2 Min

Prada ถูกวิจารณ์หนัก หลังออกรองเท้าคอลเลกชันใหม่ คล้ายรองเท้าพื้นเมืองอินเดีย สะท้อนปัญหาการฉกฉวยทางวัฒนธรรมในวงการแฟชั่น

2 Min
12 Views
11 Jul 2025

กลายเป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรงเมื่อ Prada เปิดตัวรองเท้าหนังในคอลเลกชันใหม่ที่มีดีไซน์คล้ายกับ Kolhapuri หรือรองเท้าแตะหนังพื้นเมืองของอินเดียในแฟชั่นโชว์ Spring/Summer 2026 ที่มิลานแฟชั่นวีคที่ผ่านมา 

รองเท้า Kolhapuri มีต้นกำเนิดจากรัฐมหาราษฏระของอินเดีย มีประวัติยาวนานกว่า 800 ปี เป็นงานฝีมือที่สืบทอดกันรุ่นต่อรุ่น ด้วยวัสดุจากหนังแท้เย็บมือ และลวดลายเฉพาะที่บ่งบอกถึงรากวัฒนธรรมของท้องถิ่น โดยการใช้หนังควายตากแห้งมาเย็บและถักทอ ผ่านการย้อมด้วยสีธรรมชาติ และไม่ใช้วัสดุอื่นๆ อย่างกาวหรือสารสังเคราะห์ประกอบ ทำให้ Kolhapuri เป็นงานฝีมือที่ต้องใช้เวลาผลิตนานถึง 1-2 สัปดาห์ มีราคาจำหน่ายในอินเดียเพียงไม่กี่ร้อยถึงพันรูปี แต่กลับถูกตีตราใหม่โดย Prada ในราคาที่สูงถึง 1.2 แสนรูปี (ประมาณ 5.5 หมื่นบาท) โดยไม่มีการกล่าวถึงรากเหง้าทางวัฒนธรรมใดๆ ทั้งสิ้น

แม้จะมีเสียงปกป้องว่าวงการแฟชั่นมักได้แรงบันดาลใจจากวัฒนธรรมหลากหลายอยู่แล้ว แต่ประเด็นนี้ไม่ใช่เรื่องของแรงบันดาลใจ เพราะ Kolhapuri ได้รับการจดทะเบียนเป็นสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) อย่างถูกต้องตั้งแต่ปี 2019 ซึ่งเป็นมรดกช่างฝีมือของท้องถิ่นอินเดียที่มีทั้งมูลค่าทางวัฒนธรรมและเศรษฐกิจ

คำวิจารณ์ลามไปถึงโซเชียลมีเดียทั่วโลก โดยชาวอินเดียจำนวนมากแสดงความไม่พอใจที่วัฒนธรรมท้องถิ่นถูกทำให้ดูดีขึ้นเพียงเพราะมีแบรนด์ยุโรปนำไปใช้ โดยไม่ได้ย้อนกลับมาสนับสนุนชุมชนต้นทาง

หลังเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์รุนแรง Prada ได้ออกจดหมายอย่างเป็นทางการ โดย โลเรนโซ เบอร์เทลลี (Lorenzo Bertelli – Chief of CSR) ระบุว่าแบรนด์ได้รับแรงบันดาลใจจากงานฝีมือของอินเดียจริง และยืนยันว่าอยู่ในขั้นทดลอง ยังไม่มีการผลิตหรือวางขาย หลังจากนั้นก็ได้ถอนรองเท้าออกจากเว็บไซต์และแคตาล็อก เพื่อลดแรงกดดันจากสังคม แต่ยังไม่มีการระบุว่าจะมีการชดเชยหรือแบ่งรายได้ให้แก่ชุมชนผู้ผลิต Kolhapuri แต่อย่างใด

สิ่งที่เกิดขึ้นไม่ใช่ครั้งแรกในวงการแฟชั่นโลก ตั้งแต่ Dior, Isabel Marant ไปจนถึง Gucci ต่างเคยถูกกล่าวหาว่านำองค์ประกอบจากวัฒนธรรมพื้นถิ่นมาใช้โดยไม่ให้เครดิตชัดเจน และไม่ได้แบ่งปันผลประโยชน์กลับคืนไปยังชุมชนต้นทาง

และก็ไม่ใช่ครั้งแรกของ Prada เพราะในปี 2018 Prada ก็เคยเผชิญข้อกล่าวหาคล้ายกันมาแล้วจากคอลเลกชัน ‘Pradamalia’ พวงกุญแจและตุ๊กตาที่ถูกวิจารณ์ว่าเหมือนภาพล้อเลียนคนผิวดำ โดยเฉพาะรูปปากสีแดงที่เกินจริง จนเกิดกระแสต้านอย่างรุนแรง ทำให้แบรนด์ต้องถอดสินค้าดังกล่าวออกจากร้านและออกแถลงการณ์ขอโทษ

ในกรณีนี้ แม้บางคนมองว่านี่อาจช่วยยกระดับ Kolhapuri ให้เข้าสู่ตลาดโลก แต่หากไม่มีระบบที่ชัดเจนในการคืนผลประโยชน์ให้ต้นทาง สิ่งที่ดูเหมือนการยกย่อง อาจเป็นเพียงการหาประโยชน์จากมรดกวัฒนธรรมของคนอื่นโดยไม่รับผิดชอบ

นักธุรกิจแฟชั่นเชิงวัฒนธรรมอย่าง Vanguri ให้ความเห็นว่าการเคารพที่แท้จริง คือ Prada ควรร่วมสร้างคอลเลกชันกับกลุ่มช่างฝีมือ Kolhapuri ให้พวกเขาได้เครดิตในฐานะนักออกแบบ แบ่งรายได้อย่างยุติธรรม และผลักดันผลงานสู่เวทีโลก สร้างความร่วมมือระยะยาวกับสหกรณ์หัตถกรรม สนับสนุนการพัฒนาทักษะ การออกแบบ และกระบวนการผลิต เพื่อสร้างผลกระทบเชิงบวกที่ยั่งยืน

กรณีนี้จึงสะท้อนคำถามใหญ่ในโลกแฟชั่นที่ว่า “วัฒนธรรมเป็นของใคร?” และ “ใครมีสิทธิ์ทำกำไรจากมัน?” เพราะในโลกแฟชั่นที่ขับเคลื่อนด้วยการรีเฟรชแรงบันดาลใจตลอดเวลา การเคารพที่มาของแรงบันดาลใจไม่ใช่เพียงมารยาท หากแต่เป็นความรับผิดชอบทางจริยธรรมที่แบรนด์หรูไม่อาจมองข้ามได้อีกต่อไป

อ้างอิง: