5 Min

จากอดีต ‘มือที่สาม’ สู่ ‘ว่าที่ราชินี’ ดัชเชส ‘คามิลลา’ อาจเป็นผู้ต่ออายุราชวงศ์อังกฤษ?

5 Min
474 Views
14 Feb 2022

เรื่องฮือฮาในวันครบรอบการครองราชย์ 70 ปีของ ‘ควีนเอลิซาเบธที่ 2’ แห่งราชวงศ์อังกฤษ คือการที่พระองค์ตรัสในเชิงสนับสนุน ‘คามิลลา’ ดัชเชสแห่งคอร์นวอลล์ พระชายาองค์ที่ 2 ในเจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ ให้เป็น ‘ว่าที่ราชินี’ พระองค์ต่อไป ทำให้สื่อระบุว่าดัชเชสฯ คามิลลาได้พิสูจน์ตัวเองที่เคยถูกตีตราเป็น ‘มือที่สาม’ ในการเสกสมรสระหว่างเจ้าฟ้าชายกับเจ้าหญิงไดอานา อดีตพระชายา และอาจกลายเป็นกุญแจสำคัญที่จะต่ออายุให้ราชวงศ์อังกฤษได้ เพราะบทบาทการเป็น ‘หลังบ้าน’ ที่คอยส่งเสริมเจ้าฟ้าชายช่วยให้ภาพลักษณ์ของราชวงศ์ดูดีขึ้น แต่ไม่กี่วันต่อมาก็มีเสียงคัดค้านจากประชาชนที่ไม่เห็นด้วยกับสถานะ ‘ว่าที่ราชินี’ โดยมีเหตุผลหลายข้อด้วยกัน

เมื่อราชินีตรัสสนับสนุน ‘ว่าที่ราชินี’ ก็กลายเป็นประเด็นทันที

ที่จริงแล้วการฉลองวาระครบรอบ 70 ปีการครองราชย์ หรือ Platinum Jubilee ของสมเด็จพระราชินีนาถ ‘ควีน’ เอลิซาเบธที่ 2 ประมุขแห่งสหราชอาณาจักรและเครือจักรภพอังกฤษ ถูกยกให้เป็นพระราชพิธีสำคัญที่จะสร้างความยินดีให้เหล่ารอยัลลิสต์อังกฤษกันบ้าง หลังจากที่ปี 2021 ควีนทรงสูญเสียเจ้าชายฟิลิปผู้ทรงเป็นพระสวามีไป ทั้งยังอยู่ในช่วงที่ทั่วประเทศเกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 แถมต้นปีที่ผ่านมาก็มีประเด็นเจ้าชายแอนดรูว์ โอรสพระองค์ที่ 2 ของควีนถูกผู้หญิงคนหนึ่งยื่นฟ้องต่อศาลสหรัฐอเมริกาว่าถูกเจ้าชายล่วงละเมิดทางเพศสมัยที่ยังเป็นเยาวชนอายุต่ำกว่า 18 ปี และศาลก็ ‘รับฟ้อง’ ด้วย

แต่พอถึงกำหนดเฉลิมฉลองจริงเมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2022 ก็มีประเด็นเกิดขึ้น และเป็นเรื่องที่สื่อหลายสำนักในต่างประเทศพร้อมใจกันรายงาน ก็คือกรณีที่ควีนเอลิซาเบธที่ 2 ทรงมีพระราชดำรัส ‘แสดงความปรารถนาอย่างจริงใจ’ ต่อคามิลลา ดัชเชสแห่งคอร์นวอล พระสุณิสา (สะใภ้) ของพระองค์ โดยหวังว่าคามิลลาจะได้รับการยอมรับจากสาธารณชนในฐานะ ‘ราชินี’ ในวันที่เจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ รัชทายาทลำดับที่ 1 ขึ้นครองราชย์ในอนาคต

ท่าทีนี้ทำให้สื่อตีความว่านี่คือการแสดงความยอมรับอย่างเป็นทางการของควีนเอลิซาเบธที่ 2 ต่อคามิลลาซึ่งครั้งหนึ่งเคยถูกเรียกว่า ‘ผู้หญิงร้ายกาจ’ (wicked woman) เพราะใครที่เคยดูซีรีส์ The Crown และตามข่าวราชวงศ์ต่างประเทศก็คงรู้กันอยู่แล้วว่าคามิลลาถูกตีตราว่าเป็น ‘มือที่สาม’ ในการเสกสมรสระหว่างเจ้าฟ้าชายชาร์ลส์และไดอานา อดีตพระชายา ทำให้ทั้งคู่ประกาศแยกทางกันในปี 1992 ก่อนจะดำเนินเรื่องหย่าขาดอย่างเป็นทางการในปี 1996 และไดอานาก็จากโลกนี้ไปตลอดกาลในปี 1997 เพราะอุบัติเหตุทางรถยนต์

การที่ควีนเอลิซาเบธที่ 2 ทรงเลือกวันสำคัญของพระองค์ตรัสถึงคามิลลา ทำให้สื่ออังกฤษบางสำนักมองว่านี่คือการแสดงความยอมรับคามิลลาในฐานะ ‘สมาชิกราชวงศ์’ อย่างเปิดเผยที่สุด และบางสื่อมองว่าคามิลลาเป็นผู้ที่จะ ‘ต่ออายุ’ ให้แก่ราชวงศ์อังกฤษได้

ผู้เชี่ยวชาญด้านราชวงศ์มองว่าตลอดระยะเวลาเกือบ 20 ปีที่ผ่านมา ดัชเชสคามิลลาได้พิสูจน์ตัวเองแล้วว่าสามารถทำหน้าที่ ‘หลังบ้าน’ ได้เป็นอย่างดี เพราะคอยส่งเสริมการปฏิบัติหน้าที่ต่างๆ ของเจ้าฟ้าชายโดยไม่แย่งชิงความสนใจของสาธารณชนมาสู่ตัวเอง ซึ่งการคาดคะเนนี้เป็นการเปรียบเทียบคามิลลากับอดีตพระชายาไดอานาอย่างชัดเจน เพราะถึงแม้ฝ่ายหลังจะถูกยกย่องจากสื่อมวลชนและคนอังกฤษจำนวนมากว่าเป็น ‘เจ้าหญิงของประชาชน’ (People’s Princess) แต่นั่นไม่ใช่สิ่งที่ราชวงศ์อังกฤษต้องการ

ทำไมถึงเป็นอย่างนั้น?

อันที่จริงก็ไม่ใช่เรื่องเข้าใจยากถ้าผู้หญิงคนหนึ่งจะตัดพ้อสามีที่มีความสัมพันธ์นอกสมรส แต่สิ่งที่ไดอานาเปิดเผยสู่สาธารณชนทำให้สื่อแท็บลอยด์พุ่งเป้าไปยังเรื่องรักๆ ใคร่ๆ อันอื้อฉาวแทนที่จะสนใจการปฏิบัติหน้าที่ด้านการกุศลและพิธีการระดับประเทศต่างๆ ของสมาชิกราชวงศ์ และส่งผลให้ ‘สถาบันอันเก่าแก่’ มีภาพลักษณ์ติดลบ เพราะคนจำนวนมากเห็นใจเจ้าหญิงผู้อาภัพที่ต้องประสบปัญหาชีวิตสมรส แถมฝั่ง ‘ครอบครัวสามี’ ก็ไม่แสดงท่าทีเอื้ออาทรอะไรให้คนได้เห็น เพราะมีธรรมเนียมว่ากิจการในรั้วในวังไม่ควรเปิดเผยต่อสาธารณะ

เมื่อ ‘สะใภ้หลวง’ ลำดับที่ 2 อย่างคามิลลาไม่ทำตัวเป็นจุดสนใจและปฏิบัติหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายไปอย่างเงียบๆ ทั้งยังสามารถสร้างสายสัมพันธ์อันดีกับสื่อมวลชนได้ ก็ทำให้สถานะของคามิลลาในราชวงศ์ ‘มั่นคง’ ขึ้นเรื่อยๆ จนได้รับ ‘ไฟเขียว’ จากควีน เพราะพิสูจน์ได้แล้วว่าการดำรงอยู่ของดัชเชสแห่งคอร์นวอลช่วยให้เจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ปฏิบัติราชกรณียกิจได้อย่างราบรื่น ไม่ตกเป็นเป้าโจมตีจากสาธารณชนเหมือนสมัยที่ยังครองคู่กับอดีตชายา

แน่นอนว่าพูดอย่างนี้คงฟังดูใจร้ายกับเจ้าหญิงไดอานา แต่ถ้ามองในแง่ความมั่นคงของสถาบันกษัตริย์ในอังกฤษ ก็ต้องบอกว่าการแสดงตัวแบบ ‘โลว์โปรไฟล์’ ของคามิลลา ช่วยให้ราชวงศ์มีเสถียรภาพขึ้นจริง ไม่ตกเป็นเป้าของสื่อแท็บลอยด์รายวัน เพราะยังมีสมาชิกพระองค์อื่นที่เป็นเหมือน ‘สายล่อฟ้า’ ดึงดูดเสียงวิพากษ์วิจารณ์อยู่แล้ว

ความยุ่งยากที่ราชวงศ์ต้องเผชิญ ถ้า ‘คามิลลา’ ขึ้นเป็นราชินี

แม้จะมีผู้ประเมินว่าการอวยพรของควีนเอลิซาเบธที่ 2 ให้ดัชเชสคามิลลาได้รับการยอมรับในฐานะว่าที่ราชินีคือการเตรียมตัว ‘เปลี่ยนผ่านรัชสมัย’ ให้มีความราบรื่นที่สุด แต่ก็ยังไม่อาจรับประกันได้ว่าจะไม่เกิดแรงต่อต้านในอนาคต เพราะผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนที่จัดทำโดย YouGov เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2021 มีเพียง 42 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่เห็นว่าคามิลลาเหมาะจะเป็นว่าที่ราชินี ซึ่งในจำนวนนี้ก็ระบุด้วยว่าถ้าเจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ขึ้นครองราชย์เมื่อไร ดัชเชสแห่งคอร์นวอลควรได้รับพระอิสริยยศ ‘เจ้าหญิงพระราชชายา’ หรือ Princess Consort แทนที่จะเป็น ‘สมเด็จพระราชินี’ หรือ Queen Consort ตามพระราชประเพณีดั้งเดิม และ 26 เปอร์เซ็นต์มองว่าคามิลลาไม่ควรได้รับอิสริยยศใด โดยเหตุผลหลักที่ทำให้คนกลุ่มนี้คัดค้านก็เป็นเพราะยังไม่อาจลืมเรื่องมือที่สามในอดีตได้

อีกประเด็นหนึ่งที่คนตั้งคำถามเพิ่มเติม คือ คามิลลาไม่ได้เป็นพระมารดาแท้ๆ ของเจ้าชายวิลเลียม รัชทายาทลำดับ 2 ซึ่งมีสิทธิขึ้นครองราชย์ต่อจากเจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ จึงมีผู้คาดการณ์ว่าถ้าในอนาคต เจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ขึ้นเป็นกษัตริย์และสวรรคตไปก่อนคามิลลา เจ้าชายวิลเลียมก็จะไม่สามารถประกาศให้ดัชเชสแห่งคอร์นวอลเป็น ‘ควีนมัม’ หรือพระราชมารดา (สมเด็จพระพันปีหลวง) โดยอัตโนมัติได้ และน่าจะเป็นเรื่องที่สมาชิกราชวงศ์ต้องหารือกันอย่างหนักเพื่อให้เหมาะสมตามขนบธรรมเนียม หรือถ้าจะปรับเปลี่ยนก็ต้องดูท่าทีของประชาชนด้วย

อย่างไรก็ดี คณะที่ปรึกษา (Councillor) ของราชวงศ์ที่จะต้องระดมความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้ในอนาคตก็ลดจำนวนลงไปครึ่งหนึ่งแล้ว เพราะเจ้าชายแอนดรูว์ พระโอรสอีกพระองค์ของควีนเอลิซาเบธฯ เพิ่งถูกปลดจากการเป็นสมาชิกระดับอาวุโส หลังจากถูกกล่าวหาเกี่ยวกับคดีทางเพศในสหรัฐฯ ขณะที่เจ้าชายแฮร์รีก็ประกาศลาออกจากฐานันดรศักดิ์พร้อมชายาชาวอเมริกัน ‘เมแกน มาร์เคิล’ ไปตั้งแต่ปี 2020 จึงพ้นจากสถานะที่จะปฏิบัติพระกรณียกิจหรือมีส่วนร่วมกับพระราชพิธีต่างๆ ไปแล้ว

จากกรณีที่ว่ามา ทำให้กลุ่มผู้สนับสนุนให้อังกฤษเปลี่ยนไปสู่ระบอบสาธารณรัฐประชาธิปไตยแทนการปกครองแบบประชาธิปไตยที่มีกษัตริย์เป็นประมุข ตั้งคำถามว่าประชาชนจะต้องแบกรับภาระยุ่งยากซับซ้อนในครอบครัว ‘ชนชั้นสูง’ ไปเพื่ออะไร แม้แต่การสืบทอดตำแหน่งก็ยังต้องปรึกษาหารือกันยุ่งยาก เพราะปมเรื่องความสัมพันธ์ในอดีตที่ส่งผลมาจนถึงปัจจุบัน และระยะเวลา 70 ปีที่ผ่านมาในรัชสมัยของควีนเอลิซาเบธที่ 2 ก็น่าจะเพียงพอแล้วที่ต้องนำงบประมาณจากภาษีประชาชนไปสนับสนุนการดำรงอยู่ของราชวงศ์

อ้างอิง

  • BBC Thai. ราชวงศ์อังกฤษ : คามิลลา จากนางพาร์กเกอร์ โบลส์ สู่ว่าที่ราชินี. https://bbc.in/3HyOwx0
  • The Conversation. Queen Camilla: why the royal title change matters. https://bit.ly/3B9XA9l
  • The New York Times. Royal Nod for ‘Queen Camilla’ Caps Years of Image Repair. https://nyti.ms/34r8QCm
  • Newsweek. Princess Diana’s Legacy Hangs Over Camilla’s Fate As Queen Consort. https://bit.ly/3Ll3Uzq
  • SMH. Camilla won’t be our queen, but we don’t need a king either. https://bit.ly/3Bb4Cud
  • Techno Trenz. The public’s reaction to Queen Elizabeth’s major Camilla announcement has divided royal fans. https://bit.ly/34J9c6Q
  • Yahoo News. Striking chart shows UK taxpayers foot a hefty bill for the Queen. https://yhoo.it/34tzESn