3 Min

ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น ขอ ‘ขำ’ ไว้ก่อน จิตวิทยาแห่งอารมณ์ขัน ช่วยคลายความตึงเครียด จากปัญหาประจำวันได้อย่างไร

3 Min
16 Views
01 Jul 2025

สงสัยกันไหม ทำไมบางคนมัก ‘ติดตลก’ กับทุกเรื่องตลอด

ไม่ว่าจะเครียดแค่ไหน เจอเรื่องหนักหนาสาหัสอะไร ไม่ว่าจะสุขหรือทุกข์แค่ไหน ไม่รู้แม้แต่ทางออกของปัญหานั้นๆ แต่ยังไงก็ขอ ‘ขำ’ ไว้ก่อนเป็นอย่างแรก

นั่นไม่ใช่เพราะเขาไม่รู้สึกอะไร แต่เพราะอารมณ์ขันเป็นเหมือนเกราะกันกระสุน เป็นวิธีตั้งหลัก เป็นกลไกทางใจที่ช่วยให้พวกเขารับมือกับความเปราะบางได้ดียิ่งขึ้น

เนื่องจากวันนี้เป็น ‘วันตลกสากล’ MOODY เลยอยากชวนทุกคนมาดูประโยชน์ของอารมณ์ขันและการหัวเราะกัน

แม้ว่าในบางครั้ง การมีอารมณ์ขันในเวลาที่ชีวิตราวกับกำลังเผชิญมรสุมอยู่ อาจฟังดูเหมือนการหลบเลี่ยงความจริง แต่ในทางจิตวิทยา มันคือหนึ่งในวิธีรับมือกับความเครียดที่ทรงพลังที่สุด

เนื่องจากมันช่วยให้เราผ่อนคลายแม้ในช่วงเวลายากลำบาก ทำให้เราไม่จมอยู่กับความรู้สึกหนัก และมีแรงจะก้าวผ่านทุกอย่างไปได้ในที่สุด การแบ่งปันเรื่องขำขันยังเป็นเหมือนการถักทอความสัมพันธ์กับคนรอบข้าง สร้างความรู้สึกเชื่อมโยงว่าเรา ‘อยู่ข้างเดียวกัน’ กับคนที่หัวเราะร่วมด้วย

อีกคุณสมบัติที่สำคัญคือ อารมณ์ขันช่วยเปลี่ยนมุมมองของเราให้เบาลง สามารถเห็นปัญหาด้วยสายตาที่กว้างขึ้น และมองหาทางแก้ไขได้สร้างสรรค์กว่าเดิม แถมยังช่วยลดอารมณ์ด้านลบ เช่น ความโกรธหรือความวิตกกังวล เพราะการประมวลผลเรื่องตลกต้องใช้พลังสมองมากขึ้น สมองจึงโฟกัสที่ ‘ความขำ’ แทนอารมณ์ลบเหล่านั้น

อารมณ์ขันยังเพิ่มพลังใจและแรงจูงใจให้เราทำงานหรือเรียนรู้ต่อไปได้ดีขึ้น ทั้งในแง่ของพลังงานทางร่างกายและอารมณ์ทางใจ เพราะเมื่อรู้สึกเบาสบาย เราก็มีแรงจะลุยกับเรื่องที่ต้องจัดการต่อไป

นอกจากผลในด้านความรู้สึกแล้ว อารมณ์ขันยังส่งผลต่อภาพลักษณ์ของตัวเราในสายตาคนอื่นอย่างชัดเจน เพราะมันเชื่อมโยงกับอคติทางความคิดที่เรียกว่า Halo Effect  ซึ่งหมายถึงการที่เรารู้สึกดีกับใครสักคนในด้านหนึ่ง (เช่นเขาทำให้เราหัวเราะ) แล้วเผลอคิดว่าเขาน่าจะฉลาด ใจดี และน่าเชื่อถือในด้านอื่นๆ ไปด้วย

ในโลกของการทำงาน หลายองค์กรชั้นนำ เช่น Google, Virgin และ Zappos จึงใช้นำอารมณ์ขันมาใช้เป็นกลยุทธ์ เพื่อเพิ่มความผูกพันของทีมและกระตุ้นประสิทธิภาพ เช่น การจัดกิจกรรมอย่าง ‘Tutu Tuesdays’ หรือ การแข่งปืน Nerf ที่อาจดูไร้สาระในสายตาคนภายนอก แต่แท้จริงแล้วคือการลงทุนด้านความสุขแก่พนักงานที่ได้ผลจริง

อย่างไรก็ตาม แม้อารมณ์ขันจะดูเหมือนเครื่องมือที่ใช้ง่าย แต่ถ้าใช้ไม่ถูกจังหวะหรือผิดรูปแบบ ก็อาจให้ผลตรงกันข้าม 

มีงานวิจัยในห้องเรียนพบว่า อารมณ์ขันเชิงบวก เช่น มุกสร้างสรรค์หรือการเล่นคำ สามารถช่วยให้ผู้เรียนมีแรงจูงใจ เรียนรู้ได้ดี และรู้สึกสบายใจ แต่ในทางกลับกัน มุกที่เหน็บแนมหรือพุ่งเป้าโจมตีผู้เรียนจะสร้างความอึดอัด ทำให้ห้องเรียนเสียสมดุล และนักเรียนปิดใจทันที

นักจิตวิทยาอย่าง ร็อด เอ. มาร์ติน (Rod A. Martin) ผู้ศึกษาอารมณ์ขันในบริบทจิตวิทยา ยังแยกประเภทของมุกตลกออกเป็นหลายแบบ เช่น มุกประชด มุกเหน็บแนม มุกล้อเลียนตัวเอง และมุกที่มุ่งสร้างพลังบวก ซึ่งแต่ละแบบก็ให้ผลที่ต่างกัน ขึ้นอยู่กับจุดประสงค์ บริบท และผู้ฟังเป็นหลัก

ถ้าอยากใช้อารมณ์ขันให้ได้ผลจริง ควรคำนึงถึง ประเภทของมุก สไตล์ของมุก ปริมาณ จังหวะและการสื่อสาร ให้เหมาะสมต่อสถานการณ์แต่ละบริบท ไม่ควรมากไปจนน่ารำคาญ ไม่ควรใช้การเหยียดหยามหรือมุกที่รุนแรงเกินไปมาแซว และอย่าลืมว่ามุกที่เล่าในวงเพื่อนอาจไม่เหมาะจะพูดในชั้นเรียน หรือมุกในงานสังสรรค์อาจไม่ควรปรากฏในเวทีวิชาการ ทุกมุกควรผ่านการกรองด้วยความเข้าใจบริบท

สุดท้าย จำไว้ว่าในวันที่ปัญหารุมเร้า เหนื่อยล้ากับหน้าที่ หรือต้องรับมือกับอารมณ์หนักๆ หากเห็นบางคนเลือก ‘ขำไว้ก่อน’ ไม่ได้แปลว่าเขากำลังหนีความจริง แต่พวกเขากำลังรับมือในเชิงบวก เพื่อเปิดช่องให้สมองได้พักผ่อนจากความเครียด

อารมณ์ขันจึงไม่ใช่แค่การเล่าเรื่องตลก แต่เป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยให้เรามองโลกด้วยใจที่เบิกบาน รู้เท่าทันอารมณ์ และมีพลังจะลุกขึ้นสู้ใหม่ในวันพรุ่งนี้ 

จำไว้ว่าความตลกที่ดี ไม่ได้ทำให้คนหัวเราะเพียงชั่วครู่ แต่ทำให้ใจเราค่อยๆ เบาลงอย่างยาวนาน

อ้างอิง: