3 Min

เหตุผลทำไมบางประเทศ รวมถึงไทย เลือก ‘งดออกเสียง’ ในกรณีมติ UN ไม่ขายอาวุธให้เมียนมา?

3 Min
259 Views
24 Jun 2021

Highlights

  • ประชาชนตั้งคำถามหลังไทย และอีก 3 ประเทศอาเซียน งดออกเสียงมติ UN ในการหยุดขายอาวุธให้เมียนมา เพื่อตอบโต้การรัฐประหารและการละเมิดสิทธิมนุษยชนในเมียนมา 
  • แม้ว่าจะไม่ใช่เรื่องผิดคาดเพราะหลายประเทศที่งดออกเสียงก็มีปัญหาใกล้เคียงกับเมียนมา จะให้ต่อต้านก็กลายเป็นกลืนน้ำลายตัวเองอึกใหญ่แบบที่ผู้นำคงไม่ประสงค์จะทำ

หลังจากองค์การสหประชาชาติ (United Nation) หรือ UN เรียกร้องให้นานาชาติยุติการขายอาวุธให้กับเมียนมา รวมถึงคืนประชาธิปไตยให้กับประชาชน เพื่อตอบโต้การรัฐประหารของ นายพล มิน อ่อง หล่าย และความรุนแรงที่เกิดขึ้นภายในประเทศตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ รวมถึงเรียกร้องให้ปล่อยผู้ต้องขังทางการเมืองซึ่งมี อองซาน ซูจี ผู้นำพรรค NLD ซึ่งชนะการเลือกตั้งอยู่ในนั้นด้วย

ส่วนใหญ่เห็นพ้องไปในทิศทางเดียวกับ UN นานาชาติรวมทั้งหมด 119 ประเทศในการไม่ซื้อขายอาวุธให้กับเมียนมา รวมถึง 6 ใน 10 ประเทศอาเซียนที่อยู่ในละแวกใกล้เคียงกับพื้นที่ขัดแย้ง นอกจากนี้มีประเทศที่งดออกเสียง 36 ประเทศ รวมถึง จีนและรัสเซีย มีเบลารุสเพียงประเทศเดียวที่คัดค้านมติของทาง UN

ประเด็นที่น่าสนใจคือในอาเซียนมี 4 ประเทศเท่านั้นที่ตัดสินใจงดออกเสียง คือ ไทย ลาว กัมพูชา และบรูไน แม้จะมีฉันทามติร่วม 5 ข้อจากการประชุมสุดยอดพิเศษของผู้นำทั้ง 10 ประเทศ เมื่อวันที่ 25 เมษายน ที่กรุงจาการ์ตา แต่ในทางปฏิบัติก็ยังไม่มีอะไรเป็นรูปธรรม

โดยที่ทางประเทศไทยเองระบุว่าที่ไม่ออกความเห็นเรื่องนี้เป็นเพราะว่า ไทยมีชายแดนร่วมกับเมียนมากกว่า 2,400 กิโลเมตรและมีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกันมาตลอด การตัดสินใจจึงต้องการความรอบคอบมากๆ ในขณะที่ข้อมติที่ UN เสนอไม่ได้คำนึงถึงความซับซ้อนและความขัดแย้งที่ยาวนานของเมียนมา และเจตนารมณ์ของอาเซียนได้มีฉันทามติก่อนหน้านี้ให้ทุกฝ่ายความขัดแย้งในพื้นที่ร่วมกันแก้ไขปัญหาภายใน

สรุปสั้นๆ ว่าไทยไม่รู้สึกว่ามติที่ UN จะนำไปสู่สันติภาพในเมียนมาและความซับซ้อนทางการเมือง ทำให้การตัดสินใจต้องระวังมากๆ

ทั้งนี้มติไม่ออกเสียงของไทยและอีก 3 ประเทศอาเซียนนั้นไม่ได้เป็นสิ่งที่ผิดคาดมากนักสำหรับคนที่ติดตามท่าทีของประชาคมอาเซียนต่อความรุนแรงในเมียนมามาตลอด จะพบว่ามีเพียง 4 ประเทศในอาเซียนที่มีออกตัวต่อต้านการรัฐประหารและความรุนแรงในเมียนมามาตั้งแต่ต้นคือ สิงคโปร์ อินโดนีเซีย มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ ในขณะที่ประเทศอื่นๆ มีท่าทีเฉยๆต่อเรื่องนี้

ส่วนหนึ่งเป็นเพราะว่าหลายประเทศในอาเซียนรวมถึงประเทศไทยเอง มีปัญหาความขัดแย้งภายในที่ใกล้เคียงกับในเมียนมา การรัฐประหารขึ้นเป็นรัฐบาลทหารและการต่อต้านของประชาชนที่ต้องการประชาธิปไตยเกิดขึ้นหลายครั้งในอาเซียน ดังนั้นรัฐบาลที่มาจากการรัฐประหาร ไปจนถึงประเทศที่ปกครองด้วยระบอบสังคมนิยมอย่างเช่น ลาว และเวียดนาม มีแนวโน้มจะไม่ต่อต้านในเรื่องนี้ (แต่ในมติครั้งนี้เวียดนามเห็นด้วยกับมติ) รวมถึงกัมพูชาที่แม้จะเป็นระบอบประชาธิปไตย แต่ก็มีรัฐบาลที่ผูกขาดโดยผู้นำ เดโช ฮุน เซน มาไม่ต่ำกว่า 25 ปีแล้ว

การแสดงออกว่าไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหารที่เมียนมาในขณะที่ตัวเองก็มีปัญหาที่ใกล้เคียงกันก็อาจเป็นการกลืนน้ำลายก้อนโตที่ผู้นำไม่ประสงค์จะทำ

อย่างไรก็ดีในประเทศอื่นๆ นอกเหนือจากในพื้นที่อาเซียนที่งดออกเสียงยังระบุว่าส่วนหนึ่งเป็นเพราะต้องการให้เป็นเรื่องภายใน แต่อีกส่วนหนึ่งระบุว่ามติของ UN ครั้งนี้ไม่ครอบคลุมความรุนแรงที่เคยเกิดขึ้นกับชาวโรฮิงญาในอดีต ที่ส่งผลให้เกิดการลี้ภัยนับล้านคนจึงไม่ออกเสียง

แม้ว่ามติของ UN จะไม่ได้มีผลทางกฎหมาย และ UN ไม่สามารถแทรกแซงการเมืองภายในประเทศใดๆ ได้ แต่แนวโน้มของประเทศส่วนใหญ่เห็นด้วยในการไม่ซื้อขายอาวุธให้เมียนมาเพราะเชื่อว่าอาวุธในขณะนี้จะถูกใช้กับประชาชนมากกว่าศัตรูภายนอก มตินี้อาจเป็นการสร้างแรงกระเพื่อมต่อกองทัพเมียนมาได้เป็นรูปธรรมมากกว่าการบอยคอตการค้าหรือประณามบนเวทีโลก (ใครที่อยากรู้ว่า UN สามารถทำอะไรกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนในเมียนมาได้บ้าง สามารถตามไปอ่านที่: https://bit.ly/2TU5m5m)

ท่าทีการไม่ออกความเห็นของไทย (แม้จะไม่ผิดคาด) ก็ทำให้ประชาชนหลายๆ คนตั้งข้อวิพากษ์วิจารณ์ว่าเราควรมีท่าทีอย่างไรเมื่อเห็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน?

อ้างอิง

  • Voice. ‘ไทยแจงปมงดออกเสียงมติ UN กรณีเมียนมา ยันไม่เคยดูดาย หวังเกิดสันติภาพแท้จริง. https://bit.ly/3iTlVZX
  • Thairat. UN ลงมติประณามเรียกร้องหยุดขายอาวุธให้กองทัพพม่าก่อรัฐประหาร. https://bit.ly/3gM7xjv
  • ไทยโพสต์. อาเซียนแตกไทยงดออกเสียง มติสหประชาชาติประเด็นเมียนมา. https://bit.ly/3cXqoqD