โลกนี้ไม่ได้มีแค่ ‘ผู้ลี้ภัย’ แต่มีทั้งผู้อพยพ-ผู้พลัดถิ่น และเด็กราว 12.5 ล้านคนเสี่ยงไร้อนาคต
เวลาพูดถึง ‘ผู้ลี้ภัย’ คนส่วนใหญ่ในประเทศที่ต้องเปิดรับผู้ลี้ภัยมักจะมีภาพจำของคนกลุ่มนี้ในแง่ลบ เพราะเห็นตัวอย่างจากประเทศตะวันตกที่เปิดรับผู้ลี้ภัยและเกิดปัญหาเรื่องการปรับตัวและประชากรกลุ่มนี้ที่ถูกมองว่าเป็นภาระและทำให้ ‘เปลืองภาษี’ รวมถึงมาแย่งงานคนในประเทศ จึงมีกลุ่มคนรณรงค์ว่าควรส่งผู้ลี้ภัยกลับประเทศต้นทางที่จากมา แม้จะรู้ว่านั่นอาจหมายถึงการ ‘ส่งคนกลับไปตาย’
ส่วนคนที่สนับสนุนให้เปิดรับผู้อพยพลี้ภัยในหลายประเทศทางฝั่งตะวันตกก็มองว่าแทบทุกชาติล้วนเกิดขึ้นจากแรงงานของผู้อพยพลี้ภัยในอดีตทั้งสิ้น บวกกับมีกฎหมายระหว่างประเทศที่รัฐบาลต่างๆ ลงนามไว้ก็มีผลผูกพันให้ต้องเปิดรับผู้ลี้ภัยมาดูแล ถ้าไม่ทำก็ถือว่าละเมิดข้อตกลงและไม่ปฏิบัติตามมาตรการความช่วยเหลือทางมนุษยธรรม
เนื่องในวันที่ 20 มิถุนายน ของทุกปี ถูกยกให้เป็น ‘วันผู้ลี้ภัยโลก’ (World Refugee Day) วันนี้จึงมักจะถูกอุทิศให้กับการรำลึกถึงชะตากรรมของผู้ลี้ภัย และเสริมสร้างความเข้าใจไม่ให้เกิดการเลือกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรมกับผู้ลี้ภัยทั่วโลก
สิ่งที่ต้องแจกแจงอย่างละเอียดคือ ‘ผู้อพยพและผู้ลี้ภัย’ ไม่ได้หมายถึงคนกลุ่มเดียวกันเสมอไป เพราะ ‘ผู้อพยพ’ (migrants) โดยรวมๆ คือ ‘ผู้โยกย้ายถิ่นฐาน’ ไม่ว่าจะเป็นการย้ายถิ่นฐานด้วยเหตุผลทางเศรษฐกิจหน้าที่การงาน ไปจนถึงการหนีภัยความรุนแรงในประเทศ
แต่การจะถูกนับเป็น ‘ผู้ลี้ภัย’ (refugees) อย่างเป็นทางการ ต้องได้รับการประเมินและรับรองจากประเทศที่เปิดรับผู้ลี้ภัย รวมถึงองค์กรที่ร่วมมือกับสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) ที่รับผิดชอบเรื่องนี้โดยตรง และผู้ลี้ภัยจะต้องได้รับการคุ้มครองจากประเทศที่เป็นภาคีสมาชิกอนุสัญญาว่าด้วยสถานภาพผู้ลี้ภัย พ.ศ. 2494 ไม่ให้พวกเขาต้องถูกส่งตัวกลับไปยังประเทศที่หนีมา เพราะผู้ลี้ภัยส่วนใหญ่จะได้รับอันตรายถึงชีวิตหรือเสี่ยงต่อการถูกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรม
นอกจากนี้ยังมี ‘ผู้ขอลี้ภัย’ (asylum seekers) ที่กำลังรอการรับรองสถานะผู้ลี้ภัยอย่างเป็นทางการ โดยส่วนใหญ่กำลังรอการตรวจสอบข้อมูลหรือพิจารณาเหตุผลในการขอลี้ภัยว่าเหมาะสมแล้วหรือไม่ แต่คนกลุ่มนี้ยังไม่ได้รับความคุ้มครองเทียบเท่ากับผู้ลี้ภัย จึงมีรายงานว่าผู้ขอลี้ภัยถูกส่งกลับประเทศที่หนีมาเป็นจำนวนไม่น้อยในช่วงหลายปีที่ผ่านมา
ขณะที่ ‘ผู้พลัดถิ่นภายในประเทศ’ (IDP หรือ Internal Displaced Persons) คือ คนที่ต้องอพยพย้ายถิ่นจากภูมิลำเนาเดิมในประเทศ โดยอาจมีสาเหตุจากทั้งสงครามความขัดแย้ง ความรุนแรง และภัยพิบัติทางธรรมชาติซึ่งมีผลกระทบต่อวิถีชีวิตของผู้คน โดยคนกลุ่มนี้ก็มีจำนวนเพิ่มขึ้นเช่นกัน ทั้งยังมีแนวโน้มว่าจะกลายเป็นผู้อพยพลี้ภัยไปยังต่างแดนในอนาคตได้
รายงาน UNHCR ระบุด้วยว่า ช่วงสิ้นปี 2021 มีผู้อพยพพลัดถิ่นมากกว่า 89.3 ล้านคนทั่วโลก เป็นผลมาจากการกดขี่ข่มเหง ความขัดแย้ง การล่วงละเมิด และความรุนแรง ซึ่งปีนี้น่าจะมีผู้อพยพพลัดถิ่นเพิ่มขึ้นอีกหลายล้านคนหลังจากเกิดสงครามยูเครน–รัสเซีย
เด็กๆ ผู้ลี้ภัยกว่าสิบล้านคนเสี่ยงขาดโอกาสในชีวิต
กองทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูนิเซฟ (UNICEF) เปิดเผยข้อมูลที่รวบรวมเมื่อปี 2021 พบว่า เด็กราว 36.5 ล้านคนทั่วโลกต้องพลัดถิ่นที่อยู่ ในจำนวนนั้นรวมถึงเด็ก 12.5 ล้านคนที่อยู่ในค่ายผู้ลี้ภัยต่างๆ ทั่วโลก และเด็กกลุ่มนี้เสี่ยงจะตกอยู่ในภาวะไร้อนาคต เพราะไม่มีโอกาสเข้าถึงการศึกษาและการใช้ชีวิตอย่างอิสระและไม่ได้รับการคุ้มครองอย่างที่ควรจะเป็น
ส่วนกรณีของประเทศไทย ยุคหนึ่งเราก็มี ‘ผู้ลี้ภัย’ ที่โล้สำเภามาจากจีนแบบที่ชอบพูดกันว่ามาแบบ ‘เสื่อผืนหมอนใบ’ ปัจจุบันลูกหลานของคนกลุ่มนี้ก็ถูกกลืนกลายเป็น ‘คนไทย’ ไปแล้วเต็มตัว แต่พอเป็นผู้ลี้ภัยเชื้อชาติอื่นๆ ที่มีเหตุให้ต้องหนีตายหรืออพยพย้ายถิ่นฐานด้วยเหตุผลต่างๆ ในยุคหลังปี พ.ศ. 2500 (ค.ศ. 1957) เป็นต้นมา กระบวนการรับมือผู้ลี้ภัยคือการตั้งค่ายพักพิงตามแนวชายแดนที่ติดกับประเทศเพื่อนบ้าน และมีข้อห้ามผู้ลี้ภัยออกนอกค่าย แต่ต้องดำเนินการให้ผู้ลี้ภัยได้ไปตั้งถิ่นฐานใหม่ในประเทศที่สาม
อย่างไรก็ดี ผู้อพยพจำนวนมากที่เข้ามาในไทยไม่ได้เป็น ‘ผู้ลี้ภัย’ หรือ ‘ผู้ขอลี้ภัย’ โดยอัตโนมัติ เพราะไทยไม่ได้เป็นประเทศภาคี ‘อนุสัญญาว่าด้วยสถานภาพผู้ลี้ภัย’ พ.ศ. 2494 และพิธีสารปี พ.ศ. 2510 และไม่มีกฎหมายคุ้มครองการเข้ามาของผู้ลี้ภัย พวกเขาจึงถูกแปะฉลากว่าเป็น ‘ผู้ลักลอบเข้าเมือง’ ซึ่งถือว่าผิดกฎหมายตรวจคนเข้าเมืองของไทย ผู้ลี้ภัยจึงอาจถูกจับกุม กักกัน และเนรเทศออกนอกประเทศได้
ที่ผ่านมา ประเทศไทยให้ความช่วยเหลือผู้ลี้ภัยจากเมียนมามากกว่า 90,000 คนในค่ายผู้พักพิงชั่วคราวตามชายแดนไทย–เมียนมา จำนวน 9 แห่ง แต่การบริหารจัดการค่ายพักพิงของผู้ลี้ภัยสงครามและความขัดแย้งจากประเทศต้นทางไม่ได้ขยายวงไปยังผู้ลี้ภัยที่เข้าเมืองมาทางอื่นๆ เช่น ชาวโรฮิงญาที่ต้องการอพยพไปมาเลเซีย แต่ถูกขบวนการค้ามนุษย์นำมาปล่อยที่เกาะทางใต้ของไทย ก็จะถูกดำเนินคดีตามกฎหมายในฐานะผู้ลักลอบเข้าประเทศไทย ซึ่งประเด็นนี้มีผู้วิจารณ์ว่าไทยไม่ควรส่งตัวชาวโรฮิงญากลับประเทศต้นทาง คือ เมียนมา เพราะอาจเสี่ยงต่อการถูกจับกุมและลงโทษอย่างรุนแรง
อ้างอิง
- InfoQuest. UNHCR ชี้วิกฤตอาหารเป็นตัวเร่งระดับการพลัดถิ่นพุ่งสูงเป็นประวัติการณ์. https://bit.ly/3tNG9bZ
- Habitat for Humanity. Refugees, Asylum Seekers & Migrants: A Crucial Difference. https://bit.ly/2GhMOjf
- UNICEF. Worldwide, about 36.5 million children had been displaced as consequence of conflict and violence as of the end of 2021. https://bit.ly/2sSdPVE
- UNHCR. สรุปข้อมูลการทำงานในประเทศไทย. https://bit.ly/3HB5QlM