Rewind & Play: ความทรงจำ 13 ม้วน ของ ‘บอส กูโน’ จากเด็กชายในร้านเช่าวิดีโอ สู่ผู้กำกับแห่งยุค ที่ขับเคลื่อนด้วยแพสชัน และความท้าทาย
“กูว่ากูโดนเขากั๊กอยู่ในใจ”
“โหม๋ กูยอมมึงแล้ว”
“เกิดมาฉันไม่เคยมีบุญวาสนา ช่วยเซ็นยกบ้านและที่ดินให้ฉันได้ไหม”
“น้องโด่งจะไม่กลับมาเล่นคู่กับพี่ยิมอีกแล้วใช่ไหม”
ประโยคเหล่านี้ไม่ได้เป็นเพียงแค่บทสนทนาในซีรีส์ บางประโยคก็กลายเป็นไวรัลที่ถูกพูดถึงในโลกออนไลน์ และทุกประโยคที่ทำให้ผู้ชมจดจำ ล้วนมาจากผลงานการกำกับของ ‘บอส กูโน’
สำหรับคอซีรีส์ไทยยุคใหม่แทบไม่มีใครไม่รู้จักบอส กูโน เพราะเขาคือผู้กำกับที่มีลายเซ็นโดดเด่นในการสร้างสรรค์ผลงานที่เข้าถึงผู้ชม ด้วยสไตล์การเล่าเรื่องที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว รวมถึงมุมมองที่สะท้อนความเป็นจริงของยุคสมัยนี้ พร้อมเติมความเป็นตัวเองลงไปในทุกผลงานที่ผ่านฝีมือการกำกับ ไม่ว่าจะเป็น Hormones the Series ฮอร์โมนส์ วัยว้าวุ่น, Project S The Series | Side by Side พี่น้องลูกขนไก่, แปลรักฉันด้วยใจเธอ, My Ambulance รักฉุดใจนายฉุกเฉิน, วิมานหนาม, GELBOYS สถานะกั๊กใจ และอีกหลายโปรเจกต์ที่กลายเป็นกระแส
วันนี้ BrandThink ชวนคุณย้อนเวลากลับไปยังร้านเช่าวิดีโอในความทรงจำ สถานที่ที่เคยเป็นจุดเริ่มต้นของใครหลายคนในการหลงใหลโลกของภาพยนตร์ รวมถึง ‘บอส-นฤเบศ กูโน’ ผู้กำกับที่เติบโตมากับโลกทั้งใบหมุนรอบม้วนวิดีโอที่เรียงรายเต็มชั้น ตลอดเส้นทางของชายวัย 33 ปีคนนี้ ผ่านเรื่องราว 13 ม้วน ที่หล่อหลอมความคิด มุมมอง และนิยามชีวิตจาก ‘เด็กชายในร้านเช่าวิดีโอ’ สู่ผู้กำกับผู้สร้างความแปลกใหม่ให้กับผู้ชม
[ม้วนที่ 1 ร้านเช่าวิดีโอ หาดใหญ่ และวัยเด็ก]
ย้อนกลับไปเมื่อสามสิบกว่าปีที่แล้ว ณ ร้านเช่าวิดีโอแห่งหนึ่งในหาดใหญ่ มีเด็กชายตัวเล็กๆ ที่ชื่อว่า ‘บอส’ ได้เติบโตมาพร้อมกับม้วนเทปวิดีโอจำนวนมหาศาล มีทั้งหนังจีนกำลังภายใน หนังฝรั่ง การ์ตูน และสารพัดเรื่องราวที่หลั่งไหลผ่านหน้าจอทีวีเล็กๆ ในร้าน
หาดใหญ่ในวัยเด็กของเด็กชายบอส เขาจำได้ว่าเมืองนี้เป็นเมืองคึกคัก ไม่เคยหลับใหล มีอะไรให้ทำเยอะแยะเต็มไปหมด แม้จะเป็นเด็กต่างจังหวัดที่ไม่เคยมากรุงเทพฯ แต่บอสก็คิดว่าสีสันและความทันสมัยของหาดใหญ่ก็คงไม่ต่างจากคำว่า ‘ความเจริญในเมืองหลวง’ สักเท่าไหร่ นอกจากนี้สมัยนั้นร้านเช่าวิดีโอยังคงเป็นแหล่งรวมความบันเทิงของหลายครอบครัว และร้านเช่าวิดีโอของคุณพ่อเป็นร้านเช่าวิดีโอแห่งเดียวในหาดใหญ่ด้วย
ร้านเช่าวิดีโอจึงกลายเป็นศูนย์กลางในชีวิตของเด็กชายบอส ที่ทำให้เขาได้พบกับความหลงใหลในภาพเคลื่อนไหว และยังได้จุดประกายให้เด็กชายคนนั้นก้าวสู่เส้นทางของการเป็นนักเล่าเรื่อง…สถานที่แห่งนี้จึงไม่ได้เป็นเพียงแค่กิจการครอบครัวที่เลี้ยงทุกชีวิตในครอบครัวให้อิ่มท้อง แต่ยังเป็น ‘โรงเรียนภาพยนตร์แห่งแรก’ ของ บอส กูโน
“ผมเติบโตมาในร้านวิดีโอที่พ่อเปิด เป็นร้านเดียวในหาดใหญ่ตอนนั้น ร้านวิดีโอของพ่อมีทุกอย่าง ทั้งหนังจีน หนังฝรั่ง การ์ตูน แล้วมันไม่ใช่แค่ดูจบเป็นเรื่องๆ หนังจีนสมัยนั้นมีเป็นชุด 20-30 ม้วน นั่นทำให้ผมซึมซับการเล่าเรื่องและวิชวลของหนังตั้งแต่เด็ก”
ชีวิตที่เต็มไปด้วยภาพยนตร์และการเล่าเรื่องตั้งแต่วัยเด็ก หาดใหญ่ในสมัยนั้น แม้จะเป็นเมืองต่างจังหวัด แต่ก็มีความคึกคักคล้ายเมืองท่องเที่ยวอย่างพัทยา สำหรับเด็กชายบอสแล้ว ร้านเช่าวิดีโอของคุณพ่อคือโลกทั้งใบ ที่นั่นคือสถานที่ที่ทำให้เขาได้สัมผัสกับภาพยนตร์จากหลากหลายประเทศ ทั้งหนังจีน หนังฮอลลีวูด การ์ตูน ทุกอย่างหลั่งไหลเข้ามาในร้านแห่งนี้ไม่ขาดสาย
“ตอนเด็กๆ ก็หยิบแต่การ์ตูนมาดู โตขึ้นมาหน่อยก็เริ่มดูหนังจีน ตอนนั้นไม่ได้รู้ตัวหรอกว่ากำลังซึมซับอะไรอยู่ แต่พอมองย้อนกลับไป มันก็คงเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ผมสนใจเรื่องการเล่าเรื่องและภาพวิชวลแบบจริงจัง”
ภาพยนตร์ในยุคนั้นไม่ได้มีเพียงแค่ม้วนเดียวจบ แต่มักเป็นหนังชุดที่ต้องติดตามกันถึงยี่สิบหรือสามสิบม้วน การเติบโตมากับสิ่งเหล่านี้ทำให้เด็กชายบอสซึมซับเรื่องราว วิธีการเล่าเรื่อง และมุมมองทางวิชวลไปโดยไม่รู้ตัว
ในแต่ละวันเมื่อถึงเวลารอคุณแม่กลับบ้าน เด็กชายบอสก็จะใช้เวลานั้นไปกับการเลือกม้วนวิดีโอมาดู ตอนเด็กๆ ก็เลือกดูการ์ตูน พอโตขึ้นมาก็ขยับไปดูหนังจีนกำลังภายใน ภาพที่ตราตรึงอยู่ในใจจนถึงทุกวันนี้คือ องค์หญิงกำมะลอ เรื่องราวที่ทำให้เขาตื่นเต้นจนถึงขั้นอยากตีลังกาตามตัวละคร มันเป็นหนึ่งในครั้งแรกที่เขารู้สึกว่าภาพยนตร์ไม่ใช่แค่ความบันเทิง แต่เป็นสิ่งที่สามารถสร้างแรงบันดาลใจได้จริงๆ
“มีครั้งหนึ่งผมขึ้นไปชั้นสองของร้าน ที่เป็นห้องล้างเทปแล้วเห็นฉากใน ‘องค์หญิงกำมะลอ’ ภาพนั้นคือผู้หญิงคนหนึ่งในชุดจีนกระโดดตีลังกาบนหลังคา ตอนนั้นรู้สึกตื่นเต้นมาก กลับบ้านไปลองกระโดดตามเลย หนังทำให้ผมอยากลอง อยากเข้าไปอยู่ในโลกนั้น”
[ม้วนที่ 2 จากร้านเช่าวิดีโอ สู่จุดเริ่มของ (ความอยาก) เป็นผู้กำกับ]
ร้านเช่าวิดีโอที่เด็กชายบอสเติบโตมาเป็นธุรกิจของคุณพ่อ และเป็นหนึ่งในร้านเช่าวิดีโอแห่งแรกๆ ในหาดใหญ่ และยังเป็นจุดกระจายวิดีโอไปยังจังหวัดอื่นๆ ในโซนภาคใต้อีกด้วย
ชีวิตประจำวันในร้านเช่าวิดีโอ ไม่ได้มีแค่ตัวเด็กชายบอสและม้วนวิดีโอจำนวนมหาศาลในร้านเท่านั้น แต่จะมีพนักงานร้านที่คอยล้างเทป เช็กคุณภาพเทปเก่าๆ ที่อาจขึ้นรา และตัวเด็กชายบอสเองก็ได้เรียนรู้แบบครูพักลักจำกับขั้นตอนเหล่านี้อยู่บ่อยๆ แม้จะยังเป็นเด็ก แต่เขาก็ได้เห็นถึงความละเอียดและกระบวนการที่จริงจังของวงการวิดีโอในยุคนั้นด้วย
“ตอนนั้นยังไม่รู้หรอกว่ามันคือ ‘แรงบันดาลใจ’ แต่พอมองย้อนกลับไป มันคงเป็นช่วงเวลาที่ทำให้ผมเริ่มรู้สึกว่า ภาพยนตร์มันไม่ได้เป็นแค่ความบันเทิง แต่มันสามารถกระตุ้นให้คนอยาก ‘ลอง’ อยาก ‘ทำ’ อะไรบางอย่างได้”
แม้เด็กชายบอสจะเติบโตมากับวิดีโอ แต่ในวัยเด็ก เขากลับชื่นชอบการวาดรูปมากกว่า ทุกครั้งที่ดูการ์ตูน เด็กชายบอสจะหยิบกระดาษมาวาดตัวละครที่ชอบ เช่น โดราเอมอนหรือแม่มดน้อยโดเรมี และเขาสอบเข้าเรียนด้วยโครงการวาดรูป เพราะคิดว่านี่คงเป็นเส้นทางของตัวเอง
จนกระทั่งเข้าสู่ช่วงมัธยมปลาย บอสก็สามารถสอบเข้าเรียนนฤมิตศิลป์ ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แต่สิ่งที่เคยรักกลับกลายเป็นสิ่งที่เริ่มรู้สึกเฉยชา เพราะมันไม่มีความท้าทายอีกต่อไป แล้วบอสก็เริ่มตั้งคำถามกับตัวเองว่า “จะเป็นอย่างไรถ้าภาพวาดของเรามีชีวิต?”
“ผมไม่ได้อยากเป็นผู้กำกับตั้งแต่แรก ตอนเด็กๆ ผมชอบวาดรูปมาก…แล้วอยู่ๆ มันเหมือนกับว่าเราเฉยๆ กับสิ่งนี้ไปแล้ว เพราะเราทำมันมานานจนหมดความตื่นเต้น ก็เลยคิดว่า ถ้าอย่างนั้น ทำให้มันเคลื่อนไหวได้ไหม?”
ความสนใจของบอสค่อยๆ เปลี่ยนไปสู่ ‘ภาพเคลื่อนไหว’ โดยมีแรงบันดาลใจจากมิวสิกวิดีโอของค่าย Kamikaze อย่าง หายใจเป็นเธอ ซึ่งเป็นเพลงที่ทำให้เขาหลงใหล ไม่ใช่เพียงเพราะดนตรี แต่เป็นเพราะวิธีการเล่าเรื่องผ่านภาพเคลื่อนไหว การได้เห็นภาพตัดต่อเข้ากับจังหวะเพลงอย่างลงตัว ทำให้บอสตัดสินใจเปลี่ยนสายจากศิลปะไปสู่นิเทศศาสตร์ เพื่อเรียนรู้การทำภาพยนตร์และมิวสิกวิดีโออย่างจริงจัง
“เพลงแรกที่ชอบมากคือ ‘หายใจเป็นเธอ’ ของโฟร์-มด มันทำให้เรารู้สึกว่าภาพกับเสียงมันสามารถสร้างอารมณ์ให้คนดูได้แบบสุดๆ ไปเลย แล้วอีกเพลงที่ไม่พูดถึงไม่ได้ คือ ‘แพ้ไม่เป็น’ ของขนมจีน เป็นมิวสิกวิดีโอที่ทำให้เราทึ่งมากๆ ว่า แค่เพลงก็ทำให้ดราม่าได้สุดๆ ขนาดนั้นเลยเหรอวะ”
[ม้วนที่ 3 คณะนิเทศศาสตร์ และประตูสู่การกำกับ]
หลังจากเปลี่ยนเส้นทาง บอสต้องเริ่มต้นใหม่ทั้งหมด ด้วยการใช้เวลา 6 เดือนทุ่มเทไปกับการอ่านหนังสือและเตรียมตัวสอบเข้าใหม่ กระทั่งก้าวเข้าสู่คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บอสก็ค้นพบว่าการกำกับไม่ได้มีแค่การทำมิวสิกวิดีโอเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงการแสดง ละครเวที และศิลปะการเล่าเรื่องในหลากหลายรูปแบบ ประสบการณ์ใหม่ๆ นี้ทำให้บอสรู้ว่า เขาไม่ได้แค่อยากทำมิวสิกวิดีโอเท่านั้น แต่อยากเป็น ‘ผู้กำกับ’ ที่สามารถเล่าเรื่องผ่านสื่อใดก็ได้
ย้อนไปในช่วงระหว่างที่เรียนอยู่ในโรงเรียนและมหาวิทยาลัย บอสเริ่มต้นเปิดประตูสู่การลองกำกับจากสิ่งเล็กๆ เช่นการชวนเพื่อนมาทำการแสดงแบบขำๆ ในกิจกรรมโรงเรียน โดยที่ยังไม่รู้ตัวว่าเขากำลังฝึกทักษะการกำกับอยู่แล้ว และการทำงานกับเพื่อนกลายเป็นสิ่งสำคัญที่สุดในชีวิตของตัวเอง โดยกลุ่มเพื่อนกลายเป็นแรงผลักดันเสมอ โดยเฉพาะเพื่อนคนสำคัญที่ชื่อว่า ‘แอมมี่’ ที่คอยยุให้ทำสิ่งใหม่ๆ เสมอ คำพูดง่ายๆ อย่าง “มึงเอาเหรอ ถ้ามึงทำ กูทำนะ” กลายเป็นแรงผลักที่ทำให้เขากล้าทำสิ่งที่ท้าทายและแปลกใหม่
[ม้วนที่ 4 จากหาดใหญ่สู่สยาม และการค้นพบตัวตนที่ซ่อนอยู่ใน ‘บอส’ คนที่ตัวเองเคยรู้จัก]
“ตอนนั้นผมเป็นแค่เด็กต่างจังหวัดที่มาอยู่กรุงเทพฯ แล้วก็รู้จักแค่ ‘สยาม’ อย่างเดียว”
สำหรับบอสแล้ว ‘หาดใหญ่’ และ ‘สยาม’ เป็นเหมือนสองโลกที่แตกต่างกัน
ในวัยเด็ก หาดใหญ่คือโลกของวิดีโอ ที่มี ‘ลีการ์เด้น พลาซ่า’ เป็นศูนย์กลางของชีวิตวัยรุ่นที่ทุกคนต้องแต่งตัวไปเดินเล่นในวันหยุด ส่วน ‘สยาม’ (สยามสแควร์) คือความลึกลับที่เขาเคยเห็นผ่านจอภาพยนตร์ เรื่อง รักแห่งสยาม เป็นภาพจำแรกที่ทำให้เขาคิดว่ากรุงเทพฯ คงเป็นเมืองที่เต็มไปด้วยอากาศเย็นสบาย
เมื่อบอสต้องเริ่มต้นชีวิตในมหาวิทยาลัย เขาจึงได้เดินทางเข้าสู่สยามเป็นครั้งแรก ก็พบว่าความรู้สึกที่เคยเห็นในหนังนั้นยังคงอยู่…เพียงแต่ไม่มีน้ำพุแบบใน รักแห่งสยาม
จากเด็กที่เติบโตมากับวิดีโอ สู่วัยรุ่นที่หลงใหลการวาดภาพ จนกลายเป็นผู้กำกับที่เข้าใจศิลปะการเล่าเรื่องผ่านภาพเคลื่อนไหว ชีวิตของบอสเต็มไปด้วยช่วงเวลาที่หล่อหลอมให้เขากลายเป็นคนที่เขาเป็นในวันนี้ และแม้เส้นทางนี้จะไม่ได้ถูกวางแผนมาตั้งแต่แรก แต่มันคือสิ่งที่ชีวิตได้ค่อยๆ พาเขามาสู่จุดนี้เอง สิ่งนี้ทำให้บอสได้เรียนรู้ว่า… ‘ความฝันมักจะเติบโตขึ้น เมื่อเราเติบโตมากขึ้น’
[ม้วนที่ 5 ชีวิตเน็ตไอดอล]
เส้นทางของบอสในวงการบันเทิงเริ่มต้นจากจุดที่ไม่มีใครคาดคิด อย่างการเป็นเน็ตไอดอล ในช่วงเวลาที่ตัวเองกำลังเรียนอยู่ชั้นปี 4 เขาได้มีโอกาสร่วมงานกับ ‘เบบี้มายด์’ ในคลิปไวรัลอย่าง คุณทนความเย็นได้แค่ไหน ที่กลายเป็น ‘จุดเปลี่ยนสำคัญ’ ที่บอสยังไม่ได้คิดว่ามันจะเป็นอาชีพได้จริงๆ
แต่เมื่อคลิปวิดีโอดังกล่าวได้รับความนิยม งานอื่นๆ ก็ตามมาเอง ประสบการณ์นี้สะท้อนถึงสิ่งที่บอสเคยทำมาตั้งแต่เด็ก อย่างการชักชวนเพื่อนให้เล่นบทบาทต่างๆ อย่างเป็นธรรมชาติ ไม่ว่าจะในโรงเรียน หรือแม้แต่ตอนทำคลิปกับเบบี้มายด์ ก็ไม่ต่างจากการกำกับโดยไม่รู้ตัว
แล้วเน็ตไอดอลในยุคนั้นเขาทำอะไรกันบ้าง?
ช่วงเวลานั้น วงการเน็ตไอดอลและ YouTube ยังอยู่ใน ‘ยุคเริ่มต้น’ ไม่มีแพลตฟอร์มชัดเจนเหมือนอย่างปัจจุบัน บอสและเพื่อนๆ ต้องมานั่งคิดกันว่าจะเอาคลิปวิดีโอที่ทำไว้ไปเผยแพร่ที่ไหนดี? ซึ่งเป็นคำถามที่แทบไม่มีใครต้องถามกันในยุคนี้
บอสและเพื่อนๆ นั้นเริ่มจากจากการอัปโหลดผลงานตัวเองลงในแพลตฟอร์ม Facebook แต่เมื่อเห็นว่างานบอลจุฬาฯ เริ่มโปรโมตผ่าน YouTube พวกเขาจึงตัดสินใจอัปโหลดคลิปลง YouTube บ้าง และกลายเป็นหนึ่งในคอนเทนต์ครีเอเตอร์รุ่นแรกๆ ที่ได้รับความนิยมในโลกออนไลน์
บทบาทของบอสในฐานะเน็ตไอดอลดำเนินไปพร้อมกับการสร้างคลิปแนวสนุกสนานง่ายๆ เช่น การกินโกโก้ พูดเสียงเกาหลี หรือถ่ายเล่นผ่านโทรศัพท์แบบไม่มีอุปกรณ์หรือสิ่งอำนวยความสะดวกที่เอื้อต่อการผลิตชิ้นงานเหมือนเครื่องมือต่างๆ ที่เหล่าคอนเทนต์ครีเอเตอร์ใช้อยู่ในปัจจุบัน
[ม้วนที่ 6 จุดเริ่มต้นของ ‘บอส กูโน’ และการก้าวสู่เส้นทางของผู้กำกับ]
หลังจากเป็นเน็ตไอดอลได้สักพัก บอสก็ได้รับโอกาสให้เข้าร่วมทีมเขียนบทและกำกับซีรีส์ Hormones the Series ฮอร์โมนส์ วัยว้าวุ่น ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งจุดเปลี่ยนสำคัญในชีวิตการทำงาน หลังจากที่บอสมีโอกาสแสดงความสามารถจากการที่ละครเวที สยามยุค 90 ที่เขาเคยกำกับเมื่อครั้งเรียนมหาวิทยาลัย ที่โดดเด่นจนเข้าตาผู้บริหารนาดาว และถูกชวนให้มาเป็นทีมเขียนบทของซีรีส์วัยรุ่นเรื่องนี้
“ตอนนั้น ผมแค่ช่วยเพื่อนเล่นคลิปไวรัล ‘คุณทนความเย็นได้แค่ไหน’ ไม่คิดว่ามันจะกลายเป็นไวรัล แต่พอเริ่มมีงานเข้ามา เราก็สนุกกับมัน
“จนกระทั่งได้รับโอกาสให้เข้าไปเป็นทีมเขียนบทและกำกับร่วมใน ‘ฮอร์โมนส์ วัยว้าวุ่น’ ผมอยากเข้าไปอยู่ในวงการนี้ตั้งแต่แรก และซีรีส์เรื่องนี้ก็เป็นโอกาสแรกที่เปิดโลกของตัวจริงๆ
“ผมตอบรับงานนี้ทันที แทบไม่ต้องคิดอะไรเลย เพราะนี่คือสิ่งที่ฝันอยากทำ”
ชื่อของ ‘บอส กูโน’ เริ่มเป็นที่รู้จักจากงานกำกับครั้งแรกในชีวิต นั่นคือ Hormones the Series ฮอร์โมนส์ วัยว้าวุ่น โดยมีผู้กำกับหลักร่วมกันอีก 2 คน คือ ปิง–เกรียงไกร วชิรธรรมพร และ เสือ-พิชย จรัสบุญประชา
“ถ้าเปรียบซีรีส์เป็นคน ผมคิดว่าเราคือเพื่อนสนิทกัน ย้อนกลับไปตอนเด็กๆ ชอบความรู้สึกของการนั่งอยู่หน้าทีวี แล้วรอดูซีรีส์ตอนใหม่ๆ ทุกเช้า มันกลายเป็นความคุ้นเคย และเป็นจุดที่ทำให้ตัวเองสนใจการกำกับซีรีส์”
สำหรับบอส กูโน นี่เป็นครั้งแรกที่เขาต้องออกกองจริงๆ โดยไม่มีพื้นฐานด้านฟิล์มหรือภาพยนตร์มาก่อน ทุกอย่างที่เกิดขึ้นตรงหน้าล้วนเป็นสิ่งใหม่ทั้งหมด ตั้งแต่การทำงานกับกล้อง ไปจนถึงความเข้าใจว่าทำไมต้องถ่ายหลายรอบ ขนาดว่าซีรีส์เรื่องนี้ปิดกองไปแล้ว ก็ยังรู้สึกว่าความเข้าใจของเขายังไม่เต็มที่ จนกระทั่งต้องกำกับโปรเจกต์เดี่ยวครั้งแรก นั่นคือ จุดเริ่มต้นของบอส กูโน ที่ได้ทำความเข้าใจในทุกกระบวนการของการเป็นผู้กำกับจริงๆ
“จริงๆ แล้ว ผมไม่ได้เรียนฟิล์มโดยตรง พอเข้าไปทำงานกับทีม Hormones the Series มันคือครั้งแรกที่ผมต้องออกกองจริงๆ ต้องเรียนรู้ว่ากล้องถ่ายยังไง ซีนเล่นยังไง ตอนนั้นตื่นเต้นและยากมาก”
[ม้วนที่ 7 บทเรียนจากความ Toxic และการก้าวกระโดดสู่ละครไพรม์ไทม์]
การทำ Hormones the Series สอนให้บอส กูโน รู้ว่า คอนเทนต์ที่ดีไม่ได้ขึ้นอยู่กับแค่สิ่งที่ตัวเองอยากทำ แต่ต้องคำนึงถึงสิ่งที่คนดูอยากเห็นด้วย และคอนเทนต์ที่ดีต้องสร้างความสัมพันธ์กับผู้ชม มีพื้นที่ให้ผู้ชมรู้สึกเชื่อมโยงหรือมีส่วนร่วมกับเรื่องนั้นๆ
ดังนั้น ทุกๆ ครั้งที่บอส กูโน ทำงาน เขาจะต้องนึกเสมอว่า สิ่งที่เขาชอบนั้นตรงกับสิ่งที่ผู้ชมอยากเห็นหรือไม่ แนวคิดนี้กลายเป็นพื้นฐานสำคัญเมื่อต้องกำกับซีรีส์เรื่องแรกของตัวเองเรื่อง Side by Side พี่น้องลูกขนไก่ ที่นำแสดงโดย สกาย-วงศ์รวี นทีทร และ ต่อ-ธนภพ ลีรัตนขจร
หลังจากที่ลับฝีมือในฐานะผู้กำกับซีรีส์อย่างเต็มตัวได้สักระยะ สนามใหม่ที่รอให้บอส กูโน ออกไปท้าทายความสามารถ นั่นคือ การกำกับละครไพรม์ไทม์ อย่าง รักสุดใจนายฉุกเฉิน ที่ทำให้บอส กูโน ต้องยอมรับว่าตัวเองต่อสู้กับ Toxic comment ตั้งแต่ตอนแรกจนถึงตอนจบ
“ตอนทำ ‘My Ambulance รักฉุดใจนายฉุกเฉิน’ ผมโดนด่าทุกอีพีหลังจากที่ออนแอร์”
สิ่งหนึ่งที่บอส กูโน ตระหนักและตกตะกอนได้จากผลงานเรื่องนี้ ที่ออกอากาศทางโทรทัศน์ที่เรียกได้ว่ายังคนเป็น Mass Media ที่มีผู้ชมหลากหลาย และไม่ได้จำกัดแค่กลุ่มที่ชื่นชอบและรู้จักในสไตล์ผลงานของตัวเองเท่านั้น ทำให้เกิดฟีดแบ็กทั้งด้านบวกและลบ รวมถึงคอมเมนต์ที่รุนแรงต่างๆ ถึงขนาดมีคนโทรมาขู่เผาสตูดิโอของนาดาว!
บอส กูโนยอมรับอย่างเปิดเผยว่า ช่วงเวลานั้นตัวเองรู้สึกเฟลมาก อย่างไรก็ตาม ตัวเขาก็เลือกที่จะมองว่าความคิดเห็นเหล่านี้เกิดจากการที่ผู้ชมอินไปกับเรื่องราวของละครที่ถูกสร้างขึ้น แม้ตัวเขาเองจะไม่สามารถทำให้ทุกคนพอใจได้ แต่ก็กลับมองว่าทุกความคิดเห็นเป็นสิ่งสำคัญ เพราะถ้าไม่มีฟีดแบ็กอะไรกลับมาเลย นั่นอาจเป็นสัญญาณว่างานที่เขาทำไม่มีคนดูจริงๆ
“เราเปลี่ยนความคิดทุกคนไม่ได้ แต่ทุกความเห็นคือการสะท้อนว่างานที่ทำกำลังกระทบใจผู้ชมจริงๆ บางอย่างที่เราคิดน้อยเกินไป หรือไปสนับสนุนแนวคิด หรือกรอบคิดอะไรบางอย่างที่สังคมไม่เห็นด้วย ไม่ถูกต้อง ในฐานะคนทำงานต้องยอมรับสิ่งที่เกิดขึ้น แม้ว่าเราจะไม่ได้ตั้งใจสื่อสารออกไปแบบนั้นก็ตาม นี่คือสิ่งที่ได้เรียนรู้จากเหตุการณ์ครั้งนั้น”
[ม้วนที่ 8 แปลรักฉันด้วยใจเธอ: ยุครุ่งเรืองของผลงานที่มาจากชื่อ ‘บอส กูโน’]
หลังจากตอนสุดท้ายของ รักสุดใจนายฉุกเฉิน ออกอากาศไปแล้ว แต่ความสนใจของผู้ชมที่มีต่อ ‘บิวกิ้น’ (พุฒิพงศ์ อัสสรัตนกุล) และ ‘พีพี’ (กฤษฏ์ อำนวยเดชกร) กลับเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แม้ว่าทั้งคู่จะมีบทบาทเพียงเล็กน้อยในเรื่องก็ตาม ชื่อของพวกเขายังคงถูกถามถึงอยู่ตลอดจากเหล่าแฟนคลับ
สิ่งนี้ทำให้บอส กูโน เริ่มสังเกตว่า ทำไมเคมีของทั้งสองคนถึงได้รับความนิยมสูงมาก? จนในที่สุดเขาก็ตัดสินใจสร้าง แปลรักฉันด้วยใจเธอ (I Told Sunset About You) ที่เป็นซีรีส์ที่มีเนื้อหาเรียบง่าย เน้นเรื่องราวของความรักวัยรุ่น และให้ทั้งสองคนนี้มารับบทบาทเป็นตัวดำเนินเรื่อง
และผลลัพธ์ของ แปลรักฉันด้วยใจเธอ นั้นก็สำเร็จเกินคาด ซีรีส์ได้รับความนิยมอย่างมหาศาล ไม่ใช่แค่ในไทย แต่ยังได้รับการติดตามจากผู้ชมในจีนและอีกหลายประเทศ กลายเป็นโปรเจกต์ที่ทำให้บอส กูโน รู้สึกเหมือนเป็นช่วง Coming of Age บนเส้นทางการทำงานของตัวเอง
[ม้วนที่ 9 วิมานหนาม: จากจอเล็กสู่จอใหญ่ และการเรียนรู้ครั้งใหม่ของ บอส กูโน]
การก้าวเข้าสู่การทำภาพยนตร์ ถือเป็นความท้าทายที่ทำให้บอส กูโน เติบโตขึ้นอย่างมาก โดยเฉพาะในเรื่องของ ‘ความละเอียดอ่อน’ และ ‘การคิดงานอย่างเป็นระบบ’ ซึ่งแตกต่างจากการทำซีรีส์ที่มีพื้นที่ให้ปรับเปลี่ยนได้ตลอดเวลา ที่มาพร้อมกับคำถาม ‘ใครคือคนดู?’ เมื่อตนเองได้ลองกำกับภาพยนตร์ครั้งนี้
“ก่อนจะเริ่มโปรเจกต์วิมานหนาม ผมเครียดมาก เพราะไม่รู้จักคนดูเลย เหมือนที่บอกว่าถ้าผมทำคอนเทนต์ จะเอาสิ่งที่ตัวเองชอบครึ่งหนึ่ง แล้วอีกครึ่งหนึ่งคือดูว่าคนดูสนใจอะไรในช่วงเวลานั้น แต่กับหนัง…ผมไม่รู้เลยว่าใครจะซื้อตั๋วเข้าโรง ตรงนี้เป็นพื้นที่ที่ผมไม่สนิทกับมันเหมือนซีรีส์
“แล้วยุคนั้น ช่วงสองปีก่อนที่จะเริ่มทำวิมานหนาม เป็นช่วงที่คนเริ่มไม่เข้าโรงหนังแล้ว กระแสสตรีมมิงเพิ่งมาบูมพอดี ผมคิดตลอดเวลาว่าถ้าทำหนัง แล้วใครจะมาดู? เป้าหมายของเราคืออะไร? มันควรเป็นคอนเทนต์แบบไหน?
“วันแรกที่ทำงาน พี่วัน (วรรณฤดี พงษ์สิทธิศักดิ์) ถามว่า ‘ช็อตแรกของหนังเรื่องนี้จะเป็นช็อตอะไร?’ ตอนนั้นในหัวตะโกนดังๆ เลยว่า ‘โห เหี้ย! เปิดมาด้วยช็อตอะไรวะ!’ แล้วการทำหนังต้องคิดละเอียดมากช็อตต่อช็อต เพราะหนังมีเวลาจำกัด มันแทบจะเป็นเหมือนสตอรี่บอร์ดของงานโฆษณาเลย”
ขณะกำกับ วิมานหนาม บอส กูโน ได้สัมผัสกับกระบวนการทำงานที่รอบคอบและมีโครงสร้างมากขึ้น ตั้งแต่การกำหนด ‘ช็อตแรกของหนัง’ ไปจนถึง ‘การออกแบบทุกมุมกล้อง’ ให้สอดคล้องกับเรื่องราว เปรียบเสมือนการสร้าง ‘สตอรี่บอร์ด’ อย่างละเอียด ซึ่งเป็นสิ่งที่เขาไม่เคยต้องทำมาก่อนในงานกำกับซีรีส์
นอกจากมุมมองทางเทคนิค การร่วมงานกับ ‘เจฟ ซาเตอร์’ และ ‘อิงฟ้า วราหะ’ ก็เป็นอีกหนึ่งบทเรียนที่สำคัญ นักแสดงทั้งสองมีพลังและแพสชันที่แรงกล้า ซึ่งทำให้บอสต้องเรียนรู้วิธีการทำงานร่วมกับนักแสดงในรูปแบบที่ต่างออกไป โดยเฉพาะการดึงศักยภาพของพวกเขาออกมาให้สมบูรณ์แบบที่สุด
อีกหนึ่งตัวละครที่ทุกคนจดจำได้จากภาพยนตร์เรื่องนี้ นั่นคือ ‘แม่แสง’ ที่ได้นักแสดงรุ่นใหญ่มากความสามารถอย่าง ‘สีดา พัวพิมล’ มารับบทบาทและสร้างตัวละครนี้ให้มีชีวิตบนแผ่นฟิล์ม จนออกมาสู่สายตาผู้ชม
แม้เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา (20 มีนาคม 2568) สีดา พัวพิมล จะได้จากทุกคนไปแล้วก็ตาม แต่ในความทรงจำของบอส กูโน ที่ได้ร่วมทำงานกับเธอครั้งสุดท้าย เขาบอกว่า… “แม่สีดา คือ ‘แม่แสงที่สมบูรณ์แบบ’”
บอส กูโน เล่าให้ฟังว่า บทของ ‘แม่แสง’ ใน วิมานหนาม เป็นบทที่หานักแสดงเหมาะสมได้ยาก ด้วยความที่ตัวเขาเองต้องการนักแสดงหญิงวัย 60-70 ปี ที่มีความเป็นแม่สูง และยังต้องแบกรับความรู้สึกของคนที่สูญเสียลูกชายพร้อมกัน และ ‘แม่สีดา’ คือคนที่ทีมแคสติงพบโดยบังเอิญ แต่กลับรู้สึกว่าเธอเชื่อมโยงกับบทนี้อย่างลึกซึ้ง เพราะเธอเคยผ่านเหตุการณ์สูญเสียลูกชายจริงๆ (อ๊อฟ-อภิชาติ พัวพิมล) แม้ว่าเขาจะไม่เคยเห็นผลงานการแสดงของเธอมาก่อน
“วันแคสติง ผมมีโอกาสได้นั่งคุยกับแม่สีดา แม่พูดถึงพี่อ๊อฟตลอด ทุกครั้งที่พูดถึงลูกชาย สีหน้า แววตา น้ำเสียง ล้วนเต็มไปด้วยความคิดถึงและความรักอย่างไม่มีเงื่อนไข ฟังแล้วน้ำตาคลอ
“ในขณะถ่ายทำ แม่สีดาจะเป็นเสียงหัวเราะให้กับทีมงานทุกคน เพราะแม่จะชวนทุกคนคุย เตรียมของกินมาแบ่ง ขณะที่กินข้าวกองถ่าย แม่ก็จะยื่นข้าวกล่องให้แล้วถามว่า ‘เอาของแม่ไปไหม? มีกินไหม?’ เหมือนเขาอยากดูแลและนึกถึงคนอื่นอยู่ตลอด นี่แหละ…ความน่ารักของแม่สีดา
“แม้วิมานหนามจะปิดกล้องไปแล้ว แต่แม่สีดาก็ยังอยู่ในชีวิตของทีมงานทุกคน แม่ยังไลน์คุยกับทุกคน แม่สีดามักจะพูดอยู่เสมอว่า…อยากขอไลน์ทุกคนไว้ เพราะตัวเองอยากจะตื่นมาแล้วส่งสติกเกอร์ให้ทุกคน เพราะหากวันหนึ่งตนเองไม่ได้ส่งข้อความ ทุกคนจะได้รู้ว่าตนไม่อยู่แล้ว
“แม่สีดาอยากเล่นหนังเรื่องวิมานหนามให้ดีที่สุด เพราะเธออยากจะมอบเป็นรางวัลให้ชีวิตตนเอง ผมและทีมงานทุกคนรู้สึกเป็นเกียรติมากที่ครั้งหนึ่งได้เคยทำงานร่วมกับแม่สีดา ขอบคุณมากๆ ครับ”
[ม้วนที่ 10 GELBOYS สถานะกั๊กใจ: เพราะความคิดถึงจึงหวนคืนสู่ซีรีส์]
“ซีรีส์ ‘GELBOYS สถานะกั๊กใจ’ ทิ้งห่างจากซีรีส์เรื่องก่อนๆ ถึง 3 ปี เป็นช่วงเวลาที่ผมได้เติบโตและสำรวจแนวทางใหม่ๆ ก่อนจะกลับมาสู่โลกของซีรีส์อีกครั้ง”
แม้ว่าการทำภาพยนตร์จะเป็นประสบการณ์ที่ยิ่งใหญ่ แต่บอส กูโน ก็ยังคงหลงใหลในเสน่ห์ของการทำซีรีส์แบบสัปดาห์ต่อสัปดาห์ ซึ่งเปิดโอกาสให้ทีมงานสามารถพัฒนาเรื่องราวและสังเกตรีแอ็กชันของผู้ชมได้อย่างต่อเนื่อง
GELBOYS สถานะกั๊กใจ จึงได้ถือกำเนิดขึ้นในช่วงที่ วิมานหนาม กำลังอยู่ในขั้นตอนปรับเปลี่ยนรายละเอียดต่างๆ ในการทำงาน โดยซีรีส์เรื่องนี้เริ่มต้นจากการพูดคุยเล่นๆ กับกลุ่มเพื่อน และความคิดที่ว่า “มึงเปิดออฟฟิศ มึงทำซีรีส์ของตัวเองเลย” ความคิดนี้กลายเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างสรรค์คอนเทนต์ที่ควบคุมได้ทุกกระบวนการ
สำหรับบอส กูโน เขามองว่าสิ่งที่ทำให้ GELBOYS สถานะกั๊กใจ มีเสน่ห์เฉพาะตัว คือ การนำวัฒนธรรมวัยรุ่นยุคนี้มาสะท้อนผ่านเรื่องราวในซีรีส์ และเขาเองก็ได้รับแรงบันดาลใจมาจากเทรนด์ ‘เล็บเจล’ ที่ทีมงานในออฟฟิศบอกกับเขาว่า “นี่คือคัลเจอร์ใหม่ของเด็กวัยรุ่น” สิ่งนี้ทำให้บอส กูโน เริ่มสนใจและรู้สึกว่านี่อาจเป็นหัวข้อที่เหมาะกับเรื่องราวของวัยรุ่น
[ม้วนที่ 11 วัฒนธรรมวัยรุ่นและความท้าทายในการเขียนบท]
การทำ GELBOYS สถานะกั๊กใจ ทำให้บอส กูโน ค้นพบว่าค่านิยมของวัยรุ่นยุคนี้เปลี่ยนไปมาก ตั้งแต่เรื่องเล็กๆ อย่าง วิธีพิมพ์สัญลักษณ์การหัวเราะ ที่เปลี่ยนจาก ‘555’ มาเป็น ‘522525’ (ตัวเลขที่ไม่ได้ถูกต้องทั้งหมด) ไปจนถึง การจีบกันผ่าน One Song DM หรือ วัฒนธรรมการถ่าย TikTok ได้ทุกที่ทุกเวลา
“หนึ่งในความท้าทายที่ใหญ่สุดของ ‘GELBOYS สถานะกั๊กใจ’ คือ ‘การเข้าใจความคิดของวัยรุ่น’ เพราะการเขียนบทสำหรับคนรุ่นใหม่ไม่สามารถใช้กรอบความคิดแบบเดิมได้อีกต่อไป เช่นประเด็น Situationship หรือความสัมพันธ์แบบกั๊กๆ ซึ่งวัยรุ่นบางคนอาจมองว่าเป็นเรื่องปกติ ในขณะที่คนรุ่นก่อนหน้านั้นอาจไม่เข้าใจแนวคิดนี้เลย”
เพื่อให้แน่ใจว่าบทพูดและพฤติกรรมของตัวละครเป็นสิ่งที่วัยรุ่นสามารถเชื่อมโยงได้จริง บอส กูโนจึงใช้วิธีสัมภาษณ์วัยรุ่นจริงๆ ในทุกคืนที่ทำงาน ไม่ว่าจะเป็นการทัก DM (direct message – ส่งข้อความแบบส่วนตัว) หาเด็กมัธยม หรือเดินเข้าไปถามวัยรุ่นที่สยามโดยตรง วิธีนี้ช่วยให้ทีมเขียนบทเข้าใจไวยากรณ์และวิธีคิดของวัยรุ่นยุคใหม่มากขึ้น
[ม้วนที่ 12 ข้อความจากชีวิตวัยสามสิบสาม]
เมื่อชวน บอส กูโน ลองย้อนกลับไปพิจารณาผลงานของตัวเองทุกๆ ชิ้นที่ผ่านมา เขาพบว่ามีสองสิ่งที่เชื่อมโยงงานของเขาเสมอ นั่นคือ ‘ความอินกับเรื่องราว’ และ ‘ความสำคัญของการแสดง’
เริ่มจากเรื่องแรก คือ ‘ความอินกับเรื่องราว’ บอส กูโนเล่าว่า ทุกโปรเจกต์ของเขาเริ่มจากสิ่งที่ตัวเองสนใจหรือกำลังอิน ณ ขณะนั้น อย่างเรื่อง GELBOYS สถานะกั๊กใจ ถ้าอีก 5 ปีข้างหน้า เขาอาจไม่ตัดสินใจทำซีรีส์เรื่องนี้ เพราะไม่ใช่สิ่งที่เขาสนใจแล้วก็ได้ เช่นเดียวกับ วิมานหนาม ที่เกิดจากความสนใจที่มีต่อประเด็นสมรสเท่าเทียม
ต่อมา คือ ‘ความสำคัญของการแสดง’ ไม่ว่าจะเป็นภาพยนตร์ ซีรีส์ หรือละครไพรม์ไทม์ บอส กูโนให้ความสำคัญกับนักแสดงเป็นอันดับแรกๆ เพราะเชื่อว่าการแสดงที่เป็นธรรมชาติและเหมาะสมกับบทบาทคือหัวใจของการเล่าเรื่อง
แน่นอนว่าเมื่อผลงานได้รับความนิยม ความคาดหวังในผลงานที่ถูกผลิตและเผยแพร่ในนามบอส กูโน ย่อมยิ่งสูงขึ้นเช่นกัน สิ่งนี้ทำให้ตัวเขาเองต้องเผชิญกับแรงกดดันอย่างเลี่ยงไม่ได้ แต่สุดท้ายแล้ว บอส กูโนก็เลือกที่จะไม่ปล่อยให้แรงกดดันเป็นตัวกำหนดการทำงานของตัวเอง เพราะเชื่อว่า ‘การสร้างคอนเทนต์ต้องมาจากความอินของตัวผู้สร้างด้วย’ ไม่ใช่แค่การพยายามทำเพื่อเอาใจทุกคน เพราะถ้าทำเพื่อให้ถูกใจทุกคน สุดท้ายอาจไม่ได้ออกมาเป็นงานที่เขาภูมิใจ
“ชีวิตการทำงานสอนผมสามอย่าง นั่นคือ ความอดทน จังหวะ และศิลปะการอยู่ร่วมกัน”
แน่นอนว่าการเดินทางในวงการนี้สอนให้บอส กูโน เข้าใจ ‘3 สิ่งสำคัญ’ ที่ทำให้เขาเติบโตขึ้น ไม่ว่าจะเป็น ‘ความอดทน’ เพราะโปรเจกต์แต่ละชิ้นใช้เวลานานและเต็มไปด้วยอุปสรรค ความอดทนและเดินหน้าต่อเป็นสิ่งสำคัญ
ต่อมาคือ ‘จังหวะ’ ที่ไม่ใช่แค่การเล่าเรื่อง แต่รวมถึงการเลือกเวลาที่เหมาะสมในการทำงานหรือการปล่อยคอนเทนต์ หรือแม้แต่การพูดคุยกับทีมงานและนักแสดง เพื่อให้มีความเข้าใจตรงกัน
สุดท้ายคือ ‘ศิลปะของการทำงานร่วมกัน’ เพราะการทำงานวงการนี้ไม่ใช่แค่เรื่องของไอเดียดีๆ แต่เป็นเรื่องของ ‘คน’ การสร้างสภาพแวดล้อมที่ดีในการทำงานจะทำให้ทุกอย่างออกมาอย่างลงตัว
แม้บอส กูโน ในวัย 33 จะผ่านประสบการณ์มามากมาย แต่ก็มีบางช่วงที่เขาเองรู้สึกท้อจนอยากหยุดทำงานไปเลย แต่สิ่งหนึ่งที่ช่วยให้เขากลับมาได้ นั่นคือ ‘การนอน’
บอส กูโนเชื่อว่าการพักผ่อนที่เพียงพอเป็นปัจจัยสำคัญ เพราะความเหนื่อยล้าส่งผลต่อความอดทน ทำให้คิดไม่รอบคอบ และบางครั้งทำให้เกิดความวิตกกังวลที่ไม่จำเป็น
“ทุกครั้งที่รู้สึกท้อ ลึกๆ แล้วมันเกิดจากการที่เราไม่ได้พักผ่อนเต็มที่”
นอกจากนี้ ‘การตั้งเป้าหมายให้ชัดเจน’ ก็ช่วยดึงตัวเองกลับมาจากภาวะเหนื่อยล้าหรือท้อแท้ได้เสมอ เมื่อเป้าหมายชัด ตนเองก็สามารถอดทนต่ออุปสรรคต่างๆ ได้ดีขึ้น
“หากเมื่อไหร่ที่เป้าหมายเริ่มเลือนราง และรู้สึกว่าเส้นทางที่เดินอยู่อาจไม่ใช่สิ่งที่นำไปสู่เป้าหมายที่ตั้งไว้ ผมก็ไม่ลังเลที่จะเปลี่ยนเส้นทาง หรือหยุดพักเพื่อหาทางที่ดีที่สุด”
แล้วฝันต่อไปของบอส กูโน คืออะไร?
หลังจากได้เริ่มลงมือทำซีรีส์ GELBOYS สถานะกั๊กใจ บอส กูโนเริ่มมองหาความท้าทายใหม่ๆ และสิ่งหนึ่งที่อยากทำและติดอยู่ในใจของเขามาตลอดคือ ‘การทำ Girl Group’
“Girl Group เป็นโปรเจกต์ที่ผมอยากทำมาตั้งแต่เด็ก แม้ยังไม่รู้ว่าถึงเวลาที่เหมาะสมหรือยัง รวมถึงปัจจัยอื่นๆ ที่ต้องคิด แต่ความฝันนี้ยังคงหลงเหลืออยู่และรอคอยโอกาสที่เหมาะสม”
นอกจาก ‘การกลับไปทำภาพยนตร์อีกครั้ง’ หลังจากได้ชิมลางลองฝีมือกับ วิมานหนาม บอส กูโนเริ่มรู้สึกว่าตัวเองเริ่มเข้าใจกลุ่มผู้ชมภาพยนตร์มากขึ้น และอยากกลับไปยังพื้นที่นั้นอีกครั้ง ด้วยมุมมองและความเข้าใจใหม่ที่ได้รับจากการทำงาน
[ม้วนที่ 13 เด็กชายบอสในวันนั้น และ ‘บอส กูโน’ ในวันนี้]
บอส กูโน ในวันนี้ ประสบความสำเร็จแล้วหรือยัง?
คำถามที่บอส กูโน นิ่งและครุ่นคิด…แล้ววันนี้ตัวเองประสบความสำเร็จแล้วหรือยัง? ตัวเขาเองก็ไม่แน่ใจนัก แต่สิ่งหนึ่งที่ตัวเขามั่นใจคือ ‘เขาได้ทำทุกอย่างที่เขาเคยฝันไว้’
“ถ้าย้อนเวลากลับไปบอกเด็กคนนั้นที่เคยฝันถึงสิ่งต่างๆ ได้ วันนี้ก็คงสามารถบอกเขาได้ว่า ผมทำทุกอย่างที่เคยอยากทำสำเร็จแล้ว”
สำหรับบอส กูโน คำว่า ‘ความสำเร็จ’ อาจไม่ได้หมายถึงการมีชื่อเสียงหรือความนิยม แต่อยู่ที่การได้ทำสิ่งที่ตัวเองรักและภาคภูมิใจ
กำกับซีรีส์ ละคร ภาพยนตร์มาแล้วหลายเรื่อง แล้วคิดว่า…หากชีวิตของบอส กูโน เป็นหนังสักเรื่อง จะเป็นหนังเรื่องอะไร?
หากเปรียบชีวิตตัวเองเป็นหนังในร้านเช่าวิดีโอที่เติบโตมา บอส กูโนมองว่าชีวิตของเขาตอนนี้คงเหมือนซีรีส์ Reply 1988 เต็มไปด้วยความอบอุ่น ความสัมพันธ์ของผู้คนรอบตัว และบรรยากาศที่ทำให้รู้สึก ‘สบายใจ’
“ถ้าชีวิตของผมเป็นหนังสักเรื่อง…มันก็คงเป็นซีรีส์ ‘Reply 1988’ ที่เต็มไปด้วยมิตรภาพ ความทรงจำ และการเติบโต”
เส้นทางของบอส กูโน ไม่ใช่แค่เรื่องราวของเด็กชายจากร้านเช่าวิดีโอที่เติบโตมาเป็นผู้กำกับ แต่เป็นเรื่องของคนที่กล้าทดลอง กล้าผิดพลาด และกล้าก้าวข้ามขีดจำกัดของตัวเองอยู่เสมอ จากวันแรกที่จับกล้องถ่ายเล่นกับเพื่อน จนถึงวันที่ได้สร้างสรรค์ซีรีส์และภาพยนตร์ที่กลายเป็น ‘อะไรใหม่ๆ’ ของวงการบันเทิงไทย
ไม่ว่าบอส กูโน จะทำอะไร ท้ายที่สุด เขาก็คือคนที่ยังคงอินกับการเล่าเรื่อง และตราบใดที่เขายังมีเรื่องราวที่อยากถ่ายทอด ผู้ชมก็คงได้เห็นผลงานต่อๆ ไปที่เต็มไปด้วยความสดใหม่ สะท้อนถึงยุคสมัย รวมถึงความกล้าและตัวตนของเขาเสมอ ที่ยังคงเปี่ยมไปด้วยพลังแบบเดียวกับที่เขาเคยลงมือทำไปในทุกผลงานที่ผ่านมา