2 Min

ขนาดของรูม่านตา อาจสะท้อนสติปัญญาของมนุษย์

2 Min
1410 Views
16 Aug 2021

“ดวงตาเป็นหน้าต่างของหัวใจ” เราอาจได้ยินวลีนี้ซ้ำๆ แต่คำถามตลกๆ ก็คือ แล้วไอ้ที่ว่าเป็นหน้าต่างของหัวใจ มันคือ “ส่วนไหน” ของดวงตาล่ะ?

ต้องเข้าใจก่อนว่า ส่วนที่เป็นเอกลักษณ์ของตาทุกคนคือ ม่านตา (iris) ซึ่งเป็นส่วนที่เป็นลายๆ รอบจุดดำตรงกลาง ส่วนนี้คือส่วนที่สามารถเก็บข้อมูลไปเข้าระบบไบโอเมตริกส์และทำการยืนยันผ่านม่านตาได้

แต่ถามว่าส่วนนี้คือ “หน้าต่างของหัวใจ” ไหม?

คำตอบคือไม่ใช่ เพราะส่วนที่เป็น “หน้าต่างของหัวใจคือจุดดำๆ ตรงกลางที่ดูเหมือนไม่มีอะไรที่เรียกว่า รูม่านตา (pupil)

ม่านตากับรูม่านต

ม่านตากับรูม่านตา | Bridders Opitcal

ทำไม “รูม่านตา” ถึงเป็นหน้าต่างของหัวใจ?

เอาจริงๆ หน้าที่พื้นฐานของรูม่านตาคือปรับการรับแสง เมื่อแสงสว่างๆ มันจะหด เมื่อมืดมันจะขยาย

อันนี้เป็นความรู้พื้นฐานอยู่แล้ว แต่ที่ว่ามันเป็น “หน้าต่างของหัวใจ” ก็เพราะว่า เวลามนุษย์ใช้สมองหรือใจจดใจจ่อกับอะไร มันจะขยายด้วย ดังนั้นเวลาเราคุยกับใครแล้วรู้สึกว่าเขาสนใจ เขาจะ “ตาโต” จริงๆ ส่วนหนึ่งคือรูม่านตาเขาขยาย เพราะเขาสนใจสิ่งที่เราพูด

และความรู้แบบนี้มันก็ใช้ในการ “จับโกหก” ได้ด้วย เพราะโดยพื้นฐาน เวลาคนโกหก รูม่านตาจะขยายทันที เพราะการโกหกเป็นกิจกรรมที่ต้องใช้สมองมาก และมันส่งผลออกมาภายนอกสังเกตได้ง่ายที่สุดตรงรูม่านตา

ตาของมนุษย์

ตาของมนุษย์ | Shutterstock

ทีนี้จริงๆ มันแค่นั้นเหรอ คำตอบคือไม่ใช่ เพราะนักวิจัยเริ่มพบเรื่อยๆ ว่ารูม่านตาบอกอย่างอื่นได้ และที่เขาสนใจมากๆ ก็คือการบอกระดับสติปัญญาผ่านรูม่านตา

รูม่านตายิ่งใหญ่ยิ่งฉลาด?

ในตอนแรกๆ งานวิจัยมันขัดกันไปมามาก บ้างก็บอกว่ารูม่านตาในภาวะปกติที่ใหญ่แสดงว่ามีสติปัญญาสูงบ้าง แต่บางชิ้นก็เคลมตรงกันข้ามโดยสิ้นเชิง

แต่ล่าสุด มีงานที่อ้างว่าแก้ปัญหางานเก่าๆ ได้ เพราะงานเก่าๆ ไม่ควบคุมระดับแสดงในพื้นที่ทดลอง ทำให้รูม่านตาของคนเปลี่ยนไปตามระดับแสง มันเลยไม่ได้สะท้อนสติปัญญา

แต่พอมีการควบคุมระดับแสงชัดๆ เขาพบชัดเจนว่าคนที่มีรูม่านพื้นฐานใหญ่ นั้นจะมีความสามารถในการทำงานที่ต้องการความยืดหยุ่นไปจนถึงมีความสามารถในการมีสมาธิในการทำสิ่งต่างๆ ได้ดีกว่าคนที่มีขนาดรูม่านตาเล็กจริง

แล้วมันเกี่ยวกันยังไง? ตรงนี้เอาจริงๆ เขายังหาความเชื่อมโยงชัดๆ ไม่ได้ แต่เขาคาดว่ามันน่าจะเกี่ยวกับส่วนเล็กๆ ของสมองที่เรียกว่า locus coeruleus กล่าวคือ เขาคิดกันว่าถ้าสมองส่วนนี้ทำงานได้ดี สิ่งที่ตามมาก็คือทักษะทางความคิดและประมวลผลข้อมูลต่างๆ ก็จะดีตามและทำให้รูม่านตาใหญ่ขึ้นตาม

แต่นี่ก็เป็นเพียงสมมติฐานเท่านั้น เพราะ ขนาดในยุคที่ใช้ AI เป็นว่าเล่นในปัจจุบัน เอาจริงๆ ความรู้เกี่ยวกับสมองของมนุษย์เองก็ยังเรียกได้ว่าน้อยมากๆ ถ้าเทียบกับความรู้อื่นๆ

และก็ไม่แปลกว่า แม้ปัจจุบันการใช้เครื่องจักรกลผสมกับ AI จะสร้างอวัยวะเทียมระดับอัจฉริยะได้สารพัดแล้ว แต่สิ่งที่ยังสร้างไม่ได้และไม่ใกล้จะสร้างได้เลยคือ “สมองเทียม”

อ้างอิง