4 บริษัทที่สินทรัพย์สูงระดับล้านล้านเหรียญคือ Microsoft, Apple, Amazon และ Alphabet (Google เก่า)
ความน่าสนใจก็คือ “ราชวงศ์เศรษฐีน้ำมัน” เหล่านี้มักจะมี “บริษัท” หรือ “กองทุน” ของราชวงศ์ ซึ่งก็คือ ‘สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์’ ของประเทศเหล่านี้ ที่มีสินทรัพย์มหาศาลมากจนเรียกได้ว่าเอาเงินไปซื้อหุ้นบริษัทใหญ่อะไร หรือไปลงทุนกับ Startup เจ้าไหน โลกก็ต้องจับตาดู
เพราะเงินมากระดับกระเทือนตลาดการเงินโลก และสื่อพวกการเงินก็จะพูดถึง “การลงทุน” ของราชวงศ์แถบตะวันออกกลางตลอดทุกครั้งที่มีการเคลื่อนไหว
อ้างอิง:
- Business Insider. Meet the 10 richest billionaire royals in the world right now. https://bit.ly/3qhjEJ8
- Forbes Billionaires. THE WORLD’S REAL-TIME B ILLIONAIRES. https://bit.ly/3mDSsC4
- Forbes. The British Royal Family Is Worth $88 Billion. https://bit.ly/3lBDc7o
- LoveMoney. The world’s richest royal families ranked. https://bit.ly/33FCH6d