“อย่าโดนฝน เดี๋ยวเป็นหวัด”
เราอาจเคยได้ยินผู้ใหญ่พูดตอนเด็กๆ และเราก็จำฝังหัวมาว่าถ้าตากฝน เวลากลับบ้าน ควรจะรีบสระผม ไม่งั้นจะเป็นหวัด
ความเป็นจริงในทางวิทยาศาสตร์ สิ่งที่ว่ามาทั้งหมดถือว่าเป็น “ความเชื่อ” ที่ไม่มีหลักฐานสนับสนุน
เหตุผลคือ โดยทั่วไป เราไม่น่าจะติดหวัด ซึ่งมาจากเชื้อไวรัสใน “น้ำฝน” เพราะ น้ำฝนที่ตกลงมาจากฟ้านั้น วิทยาศาสตร์ไม่ถือว่าเป็นพาหะของไวรัส
เนื่องจากไม่มีคำอธิบายทางวิทยาศาสตร์ใดๆ ที่เหมาะสมว่า น้ำฝนที่ตกลงมาจากฟ้าไม่ว่าจะสมัยนี้หรือสมัยไหนจะ “อันตราย” ขนาดนั้น ไม่เช่นนั้นเด็กๆ สมัยก่อนที่ชอบเล่นน้ำฝนคงเสียชีวิตไปหมดแล้ว
เพราะไวรัสต่างๆ โดยทั่วไปไม่ได้ “ลอยอยู่บนฟ้า” ให้ฝนนำจากเบื้องบนมาติดเราได้ และไวรัสหวัดก็เช่นกัน
ในโลกของฝรั่ง ความคิดที่ว่า “โดนฝนแล้วจะเป็นหวัด” แทบจะไม่มีเลย แต่เขาจะมีความคิดว่า “ถ้าโดนอากาศหนาวแล้วจะเป็นหวัด” แทน ซึ่งเรื่องนี้ต้องอธิบาย
สำหรับคนไทย เราย่อมกลัวฝนมากกว่าอากาศหนาว แต่ในความเป็นจริงตามหลักวิทยาศาสตร์ อากาศหนาวน่ากลัวกว่ามาก แต่ไม่ได้น่ากลัวตรงๆ แบบที่หนาวแล้วจะทำให้เรา “เป็นหวัด” ไม่อย่างนั้นคนนอนห้องแอร์คง “เป็นหวัด” กันไปหมดแล้ว
ก่อนอื่นเราต้องเข้าใจว่าลักษณะของหน้าหนาวคือ อุณหภูมิต่ำ ลมแรง และอากาศแห้ง ซึ่งภาวะพวกนี้ ในทางวิทยาศาสตร์ไม่ได้อธิบายว่าทำให้ภูมิคุ้มกันมนุษย์ “ปกติ” ต่ำลงแต่อย่างใด แต่ภาวะพวกนี้ทำให้ไวรัสที่ก่อให้เกิดโรคหวัดเติบโตได้ดีและระบาดได้ดี
ถึงตรงนี้ เราก็คงจะพอจำได้ว่าตอนโควิด-19 ระบาดใหม่ๆ นักวิจัยพบว่ามันอยู่ได้ดีในอุณหภูมิต่ำและความชื้นต่ำ และจริงๆ เชื้อหวัดก็เป็นแบบนี้เป๊ะ พอบวกกับภาวะที่ลมแรงแล้ว เชื้อพวกนี้ที่แพร่กระจายทางอากาศ ก็ย่อมกระจายได้ไกลกว่าปกติ
พูดง่ายๆ อากาศของหน้าหนาว ทำให้เชื้อไวรัสที่ทำให้เกิดโรคหวัดแข็งแกร่งและแพร่กระจายได้ดีขึ้น
ดังนั้น เมื่อฤดูหนาวมาเยือน คนเลยเป็นหวัดกันมากขึ้นนั่นเอง
อ่านมาถึงตรงนี้ หลายคนอาจสงสัยว่า เราก็เคยเห็นคนจริงๆ ที่ “โดนฝนแล้วเป็นหวัด” แล้วเราจะโดนฝนแล้วไม่เป็นหวัดได้อย่างไร?
ถ้าจะตอบแบบวิทยาศาสตร์แท้ๆ เลยก็คือ มีคนอีกไม่รู้เท่าไรที่ “โดนฝนแล้วไม่เป็นหวัด” ดังนั้น สิ่งที่เป็น “ตัวแปร” ให้เป็นหวัดไม่ใช่เรื่อง “ฝน” แต่เป็นเรื่องว่า “ใคร” โดนฝน
ในเคสนี้ โดยทั่วไปจะอธิบายว่า คนที่โดนฝนแล้วเป็นหวัด คือคนที่ภูมิคุ้มกันอ่อนแออยู่แล้ว และจริงๆ ไม่ได้เป็นหวัดจากการโดนฝนตรงๆ เพราะในหน้าฝน “ความเสี่ยง” ในการจะเป็นหวัดสูงขึ้นอยู่แล้ว เพราะมีปัจจัยให้เชื้อหวัดแข็งแรงและแพร่กระจายมากขึ้น เช่น อุณหภูมิที่ต่ำลง และการที่ฝนตกกระทบพื้นผิวต่างๆ และอาจทำให้ละอองเชื้อหวัดที่ค้างบนพื้นผิวเหล่านั้นกระจายได้มากขึ้น
ซึ่งนี่ยังไม่นับปัจจัยเชิงพฤติกรรมของมนุษย์ในเมืองที่เวลาหน้าฝนมักจะกระจุกตัวกันอยู่ในอาคารหรือยืนเบียดเสียดกันในพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งเพื่อหลบฝน ทั้งหมดนี้นับเป็นการเพิ่มความเสี่ยงการติดเชื้อหวัด หรือเชื้อที่แพร่ทางระบบทางเดินหายใจทั้งสิ้น (และเราก็คงจะตระหนักดีหลังจาก “เว้นระยะห่างทางสังคม” ในการสู้กับโควิด-19 อย่างหนักหน่วง)
แม้ว่าในทางเทคนิคการ “โดนฝน” จะไม่ทำให้ “เป็นหวัด” แต่หน้าฝนก็ทำให้ “ความเสี่ยงที่จะรับเชื้อหวัด” สูงขึ้นจริง และการเพิ่มความเสี่ยงนี้ ถ้าเป็นในหมู่คนที่ภูมิคุ้มกันต่ำ ก็อาจทำให้เป็นหวัดได้ง่ายๆ
ทั้งนี้ แม้กระทั่งในกลุ่มคนภูมิคุ้มกันต่ำ การ “หลบฝน” นั้นก็คงจะไม่ใช่ “ทางออก” ของการไม่เป็นหวัด แต่การใส่หน้ากากอนามัย การล้างมือบ่อยๆ หรือการไม่เข้าใกล้ผู้คน ก็ดูจะเป็นสิ่งที่ตอบโจทย์มากกว่า
กล่าวคือการ “ป้องกันหวัด” ก็เหมือนการป้องกันโควิด-19 นั่นเอง โดยพื้นฐาน แล้วไม่ได้เกี่ยวอะไรกับฝนเลย แต่เกี่ยวกับคนที่เป็นพาหะเป็นหลัก
ซึ่งก็แน่นอน แม้ว่าโรคทั้งสองจะมีช่องทางการแพร่ระบาดแทบจะแบบเดียวกันเป๊ะ แต่เราก็ไม่ได้รู้สึกว่า การโดนฝนจะทำให้เราเป็นโควิด-19 ได้ แม้ว่าเราจะยังชินกับความเชื่อที่ว่า การโดนฝนจะทำให้เราเป็นหวัดอยู่ดี…
อ้างอิง
- VICE. We Asked an Expert If the Rain Can Really Make You Sick. https://bit.ly/31dvo4C
- The New York Times. Can Being Cold Make You Sick? . https://nyti.ms/2FwNIhl
- Winchester Hospital. True or False: Being Exposed to Wet, Cold Weather Increases the Risk of Infection. https://bit.ly/2FDJrZK