คุณวางแผนอนาคตไม่ได้ถ้าคุณไม่มีอนาคต ทำไมคำแนะนำทางการเงินทั้งหลายถึงไม่เหมาะกับ ‘คนจน’
เราจะคุยกันเรื่อง ‘ความจน’ อย่างไรดีในโลกที่คนกลุ่มหนึ่งมองว่าความยากจนคือผลของการกระทำของตัวเอง ส่วนคนอีกกลุ่มหนึ่งก็มองว่ามันเป็นผลของการกระทำซ้ำเติมในเชิงโครงสร้างที่บีบรัดจนคนง่อยเปลี้ยไร้ทางสู้ใดๆ
อย่างไรก็ดี ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายไหนก็คงจะมองว่า ‘ความจน’ เป็นสิ่งที่มีอยู่จริง ไม่ว่าจะมอง ‘ความจน’ตรงกันหรือไม่
แต่เรามองจากตรงไหนล่ะ? ถ้ามองจากในโลกของชนชั้นกลาง ต่อให้เราไม่ได้เห็นคนจนแต่แบบ ‘ในตำรา’ เจอคนจนตัวเป็นๆ เราจะมองพวกเขาอย่างไร เพราะอย่างน้อยๆ ในสายตาของคนที่ได้ชื่อชนชั้นกลางจำนวนหนึ่ง ถ้ามอง ‘คนจน’ ก็คงจะอดรู้สึกถึงความ ‘ขี้เกียจ’ ไปจนถึง ‘ใช้เงินไม่เป็น’ ไม่ได้แน่ๆ
ถ้าเคยเจอ ‘คนจน’ ตัวเป็นๆ จะไม่รู้สึกจริงๆ เหรอว่าคนจนจำนวนหนึ่ง ‘ขี้เกียจ’ ไม่ทำมาหากินจริงๆ ส่วนอีกจำนวนหนึ่ง การทำงานแทบตายสุดท้ายก็เอาไปลงขวดเหล้าหรือเล่นการพนันหมด
ซึ่งถ้าคิดแบบชนชั้นกลางจริงๆ เราก็อาจแทบจะประเคน ‘คำแนะนำทางการเงิน’ ให้คนเหล่านี้เลย ทำไมคนพวกแรกไม่ขยันทำงานเก็บเงินล่ะจะได้เลิกจน? ทำไมคนพวกหลังไม่เอาเงินไปลงทุนให้งอกเงยแทนที่จะเอาเงินไปกินเหล้าเมายาหรือเล่นหวยล่ะ?
ถ้า ‘ทางออก’ มันง่ายขนาดนั้น โลกนี้คงไม่มีคนจนมากขนาดนี้
หรือจริงๆ การคิดแบบนี้มันคือการโยนปัญหาทั้งหมดให้เป็นเรื่องของปัจเจก เป็นเรื่องของ ‘วัฒนธรรมคนจน’ ที่ไม่มีทางแก้ไข และเราไม่ควรจะคิดแบบนี้
อาจใช่ แต่นี่ยังไม่ได้ให้ภาพทั้งหมด เพราะอย่างน้อยๆ เรา ‘คิดอีกนิด’ เราอาจเข้าใจความรู้สึกนึกคิดและตรรกะของ ‘คนจน’ อย่างชัดเจนขึ้น
เพราะนิยามจริงๆ ของ ‘วิธีคิดแบบคนจน’ อาจไม่ใช่เรื่องเงินเท่ากับการ ‘มองไม่เห็นอนาคต’ และจริงๆ ถ้าเรามองแบบนี้ เราอาจเข้าใจอะไรในโลกมากกว่า ‘คนจน’ อีก เพราะมันทำให้เราเข้าใจ ‘คนรุ่นใหม่ที่ไม่เห็นอนาคต’ ได้เช่นกัน
อะไรคือการ ‘มองไม่เห็นอนาคต? ’ แน่นอนนี่ก็เป็นวลีหนึ่งที่เราเข้าใจมันในทางภาษาได้ แต่ ‘ชนชั้นกลาง’ ที่ชีวิตไม่เคย ‘ลำบาก’ จริงๆ มันจะเข้าใจได้ลึกซึ้งจริงหรือ?
ชนชั้นกลางเข้าใจได้จริงๆ หรือ ภาวะที่ทำงานไปให้ตาย ประหยัดไปให้ตายมันก็ยังจนมันมีจริงๆ หรือเรายังมีจินตภาพว่าคนที่ไม่มีอะไรเลยก็ยังรวยได้ ทุกคนเป็นแบบอาเหลียง โล้สำเภามาจากเมืองจีน มีแค่เสื่อผืนหมอนใบ แต่สุดท้ายก็สร้างเนื้อสร้างตัวได้ในที่สุดแบบใน ‘ลอดลายมังกร’
หรือเราจะมองว่าราคาสิ่งต่างๆ ขึ้นอย่างโหดร้ายแค่ไหนถ้าเทียบกับค่าแรง? คิดง่ายๆ ว่าแค่ค่าแรงชนชั้นกลางนี่ยังเหนื่อยเลยที่จะสู้กับราคาสินค้า จะประสาอะไรกับค่าจ้างแรงงานระดับล่าง?
แน่นอน อะไรพวกนี้แทบไม่เกิดในยุโรปหรือที่ใดในโลกก็ตามที่ขบวนการแรงงานเข้มแข็ง มีการจัดตั้งสหภาพแรงงานมากมายคอยต่อสู้เพื่อให้ค่าแรงมันสมเหตุสมผลกับค่าครองชีพ เพราะในโลกทุนนิยมมหาโหดสไตล์อเมริกา (ที่บ้านเราดันถอดแบบมา) ทุนนิยมมันเอาคุณตาย มันกดค่าแรงทุกภาคส่วน และมันให้ค่าแรงคนระดับล่างสุดต่ำเตี้ยเรี่ยเดินแบบให้แค่พอมีชีวิตอยู่ได้ไปวันๆ ตามที่มาร์กเขียนจริงๆ
อยากให้คิดตามว่าคนที่ไม่มีอะไรให้เห็นในอนาคตมันจะทำยังไงกับชีวิต? คำตอบคือก็อยู่กับปัจจุบัน ใช้ชีวิตในปัจจุบันให้คุ้ม เพราะมันมีแค่นี้ และนี่คือเหตุผลว่าทำไม ‘คนจน’ ถึง ‘ขี้เกียจ’ ถึง ‘เอาเงินไปซื้อเหล้า’ คือเขาทำงานไปมากกว่านี้ 10-20 ปี เขาก็จน ดังนั้นเขาทำงานเท่านี้ดีกว่า และในทำนองเดียวกัน เขาเก็บเงินวันละร้อยไป 10-20 ปี เขาก็จนอยู่ดี สู้เอาเงินไปซื้อเหล้าขาวมากินให้วันนี้มันรื่นรมย์หน่อยไม่ดีกว่าเหรอ? สู้เอาเงินไปลุ้นหวยเพื่อจะรวยชั่วข้ามคืนไม่ดีกว่าเหรอ?
นี่แหละครับ ‘วิธีคิดแบบคนจน’ แท้จริงมันคือวิธีคิดแบบคนที่พยายามแทบตายก็ยังไม่เห็นอนาคตตัวเอง ดังนั้นมันก็เลยไม่ได้คิดอะไรนอกจากการ ‘มีความสุขไปวันๆ ’
ดังนั้นถ้าจะไปคุยกับคนที่อยู่ในสภาพแบบนี้เรื่อง ‘การวางแผนเงินไว้ใช้ในวัยเกษียณ’ มันก็เลยเหมือนอยู่คนละโลก มันคุยกันไม่รู้เรื่อง เพราะคุณกำลังพูดถึงอนาคตที่พวกเขาคิดว่ามันไม่มีอยู่จริง
และทุกวันนี้คนที่คิดแบบนี้ก็ไม่ใช่ ‘คนจน’ แบบที่เราเข้าใจกันทั้งนั้นที่คิดแบบนี้แต่อย่างเดียว เพราะ ‘คนรุ่นใหม่’ เองที่เริ่มทำงาน พบกับค่าแรงที่ต่ำ และมองไม่เห็นเลยว่าตัวเองจะ ‘มีอนาคต’ ได้ยังไง อย่างน้อยๆ นั่นก็ไม่มีทางจะเป็น ‘อนาคต’ แบบรุ่นพ่อแม่แน่ๆ เพราะตัวเลขก็ชี้ชัดว่าตั้งแต่รุ่นเบบี้บูมเมอร์เป็นต้นมา คนที่ ‘จนกว่าพ่อแม่’ มันเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
สำหรับคนรุ่นใหม่ไม่เห็นอนาคตพวกนี้จะมีบ้านมีรถแบบรุ่นพ่อรุ่นแม่นี่ไม่ต้องพูดถึง เพราะแค่คิดว่าจะเก็บเงินให้พอมีเงินกินข้าวพอในวัยเกษียณยังจินตนาการไม่ออกเลย
นี่แหละ วิธีคิดของคนที่ซื้อกาแฟแพงๆ กิน ใช้มือถือแพงๆ ใช้เงินไปเที่ยวโน่นนี่สารพัด โดยไม่มีการวางแผนทางการเงินใดๆ สำหรับตัวเองในยามแก่ มันคือ ‘วิธีคิดแบบที่คนไม่เห็นอนาคต’ ของตัวเอง
แน่นอน คนที่ไม่เห็นอนาคตมีทุกยุค แต่ทุกวันนี้คงปฏิเสธไม่ได้ว่ามันเยอะขึ้น และมันเป็นลักษณะที่ ‘ข้ามชนชั้น’ จากชนชั้นล่างมาชนชั้นกลางแล้ว
ซึ่งเรามาถึงจุดนี้ได้อย่างไร? ทำไมโลกเราเป็นแบบนี้? คงต้องคุยกันยาว แต่ก่อนอื่นเราอาจต้องตกลงกันให้ได้ก่อนว่า American Dream หรือ ‘ความฝันแบบอเมริกัน’ มันจบแล้ว แนวคิดที่ว่าถ้าคุณทำงานหนักในโลกทุนนิยม ชีวิตในฝันคุณจะไม่เกินเอื้อม มันล้าสมัยไปแล้ว มันไม่จริง
เพราะถ้าไม่เห็นร่วมกันตรงจุดนี้ก็คงคุยกันต่อยาก
อ้างอิง
Vice. Most Money Advice Is Worthless When You’re Poor. https://bit.ly/3ck0VqH